บ้าน-รถกู้ไม่ผ่านพุ่งกระฉูด หนี้ครัวเรือนท่วม-แบงก์ผวา NPL

หนี้ครัวเรือนค้ำคอ-เศรษฐกิจฟื้นไม่ทั่วถึง กดดันกำลังซื้อ-ธนาคารเข้มปล่อยสินเชื่อ หลังสัญญาณหนี้เสีย-หนี้ค้างชำระพุ่งไม่หยุด ทั้ง “บ้าน-รถยนต์” แบงก์ประสานเสียงเผยมาตรการอสังหาฯช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการอนุมัติสินเชื่อ เพราะลูกค้ายังไม่มีศักยภาพชำระหนี้ เผยยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้าน-รถ เพิ่มขึ้นทุกเซ็กเมนต์ บ้านต่ำ 3 ล้านบาททะลุ 70% บ้านระดับ 5 ล้าน อนุมัติเงินกู้แค่ 50% ขณะที่เช่าซื้อยอดวูบทั้งรถใหม่-รถเก่า

หนี้ครัวเรือนค้ำคอฉุดกำลังซื้อ
นายอลงกต บุญมาสุข เลขาธิการและประธานกรรมการบริหารสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจจะปรับดีขึ้น และมีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ผู้บริโภคกลับมาตัดสินใจซื้อบ้านและขอสินเชื่อมากขึ้น แต่ปัจจัยการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินขึ้นอยู่กับ “ภาระหนี้” และ “รายได้” รวมถึงวินัยทางการเงินของผู้กู้เป็นหลัก

โจทย์ใหญ่ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะเป็นเรื่องของปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งกดดันกำลังซื้อ และการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เนื่องจากปัจจัยการปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) ทั้งระบบที่อยู่ในระดับสูงกว่า 50% มาจาก 2 ส่วน คือ ลูกหนี้มี “รายได้ไม่พอ” และ “ภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง”
ซึ่งรีเจ็กต์ 50% ยังเป็นตัวเลขที่ต้องคอยจับตาว่าจะไหลเพิ่มขึ้น โดยผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะต้องหาคนที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยจริง ขณะที่สถาบันการเงินยังต้องบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ให้อยู่ จึงต้องเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

นายอลงกตกล่าวว่า แนวโน้มหนี้เสียของสินเชื่อบ้านมีโอกาสไหลเพิ่มขึ้นได้ ทั้งจากหนี้ที่อยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้ตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) หรือค้างชำระตั้งแต่ 30 วัน แต่ไม่ถึง 90 วัน มีโอกาสไหลเป็นหนี้เอ็นพีแอลมากขึ้น

แม้ว่าจะเห็นธนาคารมีการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ก่อนและหลังเป็นหนี้เสีย ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่เพราะตัวเลข SM ค่อนข้างเยอะ ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถปรับโครงสร้างได้หรือไม่ โดยข้อมูลหนี้ครัวเรือนล่าสุด ณ สิ้นปี 2566 มีมูลค่า 16.36 ล้านล้านบาท หรือ 91.3% ของจีดีพี
“แม้ว่าเศรษฐกิจจะทยอยดีขึ้น ดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง คนกลับมาขอสินเชื่อมากขึ้น แต่การอนุมัติสินเชื่อขึ้นอยู่กับภาระหนี้และรายได้ของลูกค้า ซึ่งเรายังมองว่าในไตรมาสที่ 2 ยังคงเห็นแบงก์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะในกลุ่มต่ำกว่า 3 ล้านบาท จนกว่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการแก้ไขหนี้ชัดเจนที่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ โดยที่สัญญาณ SM และ NPLs ยังมีโอกาสไหลเพิ่มขึ้น”

บ้านต่ำ 3 ล้าน รีเจ็กต์สูง 70%
นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์และธนาคารดิจิทัล และรักษาการผู้บริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางของสินเชื่อที่อยู่อาศัย มองว่าสัญญาณการปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินยังคงปล่อยสินเชื่อระมัดระวัง เพื่อดูแลคุณภาพสินเชื่อ ซึ่งจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นตัวดี
โดยพบว่ากลุ่มบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ยอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มจาก 50% เป็น 70% ถือว่าสูงมาก เพราะเป็นกลุ่มที่มีหนี้ครัวเรือนสูง ส่วนกลุ่มราคาบ้าน 3-5 ล้านบาท จากเดิม 40% เพิ่มเป็น 50% และกลุ่มราคามากกว่า 5 ล้านบาท อยู่ที่ 40% จากเดิมกว่า 30% เป็นต้น
ภายใต้มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์มองว่า ไม่ได้สร้างดีมานด์เพิ่ม แต่ช่วยกระตุ้นให้คนที่กำลังจะซื้อบ้านแต่ยังลังเลเร่งการตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น เพราะจะเห็นว่าไม่ใช้มาตรการใหม่ แต่มีการขยายกลุ่มราคาบ้านเป็น 7 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มนี้ตัดสินใจซื้อจะช่วยหนุนกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของจีดีพี คาดว่าปีนี้สินเชื่อบ้านโตได้ 3-4% ถือว่าเก่งแล้ว
หนี้เสียบ้านขยับเพิ่มขึ้น

ด้านนายจเร เจียรธนะกานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาฯของรัฐบาล โดยมีการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยราคาบ้านไม่เกิน 7 ล้านบาทนั้น มองว่าจะช่วยระบายสต๊อกบ้านราคา 3-7 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 20-30% ของตลาด เพราะเป็นตลาดกลุ่มที่พอมีกำลังซื้อ

สำหรับคุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยรวมสอดคล้องกับทิศทาง ธปท. คือจะเห็นคุณภาพสินเชื่อบ้านด้อยลง โดยจะเห็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นรวดเร็ว จะเป็นการทยอยขยับขึ้น แม้ว่ากลุ่มลูกค้าราคาบ้าน 3-7 ล้านบาท ค่อนข้างมีคุณภาพ แต่ยังเห็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นในกลุ่มราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ทำให้เห็นยอดการอนุมัติสินเชื่อในกลุ่มระดับ 3-7 ล้านบาท จะมีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มราคาบ้านต่ำ 3 ล้านบาท

“มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ช่วยหนุนภาพรวมได้แน่ ๆ แต่ผลจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับศักยภาพของลูกค้าด้วย หากลูกค้ามีศักยภาพก็ช่วยเร่งการตัดสินใจกลุ่มบ้านไม่เกิน 7 ล้านบาท เร็วขึ้น แต่ถ้าลูกค้าไม่พร้อม และเกณฑ์การอนุมัติ หรือ LTV ยังคงเหมือนเดิม หากลูกค้ามีศักยภาพจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการที่จะได้รับจากผู้ประกอบการอสังหาฯที่จะมีการทำโปรโมชั่นมากขึ้น จากต้นทุนที่ปรับลดลงราว 1%”

แบงก์เข้มลูกค้ามีหนี้หลายก้อน
นายเคลวิน ฟู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มลูกค้ารายย่อย ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ LH Bank เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่ได้ขยายตัวหวือหวา เนื่องจากยังคงเผชิญปัจจัยเดิมคือ การอนุมัติสินเชื่อที่ปรับลดลงตามศักยภาพของลูกค้าที่ลดลง
ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง รายได้ไม่เพียงพอ ทำให้สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยพิจารณาภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ของลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีภาระการผ่อนสินเชื่อประเภทอื่น เช่น รถยนต์ หรือบัตรเครดิต เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันยอดอนุมัติสินเชื่อบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 50% บวกลบ

อย่างไรก็ดี ภาพหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แม้จะเห็นสัดส่วนที่สูงอยู่ในกลุ่มราคาบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท แต่จะเห็นว่าอาจจะไม่ได้เป็นหนี้เสียทุกหลัง เนื่องจากก่อนโควิด-19 ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวค่อนข้างมีคุณภาพ แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจ รายได้ที่ไม่ได้กลับมา ทำให้การชำระหนี้อาจจะสะดุด หรือเริ่มจ่ายไม่ไหว ขณะเดียวกันจะเห็นว่าผู้กู้บางรายในกลุ่มราคาบ้าน 2-3 ล้านบาท เมื่อพิจารณา DSR ยังสามารถปล่อยสินเชื่อได้
สำหรับแผนการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ LH Bank ตั้งเป้าเติบโต 15-20% จากพอร์ตสินเชื่อคงค้างที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งธนาคารจะเน้นในกลุ่มรายได้ปานกลาง ในกลุ่มราคาบ้าน 3-5 ล้านบาท โดยจะร่วมกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทำแคมเปญหรือโครงการร่วมกัน โดยปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนลูกค้ากลุ่มนี้ราว 20%

“ลูกค้าเรียลดีมานด์ที่ต้องการซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมยังมี แต่การปล่อยสินเชื่อก็ต้องดูศักยภาพของลูกค้าด้วย เพราะผู้กู้ไม่ได้มีหนี้อย่างเดียว อาจจะผ่อนชำระหนี้อื่นด้วย จึงต้องพิจารณาตามหลัก DSR รวมถึงต้องให้ลูกค้ามีเงินเหลือเพียงพอในการดำเนินชีวิตด้วย
เช่น ราคาบ้าน 1 ล้านบาท ค่างวดผ่อนจะอยู่ที่ 6,000 บาทต่อเดือน ดังนั้นหากราคาบ้าน 2 ล้านบาท ค่างวดผ่อนอยู่ที่ 1.2 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งลูกค้าจะต้องมีรายได้ราว 2.5 หมื่นบาท หรือกรณีราคาบ้าน 3 ล้านบาท ค่างวดผ่อน 1.8 หมื่นบาท รายได้ควรจะอยู่ที่ 3.5-4 หมื่นบาท”

เช่าซื้อยอดวูบทั้งรถใหม่-รถเก่า
ขณะที่ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถ นายอนุชาติ ดีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดรถยนต์ในช่วงครึ่งปีแรก อยู่ในสภาพที่ยังไม่มีปัจจัยบวกมากระตุ้น เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้น ผู้บริโภคมีกำลังซื้ออ่อนแอลง
ขณะที่สถาบันการเงินที่มีปัญหาเอ็นพีแอลค่อนข้างเยอะในช่วงปี 2566 ก็เข้มงวดและรัดกุมในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าปัจจัยสำคัญของการขายรถยนต์มาจากการสนับสนุนสินเชื่อของสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ ตลาดรถยนต์ในไตรมาสที่ 2/2567 ยังไม่สดใส ส่วนหนึ่งมาจากเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะเข้าสู่ช่วง Low Season ของการซื้อขายรถยนต์ ขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ทำให้คนชะลอการตัดสินใจซื้อ และจากการแข่งขันราคารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำให้ส่งผลต่อรถสันดาป
และเกิดความไม่มั่นใจต่อราคารถยนต์ จึงชะลอการซื้อ เช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินไม่มั่นใจราคารถยนต์ที่เกิดการแข่งขัน จึงมีการปรับยอดการให้สินเชื่อ (LTV) ลดลง ส่งผลต่อการขายรถยนต์มือสองด้วย

อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ตลาดรถยนต์จะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ และมีเม็ดเงินจากงบประมาณ ทำให้ตลาดมีความเชื่อมั่น และสถาบันการเงินมีการจัดการกับหนี้ด้อยคุณภาพได้ดีขึ้น ทำให้กลับมาพิจารณาการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อลดลงไปค่อนข้างมาก

“ภาพรวมตลาดรถยนต์ไตรมาสแรกปี’67 ไม่สดใส อยู่ในเกณฑ์ชะลอตัว ถ้าดูจากปริมาณการขายรถยนต์ใหม่อยู่ที่ 163,800 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประมาณ 24.5% ถือว่าลดลงค่อนข้างมาก และเป็นการลดลงของยอดขายรถยนต์ใหม่ทุกเซ็กเมนต์
โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ ลดลงมากกว่า 40% ทั้ง 2 ประเภท ขณะที่ตลาดรถยนต์มือสองก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน คาดว่ามูลค่าขายน่าจะลดลงประมาณ 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน”

รีเจ็กต์สินเชื่อรถ 30%
นายศรัณย์ ทองธรรมชาติ นายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจเช่าซื้อในไตรมาส 2 ปีนี้ คาดว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากต้นปี ส่วนหนึ่งมาจากยอดขายในงานมอเตอร์โชว์ แต่จะเห็นยอดขายลดลงอีกครั้งในไตรมาส 3 เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงด้านกำลังซื้อและภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นปัจจัยฉุดรั้ง ทำให้ยอดขายรถทั้งปียังอยู่ที่ระดับ 7.5 แสนคัน หดตัวจากปี 2566 อยู่ที่ 7.75 แสนคัน
ขณะที่แนวโน้มยอดการปฏิเสธสินเชื่อจะเห็นทยอยเพิ่มขึ้น โดยในส่วนรถใหม่จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 15% เพิ่มเป็น 20% และรถเก่าหรือมือสองเพิ่มเป็น 30% จากเดิม 20% อย่างไรก็ดี จะเห็นความเข้มงวดเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในส่วนของกระบะ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงกว่ากลุ่มรถทั่วไป เพราะส่วนใหญ่ฐานลูกค้าจะเป็นกลุ่มเกษตรกรซึ่งมีความเสี่ยงสูง ทำให้อัตราดอกเบี้ยจะมีความแตกต่างจากรถทั่วไป

นายประพล พรประภา กรรมการและรองผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า ภาพรวมตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ในไตรมาส 1/67 มียอดขายอยู่ที่ 454,796 คัน ลดลง 11.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดขายรายเดือนลดลงต่อเนื่อง 5 เดือน นับตั้งแต่พฤศจิกายน 2566

ส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์อยู่ที่ 163,756 คัน ลดลง 24.6% ซึ่งยอดขายรถยนต์รายเดือนลดลงต่อเนื่อง 10 เดือน นับตั้งแต่กรกฎาคม 2566 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผู้บริโภคจำนวนมากไม่สามารถรับการอนุมัติสินเชื่อ ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่สามารถซื้อทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ได้... 

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1561418

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่