ปัญหาของตลาดหุ้นไทยที่อาจแย่กว่าตอนซับไพร์ม❗



          หากใครอยู่ในตลาดหุ้นมานานคงจำได้กับสถานการณ์เมื่อประมาณ 15 ปีที่ก่อน กับวิกฤตซับไพร์มที่เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่นักลงทุนขยาดที่สุด ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยเป็นขาลงคล้ายกับในปัจจุบัน โดยดัชนี SET ปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดที่ประมาณ 900 จุด ไปจุดต่ำสุดที่ประมาณ 400 จุด คิดเป็นกว่า 55% พร้อมปริมาณการซื้อขายที่เบาบางสร้างความอ้างว้างให้กับห้องค้าทั่วทุกโบรก รวมถึงฝากความเจ็บปวดให้กับพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนทั่วทั้งประเทศ แต่หากถ้าต้องเลือกระหว่างสถานการณ์ช่วงนั้นกับปัจจุบัน เราคงขอเลือกให้เป็นตอนนั้นมากกว่า โดยเป็นเพราะอะไรมาลองวิเคราะห์กันในบทความนี้

ภาพแสดงการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในปี 2009 และ ปี 2024 (ปัจจุบัน)


ตลาดปัจจุบันเป็นขาลงที่ยืดยาวและยังไม่เห็นแววจบสิ้น  เม่าเหม่อ

          จากภาพหากไม่พิจารณาถึงขนาด%การเปลี่ยนแปลงจะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตซับไพร์มจะมี Pattern ที่คล้ายคลึงกับในปัจจุบัน (2024) กล่าวคือเป็นการปรับตัวเป็นขาลง แต่เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดแล้วจะพบว่าในปัจจุบันกินระยะเวลาที่ยาวนานกว่า... โดยนับตั้งแต่ ม.ค. 23 ที่ตลาดขึ้นไปแถว 1700 จุด จนมาถึงปัจจุบัน (มิ.ย.) ก็เป็นเวลากว่า 1 ปีครึ่งแล้วที่ตลาดหุ้นไทยยังไม่มีแนวโน้มวกตัวกลับขึ้นไป แถมยังเดินหน้าทำจุดต่ำสุดใหม่ใกล้ 1300 จุดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคิดการเป็นติดลบกว่า 20% ต่างจากช่วงปี 2009 ที่ตลาดทิ้งตัวลงแทบจะทางเดียวโดยใช้เวลาเพียง 6 เดือน (พ.ค. 08 - พ.ย. 08) สร้างปรากฏการณ์ลงหนักกว่า 50% ! แล้วการปรับตัวลงเพียงแค่ 20% นี้มันจะไปแย่กว่าช่วงนั้นได้อย่างไร ?

ภาพแสดงการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยปี 2023-2024


เพราะตลาดปัจจุบันทำให้นักเก็งกำไรเล่นยากกว่าหลายเท่า เม่าคัทลอส

          สำหรับนักลงทุนที่ใช้กลยุทธ์ซื้อแล้วถือยาว อาจไม่เห็นถึงผลกระทบนี้ แต่สำหรับรายย่อยส่วนใหญ่ที่เป็นนักเก็งกำไรนั้นได้รับไปอย่างเต็ม ๆ เพราะการค่อย ๆ ลงแบบนี้มันมีจังหวะสร้างความหวังให้มีการเข้าซื้อระหว่างทาง โดยทุกท่านจำกันได้ไหมครับ กับแท่งเขียวขาขึ้นในตอนเดือน เม.ษ. ที่ผ่านมา (วงกลมชมพูวงสุดท้าย)  โดยในวันนั้นบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่าตลาดกำลังกลับเป็นขาขึ้นรอบใหม่แล้ว พร้อมโชว์พอร์ตเข้าซื้อหรือเปิด Long กันถ้วนหน้า แต่แล้วใครจะไปคิดว่าอีก 2 เดือนต่อมา ตลาดจะสร้าง New Low อย่างทันที ทำให้ต้อง Cut Loss เจ็บตัวกันออกมา และระหว่างทางก็เกิดเหตุการณ์แบบนี้ไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง (วงกลมสีชมพูก่อนๆหน้า) ดังนั้นแล้ว ถ้าตลาดจะเป็นขาลงหลายคนคงอยากเห็นภาพการลงแรง ๆ แบบในช่วงนั้นมากกว่า เพื่อให้ไม่มีสัญญาณซื้อหลอกและสร้างความเสียหายที่บางคนอาจได้รับมากกว่าการถือยาวลงมา

รูปแสดง 5 ครั้งที่ตลาดหุ้นไทยมีการเคลื่อนไหวติดลบเกิน 20% ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาเทียบกับตลาดหุ้นสำคัญ


ในมุมของนักลงทุนที่ถือยาวเองก็อาจจะแย่เหมือนกัน เต่าเอือม

          จริงอยู่ที่การปรับตัวลดลงในรอบนี้จะสร้างความเสียหายน้อยกว่ารอบซับไพร์มสำหรับคนที่ถือยาว แต่หากพิจารณาถึงโอกาสในอนาคตก็น่าเป็นห่วง โดยเหตผลสำคัญคือ “แรงส่งจากสถานการณ์โลก” หากดูตารางทุกท่านจะเห็นว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยเคยผ่านขาลงหนักเกิน 20% มาแล้วถึง 5 รอบรวมปัจจุบัน ซึ่งในทุกรอบจะเป็นการปรับตัวลดลงโดยมีสถานการณ์ต่างประเทศเป็นตัวนำพาไป ทั้งวิกฤตซับไพร์ม (เฉลี่ยลง 40%), วิกฤตหนี้จากยุโรป (เฉลี่ยลง 2%), Covid-19 (เฉลี่ยลง 21%) หรือกระทั่งเหตุการณ์การเมืองปิดกรุงเทพที่ตอนนั้นก็ถูกสถานการณ์ ตปท. กดดันเพิ่มเติม (เฉลี่ยลง 11%) และเมื่อปัญหาของแต่ละเหตุการณ์คลี่คลายลง ตลาดโลกจะรีบาวแรงกลับคืนมาเสมอ และประเทศไทยก็ได้รับอานิสงค์ขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นเหตการณ์ปกติที่สร้าง "ความหวัง" ให้นักลงทุนมาโดยตลอดเมื่อเกิดขาลงแต่ละครั้ง แต่สำหรับรอบปัจจุบัน “เราไม่สามารถใช้ตัวช่วยนี้ได้” เพราะรอบนี้สถานการณ์รอบบ้านเป็นขาขึ้น (เฉลี่ย +13%) มีแต่เราที่ New Low ต่อเนื่อง ดังนั้น จึงไม่รู้ว่าสถานการณ์โลกจะช่วยเกิ้อหนุนต่อไปอีกนานแค่ไหน แถมยังอาจต้องมองกลับกันว่า ในวันที่ตลาดการลงทุนทั่วโลกกลับมาซบเซาจะยิ่งซ้ำเติมตลาดหุ้นไทยด้วยหรือไม่ ? 

Product & Technology ใหม่ ๆ เปลี่ยนพฤติกรรมตลาดหุ้น

         เพราะนักลงทุนรายใหญ่ไม่ได้สนใจแต่ขาขึ้นอีกต่อไป และการเข้ามามีบทบาทของผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนกลุ่มต่าง ๆ เช่น การใช้ TFEX ที่มีทั้งเรื่อง Leverage และสามารถทำกำไรขาลง จึงทำให้พวกเขาไม่ได้คาดหวังกับเทรนขาขึ้นแรง ๆ อย่างแต่ก่อน โดยสังเกตได้จากยอดการซื้อ-ขายที่ในปีนี้ต่างชาติมีการ Net สุทธิ SET50 Futures หลายหมื่นสัญญา/วัน รวมถึงมีการสะสม Short สุทธิ 10 วันที่ผ่านกว่า 1 แสนสัญญา ซึ่งคงเป็นตัวเลขที่บ่งชี้ชัดได้ว่าขนาดนักลงทุนอันดับ 1 ในตลาดยังเพิ่มน้ำหนักในการใช้เครื่องมือเหล่านี้ นี่ยังไม่พูดถึงเรื่อง Robot Trade, High Frequency Trade ที่ช่วยในการทำกำไรระยะสั้นและกำลังเป็นประเด็นสังคมอยู่ในตอนนี้ ดังนั้นแล้ว จึงเป็นเหตผลที่ทำให้เราอาจไม่ได้เห็นฟ้าหลังฝนกับโอกาสทองของตลาดหุ้นอย่างในรอบก่อน ๆ และอาจถึงจุดที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่กับสภาพตลาดแบบนี้ด้วยการใช้เครื่องมือเหล่านี้ทั้งช่วยเก็งกำไรและบริหารความเสี่ยงตามรายใหญ่ โดยใครที่สนใจเรื่อง TFEX ก็มาพูดคุยปรึกษากับกลุ่มคนที่ปรับตัวใช้ TFEX มาสักระยะร่วมกับพวกเราได้นะครับ
 
           สุดท้ายนี้ ถึงอย่างไรก็ตามเราเองก็ยังเป็นหนึ่งในฝั่งที่เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังมีอนาคตรออยู่ ถึงแม้จะไม่รู้ว่าขาขึ้นจะมาเมื่อไหร่ หรือกระทั่งมาจริงหรือไม่ และถ้ามันไม่มาในเร็ว ๆ นี้ ก็พร้อมที่จะแสดงการปรับตัวให้ทุกคนได้เห็นกันกับการทำ Challenge ที่ยากที่สุด “Live Trade TFEX” โดยตั้งใจและหวังว่ามันจะประสบความสำเร็จ เพราะจะช่วยเป็นแรงใจให้ทุกท่านได้พยายามกับตลาดหุ้นไทยต่อไป รวมถึงเราจะนำกำไรที่ได้ไปแจกสังคมและผู้ติดตามที่คอยให้กำลังใจพร้อมแชร์แนวทางต่อ ดังนั้น ช่วยเป็นเป็นกำลังใจด้วยนะครับ สำหรับในบทความหน้าเราจะมาพิสูจน์ให้ดูว่าตลาดหุ้นช่วงนี้เล่น Short ง่ายกว่า Long แค่ไหน ติดตามกันมานะครับ ขอบคุณครับ
                

Credit : https://www.facebook.com/tfexforfuture

ร่วมพูดคุยทิศทางหุ้น,TFEX

Line OpenChat : TFEX For Future
 

 
https://line.me/ti/g2/btLW138AZRRYIUeuCe-5GQ

พาพันขอบคุณ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่