เวลาที่มีผู้มาขอพรจากเรา เราควรจะกล่าวอย่างไรกับผู้ที่มาขอพร

พระพุทธศาสนาสอนให้มั่นคงในหลักของกรรม คือเจตนาหรือความจงใจกระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ได้ทำแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดผลวิบาก   ไม่ได้สอนให้งมงายบนบานขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์

"สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน
เป็นทายาทรับกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด
มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งพิงอาศัย
กรรมย่อมจำแนกสัตว์เพื่อให้เป็นผู้เลวและประณีต"

นี่คือพระพุทธดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  จะมีชาวพุทธท่านใดไม่เห็นด้วยหรือคัดค้านพระพุทธดำรัสของพระองค์หรือไม่คะ  หรือยังมีชาวพุทธท่านใดคิดว่า เราจะประสบโชคก็ดี จะได้สุขได้ลาภได้ยศก็ดี จะประสบเคราะห์ร้ายหรืออุบัติเหตุก็ดี  เป็นผลจากผู้อื่นบันดาลให้ หรือเป็นผลจากเจ้ากรรมนายเวรหรือคะ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

https://www.dhammahome.com/cd/topic/14/31

ปกิณณกธรรม ตอนที่ ๓๑
สนทนาธรรมที่โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ พศ. ๒๕๓๖
 
ส. เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ใหญ่แล้วก็มีเด็กลูกหลานมาขอพร นี่เป็นโอกาสเลยว่า ถ้าต้องการพรอะไรก็ต้องทำความดีให้สมกับที่จะได้สิ่งนั้น มิฉะนั้นแล้วไม่มีโอกาสจะได้ ขอความสุขก็ต้องเป็นผลของความดี ขอลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็ต้องเป็นผลของกรรมดี เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีกรรมดีแล้วไม่มีทางที่จะได้อะไรเลย

ถ. เวลาที่จะพูดให้กับผู้ที่เขามาขอพร จะใช้คำพูดอย่างไรจึงจะทำให้คนที่เขาฟังได้เกิดความเข้าใจ เพราะบางคนอาจจะไม่ต้องการเหตุผลมาก เห็นแต่ว่าได้ฟังผู้ใหญ่ที่เคารพ จะพูดอย่างไรดี

ส. ก็ต้องบอกให้เขาทราบว่า พรคือสิ่งประเสริฐ คือคุณความดี เพราะฉะนั้นเมื่อต้องการความดียังไงก็ต้องทำความดีตามที่ต้องการ พรคือความดี เป็นสิ่งประเสริฐ สิ่งประเสริฐคือความดี เพราะฉะนั้น มาขอพรก็คือทำทุกอย่างที่ดี บอกไปเลย จารไนให้ทราบว่า ความดีมีอะไรบ้าง จะต้องทำอย่างนี้ อย่างนี้ จึงจะเป็นพร ขอใครก็ขอไม่ได้ นอกจากต้องทำเอง และคนที่จะไปขอ ต่อไปนี้จะไปขอไหม

ถ. ถูกขอให้เป็นผู้ให้พร

ส. ถ้าไม่ถูกขอแล้วจะไปขอไหม

ถ. ไม่ขอ

ส. ไม่ขอแล้วใช่ไหม นอกจากทำกรรมดี บางคนก็ไปขอไม่ใช่กับมารดาบิดา มีใครที่จะให้ได้ ขอหมด ต้นไม้บ้าง อะไรบ้าง ที่ไหนที่ไหนก็ตามแต่ คิดว่าได้แล้วไปขอทั้งนั้น แต่ให้ทราบว่า ไม่มีเหตุผลเลย แทนที่จะขอ  เปลี่ยนจากขอ  แต่ทำความดีทันที แต่วิธีนี้อาจจะไม่อยากได้ คือไม่อยากจะทำความดีแต่อยากจะได้ผลของความดี ซึ่งก็ไม่เป็นเหตุเป็นผล

ถ. อยากจะถามท่านอาจารย์เรื่อง การอุทิศส่วนกุศล กับ การแผ่เมตตานี้เหมือนกันไหม

ส. เวลาที่เราอุทิศส่วนกุศล ขณะนั้นจิตเป็นกุศล จึงจะอุทิศได้ ถ้าวันนั้นเกิดขี้เกียจ หรือว่าเกิดไม่อยากจะอุทิศ ขณะนั้นก็ไม่ใช่กุศล เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่ากุศลมีหลายอย่าง ทานการให้ ก็เป็นกุศล เมื่อให้แล้วอุทิศ ก็เป็นกุศล หรือว่าขณะที่คนอื่นให้ทานแล้วเรายินดีอนุโมทนาด้วย ขณะนั้นก็เป็นกุศล แต่สำหรับเมตตานั้น ต้องเข้าใจความหมาย หรือลักษณะของคำที่เราใช้ด้วย เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ คำว่าเมตตา มาจากคำว่าา มิตฺต ภาษาไทยเราใช้คำว่า มิตร คือความเป็นเพื่อน ตรงกันข้ามกับศัตรู เวลาที่เราพูดถึงเมตตาหมายความว่า ขณะนั้น เรามีความเป็นมิตร ความเป็นมิตรคือมีความหวังดี พร้อมที่จะเกื้อกูล ทำประโยชน์ให้กับบุคคลที่เป็นมิตร เพราะฉะนั้น มิตรจริงๆ จะช่วยเหลือทุกโอกาส จะมีความหวังดีและพร้อมที่จะเกื้อกูล ไม่มีการประทุษร้าย ไม่มีการแข่งดี แม้แต่แข่งดีก็ไม่มี จึงจะชื่อว่าเป็นมิตร ไม่มีการกล่าวร้าย ไม่มีการลำเลิก ทุกๆ อย่างที่ไม่ดี เราจะไม่ทำกับมิตรเลย เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปนั่งแผ่เมตตา ก็ควรที่จะรู้ลักษณะของจิตใจของเราว่า เราเป็นมิตรหรือไม่ใช่มิตรกับใคร เวลาที่เราเห็นคนตามท้องถนนหรือว่าในรถประจำทาง หน้าตาแปลกๆ อาจจะรู้สึกกลัว ขณะนั้นไม่ใช่มิตร แผ่เมตตาไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่เราอาจจะไปนั่งในห้องแล้วเราท่องใหญ่เลย ทั่วโลก ทั่วจักรวาล ที่ไหนๆ หมด ขอให้จงมีความสุขเถิดหรืออะไรอย่างนี้ นั่นเป็นเรื่องคำพูดแต่เรื่องไม่เข้าใจสภาพจิตว่า เราเป็นมิตรกับใครได้แค่ไหน เริ่มจากในห้องนี้ก็ได้ มองไปให้ทั่วเลย มีความเป็นมิตรจริงๆ กับทุกคน สนิทใจ พร้อมที่จะช่วยเหลือ มากน้อยแค่ไหน นี้คือเมตตา ยังสงสัยในเรื่องเมตตาไหม ความเป็นมิตร แต่ถ้ารู้ว่าทุกคนเกิดมาก็แสนสั้น อายุก็คงจะไม่มากเกินเป็นร้อยสองร้อยปีแล้วก็เราจะโกรธ ก็เท่ากับว่าเราสะสมความโกรธไว้ในใจของเรา ในเมื่อก็จะไม่เห็นกันอีก จะไม่พบกันอีกเลย พบกันชาตินี้แล้วใครจะรู้ว่าชาติไหนจะพบกันอีก ถ้าพบกันอีกก็คือไม่ใช่คนนี้แล้วใช่ไหม และก็ไม่ใช่คนนั้นแล้ว ก็เหมือนกับที่ชาติก่อน จะเคยพบกันหรือไม่เคยพบกัน จะเคยโกรธกัน หรือจะเคยรักกัน จะเคยชังกันยังไงก็ไม่รู้ทั้งนั้น แล้วทำไมจะสะสมความโกรธของเราไว้ติดตามไปในชาติต่อๆ ไป โดยที่ว่า คนนั้นก็ไม่มีอีกแล้ว และเราก็ไม่มีอีกแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะอยู่กันก็ไม่นาน ทำไมไม่เปลี่ยนสภาพของอกุศลหรือความเป็นศัตรู สู่ความเป็นมิตรจริงๆ ซึ่งจะมีผลอย่างมากทีเดียว สำหรับตัวเราเองและคนอื่น และสำหรับทั่วโลก แทนที่จะไปนั่งทำสมาธิแล้วแผ่อะไรก็ไม่ทราบ แต่ว่าขณะใดที่เห็น เราเจริญเมตตาได้

ถ. เมื่อพูดถึงเรื่องของการละกิเลส เวลาที่ฟังธรรม ส่วนเล็กๆ น้อยๆ รู้สึกว่า ไม่น่าจะเกิดความรู้สึกท้อแท้หรือหนักใจอะไร แต่พอได้ฟังเทปตอนหนึ่งของท่านอาจารย์เมื่อพูดถึงว่า แม้จะมีอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท แต่จัดเป็นกิเลสถึง ๙ กองใหญ่ๆ แล้วเวลานี้ แม้แต่ชื่อยังจำไม่ค่อยได้ ตั้งแต่กองที่ ๑ คือ อาสาวะ ซึ่งเป็นสิ่งที่หมักดองอยู่ในจิตตลอดเวลา การที่จะรู้ทั่ว (ยังไม่ต้องไปคิดละ) ก็ยังไม่ค่อยจะรู้เลย ก็เลยคิดว่า ถ้าหากว่า ความรู้ที่เราได้ยินได้ฟังจากอาจารย์บรรยายมาทั้งหมดคงยังไม่เพียงพอจะทำให้เกิดสติปัญญาได้เลย เพราะฉะนั้น อาจารย์จะมีคำถามอนุเคราะห์อย่างไรบ้างไหมสำหรับการที่จะให้เป็นผู้ที่มั่นคงในการที่จะเห็นว่ากิเลสควรเป็นสิ่งที่ละ และกุศลเป็นสิ่งที่ควรเจริญ จนกว่าจะสิ้นชีวิตนี้

ส. อนุโมทนาอยู่ตอนหนึ่งที่รู้ว่ากิเลสมีเยอะ มิฉะนั้นแล้วทุกคนก็จะหลงตัวคิดว่าดีแล้ว ไม่มีทางเลยซึ่งปุถุชนผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลสจะเป็นผู้ที่ดีแล้ว มีอีกมากมายซึ่งทุกวันนี้ไม่รู้เลยว่ากิเลสเพิ่มๆ เข้าไปเท่าไหร่ ดูเหมือนไม่น่ากลัวเลย เพราะดูทุกคนก็เรียบร้อย คืนนี้ก็ไม่ได้เกิดทำกรรมอะไรถึงวาจา ไม่ประทุษร้ายใช้วจีทุจริตคำหยาบคายอะไรที่ไหน ดูเหมือนกับว่าดี แต่จริงๆ แล้ว ถ้ารู้ว่า ความละเอียดของธรรมคือ ขณะที่เห็น เพียงเห็น ยังไม่ทันคิด ยังไม่ทันรู้เลยว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร ขณะนั้น มีปัจจัยให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะแล้ว หรือสำหรับผู้ที่เจริญกุศลมาก มีปัจจัยให้กุศลจิตเกิดแล้ว แต่ผู้นั้นต้องเป็นผู้ตรง ให้เห็นว่าแล้วจะแค่ไหน ขณะนี้เรากำลังนั่ง แล้วก็เห็นว่าเป็นคนนั้นคนนี้ แต่ก่อนที่จะเห็นว่าเป็นใคร เพียงแค่เห็นนิดเดียวยังไม่ทันจะรู้ว่าเป็นใคร มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดอกุศลและกุศลแล้ว และปกติก็ต้องเป็นอกุศล ขณะที่กำลังนั่ง หรือนอนยืนเดินอยู่ที่ไหน ซึ่งไม่ใช่ขณะที่ฟังธรรม ไม่ใช่ขณะที่เข้าใจธรรม จะมีอกุศลวันหนึ่งๆ มากสักเท่าไร เพราะฉะนั้นต้องอาศัยการฟังพระธรรมให้เกิดความเข้าใจของตนเอง ไม่ใช่ไปอนุเคราะห์กันด้วยเรื่องอื่น แต่พระธรรมอนุเคราะห์ให้ปัญญาของผู้ฟังเกิด ต้องเป็นความเข้าใจของตัวเอง เพราะฉะนั้นผลของการฟังธรรมแต่ละครั้ง ให้ทราบว่า คือความเข้าใจ ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจเสียเวลามากๆ เลย ไม่ว่าจะฟังอะไรที่ไหน แต่ถ้าฟังแล้วเข้าใจสักนิดนึง นั่นคือประโยชน์แล้ว และยิ่งฟังบ่อยๆ ความเข้าใจทีละนิดทีละหน่อยก็เพิ่มขึ้นอีก ทำให้มีความเข้าใจถูกต้องตรงขึ้น นั่นคือประโยชน์ของการฟังธรรม ไม่ใช่ว่าไปอนุเคราะห์กันเรื่องอื่น แต่ให้เข้าใจขึ้นทีละเล็กที่ละน้อย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่