ชวนทำแกงเทโพใส่หมูสามชั้น


"แกงเทโพใส่หมูสามชั้น"
---------------------------------
     แกงเทโพ จัดเป็นแกงเผ็ดกะทิอย่างหนึ่ง ที่มีรสชาติเค็ม เปรี้ยว มีรสหวานตัดแค่พอกลมกล่อม และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือจะต้องหอมกลิ่นจากลูกมะกรูด แกงเทโพสูตรโบราณแต่ดั้งเดิมนั้น จะโขลกเนื้อปลาแห้งหรือปลากรอบใส่ผสมลงไปในน้ำพริกเครื่องแกง เพื่อช่วยให้น้ำแกงมีความเข้มข้น โดยน้ำแกงที่มีเนื้อปลาโขลกนั้น จะแทรกซึมเข้าไปอยู่ตามปล้องของผักบุ้ง ทำให้ยิ่งอร่อยมากยิ่งขึ้น และแกงเทโพหากต้องการจะให้น่ารับประทานแล้วล่ะก็ เราจะต้องใช้ผักบุ้งไทย ยอดขาวๆ ปล้องโตๆ อวบๆ และต้นตำรับของแกงเทโพ จะต้องใส่เนื้อปลาเทโพหรือปลาสวาย มิใช่หมูสามชั้นเฉกเช่นในปัจจุบัน ซึ่งถูกนำมาทดแทนกันในภายหลัง

     ดังมีปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานจาก "กาพย์เห่ชมเครื่องคาว" ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย องค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่สอง แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น เพราะชื่นชมในฝีพระหัตถ์การแต่งเครื่องเสวยของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และเพื่อนำไว้ใช้เป็นบทเห่เรือพระที่นั่งเวลาเสด็จประพาสส่วนพระองค์ โดยมีใจความท่อนหนึ่งว่า...

" เทโพพื้นเนื้อท้อง เป็นมันย่องล่องลอยมัน
น่าซดรสครามครัน ของสวรรค์เสวยรมย์... "


วัตถุดิบและเครื่องปรุงมีดังนี้...
1. ผักบุ้งไทยหั่นท่อนยาวประมาณ 2 นิ้ว 1 ก.ก.
2. น้ำพริกเครื่องแกงคั่ว หรือแกงเผ็ด 120 กรัม
3. หัวกะทิ 2 ถ้วยตวง
4. หางกะทิ 10 ถ้วยตวง
5. หมูสามชั้นหั่นชิ้นพอดีคำ 500 กรัม
6. ลูกมะกรูดผ่า 4 จำนวน 2 ลูก
7. น้ำตาลมะพร้าวหรือน้ำตาลปี๊บ 100-120 กรัม (หรือใส่ตามชอบ)
8. เกลือป่น 1 ช.ต.
9. น้ำมะขามเปียก 3/4 ถ้วยตวง (ใช้มะขามเปียก 200 กรัม ผสมกับน้ำต้มสุกอุ่น 3 ถ้วยตวง คั้นให้ได้น้ำมะขามเปียกข้นๆ ชอบเปรี้ยวแค่ไหนก็ใส่ตามชอบ)
10. น้ำปลาแท้ 8 ช.ต.

วิธีทำ
1. นำหัวกะทิลงผัดกับน้ำพริกเครื่องแกงให้หอม และแตกมันสวย
2. จากนั้นจึงใส่หมูสามชั้น ผัดคลุกเคล้าให้เข้ากันจนหมูสุก
3. นำหางกะทิใส่หม้อตั้งไฟ ตักหมูสามชั้นที่ผัดกับน้ำพริกเครื่องแกงลงใส่ ตามด้วยเกลือป่น ต้มให้เดือด ลดไฟลง เคี่ยวจนกระทั่งเนื้อหมูนุ่ม
4. เร่งไฟแรง แล้วใส่ผักบุ้งลงไป ใช้ทัพพีกดผักบุ้งให้จม เพื่อที่ผักบุ้งจะได้ไม่ดำ
พอเดือดจึงลดไฟลงให้เหลือไปกลางค่อนไปทางอ่อน ปิดฝาหม้อโดยแง้มฝาหม้อไว้เล็กน้อย เคี่ยวให้ผักบุ้งเปื่อยนุ่มตามต้องการ พอผักบุ้งนุ่มดีให้ปรุงรสด้วยน้ำตาลมะพร้าวหรือน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา และน้ำมะขามเปียก ชิมรสดูให้ได้รสเค็มนำ เปรี้ยวตาม หวานตัดเล็กน้อย หากรสจืดไปให้เคี่ยวต่อจนรสชาติได้ที่ตามชอบ แต่หากรสจัดไป แสดงว่าน้ำระเหยไปมากระหว่างเคี่ยว สามารถปรับรสชาติได้ด้วยการเติมน้ำลงไปทีละน้อยแล้วคอยชิมรสดู จนได้รสชาติที่พอใจ เมื่อรสชาติได้ที่ถูกใจแล้ว จึงใส่ลูกมะกรูดผ่าสี่ลงไป พอเดือดอีกครั้งจึงยกลงจากเตา

# หมายเหตุ #
1. หากรับประทานไม่หมด และต้องการจะนำแกงแช่เย็น เพื่อนำมาอุ่นรับประทานอีกครั้ง ให้ตักเอาลูกมะกรูดออก เนื่องจากหากทิ้งมะกรูดไว้นานจะทำให้มะกรูดปล่อยความเปรี้ยวและความขมลงมาในน้ำแกง อาจทำให้เสียรสชาติได้
2. รสชาติของเครื่องปรุงรสแต่ละยี่ห้อ มักมีระดับที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นผู้ปรุงจึงควรใช้วิจารณญาณของตนเองประกอบด้วย โดยอาจใส่เครื่องปรุงรสทีละน้อย และหมั่นชิมรสจนกระทั่งได้รสชาติที่พึงพอใจ

เฟสบุ๊คแฟนเพจ "กินดี อยู่ดี By เนรัญชลา"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่