JJNY : ใกล้ทำลายระบบการทหารฮามาส│ก้าวไกลต้อนรับพรรคการเมืองจากเดนมาร์ก-สวีเดน-มาเลเซีย│‘อ๋อย’จ่อยกร่าง│กสทช.ร้าวหนัก

อิสราเอลเผยใกล้ทำลายระบบการทหารของกลุ่มฮามาสได้แล้ว
https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/210537
 
 
กองทัพอิสราเอลเปิดเผยว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านการทหารของกลุ่มฮามาสใกล้จะถูกทำลายได้ทั้งหมดแล้ว
 
ในระหว่างการลงพื้นที่เพื่อพบปะกับกำลังทหารในฉนวนกาซา พลเอก เฮอร์ซี ฮาเลวี ประธานคณะเสนาธิการกองกำลังป้องหันอิสราเอล หรือ IDF ระบุว่า ขณะนี้ระบบด้านการทหารของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาตอนเหนือใกล้จะถูกทำลายทั้งหมดแล้ว แต่ปฏิบัติการในพื้นที่จะยังคงดำเนินต่อไป เพื่อทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารที่เหลือ รวมถึงกำจัดสมาชิกระดับบัญชาการและแนวร่วมของกลุ่มฮามาส

ส่วนความคืบหน้าการบุกจู่โจมโรงพยาบาลอัล-ชิฟา ในเมืองกาซาซิตี ล่าสุดเมื่อวานนี้กองกำลังป้องกันอิสราเอลได้เปิดเผยภาพที่ระบุว่าเป็นปากปล่องอุโมงค์ใต้ดินของกลุ่มฮามาส ซึ่งอยู่ห่างจากตัวอาคารหลักของโรงพยาบาลประมาณ 30 เมตร อีกยังตรวจยึดอาวุธอีกจำนวนหนึ่งจากรถยนต์คันหนึ่ง
 
นอกจากนี้ทหารอิสราเอลยังพบศพตัวประกันหญิงชาวอิสราเอล 1 คน ทราบชื่อคือ เยฮูดิต ไวส์ ซึ่งถูกกลุ่มฮามาสลักพาตัวจากเขตบิเออรี ระหว่างก่อเหตุโจมตีข้ามพรมแดนครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 7 ต.ค.
 
โดยกองทัพป้องกันอิสราเอลยืนยันว่าไวส์ ถูกสังหารโดยกลุ่มก่อการร้าย ก่อนที่ทหารในสังกัดจะพบเธอ
 
ขณะที่ โยอาฟ กัลแลนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิสราเอล เปิดเผยว่าประชาชนชาวอิสราเอลที่อาศัยอยู่ตามแนวพรมแดนด้านฉนวนกาซาจะสามารถกลับบ้านรือนของตัวในช่วงต้นปีหน้า หลังเสร็จสิ้นการฟื้นฟูเมืองต่างๆและสร้างมาตรการด้านความมั่นคงที่จำเป็น
 
โดยหลังจากที่กลุ่มฮามาสก่อเหตุโจมตีข้ามพรมแดนเมื่อวันที่ 7 ต.ค. มีชาวอิสราเอลประมาณ 200,000 คนที่ต้องอพยพออกจากพรมแดนทั้งด้านที่ติดกับฉนวนกาซาและด้านที่ติดกับประเทศเลบานอน ซึ่งกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้ก่อเหตุโจมตีข้ามพรมแดนมายังพื้นที่ทางตอนเหนือของอิสราเอลเช่นกัน
 
ส่วนความคืบหน้าการช่วยเหลือตัวประกัน มีรายงานว่ากลุ่มฮามาสได้ตกลงตามข้อเสนอของกาตาร์ในการปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัวไว้ 50 คนในฉนวนกาซาเพื่อแลกกับการที่อิสราเอลจะหยุดพักการโจมตีเป็นเวลา 3 วัน
 
อย่างไรก็ตาม อิสราเอลยังไม่แสดงท่าทีตอบรับหรือปฏิเสธข้อเสนอนี้ แต่มีรายงานว่ารัฐบาลอยู่ในระหว่างพิจารณาเงื่อนไข
 


‘ก้าวไกล-คณะก้าวหน้า’ ต้อนรับ-แลกเปลี่ยนประสบการณ์ พรรคการเมืองจากเดนมาร์ก-สวีเดน-มาเลเซีย
https://www.matichon.co.th/politics/news_4287030

‘ก้าวไกล-คณะก้าวหน้า’ ต้อนรับตัวแทนพรรคการเมืองจากเดนมาร์ก-สวีเดน-มาเลเซีย ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเมือง และการสร้างพรรคมวลชนที่เข้มแข็ง 
 
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นำโดย นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค และคณะก้าวหน้า นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า และ น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ร่วมต้อนรับและเสวนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ด้านการจัดการและพัฒนาโครงสร้างพรรคการเมือง ร่วมกับตัวแทนจากพรรคสังคมประชาธิปไตยประเทศเดนมาร์ก (Social Democratic Party of Denmark) พรรคสังคมประชาธิปไตยประเทศสวีเดน (Social Democratic Party of Sweden) และพรรค Democratic Action Party (DAP) จากประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
 
โดยจุดประสงค์ของการพูดคุยวันนี้ เปรียบเสมือนเป็นแพลตฟอร์ม ที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เนื่องจากปัจจุบันการเมืองในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ กำลังเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน คือมีรัฐบาลที่มาจากอุดมการณ์เป็นประชาธิปไตย ที่เน้นการสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และมุ่งดำเนินนโยบายที่โอบรับความแตกต่างหลากหลายและมุ่งเน้นการสร้างสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน
 
ในการเสวนา Annette Larsen ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศของพรรคสังคมประชาธิปไตยเดนมาร์ก ได้บรรยายประวัติของพรรคที่มีรากฐานมาจากการรวมตัวของกลุ่มแรงงาน การก่อตั้งพรรคมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านต่างๆ ของประชาชน รวมถึงได้แนะนำบุคคลสำคัญของพรรคที่มาจากชนชั้นแรงงานและได้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งอธิบายแนวทางการพัฒนาโครงสร้างและนโยบายของพรรค ว่าเริ่มต้นที่ระดับท้องถิ่น พรรคต้องการออกแบบนโยบายผ่านกระบวนการที่โอบรับความหลากหลาย (Inclusive Process) พร้อมกันนี้ ได้ยกตัวอย่างการระดมทุนรูปแบบต่างๆ ของพรรคที่แสดงถึงความยึดโยงกับประชาชน เช่น การรับสมัครสมาชิกพรรค ภาษีพรรคการเมือง (Party Tax) การจัดกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน โดย Annette Larsen ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน และกล่าวถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเติบโตของพรรคก้าวไกลด้วย
 
ด้าน Ann Linde อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน ในฐานะตัวแทนพรรคสังคมประชาธิปไตยจากประเทศสวีเดน เล่าถึงการทำงานพื้นที่ที่เน้นวิธีแบบเกล็ดหิมะ (Snowflake) ที่เน้นสร้างการรวมกลุ่มกันของประชาชนจำนวน 5-6 คน ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นทางสังคมของแต่ละพื้นที่ พรรคมุ่งทำการเมืองมวลชนผ่านสาขาพรรค (Branches) ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการรับสมัครสมาชิกพรรค โดยวางแนวทางว่าพรรคต้องใช้เวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง ในการติดต่อไปยังประชาชนที่ต้องการสมัครสมาชิก นอกจากนี้ ได้ยกตัวอย่างสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศสวีเดน ว่าในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยได้รับชัยชนะไม่ต่างจากพรรค ก.ก. แต่กลับมีสถานการณ์ทางการเมืองที่คล้ายกัน คือไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากพรรคฝ่ายขวาหันไปร่วมมือกับพรรคที่มีอุดมการณ์สืบทอดจากระบอบนาซี
 
จากนั้น Kasthiriaani Patto อดีตสมาชิกสภาของรัฐ​ Batu Kawan ตัวแทนพรรค DAP ร่วมอภิปรายถึงระบบสมาชิกของพรรค โดยย้ำว่าพรรคให้ความสำคัญกับระบบสมาชิกเป็นอย่างมาก รวมถึงมีความภาคภูมิใจในความสำเร็จทางการเมืองที่ผ่านมา เนื่องจากหลังจากประเทศมาเลเซียได้รับเอกราช การเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ ของมาเลเซีย กลายเป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศ แต่ DAP ยืนยันที่จะทำการเมืองในแนวทางพรรคมวลชน ไม่แบ่งแยกชาติพันธุ์​
 
ต่อมา นายชัยธวัชได้กล่าวปิดท้ายการเสวนาครั้งนี้ ว่าถือเป็นโอกาสอันดีที่พรรค ก.ก.ได้เรียนรู้ประสบการณ์การสร้างพรรคจากพรรคสังคมประชาธิปไตยในประเทศอื่นๆ ที่ล้วนมีอายุหลักร้อยปี โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ที่พรรคเหล่านี้ได้บริหารประเทศมาอย่างยาวนาน การเรียนรู้จากพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์เดียวกัน จะทำให้พรรค ก.ก.เติบโตไปสู่การเป็นพรรคมวลชนที่เข้มแข็ง ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล และร่วมมือกับนักการเมือง พรรคการเมืองอื่นในระดับนานาชาติ เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เป็นธรรม มีสวัสดิการที่ดีสำหรับประชาชนทุกคนในอนาคต


 
หวั่นแก้ รธน.ยาก ‘อ๋อย’ จ่อยกร่างแก้ กม.ประชามติ เตรียมเสนอสภาฯ สมัยประชุมหน้า
https://www.matichon.co.th/politics/news_4287154

หวั่นแก้ รธน.ยาก ‘อ๋อย’ จ่อยกร่างแก้ กม.ประชามติ เตรียมเสนอสภาฯ สมัยประชุมหน้า
 
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า ได้รับเชิญจากประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำประชามติฯ ให้มาเป็นผู้สังเกตการณ์การประชุม มีตัวแทนสาขาอาชีพต่างและภาคประชาสังคมเข้าร่วมจำนวนมาก ข้อสังเกตที่ได้ก็คือผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ ให้น้ำหนักกับการเสนอเนื้อหาที่อยากให้มีในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ปัญหาและเป็นประโยชน์ต่อวงการอาชีพของตน ซึ่งกรรมการบางท่านก็ได้อธิบายว่าเรื่องเนื้อหาในรัฐธรรนูญคงต้องรอไว้เสนอตอนมี ส.ส.ร.แล้ว การกำหนดเนื้อหามากหรือน้อยแค่ไหนดี ยังมีความเห็นต่างกันคืออีกแนวหนึ่ง เห็นว่าไม่ควรกำหนดสาระให้มากเกินไปไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะจะแก้ยาก ควรไปกำหนดไว้ในกฎหมายดีกว่า
 
นายจาตุรนต์ ระบุว่า เรื่องคำถามในการทำประชามติมีเป็นสองแบบ คือตั้งคำถามว่าจะให้มีการร่างใหม่โดย ส.ส.ร.หรือไม่ โดยไม่ต้องมีรายละเอียดหรือเงื่อนไขใดๆ กับอีกแบบหนึ่งให้กำหนดไปว่าการร่างใหม่จะไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 เรื่องการทำประชามติยังมีประเด็นสำคัญอีก 3 ประเด็นคือ 

1. การทำประชามติโดยรัฐบาลจะไม่มีผลทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ผูกพันรัฐสภา ถึงแม้ประชามติผ่าน แต่ถ้ารัฐสภาไม่แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็ไม่เกิดขึ้น 

2. การทำประชามติจึงจะมีผลทางการเมืองเป็นหลัก ถ้าผ่านก็เป็นแรงสนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าไม่ผ่านก็อาจทำให้แก้รัฐธรรมนูญยากยิ่งขึ้นไปอีก
 
นายจาตุรนต์ ระบุอีกว่า 

3. ประเด็นที่ผู้ร่วมประชุมหลายคนห่วงใยอีกเรื่อง คือ การที่พ.ร.บ.ประชามติกำหนดให้ใช้ดับเบิ้ล แมจอริตี้ หรือการกำหนดให้ผู้มาใช้สิทธิต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และผู้เห็นชอบต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ กติกานี้แตกต่างจากการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับที่เคยทำกันมา หากใช้กติกาตาม พ.ร.บ.ประชามติจะทำให้ผ่านได้ยากมาก และเมื่อไม่ผ่านก็จะกลายเป็นข้อสรุปว่าประชาชนไทยไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ และเราอาจไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องสำคัญหรือร่างใหม่ได้อีกตลอดไป
 
การทำประชามติที่มีขึ้นมีประเด็นต้องคิดให้รอบคอบ จะทำกี่ครั้ง ตั้งคำถามอย่างไร และจะแก้พ.ร.บ.ประชามติเสียก่อนหรือไม่ จึงเป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันตีให้แตก เรื่องการทำประชามตินี้ ผมได้แสดงความเห็นในที่ประชุมไปบ้างแล้ว จะขยายความเพิ่มเติมทางเพจนี้ และผมกำลังร่วมกับส.ส.พรรคพท.บางท่าน เตรียมยกร่างแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติกันอยู่ คาดว่าจะเสนอสภาได้ในสมัยประชุมหน้า” นายจาตุรนต์ ระบุ

https://www.facebook.com/Chaturon.FanPage/posts/pfbid02eT1NjW1YbZjpGg4kBuDTWB6UPWvG9p1hber9fmsSpWeWbGTtwu5ncm3votWCwBMAl
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่