JJNY : สงครามทำคนพลัดถิ่น│’ณัฐพงษ์‘ ถาม ‘รมว.ดีอี‘│‘ก.ก.’ ถามแนวทางตั้งศูนย์อพยพ│สงครามอิสราเอล-ฮามาส เอฟเฟ็กต์ค่าเงิน

สงครามทำคนในกาซาพลัดถิ่นกว่า 338,000 คน
https://tna.mcot.net/world-1254476
 
 
เจนีวา 12 ต.ค.- สหประชาชาติหรือยูเอ็นแจ้งว่า มีคนในฉนวนกาซากลายเป็นคนพลัดถิ่นที่ต้องหนีออกจากบ้านเรือนแล้วมากกว่า 338,000 คน ในช่วงที่อิสราเอลยังคงระดมถล่มดินแดนปาเลสไตน์แห่งนี้
 
สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติหรือโอซีเอชเอ  (OCHA) แถลงในวันนี้ว่า ยังคงมีการพลัดถิ่นหมู่ทั่วฉนวนกาซา โดยในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้นอีก 75,000 คน ทำให้รวมเป็น 338,934 คนแล้ว ผู้พลัดถิ่นราว 2 ใน 3 อาศัยตามโรงเรียนของสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) ที่เหลืออาศัยตามโรงเรียนของทางการปาเลสไตน์ บ้านญาติ โบสถ์ และสถานที่พักพิงอื่น ๆ
 
โอซีเอชเอระบุว่า ฉนวนกาซามีผู้พลัดถิ่นอยู่แล้ว 3,000 คนเพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนกลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศอย่างหนักของอิสราเอลนอกจากทำให้บ้านเรือนเสียหายจนไม่สามารถอาศัยได้ 2,540 หลัง เสียหายบางส่วน 22,850 หลัง ยังมีสาธารณูปโภคสำคัญเสียหายด้วย เช่น ระบบกำจัดขยะสำหรับประชาชนมากกว่า 1 ล้านคน ทำให้มีขยะจำนวนมากตกค้างตามท้องถนน เสี่ยงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
 
ฉนวนกาซาเป็นพื้นที่แคบ ๆ ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ด้านเหนือและด้านตะวันออกติดกับอิสราเอล ด้านตะวันตกเฉียงใต้ติดกับอียิปต์ มีประชากร 2 ล้าน 3 แสนคนอาศัยอย่างแออัดในพื้นที่ 365 ตารางเมตร ถือเป็นพื้นที่หนาแน่นเป็นอันดับ 3 ของโลก.-สำนักข่าวไทย



’ณัฐพงษ์‘ ถาม ‘รมว.ดีอี‘ ขอความชัดเจน 3 เรื่องระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
https://www.matichon.co.th/politics/news_4227991

’ณัฐพงษ์‘ ถาม ‘รมว.ดีอี‘ ขอความชัดเจน 3 เรื่องระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ใช้งบเท่าไหร่ จากแหล่งใด-ครอบคลุมที่ช่องทางและเสร็จในรัฐบาลนี้หรือไม่ ‘เจ้ากระทรวง‘ แจงเซลล์บรอดแคสเสร็จภายใน 1 ปี ใช้งบกองทุน กสทช.ไม่เกิน 5 ร้อยล้าน
 
เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 12 ตุลาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่องระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  (ก.ก.) ถามนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ว่า ที่ผ่านมาภัยที่เกิดขึ้นต่างๆ แบ่งเป็นหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นภัยสึนามิ กราดยิงโคราช หรือล่าสุดคือกราดยิงที่พารากอน รวมถึงปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ล้วนส่งผลเสียต่อประชาชนจำนวนมาก รัฐบาลควรต้องมีระบบศูนย์กลางแจ้งเตือนให้ประชาชนอย่างเหมาะสม เมื่อเกิดภัยพิบัติแล้วก็ควรที่จะมีการแจ้งเตือนเลย เช่น หากเกิดขึ้นในบางพื้นที่ก็ควรแจ้งเตือนในพื้นที่นั้นๆ แบบเฉพาะเจาะจง เพื่อไม่ให้ประชาชนในพื้นที่อื่นตื่นตระหนกตกใจ หรือต่างประเทศเวลาเกิดภัยพิบัติจะมีการแจ้งเตือนผ่านหน้าจอโทรศัพท์ เป็นสัญญาณที่เสียงดังทำให้ทราบได้ทันทีแม้จะปิดเสียง หรือโทรทัศน์มีการตัดสัญญาณที่ออกอากาศอยู่ขณะนั้น เป็นสัญญาณเตือนภัย
 
นายณัฐพงษ์กล่าวต่อว่า ตนจึงอยากถามรัฐบาลว่า สิ่งที่ท่านกำลังจะทำเหมือนหรือแตกต่างจากรัฐบาลชุดเดิมอย่างไร หากเหมือนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่ท่านกำลังทำใหม่จะดีกว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมา แต่หากแตกต่าง แตกต่างอย่างไร ทั้งนี้ สิ่งที่เราอยากเห็นไม่ใช่แค่การแจ้งเตือนในระบบโทรศัพท์มือถือ แต่อยากเห็นการแจ้งเตือนในระบบการสื่อสารแบบโทรทัศน์ด้วย จึงอยากให้รัฐมนตรีแสดงความชัดเจนถึงทิศทางการออกแบบว่าถูกทิศทางหรือไม่ รวมถึงโลเกชั่นเบสเซอร์วิสและเซลล์บรอดแคสนี้จะรองรับแค่สมาร์ทโฟนหรือคลื่นวิทยุ โทรทัศน์ด้วยหรือไม่ ซึ่งส่วนสำคัญคือโอเปอเรเตอร์ที่ต้องมีการวางระบบให้มีการครอบคลุมกับระบบการสื่อสารต่างๆ จึงอยากได้ความชัดเจนในเรื่องของกรอบระยะเวลาว่าระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติแห่งชาติที่ประเทศควรมีนั้น จะเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ หากไม่เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ก็อยากได้แผนที่แน่ชัดว่าจะแล้วเสร็จภายในกี่ปี สุดท้ายตนอยากทราบเรื่องงบประมาณว่าแหล่งที่มาของงบประมาณจะมาจากแหล่งใด และอยากทราบชื่อโครงการที่จะจัดทำงบประมาณฉบับนี้ รวมถึงจำนวนงบประมาณว่าจะใช้เท่าไหร่
 
ด้านนายประเสริฐชี้แจงว่า รัฐบาลชุดที่ผ่านมาก็มีการพูดถึงเรื่องระบบแจ้งเตือนภัยแบบเซลล์บรอดแคส แต่เข้าใจว่าในระยะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ยังไม่ได้ดำเนินการ ฉะนั้น หลังจากที่ตนเข้ามารับงานต่อก็จะดำเนินการนโยบายนี้เพื่อสร้างระบบเตือนภัยที่มีความมั่นคงและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยได้มีการพูดคุยกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลา 6 เดือนแต่ไม่เกิน 1 ปี สำหรับการทำระบบแจ้งเตือนภัยแบบเซลล์บรอดแคส และจะทำให้รองรับทุกระบบการสื่อสาร แต่ต้องขอเวลาในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งยืนยันว่า หากพัฒนาระบบสมบูรณ์แล้วระบบจะรองรับทุกช่องทาง และตนจะทุ่มเททำงานเเพื่อให้สามารถดำเนินการระบบแจ้งเตือนทุกช่องทางให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ ส่วนเรื่องแหล่งที่มาของงบประมาณที่จะใช้ทำนั้น เบื้องต้นตนได้หารือกับ กสทช.แล้วว่าจะใช้กองทุน กสทช.ในการดำเนินการ ส่วนจำนวนงบประมาณจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท



‘ก.ก.’ ถามแนวทางตั้งศูนย์อพยพเป็นทางการ ’จักรพงษ์‘ บอก ลำบาก เหตุคนไทยอยู่กระจัดกระจาย
https://www.matichon.co.th/politics/news_4227990

‘ก้าวไกล’ ถามแนวทางตั้งศูนย์อพยพเป็นทางการ ด้าน ’จักรพงษ์‘ รับตั้งศูนย์ฯ ลำบาก เหตุคนไทยอยู่กระจัดกระจาย ขณะนี้ ‘วันนอร์’ ยันสภาฯ ใช้ทุกช่องทางช่วยเหลือ เผยทูตฯ รับปากดูแลคนไทยเหมือนชาวอิสราเอลทุกประการ
 
เมื่อเวลา 11.15 น. วันที่ 12 ตุลาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา โดยนายสหัสวัต คุ้มคง ส.ส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ตั้งกระทู้สด สอบถามเพิ่มเติมถึงแนวทางการตั้งศูนย์อพยพที่เป็นทางการให้คนไทยมารวมตัวกัน เพื่อความปลอดภัย มีทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่ศูนย์อพยพดังกล่าว เพื่อสะดวกในการขนย้ายคนไทยกลับได้ทีละมากๆ ขณะเดียวกันควรประสานนำรถไปขนแรงงานไทยออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย และกรณีแรงงานที่ต้องการเดินทางกลับไปทำงานที่อิสราเอล หลังเหตุการณ์สงบจะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร

โดยนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า การตั้งศูนย์อพยพคนไทยนั้น กระทรวงต่างประเทศเคยสั่งการไปแล้ว อยากทำมาก แต่เนื่องจากแรงงานไทยอยู่กระจัดกระจาย และจำเป็นต้องขนย้ายคนไทยออกจากจุดเสี่ยงที่เป็นอันตรายก่อน จึงเป็นข้อจำกัดไม่สามารถขนคนไทยกลับประเทศได้คราวละมากๆ การนำรถเข้าไปช่วยเหลือแรงงานไทยในพื้นที่นั้น การจะขับรถออกจากพื้นที่ได้ ต้องขออนุญาตจากอิสราเอล เพราะเคยมีการขับรถออกมา โดยไม่รับอนุญาต ทำให้เกิดความเข้าใจผิดมาแล้ว
 
นายจักรพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้การเดินทางไปชายแดนประเทศต่างๆ มีความเสี่ยง แม้จะประสานอิสราเอลเพื่อขอเคลื่อนย้าย แต่มีความเสี่ยงจากสถานการณ์สู้รบ ยิงจรวดเข้าพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่เสี่ยงสูง อิสราเอลจะเป็นผู้ดำเนินการขนย้ายคนจากพื้นที่เสี่ยงไปยังพื้นที่ปลอดภัย ขณะที่แนวทางช่วยเหลือคนไทยที่อยากกลับไปทำงานที่อิสราเอลอีกครั้ง หากเหตุการณ์สงบนั้น อิสราเอลให้คำมั่น แรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ ถ้าอยากกลับมาทำงานอีก จะพิจารณาให้เป็นกรณีพิเศษ
 
ช่วงนี้คงต้องขอกำลังใจจาก ส.ส.ผู้ทรงเกียรติทุกท่านไปยังประชาชนที่อยู่ที่อิสราเอล ประชาชนของเราได้รับความเดือดร้อนจริงๆ เราใช้ทุกวิถีทางที่จะสามารถทำได้ ทั้งทางการทูต ไม่ว่าจะในประเทศ นอกประเทศ หรือผ่านองค์การระดับชาติ” นายจักรพงษ์ กล่าว
 
หลังจากการตอบกระทู้สดเสร็จสิ้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวเสริมว่า ขอบคุณ ส.ส.ที่ห่วงใยในวิกฤตการณ์ในอิสราเอล ปัญหาดังกล่าวเป็นวิกฤตอย่างแท้จริง เป็นหน้าที่คนไทยต้องให้กำลังใจ ช่วยเหลือกับคนไทยในอิสราเอล สภาฯมีความห่วงใย ในฐานะประธานสภาฯได้พบกับเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย หลังเกิดเหตุ 2 วัน ได้เแสดงความห่วงใยต่อเอกอัครราชทูตอิสราเอล ได้รับคำตอบว่า อิสราเอลจะดูแลคนไทยที่เดือดร้อน ทั้งการอพยพ ผู้บาดเจ็บ ผู้ถูกจับ จะดูแลเหมือนชาวอิสราเอลทุกประการ สภาฯ เห็นว่าเป็นเรื่องวิกฤตจริงๆ พยายามติดต่อองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะคนถูกจับ ทราบว่าปลอดภัยอยู่ แต่ต้องให้ปลอดภัยและเดินทางออกจากพื้นที่โดยเร็ว พยายามทำทุกช่องทาง เราห่วงคนไทยทุกคน ขอวิงวอนและขอพรให้คนไทยที่ถูกจับกลับมาอย่างปลอดภัย และคนที่อยากกลับได้กลับมาอย่างปลอดภัย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่