JJNY : แรงงานชี้รธน.60 ไม่เอื้อคนจน│ไทยสร้างไทย ห่วงหนี้เสียเพิ่ม│หอการค้ารับกังวลกว่าเดิม│ทอร์นาโด 18 ลูกถล่มไอโอวา

ตัวแทนแรงงาน ปลุกลง ส.ว. ล้างผลพวงคสช. ชี้ รธน.60 ไม่เอื้อคนจน ‘ลืมตาอ้าปาก’
https://www.matichon.co.th/politics/news_4589640
 
 
ตัวแทนแรงงาน ปลุกลง ส.ว. ล้างผลพวงคสช. ชี้ รธน.60 ไม่เอื้อคนจน ‘ลืมตาอ้าปาก’
 
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ ในวาระครบรอบ 10 ปี คสช. กลุ่มสมัชชาคนจน ร่วมกับ 24 มิถุนาประชาธิปไตย ทะลุฟ้า และคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) จัดงาน ‘10 ปี รัฐประหาร คสช. ไม่ลืม ไม่ลืม ไม่ลืม
โดยตั้งแต่เวลา 17.40 น. มีการบรรเลงดนตรีจากกลุ่มทะลุฟ้าและวงสามัญชน สลับกับการปราศรัย
 
บรรยากาศเวลา 19.45 น. นางศรีไพร นนทรีย์ ตัวแทนสายแรงงาน ปราศรัยโดยกล่าวตอนหนึ่งว่า 10 ปีที่ผ่านมา เป็น 10 ปีที่แย่ลง ยังมีคนถูกคุมขัง มีคนงานหลายร้อยคนตกงาน เพราะโรงงานเปิดตัว กว่าจะต่อสู้เรื่องค่าชดเชยที่ค้างจ่าย ต้องใช้เวลายาวนานมาก
 
10 ปีที่ผ่านมา แรงงานลำลูกกา ย่านรังสิต เจออะไรบ้าง เราออกมาพูดก็โดนคดี ส่วนตัวเคยถูกเรียกไปศาลากลาง เพื่อปรับทัศนคติ
 
ทุกครั้งที่พูดคุยเรื่องปัญหาแรงงาน จะมีตำรวจ ทหารนั่งประกบอยู่ด้วย ทั้งที่ไม่รู้เรื่องกฎหมายแรงงานเลย
 
เงินแต่ละบาท กว่าเราจะได้กินได้ใช้ เป็นเรื่องยากลำบาก เพราะเราต้องกินทั้งครอบครัว เลือกตั้งก็ไปเรื่อยทหลังจากนั้นพอ คสช.เข้ามา ค่าจ้างไม่ขึ้น ความเท่าเทียมในเรื่องต่างๆ ก็หายไปเลย
 
“ช่วงโควิดเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษา เคยมีคนเกือบตายกว่าจะได้สมุนไพรไปรักษาตัวเอง มีคนงานตายทั้งกลมเพราะโควิด” นางศรีไพรกล่าว
 
นางศรีไพรชี้ว่า อีกสิ่งสำคัญที่เราต้องเผชิญ คือรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เราไม่มีสิทธิ มีเสียงอย่างเต็มที่ในการแก้ไข หรือร่วมร่าง เมื่อมีการทำประชามติ ออกไปรณรงค์ไม่รับร่างก็มีหลายคนถูกจับกุม พูดไม่ได้
 
หลังจากมีการลงประชามติแบบกลวงๆ ยังถูกดึงไปแก้อีก แล้วไม่ได้ลงมติโดยประชาชน ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่ใช้ในปัจจุบัน ไม่ได้มาจากประชาชน ไม่เคยพูดถึงเรื่องค่าจ้างแรงงาน ที่เป็นธรรม หรือคุณภาพชีวิต สิทธิเสรีภาพของประชาชน ปัจจุบันออกมาพูดก็ยังติดคุกอยู่
เราเรียกร้องมานาน เรื่องสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เคยพูดถึง” นางศรีไพรระบุ
 
นางศรีไพรยังกล่าวถึงระเบียบการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ 200 คนด้วยว่า ปัจจุบัน ทำไมประชาชนถึงไม่สามารถไปเลือก ส.ว.ได้
 
กลายเป็นว่า คุณต้องไปสมัคร ส.ว. จ่ายเงิน 2,500 บาท เพื่อเลือกคนในกลุ่มของตัวเอง คนงานที่ไหนจะมีจ่าย โรงเรียนเพิ่งเปิดเทอม เพิ่งกู้หนี้จ่ายค่าเทอมลูก ดังนั้น รัฐธรรมนูญนี้ไม่เอื้อ ให้คนยากคนจน ให้ลืมตาอ้าปากได้” นางศรีไพรกล่าว และว่า
 
ดังนั้นวันนี้ ครบรอบ 10 ปีแห่งความเลวร้าย รัฐธรรมนูญมาจาก คสช.รัฐบาลสืบทอดอำนาจ อยากให้เราช่วยกัน ลงสมัคร ส.ว.ให้เยอะๆ
 
ยิ่งเราไปสมัครเยอะเท่าไหร่ จะไปทำลายอำนาจที่แฝงอยู่ในรัฐธรรมนูญนี้ได้ เพื่อเปลี่ยนให้เป็นรัฐธรรมนูญที่กินได้
 
นางศรีไพรกล่าวอีกว่า อยากให้ทุกคนมาร่วมกัน หรือวันหนึ่งเราอาจจะต้องลงถนนอีกครั้ง ซึ่งเราก็พร้อม อยากฝากบอกว่า สิ่งที่ คสช.ทำไว้ ชีวิตคนงานยากเข็ญ ในอนาคตอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยเปิดให้ประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้
 
หลายคนยังอยู่ในคุก บุ้งเสียชีวิต หลายคนสูญหาย ล้มตายโดยไม่ได้รับความยุติธรรม” นางศรีไพรกล่าว



ไทยสร้างไทย ชี้หนี้ครัวเรือนยังพุ่งต่อเนื่อง ห่วงหนี้เสียเพิ่ม
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_721587/

ไทยสร้างไทย ชี้หนี้ครัวเรือนยังพุ่งต่อเนื่อง ห่วงหนี้เสียเพิ่มถึง 1.09 ล้านล้านบาท จี้รัฐบาลเร่งแก้ไข อัดนายกฯไม่สามารถแก้ไขปัญหาของคนไทยได้
 
นายรณกาจ ชินสำราญ รองเลขาธิการพรรค และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงภาพรวมหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยว่า พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องปัจจุบันขยับมาแตะระดับ 91.3% ของจีดีพี หรือประมาณ 16.3ล้านล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากที่เคยอยู่ในระดับ 76% เมื่อปี 2555 ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 80% ซึ่งเป็นระดับที่ประเมินแล้วว่า น่าจะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจไทยมากที่สุด
 
ทั้งนี้ 28% ของหนี้ครัวเรือนไทยที่ 16.3 ล้านล้านบาทเป็นการกู้ไปกินไปใช้หรือที่เรียกว่าบริโภค ซึ่งต้องนำรายได้ในอนาคตมาผ่อนจ่าย คำถามสำคัญคือหากรายได้เหล่านั้นไม่มาตามนัด ก็อาจกลายเป็นปัญหาหนี้สะสมเกินศักยภาพ
 
นายรณกาจ เผยว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ ตัวเลขหนี้เสียที่ทะลักสูงถึง 1.09 ล้านล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นเกือบ 15% โดยเป็นหนี้เสียบ้าน 2.41 แสนล้าน ซึ่งมีอัตราการเติบโตขึ้น 18% หนี้เสียรถยนต์ 2.4 แสนล้านมีอัตราการเติบโตขึ้น 32% หนี้เสียส่วนบุคคล 2.6 แสนล้านมีอัตราการเติบโตขึ้น12% และมีหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตอีก 14.6%
 
จากการตรวจสอบข้อมูล ยังพบได้ว่า ภาระหนี้ที่กำลังจะกลายเป็นหนี้เสีย ค้างชำระตั้งแต่ 1 ถึง 3 เดือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หนี้บ้าน1.8แสนล้านบาท มีอัตราการเติบโตของหนี้ คิดเป็น15% หนี้รถ 2.04 แสนล้านมีอัตราการเติบโตของหนี้ 7% หนี้บัตรเครดิต 1.17 หมื่นล้านมีอัตรการเติบโตของหนี้ 32.4%
 
รวมไปถึงรัฐต้องรีบลงมาดูเรื่อง การสนับสนุนให้ก่อหนี้ที่ไม่เกิดรายได้ของภาคเอกชน ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ ที่ให้ผ่อนชำระได้หลายเดือน โดย ที่ไม่ต้องมีอะไรเป็นค้ำประกันหนี้ ทำให้อาจจะก่อหนี้เสียให้กับระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามมา
 
นอกจากนี้ยังพบว่าหนี้ในภาคธุรกิจ (OD) ลดลง -5.7% ซึ่งถือว่าอันตรายอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะผลดังกล่าวสะท้อนถึง ปัญหาเงินหมุนเวียนในระบบธุรกิจ ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอาจขาดสภาพคล่อง แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งเป็นการบ้านของรัฐบาลที่ต้องเร่งจัดการ
 
ขณะเดียวกันยังมีหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ ของข้าราชการ ที่เป็นบุคลากรด้านการศึกษา มีมูลหนี้ก้อนใหญ่ถึง 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งกระทบไปถึงมิติทางการศึกษา การสร้างทรัพยากรบุคคลได้
 
นายรณกาจ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ประกาศ GDP ไตรมาส 1 ออกมา แค่ 1.5% ซึ่งโตต่ำที่สุดในภูมิภาค ทำให้ล่าสุดจากการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เศรษฐกิจไทย 2567 อาจขยายตัวเพียงแค่ 2.5% ซึ่งปรับลดลงจากที่เคยประมาณการที่ 2.7% นายรณกาจ ชี้ว่าสถานการณ์ดังกล่าว เป็นผลมาจากการส่งออกและภาคเกษตรที่เป็นกำลังหลัก หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์
 
ปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรี ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของคนไทยได้ ทั้งยังปล่อยให้ค่าครองชีพปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไม่สามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ ตามคำมั่นที่ได้ประกาศไว้ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หลายนโยบายที่ใช้เงินก็ไม่ตอบโจทย์ปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะดิจิทัล วอลเลท ที่ต้องกู้ถึง 500,000 ล้านบาท เป็นการใช้เงินมหาศาล ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงระยะสั้น แต่สุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นภาระทางการคลังในระยะยาว”นายรณกาจ กล่าว
 
นายรณกาจ กล่าวทิ้งท้ายว่า พรรคไทยสร้างไทย จึงย้ำเสมอว่าการเข้าถึงแหล่งทุนเป็นเรื่องสำคัญ และเสนอนโยบายเครดิตประชาชน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ตั้งแต่ 10,000 บาทจนถึง 100,000 บาท นำไปเป็นทุนตั้งตัวตลอดชีวิต โดยรัฐจะให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกินร้อยละ1ต่อเดือน ซึ่งนโยบายนี้จะทำให้คนยากจนเข้าถึงแหล่งทุนและสามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้อย่างมั่นคง โดยเป็นหลักคิดที่แตกต่างจากนโยบายแจกเงินดิจิทัล ของรัฐบาล
 


หอการค้ารับกังวลกว่าเดิม หลังสภาพัฒน์ประกาศจีดีพีไตรมาส 1/67 โตแค่ 1.5%
https://www.matichon.co.th/economy/news_4589667

หอการค้ารับกังวลกว่าเดิม หลังสภาพัฒน์ประกาศจีดีพีไตรมาส 1/67 โตแค่ 1.5%
 
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และรองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ภาพความกังวลเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอ่อนแรงในปัจจุบัน ต้องบอกว่าภาคเอกชนมีความกังวลมาตั้งแต่ต้นปี 2567 แล้ว ก่อนที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ จะประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2566 ออกมาโตที่ 1.7% ซึ่งถือว่าน้อยกว่าคาดการณ์ค่อนข้างมาก ทำให้การเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1/2567 ที่ขยายตัว 1.5% ไม่ได้สร้างความแปลกใจมากนัก แต่เป็นความกังวลที่มากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และในประเทศมีปัญหาภัยแล้งส่งผลต่อเนื่องจากปลายปี 2566 ทำให้สินค้าเกษตรหลายตัวมีผลผลิตลดลง รวมถึงการใช้จ่ายของภาครัฐที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายออกมาได้ ทั้งหมดส่งผลกระทบที่ต่อเนื่องกัน จึงเป็นคาดการณ์ตั้งแต่ต้นปีว่า ตัวเลขจีดีพีที่ออกมาคงไม่ได้ดีมากนัก

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า เมื่อแนวโน้มเศรษฐกิจยังดูไม่สดใสเท่าที่ควร ซึ่งขณะนี้เรามีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ ที่เขย่าออกมาแล้ว โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเป็นหลัก ตรงนี้มองว่าควรมีเครื่องมือออกมาช่วยกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป แต่เครื่องมือก็ส่วนหนึ่ง เพราะอีกส่วนเป็นปัจจัยสถานการณ์ความขัดแย้งของต่างประเทศ ที่หากความขัดแย้งไม่บานปลายกว่านี้ จะเป็นผลตัวใหญ่ที่ส่งผลเกี่ยวเนื่องต่อไทยแบบยาวๆ ส่วนในประเทศไทยเอง สามารถทำได้ในเรื่องการเติมเต็มภาคการท่องเที่ยว ช่วยภาคส่งออก เพราะส่งออกทั้งปีประเมินว่าคงโตได้ไม่เกิน 2% แต่ท่องเที่ยวไทยตอนนี้มีจุดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในด้านท่องเที่ยวเหมือนกัน นอกจากการเดินทางที่ยังแพงอยู่ส่วนของตั๋วเครื่องบิน แต่อย่างอื่น อาทิ ที่พัก อาหาร ถือว่าคุ้มค่ากับราคาที่นักท่องเที่ยวใช้จ่าย

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ด้านการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว เห็นด้วยกับการกระตุ้นเที่ยวเมืองรอง โดยจะต้องเน้นดึงอีเวนท์ในจังหวัดเมืองรองต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดกิจกรรมกระตุ้นความน่าสนใจ แต่ต้องมาเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวด้วย ทั้งด้านที่พัก มีเพียงพอหรือไม่ หากไม่พอ เมืองรองอยู่ใกล้เมืองหลักสามารถเดินทางเชื่อมโยงกันได้ เพื่อเติมเต็มได้หรือไม่ อาทิ หากมีอีเวนท์ในเมืองรอง แต่ไม่มีที่พัก สามารถไปพักเมืองหลักใกล้ๆ แล้วเดินทางกลับไปพักผ่อนได้หรือไม่ ส่วนการเดินทางก็ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความสะดวกที่สุด โดยเรื่องการจัดอีเวนท์มองว่า ควรชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น นำมาทำให้เกิดความน่าสนใจ โดยเฉพาะในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) เนื่องจากช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) มีความง่ายในตัวเองอยู่แล้ว แต่ช่วงโลว์จะต้องหาอะไรมาดึงความสนใจให้ผู้คนอยากเข้าไปเที่ยวพักผ่อนมากขึ้น

ในส่วนภาคการส่งออกหรือการค้าขาย อุตสาหกรรมการผลิต รัฐบาลก็ต้องเร่งขับเคลื่อนเดินหน้าไปพร้อมกัน โดยสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการคือ การดูแลสภาพคล่องเป็นหลัก เพราะเรื่องดอกเบี้ยคงไม่ต้องพูดถึงแล้ว ทุกคนรู้ว่าดอกเบี้ยสูง ภายใต้สภาวะการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ ธุรกิจดำเนินได้ยากอยู่แล้ว ปัญหาใหญ่คือ สภาพคล่อง การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ที่ต้องช่วยให้ผู้ประกอบการผ่านวิกฤตไปให้ได้ รอจนธุรกิจเดินหน้าได้ด้วยตัวเองต่อไป ซึ่งส่วนนี้รัฐบาลต้องช่วยหาทางให้ธุรกิจเข้าถึงสภาพคล่องให้ได้ก่อน ไม่อย่างนั้นทุกคนต้องแบกรับภาระการผลิต ภาระสต็อกสินค้า แบบไม่มีตัวช่วย ทำให้บางรายเดินหน้าต่อไปได้ยาก” นายวิศิษฐ์ กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่