JJNY : แม่ฮ่องสอนอ่วมหนัก!│‘สศช.-แบงก์ชาติ’ แนะจัดสรรงบฯคืน‘ต้นเงินกู้’│'ส.อ.ท.'กระทุ้งรัฐ│สถานทูตเตือนคนไทยในอิหร่าน

แม่ฮ่องสอนอ่วมหนัก! ฝนถล่ม-น้ำหลาก ‘แม่สามแลบ’ ดินสไลด์ เสาโค่น ทับเส้นทาง
https://www.dailynews.co.th/news/3940746/

แม่สามแลบ แม่ฮ่องสอน อ่วมหนัก ฝนถล่ม น้ำป่าหลาก ดินสไลด์ เสาไฟต้นไม้โค่นทับเส้นทาง สัญจรไม่ได้ ไฟฟ้าดับ ถูกตัดขาดโลกภายนอก นายก อบต. เร่งแก้ไข.

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ภายหลังฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องหลายวัน ส่งผลทำให้เส้นทางหลวง 1194 แม่สะเรียง-แม่สามแลบ มีดินสไลด์ ต้นไม้และเสาไฟฟ้าหักโค่น ปิดทับเส้นทางสัญจร รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรไปมาได้ นอกจากนี้ยังมี น้ำลำห้วย น้ำแม่สามแลบ ไหลหลากเข้าพื้นที่ราบลุ่มบ้านเรือนราษฎร และโรงเรียนบ้านห้วยกองก้าด ต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ช่วงเช้านี้ ระดับน้ำในลำห้วยแม่สามแลบ ลดลงได้เข้าสู่สภาวะปกติ
 
ทางองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ ได้จัดเจ้าหน้าที่ อบต.แม่สามแลบ ออกสำรวจความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือราษฎรบ้านห้วยกองก้าด บ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ที่ได้รับความเดือดร้อนต่อไป อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาการติดต่อสื่อสาร ที่ใช้การไม่ได้ เนื่องจากกระแสไฟฟ้าดับ สัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ล่ม ทำให้การประสานงานในพื้นที่ขาดการติดต่อ อ.ปาย แม่ฮ่องสอน เดือดร้อนหนัก ปั๊มน้ำมันหมดทุกชนิด วิกฤติเป็นวงกว้าง หลังเสาไฟฟ้าแรงสูงหักโค่นนับสิบต้น
 
กฟภ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จากเหตุฝนตกต่อเนื่อง เกิดน้ำป่าไหลหลาก-ดินสไลด์ ทำให้ระบบสายส่ง 115 KV และระบบ 22 KV ช่วงระหว่าง อ.แม่มาลัย จ.เชียงใหม่ ถึง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ชำรุดเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงไม่สามารถจ่ายไฟได้เป็นปกติ อีกทั้งรถไม่สามารถบรรทุกน้ำมันมาที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ได้ เนื่องจากเกิดดินสไลด์ขวางเส้นทาง ทำให้น้ำมันที่ปั๊มน้ำมัน หมดทุกชนิด ขณะนี้ อ.ปาย ใช้ไฟได้บางส่วน จากโรงงานผลิตไฟฟ้าน้ำมันดีเซล คาดว่าจะซ่อมแซมจนสามารถส่งกระแสไฟฟ้าจาก อ.แม่แตง มายัง อ.ปาย อ.ปางมะผ้า และ อ.เมือง ได้ประมาณวันอาทิตย์ที่ 6 ต.ค. 67
 
ทั้งนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 เวลาประมาณ 03.00 น. ได้เกิดน้ำป่าไหลหลาก-ดินสไลด์ ทำให้ระบบสายส่ง 115 KV และระบบ 22 KV ช่วงระหว่างอำเภอแม่แตง เชียงใหม่ ถึง อำเภอปาย แม่ฮ่องสอน ชำรุดเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงไม่สามารถจ่ายไฟได้เป็นปกติ และระบบจำหน่ายระบบ 22 KV ด้านแม่สะเรียง ถึงแม่ฮ่องสอน เกิดการชำรุด ไม้ล้มพาดสายขาดบริเวณบ้านหัวน้ำแม่สะกึด ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน มีผลทำให้ในตัวเมืองไม่มีไฟฟ้าใช้ทั้งเมือง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดแม่ฮ่องสอน เร่งแก้ไขระบบจำหน่ายแล้ว เพื่อให้จ่ายกระแสไฟฟ้าจากอำเภอขุนยวม เข้ามาเลี้ยงในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนได้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 09.10 น. (ของเมื่อวานนี้) ซึ่งสามารถจ่ายไฟให้กับตัวเมืองแม่ฮ่องสอน บางส่วนเท่านั้น และกำลังทยอยดำเนินการจ่ายกระแสไฟฟ้าต่อไป



‘สศช.-แบงก์ชาติ’แนะรัฐบาลจัดสรรงบฯคืน‘ต้นเงินกู้’เพิ่ม หลังแนวโน้ม‘ดอกเบี้ยจ่าย’สูงขึ้น
https://www.isranews.org/article/isranews-news/132336-gov-Public-Debt-plan-68-bot-nesdc-news.html

‘สภาพัฒน์-แบงก์ชาติ’ แนะรัฐบาลจัดสรรงบประมาณคืน ‘ต้นเงินกู้’ ให้สอดคล้องกับขนาด ‘มูลหนี้-ดอกเบี้ย’ หลังภาระหนี้ ‘ดอกเบี้ยจ่าย’ มีแนวโน้มสูงขึ้น ชี้อาจสร้างข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ-เกิดความเสี่ยงทางการคลังในระยะต่อไป
 
......................................
จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2568 ซึ่งประกอบด้วย 1.แผนการก่อหนี้ใหม่ จำนวน 1,204,304.44 ล้านบาท 2.แผนการบริหารหนี้เดิม จำนวน 1,783,889.64 ล้านบาท และ 3.แผนการชำระหนี้ จำนวน 489,110.70 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายใต้แผนบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ณ สิ้นปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 66.80% นั้น (อ่านประกอบ : ครม.ไฟเขียว‘แผนบริหารหนี้ฯ’ปีงบ 68 'รัฐบาล'กู้ชดเชยขาดดุลฯ 1 ล้านล.-‘หนี้สาธารณะ’ 66.8%)

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการพิจารณาแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2568 ของ ครม. นั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. ว่า สำนักงานฯ มีความเห็นว่า ภาระดอกเบี้ยจ่ายต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีในระยะปานกลางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะต่อไป
ดังนั้น ในระยะต่อไปภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการทบทวนหรือยกเลิกมาตรการที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐบาลและไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายการบริหารเศรษฐกิจ
 
นอกจากนี้ สำนักงบประมาณควรจัดสรรงบประมาณเพื่อการชำระหนี้คืนต้นต้นเงินกู้ให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้และดอกเบี้ย ทั้งในส่วนของหนี้รัฐบาลและหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รัฐให้ดำเนินโครงการของรัฐ ที่ครบกำหนดชำระในแต่ละปีงบประมาณ เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังไว้สำหรับการดำเนินนโยบายสำคัญในระยะต่อไป และลดความเสี่ยงต่อความยั่งยืนทางการคลัง
 
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่า ด้วยวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณสำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปีอยู่ในระดับสูง การระดมทุนจากสถาบันการเงินและการกู้ยืมจากตลาดพันธบัตร จึงควรดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยรัฐบาลควรบริหารจัดการเครื่องมือในการระดมทุนให้หลากหลายและเหมาะสม ควบคู่กับสื่อสารกับตลาดอย่างชัดเจนและสม่ำเสมอ เพื่อลดผลกระทบที่อาจมีต่อตลาดการเงินและต้นทุนการกู้ยืมของภาครัฐและเอกชน
 
นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการชำระคืนคืนต้นเงินกู้ เนื่องจากการชำระหนี้ในระดับต่ำเกินไป อาจทำให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังในระยะต่อไปได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรเร่งรัดการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะให้ดำเนินการได้ตามแผนงานที่กำหนด เพื่อให้การลงทุนของภาครัฐช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
 
สำหรับการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ความสามารถในการชำระหนี้ตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2561 แต่มีความจำเป็นต้องกู้เงิน ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามการดำเนินงานตามแนวทางการแก้ไขปัญหาขององค์กรหรือแผนฟื้นฟูกิจการให้บรรลุผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อช่วยลดภาระความเสี่ยงทางการคลังของรัฐบาลในอนาคต
 
ทั้งนี้ ธปท. จะประสานงานกับกระทรวงการคลังในการบริหารหนี้สาธารณะอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การระดมทุนผ่านตลาดการเงินเป็นไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ



'ส.อ.ท.'กระทุ้งรัฐ จี้ตั้ง 'กรอ.พลังงาน' ร่วมแก้โครงสร้างราคายั่งยืน
https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1147809

• ปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานปัจจุบันยังเป็นปัญหาอยู่มาก จึงอยากเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ.พลังงาน) เพื่อให้เอกชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมเสนอข้อคิดเห็นต่อภาครัฐ
• ภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศสำคัญ การผลิตสินค้าคือต้นทุน โดยประเทศไทยมีต้นทุนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ล้วนเป็นจุดเสียเปรียบหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค
• เศรษฐกิจไทยอาศัยภาคอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อน GDP ประเทศด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากต้นทุนการผลิตยังสูง สุดท้ายภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเอสเอ็มอีก็จะทนแบบรับภาระไม่ไหวและจะทยอยปิดตัวลงเพิ่มขึ้นไปอีกมหาศาล
 
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานปัจจุบันยังเป็นปัญหาอยู่มาก ดังนั้น จึงอยากเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ.พลังงาน) ซึ่งให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการเสนอแนะนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนามาตรการด้านพลังงานของประเทศ ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) 
 
อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศที่สำคัญ ซึ่งหลัก ๆ ของการผลิตสินค้าคือต้นทุน ซึ่งต้องยอมรับว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีต้นทุนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งราคาพลังงาน ค่าแรง แม้จะมีจุดยุทธศาสตร์ที่น่าลงทุนที่สุดก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นจุดเสียเปรียบหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนาม 
 
ทั้งนี้ จากการหารือกับน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ได้ทราบถึงเจตนารมณ์ที่จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ และนายกฯ เองก็มีความเข้าใจถึงปัญหาต่างๆ ดังนั้น จึงอยากนำเสนอต่อภาครัฐ แม้ที่ผ่านมาจะมีการนำเสนอการจัดตั้งกรอ.พลังงาน มาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีนี้ ซึ่งก็หวังว่า เจตนารมณ์ครั้งนี้ จะประสบความสำเร็จ
 
"เศรษฐกิจไทยอาศัยภาคอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อน GDP ประเทศ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากรัฐบาลยังปล่อยให้ต้นทุนการผลิตยังสูงและแก้ปัญหาไม่ตรงจุด สุดท้าย ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเอสเอ็มอีก็จะทนแบบรับภาระไม่ไหวและจะทยอยปิดตัวลงเพิ่มขึ้นไปอีกมหาศาล
 
นอกจากนี้ ยิ่งปัจจุบันปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าต่างประเทศจะยังคงมีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่ารัฐบาลจะมีการตั้งคณะทำงานร่วม แต่ก็ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน ดังนั้น จึงอยากฝากให้รัฐบาลตั้งกำแพงให้เข้มงวดอย่างจริงจัง เพื่อสกัดสินค้าด้อยคุณภาพที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยจำนวนมหาศาล ซึ่งไม่ใช่ว่าสินค้าเหล่านี้จะไม่ไหลเข้าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ด้วยนโยบายที่เอาจริงเอาจังส่งผลให้สินค้าดังกล่าวไม่สามารถเข้าประเทศได้อย่างง่ายดาย ไม่เหมือนประเทศไทยที่ยังมีช่องโหว่อีกมาก
 
นอกจากนี้ จากการประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร) ยังมีข้อเสนอต่อแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าของประเทศ (PDP2024) เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างเสถียรภาพด้านพลังงาน โดยมี 6 ข้อเสนอ ดังนี้ 
 
1. การปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ําของประเทศ (LT-LEDS) เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ของประเทศไทย

2. การเพิ่มสัดส่วนของไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมร่วมกับแบตเตอรี่ (BESS) โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านควรลดการพึ่งพาการนําเข้าพลังงานด้วยการเร่งพัฒนาแหล่งพลังงานจาก OCA ไทย-กัมพูชา
 
3. ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพิจารณาจัดหาพลังงานทางเลือกใหม่ในสัดส่วนที่เหมาะสม อาทิ ไฮโดรเจน นิวเคลียร์ (SMR) การใช้พลังงานหมุนเวียนร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น
 
4. เร่งให้ความสําคัญการเปิดเสรีไฟฟ้า ในระยะเร่งด่วนควรเร่งการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access, TPA) ภายในปี พ.ศ. 2569 และต้องมีการกําหนดแนวทางการเปิดเสรีอย่างเป็นรูปธรรมและกรอบเวลาชัดเจนใน PDP 2024 มีการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) และส่งเสริมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ตลอดจนมีระบบการจัดการแบตเตอรี่เก่าใช้แล้วอย่างครบวงจร
 
5. การพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และความจําเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่โดยเทียบกับทางเลือกในการ Repowering หรือ Overhaul โรงไฟฟ้าเดิม และการกําหนดใช้เกณฑ์ดัชนีโอกาสการเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation: LOLE) ที่ควรมีการให้ข้อมูล Reserve Margin ควบคู่ไปด้วย และ
 
6. เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ.พลังงาน) ซึ่งให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการเสนอแนะนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนามาตรการด้านพลังงานของประเทศ ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งหวังว่าจะมีการร่วมมืออย่างจริงจัง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่