JJNY : 5in1 ชั้น 14 มีพิรุธ│อสส.อยู่ระหว่างพิจารณาคดี│สมชัยชำแหละ MOU44│สหภาพบินไทยนัดรวมพล│ทหารเกาหลีเหนือติดเว็บโป๊

ปธ.กมธ.มั่นคง ชี้กรณีชั้น 14 มีพิรุธ จ่อถกนัดอีก พ้อหน่วยงานร่วมมือน้อย ถามอะไรก็ไม่รู้
https://www.matichon.co.th/politics/news_4887004

“กมธ.มั่นคงฯ” ซัด ถามอะไรก็ไม่รู้ ไม่ทราบ ไม่ได้คำตอบ หลังถกปม ”ทักษิณนอนชั้น 14“ พ้อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือน้อย มอง  แปลก พยาบาลโทรศัพท์หาหมอ ใช้เวลาดูอาการ 4 นาที ก่อนส่ง รพ.ตร.
 
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงของรัฐ กิจการชายแดนไทยยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม กมธ.ในการหาข้อเท็จจริงด้านกระบวนการยุติธรรม กรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจว่า ในกรอบการพิจารณา ประเด็นแรกคือการพักรักษาตัวของนายทักษิณ ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เป็นการไปพักที่ชอบโดยกฎหมายหรือไม่
 
ประเด็นที่สองเมื่อไปพักแล้ว การอยู่รักษาตัวระยะยาว สุดท้ายเป็นการตัดสินใจของใคร ถูกต้องทั้งในทางการแพทย์และกฎหมายหรือไม่ และประเด็นที่ 3 สิ่งที่จะเกิดตามมาคือมีความชอบด้วยกฎหมายอะไรบ้าง
 
นายรังสิมันต์กล่าวว่า ในประเด็นที่ 1 และ 2 มีปัญหาค่อนข้างมากในการพิจารณา การที่นายทักษิณมีอาการแน่นหน้าอก ตนได้รับข้อมูลว่าผู้ที่มาดูอาการเป็นเพียงพยาบาลเท่านั้น ยังไม่ถูกนำตัวไปที่โรงพยาบาล
 
เป็นเพียงแค่พยาบาลที่อยู่ที่สถานพยาบาล โทรไปหาหมอที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เพื่อปรึกษา และต่อมาถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งการโทรไปในลักษณะดังกล่าว ตนก็ไม่เคยทราบมาก่อน พยายามจะตรวจสอบว่าเป็นกระบวนการปกติหรือไม่ เพราะไม่ใช่แค่กรณีของนายทักษิณคนเดียว ยังมีอีกหลายกรณีที่อาจจะเจ็บป่วยไม่สบาย และต้องการเข้าถึงการรักษาที่ฉุกเฉินแบบนี้ ซึ่งเราก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน” นายรังสิมันต์กล่าว
 
นายรังสิมันต์กล่าวว่า สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อ คือ ช่วงเวลาตั้งแต่ที่นายทักษิณไปถึงสถานพยาบาล จนได้วินิจฉัยโดยพยาบาล ส่งตัวไปที่โรงพยาบาลตำรวจนั้น เราได้รับข้อมูลว่า ใช้เวลาแค่ 21 นาทีเท่านั้น ทาง กมธ.จับระยะทางจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไปโรงพยาบาลตำรวจ ใช้เวลา 17 นาที นั่นหมายความว่า ระยะเวลาในการวินิจฉัยย้ายนายทักษิณ มีแค่ 4 นาที ถือว่า ทำระยะเวลาได้ค่อนข้างเร็วมาก และนี่เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้เกิดคำถามมากมาย
 
นายรังสิมันต์กล่าวว่า เราได้รับคำอธิบายว่าการส่งตัวนายทักษิณ ดำเนินการโดย ผบ.เรือนจำ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกว่าทำไมบทบาทของหมอในโรงพยาบาลราชทัณฑ์น้อยมาก การที่จะให้ความเห็นเรื่องนี้ สุดท้ายก็เป็นเรื่องโยนกันไปโยนกันมา วันนี้เราไม่มีตัวแทนจากโรงพยาบาลตำรวจ หลายท่านอ้างติดภารกิจ แต่ทราบว่า มีรองนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตร.ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าการที่นายทักษิณรักษาตัว ไม่ใช่การตัดสินใจของ รพ.ตร. แต่เป็นของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเราก็ได้คำตอบจากราชทัณฑ์ว่า เป็นการตัดสินใจจากหมอเจ้าของไข้ ซึ่งเราก็พยายามตรวจสอบแต่ไม่ได้รับคำตอบเลย จนไม่แน่ใจว่าการที่นายทักษิณรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เป็นการตัดสินใจของใคร ไม่มีใครยืนยันกับเราได้
 
หากสองกรณีไม่ได้ข้อยุติ ก็จะถูกตั้งคำถามว่านายทักษิณป่วยจริงหรือไม่ หากไม่ป่วยจริง ความรับผิดชอบจะไม่ได้อยู่เพียงหน่วยงานราชการ แต่นายทักษิณอาจจะเกี่ยวข้อง กับการแสดงบทบาทให้หลงเชื่อบางอย่าง ว่าตัวเองเจ็บป่วย และส่งผลต่อการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ ที่จะส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ การที่นายทักษิณไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นการอยู่ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” นายรังสิมันต์กล่าว และว่า
 
ทั้งนี้ เราได้รับข้อมูลจากเลขานุการ กมธ.ว่า ปกติการไปรักษาตัวในห้องพิเศษมีค่าใช้จ่าย วันละ 8,500 บาท เมื่อคำนวณแล้วค่าใช้จ่ายจะเกิน 1 ล้านบาท จึงมีคำถามว่าสรุปแล้วใครจ่าย ซึ่งเราก็ไม่ได้คำตอบ
 
แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏชัดในที่ประชุม คือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสงสัย เป็นเรื่องที่มีพิรุธ และเป็นเรื่องที่ตลอดการทำหน้าที่ของประธาน กมธ. 53 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการน้อยที่สุด และหน่วยงานราชการไม่อยากจะตอบอะไร ทำให้ความสงสัยของสังคมกรณีชั้น 14 ก็คงจะต้องมีอยู่ต่อไป
 
ส่วนจะเชิญใครในครั้งหน้านั้น นายรังสิมันต์ระบุว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจ ช่วงนี้ปิดสมัยประชุม คงไม่ได้ประชุมทุกสัปดาห์ เบื้องต้นยังมีอีกหลายหน่วยงาน ที่ กมธ.เห็นน่าจะมีการพูดคุย ทาง กมธ.ก็ยืนยันว่า มีความจำเป็นที่จะหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ต่อไป ตนเชื่อว่า ศรัทธาและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทุกฝ่ายต้องมีส่วนช่วยให้กระบวนการยุติธรรมของเราได้รับความเชื่อมั่นอย่างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
 


อสส.อยู่ระหว่างพิจารณาคดี ทักษิณ- เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง ชี้ยังไม่ครบกำหนด 15 วัน
https://www.matichon.co.th/politics/news_4887260

โฆษกอัยการเผย อสส.อยู่ระหว่างพิจารณาคดี ทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง หลังคณะทำงานส่งบันทึกถ้อยคำ ‘ชูศักดิ์’ ส่งถึงมือแล้ว ระบุยังไม่ครบกำหนด 15 วัน
 
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน นายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงความคืบหน้ากรณี เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีเผยแพร่เอกสาร การพิจารณาคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า “นายทักษิณ ชินวัตร” (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคเพื่อไทย (ผู้ถกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 
ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือแจ้ง อัยการสูงสุด เพื่อขอทราบว่าได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยให้จัดส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุดโดยคณะทำงานได้สอบถ้อยคำนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
 
ซึ่งเป็นตัวเเทนพรรคเพื่อไทยที่เข้าให้ถ้อยคำตั้งเเต่วันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้สรุปการบันทึกถ้อยคำส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาเเล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างอัยการสูงสุดจะพิจารณามีคำสั่งต่อไป ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุวันที่จะต้องจัดส่งความคืบหน้าต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน
 
ขณะนี้ยังไม่ครบกำหนด เพราะแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเผยแพร่เอกสารในวันที่ 22 ตุลาคม แต่จะต้องนับจากวันที่ทางอัยการสูงสุดได้รับหนังสือซึ่งยังไม่ครบกำหนด



เดินหน้าต่อหรือไม่ “สมชัย” ชำแหละ “MOU44”
https://siamrath.co.th/n/578937

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า 
 
MOU 44 ควรเดินหน้าต่อหรือไม่ ทำบันทึกกันมาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน 2567 ก็ยังไม่สามารถเจรจาในส่วนแบ่งปันผลประโยชน์ได้ เพราะ
 
1. รัฐบาลไทยที่ผ่านมา ฉลาดพอที่จะยึดหลักต้องตกลงเรื่องเส้นที่แต่ละฝ่ายอ้างสิทธิให้รู้เรื่องก่อน เพราะเขารู้ดีว่า หากไปยอมเส้นที่กัมพูชาลากมั่วๆ ผ่าเกาะกูด พื้นที่ทับซ้อนจะเพิ่มจากไม่ถึง 10,000 ตาราง กม. กลายเป็น 26,000 ตาราง กม.
 
2. การเจรจาของฝ่ายไทยจึงเริ่มต้นด้วย คุณต้องลากเส้นใหม่ ที่ไม่ผ่านเกาะกูด มิเช่นนั้นจะไม่เจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ส่วนกัมพูชาเขา เห็นว่าขีดเส้นแบบนี้เขาได้ประโยชน์เกินเต็ม เขาก็ขอคุยเรื่องการแบ่งประโยชน์เลย 23 ปีที่ผ่านจึงไม่มีความคืบหน้าใด ๆ
 
3. เพิ่งจะมีรัฐบาลชุดนี้แหละ ที่มีพอคุณทักษิณเพื่อนสนิทฮุนเซ็น โชว์วิสัยทัศน์ว่า เส้นเขตแดนนั้นคุยอย่างไรก็ไม่จบ ดังนั้น ควรเดินหน้าเจรจาเรื่องแบ่งสมบัติใต้ทะเลเลย เดี๋ยวขุดช้าของมันจะหมดราคา หลังจากนั้น ก็เลยกลายเป็นนโยบายของรัฐบาล เพราะเห็นว่าเป็นความคิดที่ดี
 
4. ดังนั้น หากรัฐบาลจะเดินหน้าเจรจาเรื่องแบ่งประโยชน์โดยไม่สนใจเส้นอ้างสิทธิที่ถูกต้อง จะเป็นการประเคนผลประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลที่กัมพูชาไม่ควรจะได้ให้กับเขา
 
5. เกาะกูดนั้น วันนี้เขาไม่เอาหรอกครับ แต่เขาอยากได้ส่วนแบ่ง 5 ล้านล้านบาทที่อยู่ใต้ทะเลมากกว่า แต่พอสูบใช้หมดแล้ว อีก 30 ปี 50 ปีข้างหน้า รอพวกที่พูดว่านี้ว่าไม่ยอมเสียพื้นที่แม้แต่ตารางนิ้วตายหมดแล้ว ใครจะไปรู้ว่ากัมพูชาอาจค่อยมาอ้างอีกรอบเพื่อเอาดินแดน โดยบอกว่าตอนขีดเส้นไทยไม่ทักท้วงแบบเขาพระวิหารอีกรอบ คนที่พูดไม่เสียดินแดนวันนั้นตายไปแล้ว รับผิดชอบอะไรไหม

https://www.facebook.com/somchaivision/posts/pfbid0HdnGyyHB8uk3fU9G4vN5Yfx7mTLbrhvUEaYnjbCyd69Cj95L5y5MtPXPpMzosHf9l
 

 
สหภาพการบินไทย นัดรวมพล 8 พ.ย.นี้ ค้านการเมืองแทรกแซง ‘การบินไทย’
https://www.matichon.co.th/economy/news_4886903

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน  สหภาพแรงงานการบินไทย (สร.กบท.) ได้มีการโพสต์เพจเฟสบุ๊คในการสื่อสารกับสมาชิกพนักงานการบินไทย โดยมีข้อความ ระบุว่า 
 
ตอนการบินไทยล้ม บาทเดียวก็ไม่ช่วย ไม่จ่าย พอมีกำไร ทะลึ่งจะมาเพิ่มทุน หากสมาชิกสหภาพฯและพนักงานยังนิ่งดูดายให้พวก-ัญไรเข้ามาปู่ยี่ปูยำ ก็คงเป็นกรรมของ กบท. หากรักและหวงแหนการบินไทย สละเวลาและพร้อมใจกันมาร่วมกันต้านมารองค์กร 8 พฤศจิกายน เวลา 08.00 น. สำนักงานใหญ่การบินไทย
 
พร้อมระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน รวมพลคนรักการบินไทย เพื่อแสดงจุดยืนปกป้องการบินไทยจากฝ่ายการเมือง โดยพบกันหน้าอาคาร 1 สำนักงานใหญ่ ลาดพร้าว เวลา 8.00 น.
 
โดยเหตุของการนัดรวมพลนั้น สืบเนื่องจากกรณีที่กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ และในฐานะที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทได้มีการทำหนังสือมายัง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเสนอให้เพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู จำนวน 2 ราย จากกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ 8 พ.ย. 67 เพื่อพิจารณาข้อเสนอ โดยกระทรวงการคลังขอเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ 2 ราย ได้แก่
 
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม

นายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง
 
เป็นเหตุทำให้ทางสหภาพแรงงานการบินไทย มองว่าตอนการบินไทยล้ม ทางหน่วยงานรัฐก็ไม่ช่วย ไม่จ่าย แต่พอมีกำไร ทางหน่วยงานก็จะมาเพิ่มทุน ซึ่งหวั่นว่าถ้ายังนิ่งดูดายต่อไปนั้น บุคคลทางการเมืองก็จะสามารถเข้ามาแทรกแซงการทำงานและต่อมาก็คงจะก้าวเข้ามาเป็นกรรมการของบริษัทต่อไปได้
นอกจากนี้ ทางสหภาพแรงงานการบินไทย ได้แจ้งแก่สมาชิกและพนักงาน ที่เป็นเจ้าหนี้รายย่อยการบินไทย ให้เข้าร่วมประชุมประชุมเจ้าหนี้ผ่านช่องทางออนไลน์ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.00 น. เพื่อสนับสนุนการคัดค้านการเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู 2 คน จากกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม

อย่างไรก็ตาม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่กระทรวงการคลังได้เสนอตัวแทน จากกระทรวงคมนาคม คือ นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เข้าไปนั่งเป็นผู้บริหารแผน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นั้น ตนยืนยันว่าไม่ได้เป็นการแทรกแซงทางการเมือง เพียงแต่ต้องการให้อุตสาหกรรมการบิน ทำงานอย่างเป็นระบบ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่