พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค1(ตอน3)

เมื่อหลายปีก่อน ได้เคยมีหนังเกี่ยวกับตำนานสมเด็จพระนเรศวร มหาราช มาให้เราได้ชมกัน แต่ก็ค่อนข้างรวบรัดเนื่องจากต้องจำกัดเวลาในการเล่าเรื่อง และผมเองได้มีโอกาสศึกษาและอ่านประวัติของสมเด็จพระนเรศวรไว้หลายเล่มซึ่งเกี่ยวโยงและสอดคล้องกับพงศาวดารในประวัติศาสตร์ไทยเราก็มี ที่ไม่ตรงกันก็มี และจากที่อ่านมารู้สึกว่า พระราชประวัติในพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นหนังสือที่น่าอ่าน ชวนติดตาม สำนวนอ่านง่าย เข้าใจง่าย และมีความน่าเชื่อถือในเชิงประวัติศาสตร์อย่างสูง เนื่องมาจากท่านได้รวบรวมจากพงศาวดารและจดหมายเหตุหลายเล่มซึ่งท่านเองได้ใช้เหตุใช้ผลในการวิเคราะห์เรื่องราวได้อย่างสมเหตุสมผลและมีความเป็นไปได้สูง เล่มนี้จึงมีมากกว่าตำนานเท่านั้น ผมเองเห็นว่ายังมีเพื่อนๆหลายคนยังไม่มีโอกาสได้ชมภาพยนต์ หรือได้อ่าน หรือได้ศึกษาละเอียด  เลยคิดว่าจะเรียบเรียงเนื้อหาโดยย่อมาให้เพื่อนๆอ่านดูเหมือนเป็นไกด์นำทางให้ไปศึกษาเพิ่มเติมต่อ หรือก่อนไปดูหนัง แต่หากมีข้อบกพร่องใดๆขอรับไว้แต่ผู้เดียว แต่หากจะมีความดีใดๆก็ขอยกให้เป็นความดีของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทั้งหมดครับ หรือถ้าเพื่อนๆสนใจอ่านหนังสือเล่มนี้ก็สามารถไปซื้อได้ที่ร้านหนังสือทั่วไปนะครับ ซึ่งปกหนังสือเป็นไปตามรูปนี้ครับ(เนื้อหาที่ผมเอาลงไม่ได้คัดลอกลงมาทั้งหมดนะครับแต่จะพยายามเรียบเรียงให้กระชับขึ้นซักนิดเพื่อให้อ่านได้ง่ายขึ้นครับ)
 
วัตถุประสงค์ -เพื่อเผยแพร่ความกล้าหาญของวีรกษัตริย์ไทยที่สละชีวิตมาเพื่อแลกกับเอกราชของชาติไทยทุกวันนี้ ให้คนรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทยครับ
 
ซึ่งในพระนิพนธ์เล่มนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ภาคคือ
ภาค1 เรื่องบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ แบ่งเป็น 10 ตอน
ภาค2 เรื่องพระนเรศวรทรงกู้บ้านเมืองแบ่งเป็น 22 ตอน
ภาค3 สมเด็จพระนเรศวรทรงแผ่อาณาเขตแบ่งเป็น 30 ตอน
 
 
เรื่องย่อภาคที่1 เรื่องบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ
 
-----ตอนที่3-----

     จากการเสียเมืองเหนือในครั้งนี้ตามประเพณีหากตีได้ด้วยการรบชนะขั้นแตกหัก ฝ่ายมีชัยสามารถยึดทรัพย์สินอันมีค่ารวมทั้งจับพลเมืองข้าศึกเป็นเชลยและกวาดต้อนผู้คนได้ตามใจชอบและอาจถึงขั้นเผาเมืองได้ แต่หากเป็นการยอมแพ้แต่โดยดีก็จะไม่มีการยึดทรัพย์หรือกวาดต้อนผู้คน เพียงแต่ยึดอาวุธยุทธปกรณ์บางอย่างไปเท่านั้นและใช้ให้ชาวเมืองนั้นเป็นกรรมกรปลูกสร้างเป็นต้น ดังนั้นการเสียเมืองพิษณุโลกของพระมหาธรรมราชาซึ่งยอมแพ้นั้น พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเพียงแต่ให้พระมหาธรรมราชากระทำสัตย์แล้วให้บังคับบัญชาผู้คนอยู่เช่นเดิมแต่ให้ชาวไทยหัวเมืองเหนือทำการก่อสร้างและรวบรวมเรือต่างๆเพื่อจัดเป็นกองได้เรือได้อีกหนึ่งกองทัพ โดยให้พระเจ้าแปรเป็นผู้บัญชาการทัพเรือนั้นลงมาทางลำน้ำ ส่วนกองทัพบกให้พระพระมหาอุปราชา(นันทบุเรง)เป็นปีกขวา พระเจ้าอังวะเป็นปีกซ้าย พระเจ้าตองอูเป็นกองกลาง ส่วนกองทัพหลวงของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกตามลงมายังกรุงศรีอยุธยา โดยเอาตัวพระมหาธรรมราชาลงมาด้วยกับกองทัพหลวง

     เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกกองทัพทั้ง5 เข้ามาโจมตีประชิดพระนครได้ ก็ส่งพระราชสาส์น ถามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิว่า จะยอมแพ้แต่โดยดีหรือไม่ ถ้ายอมก็จะให้คงบ้านเมืองต่อไป แต่หากไม่ยอมก็จะส่งกองทัพโจมตีและจะเอากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองเชลย และเผาบ้านเมืองให้สิ้นซาก ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ปรึกษาหารือเหล่าข้าราชการแล้วเห็นว่ากองทัพทั้งห้าของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองใหญ่โตเกินกว่าจะสู้เอาชนะได้จึงยอมแพ้และทำไมตรีแต่โดยดี โดยให้ปลูกพลับพลาขึ้นข้างนอกพระนครที่วัดริมช้างระหว่างที่ตั้งกองทัพหลวงของข้าศึกกับคูเมืองทางด้านทิศเหนือ แล้วสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเสด็จไปพบกันที่พลับพลานั้น โดยเรียกค่าไถ่เมืองตามปรารถนา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ต้องยอม โดยรายละเอียดค่าไถ่เมืองได้แก่ ช้างเผือก 4 เชือก พระราเมศวร พระยาจักรีและพระสุนทรสงคราม ซึ่งเป็นระดับแม่ทัพทั้ง 3 คน เอาไปเมืองหงสาวดีจึงได้เลิกทัพกลับไป

     เมื่อเสร็จศึกในครั้งนี้แล้วสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงได้สละราชสมบัติและให้พระมหินทราธิราช สืบราชสมบัติครองกรุงศรีอยุธยาต่อไป ส่วนพระองค์เสด็จออกไปประทับอยู่ในวังหลังและต่อมาเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ขณะที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองก็ได้ตรัสขอสมเด็จพระนเรศวรต่อพระมหาธรรมราชาว่าจะนำไปเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรมด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือตัวประกันสำหรับพระมหาธรรมราชานั่นเอง พระมหาธรรมราชา ก็จำต้องถวาย สมเด็จพระนเรศวรจึงต้องเสด็จออกไปอยู่เมืองหงสาวดีเมื่อพระชันษาได้ 9 ขวบ แต่คงมีผู้หลักผู้ใหญ่และข้าราชการไทยตามไปอยู่ด้วย

     เมื่อพระองค์ไปสู่กรุงหงสาวดีแล้ว ก็ได้รับอุปการะเลี้ยงดูให้อยู่กับเจ้านายรุ่นเดียวกันซึ่งมีทั้งที่เป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าหงสาวดีและที่ไปจากต่างประเทศเช่นเดียวกับพระนเรศวร โดยได้รับการศึกษาและได้รับความอบรมเลี้ยงดูอย่างดีโดยเสมอภาคกัน
 
-----จบตอนที่3-----
 

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ตอนต่อไป ภาค 1 ตอนที่ 4

ตอนที่แล้ว ภาค 1 ตอนที่ 2
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่