JJNY : ถามรบ.แก้ฝุ่นไปถึงไหน│กมธ.ที่ดินจ่อถกวาระด่วน│ยกฟ้องณัฐพล ใจจริง│โรงแรมไทยหวั่นทุนต่างชาติ│สเปนรับมือพายุลูกใหม่

“ภัทรพงษ์” ถามรบ.เตรียมรับมือแก้ฝุ่น PM2.5 ไปถึงไหนแล้ว
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_801842/

 
 
“ภัทรพงษ์” ถามรัฐบาลเตรียมรับมือฝุ่น PM2.5 ไปถึงไหน หวั่นประชาชนต้องสูดฝุ่นวนลูปอีกปี นายกฯ เคยใช้เวทีระหว่างประเทศหารือ สปป.ลาว-เมียนมา แก้ปัญหาบ้างหรือไม่
 
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ เขต 8 และรองโฆษกพรรคประชาชน กล่าวถึงการเตรียมการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ของรัฐบาลว่า แม้ขณะนี้สถานการณ์ฝุ่นในหลายพื้นที่ยังไม่รุนแรง แต่เริ่มเห็นแนวโน้มว่าปัญหากำลังกลับมา แต่การเตรียมการหรือมาตรการที่ชัดเจนจากรัฐบาล ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถาม ทำให้กังวลว่าท้ายที่สุดประชาชนต้องเจอสถานการณ์ฝุ่นแบบวนลูปเหมือนปีที่ผ่านๆ มาอีกหรือไม่ 
 
ในการอภิปรายนโยบายรัฐบาลตั้งแต่อดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ตนเคยเสนอโมเดล “ตึก 5 ชั้น”พร้อมข้อเสนอแนะ Action plan ตามช่วงเวลาอย่างชัดเจนในการเตรียมพร้อมรับมือเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ต้นตอ แบ่งเป็น 5 ด้าน 
 
(1) ด้านสาธารณสุข รัฐต้องจัดให้มีสวัสดิการตรวจมะเร็งปอดและโรคทางเดินหายใจแบบถ้วนหน้าให้ประชาชนในพื้นที่ที่เจอวิฤตฝุ่นควันมาอย่างต่อเนื่อง 
(2) การจัดการการเผาทางการเกษตรทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะการออกประกาศห้ามนำเข้าสินค้าที่มีที่มาจากการเผาทุกชนิด 
(3) การบริหารจัดการไฟป่า วางแผนเฉพาะเจาะจงกับพื้นที่ไฟป่าขนาดใหญ่และไฟป่าซ้ำซากเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเจ้าหน้าที่และงบประมาณ 
(4) การจัดเก็บข้อมูลที่สามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ และแจ้งเตือนค่า PM2.5 ให้กับประชาชน 
และ (5) การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นผู้นำในการบริหารจัดการพื้นที่
 
ทั้งที่ปัญหาฝุ่นกระทบคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง ผ่านไปกว่า 1ปีรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เราได้เห็นความคืบหน้าในเรื่องเหล่านี้น้อยมาก โดยขอตั้งคำถามต่อว่า (1) รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนไร่นา ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพดอย่างไรบ้าง เพื่อให้ปรับตัวเข้ากับมาตรการไม่รับซื้อสินค้าเผาที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ (2) รัฐบาลมองว่าได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีด้านไฟป่าอย่างเพียงพอหรือไม่ และเตรียมแผนการจัดสรรงบกลางป้องกันและจัดการไฟป่าอย่างไรบ้าง และ (3) นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ร่วมประชุมระหว่างประเทศบ่อยครั้ง เป็นเรื่องดีหากใช้เป็นโอกาสทำเพื่อผลประโยชน์ของคนไทย จึงอยากทราบว่านายกฯ ได้ใช้เวทีระหว่างประเทศหารือกับเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาวและเมียนมา เพื่อร่วมแก้ปัญหาฝุ่นบ้างหรือไม่
 


กมธ.ที่ดิน จ่อนำข้อพิพาทที่ดิน 'เขากระโดง' ถกวาระด่วน ยันไม่โยงการเมือง ตรวจสอบตรงไปตรงมา
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4895956
 
กมธ.ที่ดิน เตรียมขอมติที่ประชุม นำข้อพิพาทที่ดิน ‘เขากระโดง’ พิจารณาเป็นวาระด่วน คาดเร็วสุดสัปดาห์หน้า เผย ไม่นำประเด็นการเมืองเข้ามาพิจาณาร่วม ยันตรวจสอบตรงไปตรงมา
 
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 13 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ  (กมธ.)การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงวาระการพิจารณาของกมธ.ฯ ว่า เนื่องจากวันนี้มีวาระเรื่องอื่นเข้าพิจารณา จึงเป็นเพียงการขอมติที่ประชุม เพื่อให้นำเรื่องข้อพิพาทเขากระโดง เข้าสู่ที่ประชุมเป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งคาดว่าน่าจะพิจารณาได้เร็วสุดในสัปดาห์ถัดไปหรืออีก 2 สัปดาห์ถัดไป อย่างไรก็ตามวันนี้เป็นการพิจารณาเรื่องการถอนโฉนดที่ดินเดิมของ ตำบลบางกระเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีลักษณะ คล้ายกับที่ดินเขากระโดง
 
นายพูนศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องที่ดินเขากระโดง อำนาจหน้าที่ของกมธ.ฯ จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลของทั้ง 2 หน่วยงาน คือกรมที่ดิน และการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มีการอ้างอิงข้อกฎหมายกันทั้งคู่ ดังนั้นทั้ง 2 หน่วยงานจะต้องเข้ามาชี้แจง เพื่อทำความกระจ่างให้กับสังคม เพราะกรมที่ดิน ก็มีข้อโต้แย้งออกมาในเรื่องของการระงับการถอนโฉนดที่ดิน ขณะเดียวการการรถไฟก็มีความเห็นว่าศาลได้พิจารณาและมีคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการบังคับคดี ดังนั้นจึงต้องเชิญทั้ง2หน่วยงานเข้ามาหาข้อสรุปร่วมกัน
 
ประธานนกมธ.ที่ดิน กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการถอนสิทธิ์หรือถอนโฉนดจะต้องมีขั้นตอนอย่างไรบ้างนั้น วันนี้ในการพิจารณาเรื่องที่ดินบางกระเจ้า ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับเขากระโดง ก็อาจจะมีการซักถามในเรื่องนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาเรื่องเขากระโดงเช่นเดียวกัน
 
เมื่อถามว่าเรื่องนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับการเมือง นายพูนศักดิ์กล่าวว่า ตอนนี้ต้องดูข้อเท็จจริงก่อน และตัดประเด็นเรื่องของการเมืองออกไป เพราะประชาชนให้ความสนใจเรื่องการบังคับคดี ข้อกฎหมาย แนวทางการแก้ปัญหา ถ้าเราตัดการเมืองออกไป ระบบต่างๆ ต้องยืนอยู่ได้ด้วยการดำเนินงานของภาครัฐด้วยความโปร่งใส อย่างไรก็ตาม ต้องฟังคำโต้แย้งจากกรมที่ดินก่อน และตรวจสอบข้อมูลของทั้งสองฝ่ายก่อนที่จะทำรายงานส่งไปยังรัฐบาลต่อไป
 
ส่วนการพิจารณาจะไปถึงขั้นไหน เพราะมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น นายพูนศักดิ์ กล่าวว่า ต้องดูเรื่องกรอบกฎหมายระเบียบการดำเนินงานเป็นหลัก คงไม่ได้มองว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของใคร อิทธิพลของใคร การเมืองจะเกี่ยวข้องหรือไม่ เรื่องเหล่านี้คงไม่นำมาพิจารณา แต่ถ้าดำเนินการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ถูกก็คือถูก ผิดก็คือผิด ไม่ได้มองว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของใคร มีอิทธิพลสูงหรือไม่ และไม่เอามาเป็นประเด็นในการพิจารณา



ศาลยกฟ้อง คดีทายาทกรมพระยาชัยนาทฯ ฟ้อง ณัฐพล ใจจริง-ฟ้าเดียวกัน เรียก 50 ล้าน
https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_813530

เผยแพร่  วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2567
 
ศาลยกฟ้อง คดี ทายาทกรมพระยาชัยนาทฯ ฟ้อง ณัฐพล ใจจริง-ฟ้าเดียวกัน เรียก 50 ล้าน
 
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. มีรายงานว่า ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษา คดีที่ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ทายาทสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ฟ้องร้องนักวิชาการและบรรณาธิการรวมทั้งหมด 6 คน ในฐานความผิดละเมิด ไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท

โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้เผยแพร่คำพิพากษา ระบุว่า ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ ม.ร.ว. ปรียนันทนา รังสิต (โจทก์) ฟ้องณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเมืองไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามฯ”, สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้จัดพิมพ์หนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ”  และ “ขุนศึก 
ศักดินา และพญาอินทรี”, รวมถึงบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการหนังสือทั้งสองเล่มนี้ (รวมจำเลยทั้งหมด 5 คน) ในข้อหา “ละเมิดไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง” และเรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านบาท
 
ประเด็นแรก ข้อความในวิทยานิพนธ์และหนังสือ มิได้กล่าวพาดพิงโจทก์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของโจทก์และครอบครัว ทั้งเรื่องการรับรองรัฐประหาร
2490 และการเข้าแทรกแซงการเมืองสมัยจอมพล ป. ไม่มีความเกี่ยวข้องกับโจทก์ อันจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดในตัวโจทก์ อีกทั้งเมื่อกรมพระยาชัยนาทฯ สิ้นพระชนม์ก่อนแล้ว จึงเป็นการฟ้องที่กล่าวอ้างว่าเสียหายต่อผู้ที่ไม่มีสภาพบุคคลแล้วไม่ได้ แม้เป็นหลานของกรมพระยาชัยนาทฯ ก็ไม่ได้เสียหายต่อโจทก์ทายาทชั้นหลานด้วย
 
ข้อเท็จจริงตามเนื้อหาในหนังสือเป็นอย่างไร โจทก์ไม่ทราบและยังไม่เกิด ดังนั้น เมื่อข้อความในหนังสือไม่สื่อความหมายถึงโจทก์ ย่อมไม่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดในตัวโจทก์ซึ่งเป็นทายาทชั้นหลานได้
 
ประเด็นที่สอง ส่วนที่โจทก์เบิกความว่า มีการชุมนุมแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกรมพระยาชัยนาทฯ โดยมีผู้นำสีแดงมาสาดใส่อนุสาวรีย์กรมพระยาชัยนาทฯ รวมถึงการชุมนุมกดดันให้ยกเลิกชื่อถนนอันเป็นนามวิภาวดีรังสิตตามภาพข่าว ก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นการชุมนุมปลุกระดมอันสืบเนื่องมาจากข้อความในวิทยานิพนธ์และหนังสือแต่อย่างใด จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเสียหายของโจทก์
 
ประเด็นที่สาม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อฟังว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป
ด้านผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊สส่วนตัวสั้นๆว่า “กราบขอบพระคุณทุกคนที่เป็นห่วงครับ”
 
คดีนี้ เกิดขึ้นจาก ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ได้กล่าวหาและแจ้งแก่ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ทายาทสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ว่าวิทยานิพนธ์ “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” และหนังสืออีก 2 เล่ม คือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500)” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500” ที่เขียนโดย ณัฐพล ใจจริง ทำให้กรมพระยาชัยนาทฯ ซึ่งเป็นต้นราชสกุลรังสิตได้รับความเสียหาย
 
ในเดือนมีนาคม 2564 ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต (หลาน) จึงได้ฟ้องร้อง ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนวิทยานิพนธ์และหนังสือ เป็น จำเลยที่ 1 รศ.ดร. กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เป็น จำเลยที่ 2 นายชัยธวัช ตุลาธน บรรณาธิการหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ เป็น จำเลยที่ 3 น.ส.อัญชลี มณีโรจน์ บรรณาธิการหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี เป็น จำเลยที่ 4 ห้างหุ้นส่วนจำกัดสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้จัดพิมพ์หนังสือทั้ง 2 เล่ม เป็น จำเลยที่ 5 นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เป็น จำเลยที่ 6 ต่อศาลแพ่งในข้อหา “ละเมิดไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง” และเรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านบาท

ประเด็นสำคัญในวันนี้อยู่ที่การพิจารณาคำร้องของ ม.ร.ว. ปรียนันทนา ที่ขอให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวโดยสั่งระงับการเผยแพร่วิทยาพนธ์และหนังสือทั้ง 3 รายการจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ทนายความของ ม.ร.ว.ปรียนันทนากล่าวว่าเหตุที่ดำเนินการฟ้องร้องในคดีนี้เพราะโจทก์ได้รับความเสื่อมเสียจาก “การกระทำที่บิดเบือน” ของจำเลยในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทฯ ซึ่งฝ่ายโจทก์เชื่อว่า “เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจ ไม่ใช่ผิดพลาดแบบไม่ตั้งใจ
 
ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร. ณัฐพลชี้แจงถึงประเด็น “ข้อผิดพลาด” ในวิทยานิพนธ์ของเขาในส่วนที่เกี่ยวกับสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทฯ ว่า หลังจากมีการทักท้วงในเรื่องนี้เขาไม่ได้นิ่งนอนใจและได้รีบตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องในทันที และพบว่าเขาอ่านเอกสารผิดพลาดจริง จึงได้แสดงเจตจำนงขอแก้ไขประเด็นนี้ต่อบัณฑิตวิทยาลัยในทันที แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้แก้ไข ซึ่งเป็นกฎที่ใช้กับวิทยานิพนธ์ทุกเล่มที่ผ่านกระบวนการสอบเสร็จสมบูรณ์แล้ว และบัณฑิตวิทยาลัยได้ดำเนินการระงับการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ในเวลาต่อมา
 
อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าการอ่านเอกสารผิดพลาดหนึ่งจุดนี้ ไม่มีผลกระทบต่อข้อถกเถียงหลักของวิทยานิพนธ์ และ “ต่อให้ตัดข้อความดังกล่าวทิ้งก็ไม่กระทบแต่อย่างใด เพราะยังมีหลักฐานอีกจำนวนมากที่ใช้ประกอบสร้างข้อถกเถียงหลักของบทนั้น
 
สำหรับกรณีนี้ สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เคยออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนและประณามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ไม่ปกป้องบุคลากรของมหาวิทยาลัย ไม่ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยที่กล่าวอ้างว่าเป็น “สถาบันการศึกษาชั้นสูง” และระดับ “สากลโลก” เสื่อมสียที่ไม่เคารพหลักการอันเป็นสากลด้านเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเสรีภาพทางวิชาการ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่