JJNY : 5in1 ไอลอว์ ชวนดูกรณีศึกษา│ก้าวไกล เสียใจ‘บุ้ง’│โรมจี้สังคมถกหาทางออก│แอมเนสตี้เสียใจ│รมต.ตปท.สหรัฐเยือนยูเครน

ทำไม คนถึงอดอาหารประท้วง ไอลอว์ ชวนดูกรณีศึกษาของต่างประเทศ
https://www.matichon.co.th/foreign/news_4575352
 
 
ทำไม คนถึงอดอาหารประท้วง ไอลอว์ ชวนดูกรณีศึกษาของต่างประเทศ
 
จากกรณีการเสียชีวิตของบุ้ง เนติพร นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องหามาตรา 112 เสียชีวิตที่ รพ.ธรรมศาสตร์ เมื่อเวลา 11.22 น. หลังถูกนำส่งรักษาตัวจาก รพ.ราชทัณฑ์ ตั้งแต่ช่วงเช้า เนื่องจากหัวใจหยุดเต้น โดยก่อนหน้านี้บุ้งถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกรุงเทพฯ ในวันที่ 27 มกราคม 2567 ซึ่งได้ปฏิบัติการอดอาหารและน้ำ เพื่อประท้วงพร้อม 2 ข้อเรียกร้อง
 
1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 
 
2. จะต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก
 
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีนักกิจกรรมทางการเมืองในประเทศไทยหลายคนที่อดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิ อาทิ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำราษฎร ผู้ต้องหาในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ทานตะวัน ตัวตะลุนนท์ หรือตะวัน และ อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม ผู้ต้องหาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112,นายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ ตามหมายจับความผิดมาตรา 116 จากกรณีบีบแตรบนทางด่วนใส่ขบวนเสด็จฯ
 
หากพูดถึงวิธีอดอาหารที่ถูกจารึกในหน้าประวัติศาสตร์ คงไม่พ้น โมหันทัส ครามจันท์ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi) หรือ ‘มหาตมะ คานธี’ มหาบุรุษแห่งอินเดีย ผู้ปลดปล่อยประเทศของเขาจากการกดขี่ครั้งใหญ่ของอังกฤษ bbc ให้ข้อมูลไว้ว่า คานธีเริ่มการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชให้อินเดีย หลังเกิดเหตุสังหารหมู่ที่เมืองอมฤตสาร์ ซึ่งเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของชาวซิกข์ โดยฝ่ายอังกฤษได้เปิดฉากยิงใส่ผู้ประท้วง ทำให้มีเสียชีวิตราว 400 คน และบาดเจ็บอีก 1,300 คน

การเรียกร้องให้ประชาชนออกมาประท้วงโดยสันติของคานธี ได้รับการตอบรับจากชาวอินเดียทุกชนชั้นวรรณะและทุกศาสนา เขาเรียกร้องให้ประชาชนหยุดให้ความร่วมมือกับเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรสินค้าจากอังกฤษเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้อังกฤษจับกุมคานธีในข้อหาปลุกระดมมวลชน และลงโทษจำคุกเขาเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งคานธีทำการอดอาหารประท้วงอังกฤษ หลังถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ
 
ชวนดูกรณีศึกษาจากไอลอว์ถึงวิธีอดอาหาร
 
ทำไมต้องอดอาหาร ?
 
การอดอาหารคือหนึ่งในรูปแบบการประท้วงต่อต้านรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจโดยไม่ใช้ความรุนแรง โดยมุ่งหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เป้าหมายของการอดอาหารอยู่ที่การกระตุ้นมโนสำนึกและความรู้สึกรับผิดชอบของผู้มีอำนาจ เพราะความเป็นความตายของผู้ที่อดอาหารประท้วงจะอยู่ในมือของผู้มีอำนาจว่าจะตัดสินใจดำเนินการอย่างไร
 
โดยปกติผู้ประท้วงด้วยการอดอาหารจะดื่มน้ำหรือของเหลวอื่นในจำนวนเล็กน้อย แต่จะปฏิเสธการรับประทานอาหารตลอดช่วงที่อดอาหาร หรือในบางกรณีก็จะไม่รับทั้งอาหารและน้ำเลย หากเป็นกรณีที่ผู้อดอาหารอยู่ในความควบคุมของรัฐ พวกเขาอาจใช้วิธีบังคับให้ผู้ประท้วงรับอาหารด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งเพื่อให้ผู้ประท้วงมีชีวิตอยู่ต่อไป
 
กรณีศึกษาจากต่างประเทศ
 
คาเดอร์ อัดนาน นักกิจกรรมชาวปาเลสไตน์อดอาหารประท้วงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 โดยเขาอดอาหารเพื่อประท้วงการปฏิบัติของรัฐบาลอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประท้วงต่อการปฏิบัติของรัฐบาลอิสราเอลต่อตัวของเขาเองซึ่งรวมถึงการถูกขังเดี่ยวเป็นเวลานาน และการเข้าถึงกระบวนการทางคดีที่ไม่มีความยุติธรรม ดาเคอร์ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงชาวปาเลสไตน์ คาเดอร์ประทังชีวิตโดยรับประทานอาหารเหลวและวิตามินกับเกลือแร่เพียงเล็กน้อย รัฐบาลอิสราเอลยังบังคับให้อาหารเขาด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้เขาเสียชีวิต

การอดอาหารของคาเดอร์เกิดขึ้นเป็นระยะสอดคล้องกับช่วงที่เขาถูกคุมขัง โดยครั้งหนึ่งคาเดอร์เคยอดอาหารต่อเนื่องถึง 66 วัน ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักของเขาลดลงไป 30 กิโลกรัม ผมร่วง ระบบหัวใจและหลอดเลือดมีปัญหา การอดอาหารของคาเดอร์ทำให้ประเด็นการปฏิบัติของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ได้รับความสนใจจากนานาชาติ ตัวของคาเดอร์ยังได้รับการยอมรับในฐานะสัญลักษณ์ของการต่อสู้ในหมู่ชาวปาเลสไตน์ด้วย อย่างไรก็ตามการอดอาหารของเขาก็ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงสภาพการปฏิบัติของตำรวจต่อชาวปาเลสไตน์
 
ที่รัฐมณีปุระ ประเทศอินเดีย อิรอม ชานู ชามิลา เริ่มอดอาหารในปี 2543 เพื่อตอบโต้ “การสังหารหมู่มัลคอม” ที่ประชาชนสิบคนถูกกองทัพอินเดียสังหาร เป้าหมายของเธอคือการยกเลิกกฎหมายกองทัพ (อำนาจพิเศษ) ปี 2501 การอดอาหารของเธอยาวนานรวม 500 สัปดาห์ เธอสมัครใจหยุดการอดอาหารของตนเองในปี 2559 และได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเพื่อให้เธอสามารถลงรับสมัครเลือกตั้งในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมาถึงได้ ในช่วงเวลาเดียวกัน

อเล็กเซย์ นาวาลนี เป็นผู้นำฝ่ายค้าน นักกิจกรรมชาวรัสเซีย และเป้าของการลอบสังหารหลายครั้ง เขาถูกเจ้าหน้าที่รัสเซียจับในข้อหาละเมิดเงื่อนไขทัณฑ์บนจากการไม่ไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่เพราะเขาอยู่ระหว่างการฟักฟื้นในประเทศเยอรมนีหลังจากที่ถูกเจ้าหน้าที่รัสเซียพยายามลอบสังหารด้วยอาวุธเคมี
 
อเล็กเซย์เริ่มอดอาหารเพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่เรือนจำ หลังจากอดอาหารได้ 20 วัน อเล็กเซย์ถูกย้ายไปโรงพยาบาลของเรือนจำซึ่งเขาถูกบังคับให้อาหารเพื่อไม่ให้เสียชีวิต อเล็กเซย์หยุดการอดอาหารหลังจากผ่านไป 24 วันเพราะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ว่า เขามีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูง

จากการอดอาหารอเล็กเซย์มีอาการหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท มือไม่มีความรู้สึก และน้ำหนักลดไป 12 กิโลกรัม ประธานาธิบดีโจ ไบเดน  แห่งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ภาคประชาสังคมและนักการเมืองรัสเซียบางส่วนต่างออกมาแสดงความสนับสนุนอเล็กเซย์ และประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่รัสเซีย
  
ขอบคุณที่มา
 
ilaw



ก้าวไกล เสียใจ‘บุ้ง ทะลุวัง’ ชี้ไม่ควรมีใครติดคุก-ไร้สิทธิประกันเพราะเห็นต่างการเมือง
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_8232182

ก้าวไกล แถลงแสดงความเสียใจกรณี ‘บุ้ง ทะลุวัง’ ย้ำไม่ควรมีใครต้องติดคุก-ไร้สิทธิประกันตัว เพราะเห็นต่างทางการเมือง ชี้ทุกฝ่ายร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัย
 
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความถึงการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง นักกิจกรรม โดยระบุว่า 

พรรคก้าวไกลขอแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง) นักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มทะลุวัง
 
ไม่ว่าท่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กับประเด็นและวิธีการที่คุณบุ้ง แสดงออกในช่วงที่ผ่านมา พรรคก้าวไกล ขอยืนยันหลักการว่าในสังคมประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนต้องได้รับการรับรอง ไม่ควรมีใครต้องติดคุกเพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง
ไม่ควรมีใครถูกปฏิเสธสิทธิในการได้รับประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง เพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง และไม่ควรมีใครถูกผลักให้ต้องต่อสู้ด้วยวิธีการที่เสี่ยงเป็นอันตรายต่อชีวิต
 
เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อหาทางออกต่อความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตและที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีการเมืองที่อยู่ระหว่างต่อสู้คดี การเร่งพิจารณากระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุทางการเมือง และฟื้นความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมสำหรับประชาชนทุกคน คืนความเป็นธรรมให้ประชาชน

https://www.facebook.com/MoveForwardPartyThailand/posts/pfbid026jTsWcxaPjxShWrDZcvXKxqJVLgS3opEm9kTXwuU7CUWhZ7pPiLLsxVzH4vi1xG5l



โรม ถามใครต้องรับผิดชอบ ‘บุ้ง ทะลุวัง’อดอาหารเสียชีวิต จี้สังคมถกหาทางออก
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_8232418

โรม ถามใครต้องรับผิดชอบ ‘บุ้ง ทะลุวัง’ อดอาหารเสียชีวิต เชื่อคนเกี่ยวข้องรู้อยู่แก่ใจ ชี้แม้โทษร้ายแรง แต่ควรได้สิทธิประกันตัวสู้คดี แนะเป็นโอกาสแล้ว สังคมจะได้ถกกันหาทางออก
 
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีน.ส.เนติพร หรือบุ้ง ทะลุวัง เสียชีวิตว่า น่าเสียใจอย่างมาก การอดอาหารและนำไปสู่การเสียชีวิต คงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อย ตนไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น มันทำให้คนๆหนึ่งที่เป็นเยาวชน ต้องจบชีวิตแบบนี้ เป็นสิ่งที่น่าเสียใจ ตนเสียใจแทนครอบครัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย
 
ถ้าเราดูรากของปัญหาที่เกิดขึ้น เข้าใจว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยอาจไม่ได้เห็นด้วยกับการกระทำของบุ้ง บางคนสนับสนุน ผมอยากให้เราอย่าไปคิดถึงเรื่องนั้น สิ่งที่เป็นโจทย์สำคัญคือบุ้ง เขาควรได้รับการประกันตัว เพื่อต่อสู้คดี เหตุการณ์แบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น ถามว่าสุดท้าย บุ้งไม่ได้รับการประกันตัวไปเรื่อยๆ คนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด พวกคุณรับผิดชอบกันไหวหรือไม่ มีใครจะรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่” นายรังสิมันต์ กล่าว
 
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนอยากให้กรณีนี้เป็นกรณีสุดท้าย ไม่อยากให้ใครต้องมาเจอเหตุการณ์แบบนี้อีก ตนอยากเห็นกระบวนที่จะนำไปสู่กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะสิทธิประกันตัว ซึ่งคิดว่ามีความจำเป็น การที่บุ้งอดอาหาร เพื่อประท้วง เรียกร้องต่อสิทธิในความยุติธรรมที่พวกเขาควรได้รับ
 
ตนคิดว่านี่เป็นโอกาสที่สังคมไทยจะได้มาพูดคุยกัน เพื่อหาทางออกเรื่องนี้ ที่สำคัญ ตนไม่อยากให้ประชาชนมองว่าเป็นเรื่องปกติ ตนอยากให้เป็นบทเรียนของกระบวนการยุติธรรมที่สังคมไทยต้องหาทางออก แน่นอนว่าเราอยู่ในสังคมที่ไม่มีทางเห็นด้วยกันหมด มันมีความเห็นต่าง ถือเป็นปกติ
 
ส่วนจะมีใครต้องรับผิดชอบบ้าง นายรังสิมันต์ กล่าวว่า มีหลายส่วน เราไม่รู้ว่ากระบวนการต่างๆ เป็นอย่างไร เราเห็นแถลงของราชทัณฑ์อย่างหนึ่ง ของธรรมศาสตร์อย่างหนึ่ง อาจมีบางส่วนที่ขัดแย้งกัน ตนก็ไม่แน่ใจว่าควรจะเชื่อใครดี ถือเป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องไปแสวงหาเท็จจริงว่า ใครบ้างต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ พร้อมย้ำถึงการแก้กฎหมายประกันตัว ในเรื่องการกำหนดอำนาจผู้พิพากษาที่ให้สิทธิการประกันตัว
 
แน่นอนว่าโทษอาจจะร้ายแรง แต่ถามว่าเกินวิสัยที่จะให้ประกันตัวได้หรือไม่ ผมว่ามันสามารถทำได้ในการให้ประกันตัว ซึ่งน่าผิดหวังที่สุดท้ายการไม่ได้รับการประกันตัว มันนำไปสู่การจบลงของชีวิต ผมคิดว่าคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเหล่านี้ ต้องรับผิดชอบ ผมไม่รู้ว่าการรับผิดชอบทางกฎหมายที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่เราเห็นอยู่” นายรังสิมันต์ กล่าว
 
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ในทางศีลธรรมสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ มันจะเป็นตราบาปต่อคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด เหตุการณ์วันนี้ เป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะไม่ใช่เป็นการจบชีวิตของคน 1 คน หากไปเปรียบเทียบกับกรณีอื่น เราจะพบความไม่ได้มาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว คำถามคือใครต้องรับผิดชอบกับเรื่องนี้ ซึ่งตนรู้ว่าคนที่รับผิดชอบเขารู้อยู่แก่ใจ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่