เรื่องของทาน เวลาที่ทำบุญแล้วทุกครั้งควรอุทิศส่วนกุศลเพราะว่าผู้นั้นอาจจะอนุโมทนา

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ผู้บรรยาย  "แต่ให้รู้ว่าเขาก็เหมือนเรา ถ้าเป็นมนุษย์และเราไม่อนุโมทนา คนที่ตายไปก็ไม่แน่เสมอไปว่าเขาจะอนุโมทนาในกุศลที่เราทำ    แต่ถ้าเราเป็นคนที่อนุโมทนาเสมอในกุศลที่คนอื่นทำ พอเราได้ยินว่าใครทำกุศล เราก็อนุโมทนา  ถึงเราจะไปเกิดที่ไหน เราก็อนุโมทนา ขณะอนุโมทนาก็เป็นกุศลจิตของเรา ไม่ใช่แบบไปรษณีย์ที่ส่งของไปให้ ต้องเป็นกุศลของคนนั้นเอง   

เพราะฉะนั้นในเรื่องของทาน มี ๓ ประการคือ  
- ทานมัย แปลว่า บุญสำเร็จด้วยการให้ ๑
- การอุทิศส่วนกุศลที่เราบำเพ็ญแล้วให้คนอื่นอนุโมทนา ๑
- การอนุโมทนาในกุศลของคนอื่น ๑

มี ๓ อย่าง ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ทำเอง เราเพียงอนุโมทนา ขณะนั้นจิตเราก็เป็นกุศล เพราะว่าถ้าเราไม่ชอบคนนั้น ต่อให้เขาทำดียังไงเราก็ไม่เห็นจะอนุโมทนาเลย เป็นคนตระหนี่แม้แต่การจะชื่นชมในกุศลของคนอื่น เห็นสภาพของจิตว่าน่าเกลียด ที่เป็นอกุศลธรรมได้ต่างๆ นานา แม้แต่สิ่งที่ดีที่คนอื่นทำก็หาข้อติหรือว่าไม่อนุโมทนา ขณะนั้นเป็นอกุศลของเราเอง เพราะฉะนั้นในเรื่องของท่านเวลาที่ทำบุญแล้ว ทุกครั้งควรอุทิศส่วนกุศล เพราะว่าผู้นั้นอาจจะอนุโมทนา พอกุศลจิตเขาเกิด ถ้าเขาเป็นเปรต แล้วก็สามารถที่จะพ้นสภาพความเป็นเปรตได้ เมื่อหมดกรรมนั้น เขาสามารถที่จะอนุโมทนา แล้วก็พ้นจากกรรมนั้นได้

ผู้ถาม  "ตามที่ท่านอาจารย์อธิบายมาเมื่อกี้ คือถ้าจิตวิญญาณเป็นกุศล ก็จะอนุโมทนา แต่ถ้าเราเกิดไปเจอจิตวิญญาณที่ไม่เป็นกุศล แล้วเราไม่ได้เป็นผู้กระทำให้เขาเลย จิตวิญญาณอันนั้นจะมีผลส่งทำให้เรามีความเป็นไปไหม เจ้ากรรมนายเวร อันนี้อยากทราบว่าเขาจะมีผลตอบสนองกับเราไหมซึ่งบางครั้งเราอาจจะทำสิ่งที่เรานึกไม่ถึง แต่เราไม่สามารถจะสัมผัสสิ่งนั้นกับเขาได้

ผู้บรรยาย  "อันนี้ยากจะแก้นิดนึง คือโดยมากเรามักจะใช้คำว่า วิญญาณ คือสิ่งที่เรามองเห็น แต่ความจริงแล้ววิญญาณ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ไม่ใช่รูป ไม่มีรูปใดๆ เลย อย่างเสียง แม้ว่าเรามองไม่เห็น แต่เป็นรูป เพราะเหตุว่าเสียงไม่ใช่สภาพรู้    แต่ขณะที่กำลังได้ยิน ลักษณะที่ได้ยินมี คนตายไม่ได้ยินเพราะคนตายไม่มีจิตใจ แต่ขณะที่คนเป็นๆ ได้ยิน ลักษณะที่ได้ยินเป็นสภาพของจิตชนิดหนึ่ง แล้วเราจะเรียกว่า วิญญาณก็ได้ มโนก็ได้ มนัสก็ได้ คือ จิต เป็นคำที่ใช้แทนสภาพที่เป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นแล้วแต่ภาษา เหมือนอย่าง ผู้หญิง จะเรียกว่า นารีก็ได้ กุมารีก็ได้สตรีก็ได้ เพราะฉะนั้นจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ เราจะเรียกว่าวิญญาณก็ได้ เรียกมโนก็ได้ เรียกมนัสก็ได้ แต่สภาพรู้นี้ไม่มีใครเห็นเลย ทุกอย่างที่เห็นเป็นรูปในขณะนี้ทางตา ไม่ว่าจะมีรูปร่างเป็นสัตว์ เป็นนก เป็นคน เป็นเปรต เป็นยักษ์ เป็นอะไรก็ตามแต่ สิ่งที่ปรากฏให้เห็น เป็นรูป เราไม่สามารถจะเห็นจิตหรือวิญญาณได้ เพราะจิตวิญญาณมีความหมายเดียวกัน เพราะฉะนั้นที่ว่า จิตวิญญาณของคนที่ตายไปแล้ว แล้วจะมาทำอะไรเราได้ไหม เหมือนกับเคยทำกรรมกันมาในอดีตเป็นเจ้ากรรมนายเวรอย่างนั้นใช่ไหม พระพุทธศาสนาสอนในเรื่องของกรรม คือเหตุ ซึ่งจะทำให้เกิดผล คือวิบาก เพราะฉะนั้นคนอื่นทำให้เราไม่ได้ เราเองเป็นผู้ที่ทำกรรม เพราะฉะนั้นเราเองเป็นผู้ที่รับผลของกรรม ถ้าคนนั้นไม่มีกรรมของเขา สิ่งนั้นก็จะเกิดกับเขาไม่ได้ ไม่ต้องหวั่นเกรงอะไรเลยทั้งสิ้น ถ้าทำกรรมดี คนอื่นจะเปลี่ยนกรรมดีของเราให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม ไม่ได้ใช่ไหม เพราะกรรมนั้นทำแล้ว เสร็จแล้ว เป็นสิ่งที่ดีด้วย ถ้าใครที่ทำอกุศลกรรม คนอื่นจะไปเปลี่ยนอกุศลกรรมนั้นให้เป็นกรรมดีได้ไหม เปลี่ยนเถอะคนนี้เขาทำดีมามาก ถึงแม้ว่าเขาทำชั่วครั้งเดียว เอาเถอะให้เขาไปเป็นกุศลกรรม เราอภัยให้ได้ แต่สิ่งนั้นเสร็จแล้ว จบแล้ว เป็นผลที่ได้ทำแล้ว เป็นกรรมแล้ว เพราะฉะนั้นอกุศลก็ต้องเป็นอกุศล กุศลก็เป็นกุศล อกุศลก็เป็นอกุศล และก็ชั่วขณะจิตที่เกิดแล้วก็ดับ ใครจะไปแก้ไขก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกคน มีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม เมื่อถึงคราวที่อกุศลกรรมให้ผล ไม่ต้องมีใครทำให้เลย เราตกบันไดเองก็ได้ มีดบาดเราเองก็ได้ แต่เวลาที่มีคนอื่นมาฟันเรา มาแทงเรา เรากลับคิดว่า เขาทำเรา ทำไมไม่คิดถึงเวลาที่เขาไม่ทำ แต่มันเป็นไปเองโดยที่ไม่ต้องมีใครทำ อย่างคนที่บ้านพัง เขาทำหรือเปล่า ผู้ร้ายที่ไหนมาทำหรือเปล่า ก็ไม่มีใครทำเลย ใช่ไหม แต่พังเองตามกรรมที่จะต้องเป็นไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ถ้าเราไม่เคยทำกรรมอย่างนั้น สิ่งนั้นจะเกิดกับเราไม่ได้ และก็ไม่ใช่ว่าคนอื่นทำให้ด้วย กรรมของเราทำ เมื่อถึงคราวถึงโอกาสที่กรรมจะให้ผล สิ่งนั้นก็ต้องเกิด เปลี่ยนแปลงอะไรก็ไม่ได้ ไม่มีใครมาทำเลย เราทำเองทุกอย่างได้ ตกบันไดได้ มีดบาดได้ อะไรได้หมดทั้งนั้น ถ้าเราทำกรรมดีอยู่เสมอ ก็ไม่ต้องห่วงเลย และก็ไม่ต้องไปเชื่อว่าคนอื่นจะมาทำร้ายเราได้ แต่ให้มั่นคงในกรรมของเราเองว่า ต้องเป็นสิ่งที่เราได้ทำมาแล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่