JJNY : ไม่จริงใจกระจายอำนาจ│ปกรณ์วุฒิแนะเปิดใจกว้าง│วิจัยกรุงศรีคาด อุทกภัยเสี่ยงสูง│กว่างซียกระดับเตือนภัยน้ำท่วมอีก

ภคมน ขอพูดในฐานะคนใต้ อัด ไม่จริงใจกระจายอำนาจ ทำพรรคร่วมรบ.น้องใหม่ โดดร่วมรัฐบาล
https://www.matichon.co.th/politics/news_4788670
 
 
ปชป. สะดุ้ง! ภคมน ชี้ รัฐบาล แพทองธาร ทำตาสว่าง เคยต่อว่ากัน แต่สุดท้ายร่วมรบ.เฉย ถาม คนใต้เลือกพรรคมีสัจจะหรือสับปลับ

เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่รัฐสภา การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ มี นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม

เวลา 11.30 น. นางสาวภคมน หนุนอนันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) อภิปรายตอนหนึ่งว่า หลายครั้งในฐานะที่เป็นคนใต้ ได้ยินว่าภาคใต้โดนกลั่นแกล้ง โดนคำสาป ถ้าไม่เลือกพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ก็จะไม่นำงบประมาณมาบริหารและพัฒนาภาคใต้ให้ นี่อาจจะเป็นเหตุผลให้พรรคร่วมรัฐบาลน้องใหม่ตัดสินใจไปร่วมรัฐบาล เพื่อหวังจะให้งบประมาณและทรัพยากรมาลงในพื้นที่ภาคใต้ หากคิดเช่นนี้ถือว่าผิดเรื่องผิดราวไปหมด เพราะเหตุผลเดียวที่จะพัฒนาพื้นที่ได้คือการกระจายอำนาจ แต่ 20 ปีที่ผ่านมา ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ว่าจะพรรคการเมืองใดเข้ามามักจะหวงแหนอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ไม่มีความจริงใจที่จะกระจายอำนาจ
 
รัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทำให้ดิฉันตาสว่างว่าเคยต่อว่า เคยวิพากษ์วิจารณ์ พูดจาให้ร้าย สุดท้ายก็อยากไปร่วมรัฐบาลและทำอะไรไม่ได้เลย ไม่ได้จะนำเสนออะไรของตัวเอง ไม่หือไม่อืออะไรเลย ยอมไปหมดเลย แบบนี้บ้านดิฉันไม่ได้เรียกว่าร่วม แต่เรียกว่าพลอยเป็นรัฐบาลกับเขา ไม่ได้ร่วม เพราะถ้าร่วมต้องได้ผลักดันอะไรของตัวเองบ้าง คนใต้ถือเรียกเกียรติ ศักดิ์ศรี สัจจะวาจา ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนทั้งประเทศ และคนใต้ ต้องคิดแล้วว่าจะเลือกนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่มีสัจจะวาจาตรงไปตรงมา หรือจะเลือกพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ใช้ประชาชนบังหน้า แล้วสับปลับ กลับไปกลับมา” นางสาวภคมน กล่าว



ปกรณ์วุฒิ แนะ นายกฯเปิดใจกว้าง จะรู้ไม่ได้เป็นฝ่ายแค้น ย้อน ภูมิธรรม สร้างวาทกรรมบ่อยสุด
https://www.matichon.co.th/politics/news_4788488
 
ปกรณ์วุฒิ แนะ นายกฯ เปิดใจกว้าง จะรู้ว่าไม่ได้เป็นฝ่ายแค้น สวนกลับ ภูมิธรรม คือคนสร้างวาทกรรมเยอะที่สุด ไม่ใช่ฝ่ายค้าน ติดใจ ทำไมพูดถึงคนนอกสภาฯ ไม่ได้ แต่ฝ่ายรัฐบาลพูดได้
 
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 13 กันยายน ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมการแถลงนโยบายของรัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ว่า เรื่องของการจัดการเวลาถือว่ายังอยู่ในกรอบ ซึ่งวันนี้ (13 ก.ย.) คาดว่าจะเลิกเวลา 23.00 น. ตนเชื่อว่าเรื่องจัดการเวลาไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากเราคุยกันตลอด ส่วนเรื่องเนื้อหาก็เป็นที่น่าพอใจ ทุกคนก็ทำได้ดี

อาจจะเป็นห่วงนิดนึง เรื่องบรรยากาศภายในสภาฯ ที่มีการประท้วงกันหลายรอบ ไม่ให้พูดถึงเรื่องอดีต ทั้งที่พรรคร่วมรัฐบาล ก็พูดมาตลอดว่ารัฐบาลนี้ สืบทอดเจตนารมย์มาจากรัฐบาลเดิม แต่พอฝ่ายค้านพูดถึงรัฐบาลเดิมก็กลับประท้วง แต่พรรคร่วมรัฐบาลเองก็พูดถึงรัฐบาลเดิมอยู่บ่อยครั้ง ท่านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ก็พูดเองว่าเป็นการสืบสานอุดมการณ์มาจากพรรคเดิม แต่พอฝ่ายค้านพูดกลับไม่ให้พูด อีกเรื่องที่กังวลคือสไลด์อภิปรายมีการเบลอหน้าบุคคลภายนอก บางท่านก็เป็นอดีตรัฐมนตรี ส่วนตัวผมถ้าเบลอหน้าผมรู้สึกว่าเป็นการไม่ให้เกีรยติบุคคลในภาพเสียด้วยซ้ำ ดูไม่ดียิ่งกว่าเดิมอีก” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
 
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวย้ำว่า ทุกคนที่อภิปรายเป็นบุคคลสาธารณะ และเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เป็นการตั้งคำถามว่ารัฐบาลนี้จะดำเนินการต่ออย่างไร ตนคิดว่าสภาฯแห่งนี้ประชาชนเลือกให้เรามาพูดถึงเรื่องข้างนอกที่กระทบต่อชีวิตประชาชน ดังนั้น การเคร่งครัดไม่ให้พูดถึงบุคคลภายนอกทำให้สภาฯทำงานได้ไม่เต็มที่ ประชาชนเลือกเรามาให้พูดถึงปัญหาของเขา ไม่ได้เลือกเรามาให้คุยกันเอง ตนกังวลว่าจะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีในอนาคต
 
เมื่อถามว่า นายกฯ ก็เปรยว่าอยากทำงานร่วมกัน นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เราก็ยืนยันมาตลอด ว่าเรื่องที่เห็นร่วมกัน เราก็ทำงานร่วมกันได้แน่นอนอยู่แล้ว ร่างกฎหมายใดที่รัฐบาลเสนอมา แล้วเราเห็นว่าเป็นประโยชน์คงไม่ค้านอยู่แล้ว ก็เห็นกันอยู่ว่าเราสนับสนุนในหลายๆครั้ง หลายเรื่องเราก็ไม่ได้ขัด ไม่ได้แย้ง พูดคุยกันในวิปแล้วทำให้ราบรื่นไปตลอดรอดฝั่ง ไม่ได้เป็นฝ่ายแค้นอยู่แล้ว หลายครั้งมากๆที่เราเห็นตรงกัน
 
เมื่อถามว่า เป็นการตอกย้ำหรือไม่ว่า พรรคประชาชนไม่กล้าค้านพรรคเพื่อไทย เช่น เรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรมชั้น 14 นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า หากติดตามการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ก็คงเห็นว่านพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โดนประท้วงหนักเหมือนกัน เพราะเนื้อหาค่อนข้างเข้มข้น มีรัฐมนตรีในขณะนั้น ลุกขึ้นมากึ่งๆข่มขู่ ร้องเรียนเรื่องมาตรฐานวิชาชีพแพทย์ด้วยซ้ำ หากติดตามดีๆ เราตรวจสอบทุกเรื่อง แต่ตนคิดว่าเป็นการยืนอยู่บนหลักการมากกว่า
 
ถ้าหากถามว่าเราไม่กล้าค้านพรรคเพื่อไทย ถ้าเป็นหลักการที่เราเห็นด้วย แล้วเราค้าน นั่นแหละที่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน ” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
 
เมื่อถามว่า สังคมตั้งข้อสงสัยว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ อาจจะครอบงำน.ส.แพทองธาร ในการแถลงนโยบาย ทำไมพรรคประชาชนไม่พูดถึงเรื่องนี้ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เมื่อวาน (12 ก.ย. ) มีหลายคนที่พูดถึงนายทักษิณ แล้วโดนประท้วง ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ตนเอ่ยถึงว่าการพูดถึงบุคคลภายนอกไม่ได้เลย จะกลายเป็นปัญหา แต่สิ่งที่รัฐมนตรีหลายท่านพูด ตนก็เห็นด้วย ไม่ว่าคำแนะนำของใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนายทักษิณ​หรือคนอื่นแนะนำมาและมีประโยชน์ แล้วรัฐบาลหยิบไปใช้ ตนคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน หรือแม้กระทั่งจากสมาชิกก็เป็นสิทธิวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งข้อสงสัย
 
ส่วนที่นายกฯ ขอให้ฝ่ายค้านเลิกเป็นฝ่ายแค้น นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า “ถ้าท่านนายกฯได้ติดตามการทำงานในสภาฯของพวกเรา ใน 1 ปี ท่านนายกฯคงจะรู้ว่าเราไม่ได้ทำตัวเป็นฝ่ายแค้น ผมก็ไม่แน่ใจว่าเมื่อวานนี้ท่านนายกฯได้ติดตามการอภิปราย จากพรรคประชาชนหรือพรรคร่วมฝ่ายค้านเองหรือไม่ว่าทำตัวเป็นฝ่ายแค้นตอนไหน ไม่แน่ใจว่าใครไปบอกให้ท่านนายกฯพูดแบบนี้ อยากให้ลองเปิดใจให้กว้าง ถ้าท่านายกฯได้ฟังจริงๆ จะพบว่าทางเราก็มีคำแนะนำ ข้อติติงหลายอย่างที่ท่านอาจจะเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งหากนำไปใช้ก็เป็นประโยชน์ ”
 
ส่วนที่นายกฯ และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่าไม่อยากให้ฝ่ายค้านใช้วาทกรรม นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมา คนที่พูดว่าวาทกรรมบ่อยที่สุดคือ นายภูมิธรรม ฝ่ายค้านแทบไม่ได้สร้างวาทกรรมอะไรเลย แต่หากทุกคนสังเกตดูเมื่อไหร่ที่นายภูมิธรรมเปิดไมค์จะพบว่า มีคำว่าวาทกรรมขึ้นมาทุกครั้ง ไม่รู้ว่าติดใจอะไรกับคำนี้มากหรือไม่ หรือมีปมอะไร ถ้าตั้งใจฟังจริงๆ ไม่มีอคติ ก็คงรับรู้ได้ว่าข้อติติงหลายอย่างเสนอด้วยความหวังดี
 
เมื่อถามว่า การแถลงนโยบายไม่มีการลงมติ แต่จะมีการขีดเส้นให้เวลารัฐบาลทำงานอย่างไร นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า หลังจากนนี้คงมีการพูดคุยกันอีกครั้ง เพราะตอนแรกเราจะเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ในสมัยประชุมนี้ แต่เมื่อมีเหตุการณ์ใหญ่ๆเกิดขึ้น สถานการณ์อาจจะเปลี่ยน ดังนั้น หากมีเนื้องสาระมากพอก็พร้อมที่จะเปิดอภิปราย
 
นายปกรณ์วุฒิ ยังกล่าวอีกว่า ตนไม่แน่ใจว่าจะประเมินการแถลงนโยบายของนายกฯอย่างไร เพราะตามข้อบังคับกำหนดว่าต้องอ่านคำแถลง ซึ่งตนคิดว่านายกฯไม่จำเป็นต้องตอบคำถามเองทุกเรื่องก็ได้ โดยรวมอยากเห็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตอบคำถามทั้งชุดมากกว่าพูดในหลักการที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้



วิจัยกรุงศรี คาดอุทกภัยเสี่ยงสูงช่วง ก.ย.-ต.ค. โอกาส 30% เสียหายมากสุด 5.95 หมื่นล้าน.
https://www.matichon.co.th/economy/news_4788555

วิจัยกรุงศรี คาดอุทกภัยเสี่ยงสูงช่วง ก.ย.-ต.ค. โอกาส 30% เสียหายมากสุด 5.95 หมื่นล้าน
 
เมื่อวันที่ 13 กันยายน ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วิจัยกรุงศรีได้วิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ดัชนีสมุทรศาสตร์ ทั้งดัชนี ONI (ดัชนีชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเล) ที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะลานีญาอย่างรวดเร็วหลังจากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงต้นปี และดัชนี PDO (ค่าความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในมหาสมุทร) และ IOD (ปรากฏการณ์ในมหาสมุทรอินเดีย) ที่แสดงแนวโน้มพายุในภูมิภาคที่มีผลอย่างมากต่อปริมาณฝนในไทย ตลอดจนอิทธิพลจากพายุประจำปี ทั้งพายุที่จะเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรงและเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านแต่ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อประเทศไทย
 
ทำให้คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ปริมาณฝนในไทยจะมีแนวโน้มสูงกว่าค่าเฉลี่ยราว 15-16% และคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ภาวะลานีญาอย่างเต็มตัวในเดือนตุลาคม 2567 ทำให้ในเดือนกันยายน-ตุลาคมเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงอุทกภัยในทุกภูมิภาค โดยพื้นที่เสี่ยงสูงได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางส่วนของภาคใต้ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่างซึ่งเป็นทางน้ำผ่าน และภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำและเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจนทรัพย์สิน อาทิ ครัวเรือน โรงงาน เครื่องจักร สินค้าเกษตร ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคได้
 
ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีได้จำลองสถานการณ์ไว้ 3 กรณี ในกรณีฐาน ความน่าจะเป็น 50% โดยคาดว่าจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 8.6 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 4.65 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.27% ของ GDP อย่างไรก็ตาม ความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐที่ดีขึ้น และการพัฒนาระบบป้องกันของภาคเอกชนโดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรม จะช่วยลดทอนผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2554
 
หากเป็นกรณีดีที่สุด ความน่าจะเป็น 20 % คาดว่าจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 6.2 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 3.34 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.19% ของ GDP และหากเป็นกรณีเสียหายมากที่สุด ความน่าจะเป็น 30 % คาดว่าจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 11 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 5.95 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.34 % ของ GDP
 
แม้ว่าความเสี่ยงอุทกภัยในปีนี้จะเพิ่มสูงขึ้น แต่วิจัยกรุงศรีคาดว่าจะไม่รุนแรงเท่ามหาอุทกภัยปี 2554 เนื่องจากในปี 2567 นี้มีปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่า มีพื้นที่รองรับน้ำมากกว่า รวมถึงความพร้อมด้านการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐและการเตรียมความพร้อมของภาคเอกชนที่พัฒนาขึ้น อย่างไรก็ตาม เรายังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมที่มีความเสี่ยงสูงสุด เนื่องจากยังมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อีกหลายประการ โดยเฉพาะจำนวนพายุที่เคลื่อนที่เข้าสู่ไทยที่จะส่งผลต่อปริมาณฝนและพื้นที่ที่เกิดฝนตกหนัก อันเนื่องมาจากภาวะโลกรวนในปัจจุบันที่ทำให้สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว หรือ Extreme weather เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้นและรุนแรงมากขึ้น” ดร.พิมพ์นารา กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่