JJNY : ทบ.เตรียมจ่ายเยียวยาคดีชัยภูมิ│ก้าวไกล มอง ‘ทักษิณ’ │คาดจีดีพีไทยปี‘67 ขยายตัว 2.7%│“ปูติน”ร้องปชช.มีลูกเพิ่มขึ้น

ทบ. เตรียมจ่ายเยียวยา 2 ล้าน คดี ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ยันไม่นิ่งนอนใจ คุยครอบครัวแล้ว
https://www.matichon.co.th/politics/news_4428115
 
 
ทบ. เตรียมจ่ายค่าสินไหมทดแทน คดี ‘ชัยภูมิ ป่าแส‘ ยัน ไม่นิ่งนอนใจ ได้พูดคุย ครอบครัวผู้เสียหายเป็นที่เข้าใจเรียบร้อยแล้ว
 
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ร.อ.หญิง จุฑาพัชร เปรมบัญญัติ ผู้ช่วยโฆษกกอง เปิดเผยว่า จากกรณีที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้กองทัพบกจ่ายค่าสินไหมทดแทน พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่ มารดาของ นายชัยภูมิ ป่าแส เป็นจำนวนเงินกว่าสองล้านบาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3333/2566 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566 นั้น กองทัพบกไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้มีการเร่งรัดการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเบิกจ่ายตามกระบวนการของทางราชการ โดยคาดว่าจะดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทน พร้อมดอกเบี้ย ให้กับผู้เสียหายได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้

โดยกองทัพบกได้มีการติดต่อกับครอบครัวของผู้เสียหาย และชี้แจงทำความเข้าใจในขั้นตอนต่างๆ ให้ทราบแล้ว พร้อมทั้งกำชับให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทน พร้อมดอกเบี้ย ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามกระบวนการยุติธรรม



ก้าวไกล มอง ‘ทักษิณ’ ได้พักโทษ เป็นเรื่องความเท่าเทียม ถามมีนักโทษสูงอายุ ได้รับสิทธิกี่คน ?
https://www.matichon.co.th/politics/news_4427981

ก้าวไกล มอง ‘ทักษิณ’ ได้พักโทษ เป็นเรื่องความเท่าเทียม ถามมีนักโทษสูงอายุ ได้รับสิทธิกี่คน?
 
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะได้รับการพักโทษในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ประเมินว่ากรณีนี้จะมีผลต่อแรงเสียดทานทางการเมืองมากน้อยเพียงใด ว่า เราไม่ได้พูดคุยกันเป็นกิจจะลักษณะ แต่คงต้องรอดูว่าเมื่อถึงวันนั้นจริงๆ จะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น แล้วจึงจะประเมินท่าทีและการสื่อสารต่อสังคมอีกครั้ง

ส่วนจะส่งผลถึงการต่อต้านของกลุ่มการเมืองภายนอกสภาหรือไม่นั้น นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องความเท่าเทียมกันในหมู่ประชาชน ซึ่งหากมีใครคนหนึ่งได้รับสิทธิพิเศษบางอย่างมาโดยตลอด และเกิดการตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมามีอาการเจ็บป่วยจริงหรือไม่ ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นก็อาจจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้เลย แล้วตกลงที่ผ่านมาที่บอกว่าป่วยอยู่เรือนจำไม่ได้ หมายความว่าอย่างไร ซึ่งก็ทำให้สังคมตั้งคำถามอยู่แล้ว และตนคิดว่าการให้ความสำคัญกับหลักการ ก็คงเป็นการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ว่าตกลงแล้วมีนักโทษกี่คนที่ควรจะได้รับการพักโทษ คงมีนักโทษหลายคนที่เป็นผู้สูงอายุ และมีอาการเจ็บป่วยอยู่ในเรือนจำ ที่ควรได้รับสิทธินี้เช่นกัน อาจต้องขอให้เปิดเผยว่ามีนักโทษผู้สูงอายุคนอื่นๆ ได้รับสิทธินี้กี่คน



คาดจีดีพีไทยปี‘67 ขยายตัว 2.7% ผลจากศก.โลก-จีนระส่ำ ซ้ำรายได้ท่องเที่ยวต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด
https://www.matichon.co.th/economy/news_4428039

กรุงไทยคาดจีดีพีไทยปี‘67 ขยายตัว 2.7% ผลจากศก.โลก-จีนระส่ำ ซ้ำรายได้ท่องเที่ยวต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด
 
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS โดยธนาคารกรุงไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ว่า มีแนวโน้มขยายตัวอย่างจำกัดที่ระดับ 2.7% เนื่องจากการส่งออกฟื้นตัวได้จำกัด อาจขยายตัวเพียง 1.8% จากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น สาขาที่พึ่งพาการใช้แรงงาน และสูญเสียความสามารถการแข่งขันยังผลิตได้ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด
 
ขณะที่รายได้จากภาคการท่องเที่ยวยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเป็น 34 ล้านคน แต่ยังต่ำกว่าปกติที่ 40 ล้านคน แม้จะมีนโยบายฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังฟื้นตัวจำกัด จากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอ และรัฐบาลจีนเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
 
นอกจากนี้ ไทยย้งมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง การบริโภคภาคเอกชนอาจชะลอตัว จากภาระหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ขณะที่ธุรกิจเอกชนบางส่วนเผชิญความยากลำบากในการชำระคืนหนี้ โดยในส่วนที่ระดมทุนผ่านตราสารหนี้ อาจมีต้นทุนการออกหุ้นกู้และการชดเชยความเสี่ยงที่สูงมากขึ้น”นายพชรพจน์ กล่าว
 
นายพชรพจน์ กล่าวว่า ในปี 2567 เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ต้องตั้งรับกับสถานการณ์โลกที่มีการรีเซ็ตสำคัญ 3 ประการ คือ 1. การรีเซ็ตเทรนด์โลกใหม่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และกระแสโลกที่เปลี่ยนไป จะนำโลกไปสู่การเมืองแบบหลายขั้วท่ามกลางความขัดแย้ง ขณะที่กระแสรักษ์โลกคืบหน้ามากขึ้น และเทรนด์นวัตกรรม AI เปลี่ยนโลก
 
2. การรีเซ็ตเศรษฐกิจโลกภายใต้ภาวะการเงินตึงตัว อัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้นในปีนี้ สร้างความยากลำบากในการระดมทุนและจ่ายคืนหนี้ เพิ่มความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้
 
และ 3. การรีเซ็ตเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจโลก โดยเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกทั้งสหรัฐฯ และจีนอาจดับลงพร้อมกัน ความเสี่ยงหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ หากทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดีรอบใหม่ ขณะที่สงครามการค้าซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จะเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจจีนให้อ่อนแอลงไปอีก
 
แนะนำภาคธุรกิจให้เตรียมพร้อมรับมือกับการรีเซ็ตเศรษฐกิจโลกใหม่ โดยกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสทางการค้าจากขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดใหม่ เพื่อรับมือกับความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยจำเป็นต้องศึกษาและวางแผนจัดการห่วงโซ่อุปทานให้สอดคล้องกับกระแสแยกขั้ว ทั้งการย้ายฐานของบรรษัทข้ามชาติกลับไปยังประเทศแม่ (Reshoring) และการย้ายฐานและทำการค้าเฉพาะประเทศพันธมิตรด้วยกัน (Friend-shoring)”นายพชรพจน์ กล่าว
 
ทั้งนี้ ต้องจับตาสถานการณ์ของสหรัฐฯ และจีนในปีนี้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะกรณีที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2567 ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงจากการกลับทิศของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น การประกาศจะตั้งกำแพงภาษีต่อจีนถึง 60% ซึ่งอาจส่งผลให้สัดส่วนการนำเข้าจากจีนแทบเหลือ 0% ส่วนจีนจะมีความเสี่ยงเพิ่มเติม จากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และหนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่กระทบกำลังซื้อภายในประเทศอยู่แล้ว หากเครื่องยนต์หลักทั้งสองตัวของโลกถูกรีเซ็ต ไทยและประเทศต่างๆ อาจประสบกับพายุลูกใหญ่ในระยะข้างหน้า
 
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะเจนเอไอและปรับปรุงแผนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแสสังคมคาร์บอนต่ำ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ และเอสเอ็มอีควรร่วมมือผ่านการเชื่อมโยงธุรกิจ สร้างศักยภาพจากอีโคซิสเต็มวางกลยุทธ์ลดต้นทุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ชึ่งจะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจโดยเฉพาะรายย่อยและเอสเอ็มอีมากยิ่งขึ้น” นายพชรพจน์ กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่