พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 1 (ตอน 7)

เมื่อหลายปีก่อน ได้เคยมีหนังเกี่ยวกับตำนานสมเด็จพระนเรศวร มหาราช มาให้เราได้ชมกัน แต่ก็ค่อนข้างรวบรัดเนื่องจากต้องจำกัดเวลาในการเล่าเรื่อง และผมเองได้มีโอกาสศึกษาและอ่านประวัติของสมเด็จพระนเรศวรไว้หลายเล่มซึ่งเกี่ยวโยงและสอดคล้องกับพงศาวดารในประวัติศาสตร์ไทยเราก็มี ที่ไม่ตรงกันก็มี และจากที่อ่านมารู้สึกว่า พระราชประวัติในพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นหนังสือที่น่าอ่าน ชวนติดตาม สำนวนอ่านง่าย เข้าใจง่าย และมีความน่าเชื่อถือในเชิงประวัติศาสตร์อย่างสูง เนื่องมาจากท่านได้รวบรวมจากพงศาวดารและจดหมายเหตุหลายเล่มซึ่งท่านเองได้ใช้เหตุใช้ผลในการวิเคราะห์เรื่องราวได้อย่างสมเหตุสมผลและมีความเป็นไปได้สูง เล่มนี้จึงมีมากกว่าตำนานเท่านั้น ผมเองเห็นว่ายังมีเพื่อนๆหลายคนยังไม่มีโอกาสได้ชมภาพยนต์ หรือได้อ่าน หรือได้ศึกษาละเอียด  เลยคิดว่าจะเรียบเรียงเนื้อหาโดยย่อมาให้เพื่อนๆอ่านดูเหมือนเป็นไกด์นำทางให้ไปศึกษาเพิ่มเติมต่อ หรือก่อนไปดูหนัง แต่หากมีข้อบกพร่องใดๆขอรับไว้แต่ผู้เดียว แต่หากจะมีความดีใดๆก็ขอยกให้เป็นความดีของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทั้งหมดครับ หรือถ้าเพื่อนๆสนใจอ่านหนังสือเล่มนี้ก็สามารถไปซื้อได้ที่ร้านหนังสือทั่วไปนะครับ ซึ่งปกหนังสือเป็นไปตามรูปนี้ครับ(เนื้อหาที่ผมเอาลงไม่ได้คัดลอกลงมาทั้งหมดนะครับแต่จะพยายามเรียบเรียงให้กระชับขึ้นซักนิดเพื่อให้อ่านได้ง่ายขึ้นครับ)
 
วัตถุประสงค์ -เพื่อเผยแพร่ความกล้าหาญของวีรกษัตริย์ไทยที่สละชีวิตมาเพื่อแลกกับเอกราชของชาติไทยทุกวันนี้ ให้คนรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทยครับ
 
ซึ่งในพระนิพนธ์เล่มนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ภาคคือ
ภาค1 เรื่องบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ แบ่งเป็น 10 ตอน
ภาค2 เรื่องพระนเรศวรทรงกู้บ้านเมืองแบ่งเป็น 22 ตอน
ภาค3 สมเด็จพระนเรศวรทรงแผ่อาณาเขตแบ่งเป็น 30 ตอน

เรื่องย่อภาคที่1 เรื่องบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ
 
-----ตอนที่ 7-----

     เมื่อถึงฤดูแล้ง พระเจ้าบุเรงนองก็ได้ยกกองทัพจากเมืองหงสาวดี เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อเดือน 11 ปีมะโรง พ.ศ. 2111 เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปอยู่เมืองหงสาวดีได้ 6 ปี มีพระชันษา 15 ปี พระเจ้าหงสาวดีก็ให้ตามเสด็จมาในกองทัพหลวงด้วย กองทัพหงสาวดีเดินทางมาตั้งค่ายกันอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรโดยแบ่งกองทัพที่จะลงมาตีกรุงศรีอยุธยาเป็นกองทัพกษัตริย์ ถึง 7 ทัพใหญ่ :ซึ่งรวมถึงกองทัพไทยเมืองเหนือของพระมหาธรรมราชาด้วย แต่ให้ไปสนับสนุนกับกองทัพพระมหาอุปราชานันทบุเรงในฐานะฝ่ายกองพาหนะและเสบียง ทำให้คนไทยไม่ต้องรบกันเอง โดยจะเป็นเพราะพระเจ้าหงสาวดีไม่ไว้พระทัยหรือพระมหาธรรมราชาเป็นผู้ร้องขอไม่ให้ต้องรบกันเองก็เป็นได้ ทางด้านกรุงศรีอยุธยาเมื่อรู้ว่าพระเจ้าหงสาวดีจะยกกองทัพมาตีเมืองไทยอีก สมเด็จพระมหินทรฯทรงเห็นว่าสงครามครั้งนี้ถือเป็นสถานการณ์ที่คับขันของบ้านเมืองอย่างมาก จึงไปกราบทูลวิงวอนขอให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิลาผนวชเพื่อเสด็จกลับขึ้นครองแผ่นดินอีก เนื่องจากประชาชนให้การยอมรับทั้งชาวไทยเมืองเหนือและเมืองใต้ และอาจทำให้พระมหาธรรมราชาเองจะได้เกรงพระทัย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเห็นแก่บ้านเมืองก็ลาผนวชขึ้นเสวยราชย์อีกครั้ง หลังจากเมื่อเสด็จออกอยู่นอกราชสมบัติได้ 4 ปี เท่ากับว่าทรงผนวชได้ประมาณสองพรรษา

     เนื่องด้วยการต่อสู้กับข้าศึกในครั้งนี้ไม่มีช่องทางที่จะรับมือที่อื่นได้ เพราะหัวเมืองเหนือเป็นกบฏไปเข้ากับข้าศึกเสียหมดแล้ว แม้แต่ผู้คนตามหัวเมืองตอนใต้ใกล้ราชธานีเมื่อทราบว่ากองทัพหงสาวดีบุกมาก็แตกตื่นหลบหนีกระจัดกระจายเสียมาก ไม่สามารถรวบรวมกำลังรี้พลตามต้องการได้ การต่อสู้กับข้าศึกครั้งนี้เลยจำเป็นต้องตั้งรับอยู่ในพระนครแต่เพียงอย่างเดียว โดยมีก็แต่เพียงการส่งข่าวไปให้ให้พระเจ้าไชยเชษฐายกกองทัพเมืองลานช้างลงมาช่วยเหลือเท่านั้น ซึ่งคล้ายกับคราวสงครามกับพระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ อย่างไรก็ดีการใช้ยุทธวิธีตั้งรับในเมืองหลวงครั้งนี้ยังพอมีข้อดีและข้อได้เปรียบอยู่บ้างคือ พระนครซึ่งมีลำแม่น้ำล้อมรอบทำให้ยากที่ข้าศึกจะข้ามเข้ามาถึงกำแพงเมืองได้โดยง่าย ขณะเดียวกันข้าศึกที่ยกกองทัพมานั้นสามารถเอามาได้เพียงปืนใหญ่ขนาดย่อมเท่านั้น ขณะที่ในพระนครมีปืนใหญ่ทุกขนาดโดยเฉพาะขนาดใหญ่ที่มีวิถีกระสุนไกลกว่า และสามารถลำเลียงเครื่องอาวุธยุทโธปกรณ์มาได้จากทางน้ำ ความที่ได้เปรียบนี้เริ่มปรากฏตั้งแต่แรกที่กองทัพเมืองหงสาวดียกเข้ามาถึง

     ซึ่งทันทีที่กองทัพของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกกองทัพเข้ามาตั้งอยู่ที่ทุ่งลุมพลี ทหารอยุธยาซึ่งพร้อมรบอยู่แล้วก็ระดมยิงปืนใหญ่สาดกระสุนใส่ข้าศึกและช้างม้าพาหนะล้มตายจนไม่สามารถทานไหวและต้องถอยกำลังตั้งหลักห่างออกไปที่ตำบลมหาพราหมณ์ ขณะที่กองทัพอื่นๆที่เหลืออีก 6 กองทัพ ก็ต้องถอยไปตั้งห่างพระนครออกไปเช่นเดียว พระเจ้าหงสาวดีเห็นท่าว่าจะตีหักเอาพระนครไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ก็ให้กองทัพทั้ง 7 ตั้งรายล้อมรอบพระนครโดยให้เข้าตีเฉพาะทางด้านตะวันออกเท่านั้น เนื่องจากเป็นด้านที่มีคูเมืองเป็นคลองที่แคบกว่าด้านอื่นๆ ถึงกระนั้นก็ดีก็ยังไม่ง่าย เพราะเมื่อส่งกองทัพเข้ามาทีไรก็ถูกปืนใหญ่จากพระนครยิงล้มตาย จำต้องถอยทัพกลับไปทุกที ขณะที่รบกันมาได้ซักพักหนึ่งก็เกิดข่าวร้ายที่ทำให้ทหารและชาวพระนครต้องเศร้าโศกซึ่งทำให้ตัดทอนกำลังใจไปมาก นั่นคือข่าวการประชวรและ สวรรคตของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
-----จบตอนที่ 7-----
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่