กองทุนประกันหนี้ทะลัก 8 หมื่นล้าน 10 บริษัทชิงพอร์ตสินมั่นคง

กองทุนประกันวินาศภัยแบกหนี้ทะลัก 8 หมื่นล้าน หลังคลังเซ็นปิดตำนาน 73 ปี “สินมั่นคงประกันภัย” สังเวยพิษกรมธรรม์โควิด “เจอจ่ายจบ” เตรียมเปิดให้เจ้าหนี้ 5 แสนรายยื่นเรื่องขอรับชำระหนี้ภายใน 60 วัน ขณะที่ผู้จัดการกองทุนฯยอมรับถังแตกเหลือเงินกองทุนแค่ 3-4 ล้านบาท แต่มีหนี้รอจ่ายกว่า 8 หมื่นล้าน หมดหนทางหาเงิน-ดิ้นหาวิธีแฮร์คัตหนี้เผยรัฐบาลไม่ค้ำประกัน-แบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้ รอรับแค่เงินสมทบบริษัทประกันปีละ 1,200-1,300 ล้านบาท ประเมินต้องใช้เวลา 60-70 ปีใช้คืนหนี้ผู้เอาประกัน ขณะที่ 10 บริษัทประกันเด้งรับพร้อมประมูลรับโอนพอร์ตลูกค้าสินมั่นคง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลายเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้ของวงการประกันภัยในประเทศไทย จากพิษกรมธรรม์ประกันภัยโควิด “เจอ-จ่าย-จบ” ทำให้บริษัทประกันขาดทุนหนักจากการต้องจ่ายเคลมสินไหม จนเรียกได้ว่า “หนี้สินล้นพ้นตัว” และถูกกระทรวงการคลังเพิกถอนใบอนุญาตรวม 5 บริษัท

ตั้งแต่ 1.บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และล่าสุดรายที่ 5 บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถือเป็นการปิดฉาก 5 บริษัทประกันวินาศภัย ที่ต้องปิดกิจการจากผลกระทบโควิด

ปิดตำนาน 73 ปี “สินมั่นคงฯ”
โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เซ็นลงนามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1364/2567 เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ไปเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ตามที่ปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียน (เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ว่า บริษัท สินมั่นคงประกันภัย มีหนี้สินล้นพ้นตัว อยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนได้
โดยฐานะการเงินของบริษัท ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 บริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน จำนวน 33,680.22 ล้านบาท และบริษัทมีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่าย จำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เซ็นลงนามคำสั่งแต่งตั้ง “กองทุนประกันวินาศภัย” เป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย
ถือเป็นการ “ปิดตำนาน” บริษัท สินมั่นคงฯ ที่อยู่คู่คนไทยมาร่วม 73 ปี ของตระกูล “ดุษฎีสุรพจน์” ที่เริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 โดยสินมั่นคงฯดำเนินธุรกิจด้านการบริการรับประกันวินาศภัย 4 ประเภท ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง และประกันภัยเบ็ดเตล็ด โดยมีพอร์ตรับประกันรถยนต์ใหญ่สุด

กปว.ประชุมบอร์ดวาระพิเศษ
นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน กปว.ในฐานะผู้ชำระบัญชี ได้ส่งทีมงานเข้าไปรับไม้ต่อจากเจ้าหน้าที่ คปภ. ที่ก่อนหน้านี้ได้เข้าไปควบคุมการอนุมัติจ่ายเงินของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะมีหนังสือแจ้งถึง นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้รับทราบต่อไป
โดยในส่วนทรัพย์สินและอาคารสาขาที่อยู่ตามต่างจังหวัดทั้งหมดของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จะขอให้สำนักงาน คปภ.ภาค และสำนักงาน คปภ.จังหวัด ช่วยดูแลต่อเนื่อง แทน กปว. ไปก่อนในช่วงนี้ และจะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการกองทุนประกันวินาศภัย (บอร์ด กปว.) วาระพิเศษ เพื่อพิจารณากำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลทรัพย์สินและจำนวนกรมธรรม์ที่ยังเหลือความคุ้มครองอยู่ ซึ่งเบื้องต้นมีประมาณ 800,000-1,000,000 กรมธรรม์ ครอบคลุมทั้งประกันภัยรถยนต์และประกันภัยที่ไม่ใช่รถ

เปิดยื่นรับชำระหนี้ใน 60 วัน
ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัยระบุว่า ตามกฎหมายไม่เกิน 60 วัน กปว.จะประกาศให้เจ้าหนี้ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำนวน 500,000-600,000 ราย มูลหนี้กว่า 30,000 ล้านบาท เข้ามายื่นขอรับชำระหนี้กับ กปว.ต่อไป
โดยการยื่นขอรับชำระหนี้กับกองทุนกรณีบริษัท สินมั่นคงฯ จะใช้ระบบเดียวกับศาล คือ ยื่นขอรับชำระหนี้ทางออนไลน์ทั้งหมด กรณีเจ้าหนี้มีปัญหาขัดข้องสามารถขอความช่วยเหลือจากสำนักงาน คปภ.ได้ทั่วประเทศ

“ขณะที่บริษัทต้องมีการบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยการบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ ทางสำนักงาน คปภ.จะต้องประสานสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อให้บริษัทประกันวินาศภัยรายอื่นที่สนใจเข้ามารับช่วงกรมธรรม์ต่อ” นายชนะพลกล่าว
กองทุนหนักใจแบกหนี้ 8 หมื่นล้าน

นายชนะพลกล่าวถึงภาระหนี้ของกองทุนว่า ปัจจุบันมูลหนี้ที่ กปว. ต้องแบกรับภาระของ 5 บริษัท ที่ปิดกิจการจากผลกระทบโควิด มีมูลหนี้รวมกว่า 80,000 ล้านบาท เจ้าหนี้รวมกว่า 1.1 ล้านราย โดยของ 4 บริษัทก่อนหน้า มีมูลหนี้เกือบ 50,000 ล้านบาท มีเจ้าหนี้เกือบ 600,000 ราย ซึ่งตอนนี้ยังดำเนินการจ่ายหนี้ให้ไม่ได้ ถือว่าค่อนข้างหนักใจมาก เมื่อมีหนี้ของบริษัท สินมั่นคงฯ มาสมทบเพิ่มอีกกว่า 30,000 ล้านบาท เจ้าหนี้เพิ่มอีก 500,000-600,000 ราย ซึ่งถือเป็นมูลหนี้อีกเกือบเท่าตัว

“ตามเจตนารมณ์กฎหมาย รมว.คลัง เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายฉบับนี้ เพราะฉะนั้นต้องมีมาตรการช่วยเหลือกองทุน ตอนนี้พยายามทำข้อมูลชี้แจงคณะกรรมาธิการหลายชุด และกองทุนในฐานะหน่วยงานปลายน้ำ ทำครบถ้วนทุกกระบวนความแล้ว ทั้งขอแก้ไขกฎหมายกองทุนเพื่อเพิ่มเงินสมทบ และการกู้เงิน แต่ไม่มีใครให้กู้เลย ขณะที่หน่วยงานอื่นแทบไม่ได้ขยับทำอะไรเลย จึงอยากขอฝากถึงเรื่องนี้ด้วย” นายชนะพลกล่าว
กปว.เหลือเงินจ่ายแค่ 3-4 ล้าน

นายชนะพลกล่าวว่า เรื่องการกู้เงินตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบกรอบวงเงินกู้ไว้ 3,000 ล้านบาท แต่ให้ กปว.หาแหล่งเงินกู้เองภายในวันที่ 30 ก.ย. 2567 ขณะนี้ทุกสถาบันการเงินก็ยืนยันกลับมาแล้ว ว่าไม่สามารถปล่อยกู้ได้ เพราะรัฐบาลไม่ค้ำประกัน ฉะนั้นคงต้องเสนอแผนใหม่ในปีหน้า
ขณะที่ประเด็นการเพิ่มรายได้จากการปรับเพิ่มเงินสมทบจากบริษัทประกันวินาศภัย ก็ได้เสนอให้ คปภ.ไปร่วมพิจารณากับภาคอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว เงื่อนไขต่าง ๆ คงอยู่ที่ข้อตกลงทั้งสองฝ่าย
“สถานะ กปว. ขณะนี้มีเงินสภาพคล่องเหลือแค่ 3-4 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันภาระหนี้คงค้างกว่า 80,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ในเดือน ก.ค.นี้จะมีเงินสมทบเข้ามาสู่ กปว. ประมาณกว่า 600 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายหนี้เพิ่มเติมได้”

มิติที่สอง คือ แหล่งเงินที่สามารถนำมาจ่ายหนี้ได้ และใช้ระยะเวลาคืนหนี้กี่ปี และมิติที่สาม คือ ติดขัดข้อกฎหมายส่วนไหนบ้างที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข
แต่อย่างไรก็ตาม ได้รับรายงานล่าสุดว่า เบเคอร์ฯได้ขอถอนตัวศึกษาเรื่องนี้ไปแล้ว อย่างไรก็ดี กำลังพิจารณาว่าจ้างบริษัทรายอื่นต่อไป ซึ่งการศึกษารอบนี้ต้องรวมมูลหนี้ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย เข้าไปประเมินเพิ่มเติม
กองทุนโอดถูกลอยแพ

นายชนะพลกล่าวเพิ่มเติมว่า เงินกองทุนขณะนี้เหลือเพียง 3-4 ล้านบาท ซึ่งบอร์ด คปภ. ได้อนุมัติให้บริษัทประกันวินาศภัยเพิ่มเงินสมทบเข้ากองทุนเต็มเพดานกฎหมายกำหนด 0.5% ของเบี้ยรับใหม่ ซึ่งจะทำให้ในปี 2567 กองทุนมีเงินเข้ามาสมทบประมาณ 1,200-1,300 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะมีการนำส่ง 2 รอบ คือ สิ้นเดือน ม.ค. และสิ้นเดือน ก.ค.ของทุกปี เพื่อนำไปทยอยจ่ายคืนหนี้ของบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต
อย่างไรก็ตาม วงเงินดังกล่าวถือว่าน้อยมาก กองทุนจึงคาดหวังว่าหากแก้กฎหมายเกณฑ์ใหม่ปรับขึ้นไปที่ระดับ 1% น่าจะทำให้มีเงินเข้าสู่กองทุนได้ปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท น่าจะช่วยจ่ายหนี้ให้เจ้าหนี้ได้เร็วขึ้น

“ถึงตอนนี้กองทุนยังไม่เห็นแสงสว่างตรงไหนเลย เพราะยังไม่เห็นท่าทีของรัฐบาล หรือหน่วยงานกำกับ และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ที่จะพูดคุยกันว่าจะร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งถ้าไม่มีรัฐบาลเข้ามาสนับสนุน และกองทุนยังหาแหล่งเงินทุนไม่ได้ การจ่ายหนี้ไม่สัมพันธ์กับหนี้ค้างจ่ายที่สูงมาก”
ใช้เวลา 66 ปีเคลียร์มรดกหนี้

10 บริษัทประกันชิงรับโอนพอร์ต
ขณะที่นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีการเพิกถอนใบอนุญาตสินมั่นคง เบื้องต้นได้รับข้อมูลว่ามีบริษัทประกันวินาศภัยเกือบ 10 ราย ที่สนใจเข้าร่วมให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยของบริษัท สินมั่นคงฯซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ โดยทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยยังไม่ได้แจ้งรายชื่อบริษัทประกันอย่างเป็นทางการเข้ามาให้สำนักงาน คปภ.
สำหรับข้อมูลกรมธรรม์ของลูกค้าบริษัท สินมั่นคงฯ ที่ยังมีความคุ้มครองเหลืออยู่นั้น ระบบของสำนักงาน คปภ. ตรวจเช็กได้ประมาณ 600,000 กรมธรรม์ แต่จากการสอบถามผู้เกี่ยวข้องคาดว่าน่าจะเหลือไม่เกิน 300,000 กรมธรรม์ส่วนใหญ่เป็นประกันรถยนต์ที่อาจจะครบอายุไปแล้ว ซึ่งในเวลานี้กำลังตรวจเช็กข้อมูลที่ถูกต้องอยู่ หลังจากนั้นก็จะมีการเปิดให้ประมูลพอร์ตลูกค้าแต่ละประเภท

คปภ.หนุนปรับโครงสร้างหนี้
เลขาธิการ คปภ.กล่าวต่อว่า แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ของ กปว. ค่อนข้างเห็นด้วยอย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับก่อนหน้านี้ ปลัดกระทรวงการคลังได้ให้สัมภาษณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม คงต้องรอความชัดเจนจากการศึกษาของ กปว.ก่อน
“ทั้งนี้ มองว่าการปรับโครงสร้างหนี้ควรจะเป็นความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ดี คงจะมีการไปร่วมหารือกับ กปว.ต่อไป” เลขาธิการ คปภ.กล่าว

แจ้งบริษัทประกันร่วมดูแลลูกค้า
ดร.พงษ์ภาณุ ดำรงศิริ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย (TGIA) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 สมาคมได้ทำหนังสือด่วนถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทประกันวินาศภัย เรื่องโครงการบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยที่มีสัญญาประกันภัยกับบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย

เนื่องด้วยสมาคมได้รับการประสานงานจากสำนักงาน คปภ. ขอให้ประสานงานบริษัทประกันวินาศภัย ในการเชิญชวนเข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย ซึ่งจะช่วยให้ผู้เอาประกันภัยได้รับการดูแลและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ธุรกิจประกันวินาศภัยอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ สมาคมได้กำหนดโครงการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย โดยให้ผู้เอาประกันภัยที่ประสงค์จะนำค่าเบี้ยประกันที่ได้รับคืนจากบริษัท สินมั่นคงฯ ตามระยะเวลาความคุ้มครองที่เหลืออยู่ สามารถใช้แทนเงินสดในการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยใหม่ กับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือ โดยผู้เอาประกันภัยจะต้องโอนสิทธิเรียกร้องค่าเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทประกันภัยใหม่ เพื่อให้บริษัทประกันที่เข้าร่วมโครงการสามารถเรียกคืนจากกองทุนประกันวินาศภัยได้

เปิดข้อมูลมรดกหนี้ค้างจ่าย
ข้อมูลจากกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทุนมีหนี้ค้างจ่ายเดิม (ยังไม่รวมสินมั่นคงฯ) รวม 50,572 ล้านบาท เจ้าหนี้ 604,157 ราย แยกเป็น 1.บริษัท อาคเนย์ประกันภัย มูลหนี้ 30,727 ล้านบาท เจ้าหนี้ 248,502 ราย 2.บริษัท ไทยประกันภัย มูลหนี้ 6,508 ล้านบาท จำนวน 63,469 ราย 3.บริษัท เดอะวันประกันภัย มูลหนี้ 10,108 ล้านบาท จำนวน 136,390 ราย 4.บริษัท เอเชียประกันภัย มูลหนี้ 1,845 ล้านบาท จำนวน 137,903 ราย
5.บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย มูลหนี้ 994 ล้านบาท จำนวน 6,139 ราย 6.บริษัท เจ้าพระยาประกันภัย มูลหนี้ 203 ล้านบาท จำนวน 4,883 ราย 7.บริษัท สัจจะประกันภัย มูลหนี้ 12 ล้านบาท จำนวน 2,253 ราย และ 8.บริษัท เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ มูลหนี้ 221 ล้านบาท จำนวน 4,618 ราย

Cr.  https://www.prachachat.net/finance/news-1606509

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่