JJNY : กสม.ห่วงปรับเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุ│"สมชัย"ชี้รบ.เศรษฐาไม่มีเวลาฮันนีมูน│เอสเอ็มอียินดี"เศรษฐา"│สหรัฐร่วมยินดีเศรษฐา

กสม.ออกแถลงการณ์ ห่วงปรับเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุ แนะทบทวนให้ได้สิทธิถ้วนหน้า เพิ่มเงินสอดคล้องเศรษฐกิจ
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4142702
 
 
กสม.ออกแถลงการณ์ ห่วงใยปรับเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุ แนะทบทวนให้ได้สิทธิจากรัฐถ้วนหน้า เพิ่มเงินให้สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน
 
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยกรณีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มีเนื้อหาระบุว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566  โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น “ผู้ที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” และอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุโดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ นั้น

กสม.ได้ติดตามสถานการณ์สิทธิของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่รัฐต้องให้ความสำคัญ เห็นว่าสิทธิในการมีหลักประกันด้านรายได้สำหรับผู้สูงอายุเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐต้องจัดให้กับผู้สูงอายุทุกคนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และมีความมั่นคง ซึ่งสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี เพื่อไม่ให้กระทบกับประชากรผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจตกหล่นหรือหลุดไปจากกระบวนการคัดกรอง ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
 
กสม. เห็นว่ารัฐบาลควรพิจารณาทบทวนระเบียบดังกล่าว เพื่อให้ผู้สูงอายุทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการจากรัฐอย่างถ้วนหน้า และดำเนินมาตรการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ หรือลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งพิจารณาปรับอัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพในปัจจุบัน
 
นอกจากนี้ ควรคงมาตรการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้และมีสุขภาวะที่ดี เช่น การส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ ส่งเสริมการออมในระบบกองทุนการออมแห่งชาติ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การมีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสมและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุในสังคมไทยต่อไป
 

 
"สมชัย" ชี้ รบ.เศรษฐา ไม่มีเวลาฮันนีมูน ต้องเร่งสร้างผลงาน เพื่อเรียกศรัทธากลับคืน
https://www.matichon.co.th/politics/news_4142821

“สมชัย” ชี้ รบ.เศรษฐา ไม่มีเวลาฮันนีมูน ต้องเร่งสร้างผลงาน เพื่อเรียกศรัทธากลับคืน
 
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสตฺข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง “ไม่มีช่วงเวลาฮันนีมูน สำหรับรัฐบาลเศรษฐา” ใจความว่า

การติดลบนับแต่วันแรกที่ตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว จับมือกับพรรคสองลุง เป็นเครื่องมือให้กับกลุ่มอำนาจเก่าร่วมมือตั้งรัฐบาลที่ตรงข้ามเจตนารมณ์ของผลการเลือกตั้ง ทำให้รัฐบาลใหม่ ต้องใช้ผลงานพิสูจน์ว่า การข้ามขั้วนั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

เพื่อไทยเคยโกหกประชาชนในเรื่องจุดยืนไม่จับกับพรรคสองลุง จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนจะเฝ้าดูว่า นโยบายที่หาเสียงทั้งหลายจะยังโกหกหน้าตายต่อเนื่องอีกหรือไม่
 
1. การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดย ให้มีการเลือกตั้ง สสร. หรือจะเปลี่ยนคำพูดใหม่ว่า ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน พรรคร่วมเขาไม่เห็นด้วย
 
2. การกำกับดูแลให้รัฐบาลใหม่ เป็นรัฐบาลที่ปลอดคอร์รัปชัน เนื่องจากดูพรรคร่วม ดูชื่อ ดูประวัติคนที่จะมาร่วมเป็น ครม. แล้ว ล้วนขั้นผู้ทรงคุณวุฒิ เหยียบเมฆไร้ร่องรอย
 
3. จะอำนวยการให้เกิดความยุติธรรมแก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ในยุครัฐประหารและยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์หรือไม่ อย่างไร หรือ แค่ได้กลับบ้านคนเดียวพอแล้ว
 
4. การจัดทำงบประมาณแผ่นดิน ปี 2567 งบลับ งบจัดซื้ออาวุธ รถถัง เรือดำน้ำ งบที่กระจุกตัวในพื้นที่นักการเมือง งบราชการที่ฟุ่มเฟือยไม่เกิดประโยชน์ จะถูกตัดออกหรือไม่ หรือ ตอนพูดนั้นเพราะเป็นฝ่ายค้านไม่มีผลประโยชน์ด้วย
 
5. คำสัญญาที่เป็นความหวังของประชาชนรากหญ้า เงินดิจิทัล 10,000 บาท รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เงินเดือน/ค่าแรงขั้นต่ำ ฯลฯ อย่าลืม อย่ามีข้ออ้างอะไรอีก
 
เชื่อฝีมือ คุณเศรษฐา และทีมงาน ว่า จะรักษาสัญญา หากทำได้จริง ความศรัทธาที่ติดลบหายไป จะฟื้นคืนมาครับ
 
https://www.facebook.com/somchaivision/posts/pfbid02jKvTQiPTvxuKbWMbKs2oVhK8LyE4fBKEL789ESo4ckN25MjPYE3u9XwpH5WvMmKPl
 

  
ธุรกิจเอสเอ็มอี ยินดี "เศรษฐา" นั่งนายกฯ หวังครม.ใหม่ครบ 5 คุณสมบัติ ย้ำเรื่องแก้ไขด่วน เร่งฟื้นศก.ฐานราก
https://www.matichon.co.th/economy/news_4142786
 
ธุรกิจเอสเอ็มอี ยินดี “เศรษฐา” นั่งนายกฯ หวังครม.ใหม่ครบ 5 คุณสมบัติ ย้ำ 5 เรื่องแก้ไขด่วน เร่ง’ฟื้นศก.ฐานราก’ มากสุด
 
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยมติชนว่า สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ขอแสดงความยินดีด้วยกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย ที่มาจากกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอี มีความคาดหวังการสรรหา คณะรัฐมนตรี (ครม.) และทีมเศรษฐกิจที่ตอบสนองต่อแก้ไขปัญหาและดำเนินการนโยบายเชิงรุกในการพัฒนาประเทศทุกมิติ ได้แก่

1. มีความเป็นผู้นำ การเปลี่ยนแปลงที่ทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมโลก
2. ความสามารถที่ใช้นวัตกรรมในการออกแบบนโยบาย มาตรการ “ไม่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจที่แจกเงิน แต่มุ่งเน้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บ่มเพาะผู้ประกอบการนำภูมิปัญญากระจายโอกาส กระจายรายได้จากการพัฒนาผู้ประกอบการทุกระดับอย่างยั่งยืนควบคู่ไปด้วยกัน
3. มีสมรรถนะ ขีดความสามารถ การบริหารความเสี่ยง กลยุทธ์ในการสร้างรายได้ให้กับประเทศและบริหารงบประมาณที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเศรษฐกิจฐานราก
4. สร้างการมีส่วนร่วม แสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้านในแต่ละมาตรการที่จะกระทบต่อระบบนิเวศน์เศรษฐกิจฐานราก
5. มีธรรมาภิบาลในการบริหารนโยบาย มาตรการที่ขับเคลื่อนประเทศไปด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้
 
นายแสงชัย ระบุว่า สิ่งสำคัญของรัฐบาลใหม่ที่ต้องเร่งดำเนินการและภาคเศรษฐกิจฐานรากหวังเห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการศึกษา เพิ่มโอกาสเข้าถึงมาตรการดีๆที่เป็นประโยชน์ของภาครัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้สมาพันธ์เอสเอ็มอี มีประเด็น 5 เรื่องด่วน คือ
 
1. การฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ทั้งการขยายสัดส่วน GDP SME ที่ลงลึกถึงสัดส่วน GDP ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีเพียง 3% ของ GDP ทั้งประเทศ แต่มีสัดส่วนผู้ประกอบการรายย่อยถึง 85% ประมาณ 2.7 ล้านราย จ้างงานกว่า 5 ล้านคน โดยนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจขับเคลื่อนประเทศต้องมีแผนและการสื่อสารสร้างความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชนอย่างชัดเจน อาทิ Digital wallet แรงงานขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท
 
ต้องมีการออกแบบกำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ กระบวนการ ผลลัพธ์ ผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวทุกภาคส่วนรับฟังอย่างรอบด้านและสร้างกลไกที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกับภาคเศรษฐกิจฐานราก เตรียมความพร้อมรองรับด้านผลิตภาพแรงงาน ขีดความสามารถผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เกษตรกร วิสาหกิจชุมชนที่จะเผชิญหน้ากับอุปสรรค ปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทั้งด้านการค้า การลงทุน การส่งออก การท่องเที่ยว และขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ เป็นต้น

2. การเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ และการแก้ปัญหาคุณภาพหนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และหนี้นอกระบบ ที่ทวีความรุนแรงมาเป็นลำดับ โดยสิ่งที่ต้องมีการทบทวน อาทิ การจัดชั้น NPLs ทั่วไปและรหัส 21 ควรกำหนดวงเงินหนี้ จัดประเภทขนาดธุรกิจ เพื่อให้เหมาะสมกับการบริหารจัดการในคำปรึกษาแนะนำช่วยเหลือ อาทิ NPLs วงเงินรวมไม่เกินวงเงิน 100,000 ที่เป็นรายย่อย ต้องมีกระบวนการในการให้ความช่วยเหลือให้โอกาสฟื้นฟูต่างจาก NPLs 1-10 ล้านบาท หรือ วงเงินมากกว่านั้น เป็นต้น เพื่อไม่ให้ผู้ที่เป็น NPLs และต้องการฟื้นฟูถูกติดเครดิตบูโรระยะเวลาเท่ากัน และหรือ มาตรการในการจัดชั้น
การให้คำปรึกษาหาทางออกอย่างเป็นระบบ ติดตาม ประเมินผล และพัฒนาต่อเนื่อง ส่งไม้ต่อไปยังหน่วยงานกลไกบ่มเพาะ สิทธิประโยชน์ต่างๆที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยอาจมีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเอสเอ็มอีไทย แก้ไขปัญหาเอสเอ็มอี NPLs รหัส 21 โดยแบ่งกลุ่มรายย่อย รายย่อม รายกลาง ให้มีความชัดเจนในการพิจารณา ประเมิน และช่วยการถอดบทเรียน ออกแบบแผนธุรกิจ Restart ที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันและอนาคต ทั้งด้านความเป็นผู้ประกอบการ การตลาด บัญชีการเงิน การผลิต มาตรฐาน นวัตกรรม ความสร้างสรรค์ ดิจิทัลเทคโนโลยี
 
ขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ต้องแก้ไขปัญหาดอกเบี้ยที่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายย่อย และแรงงานประชาชนทั่วไป ที่มีช่องว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก กับ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รวมถึงการประเมินความเสี่ยงให้เกิดความโปร่งใสกับผู้เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินต่างๆ รวมทั้ง Non Bank ด้วย
 
3. การลดต้นทุนพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซอย่างเป็นระบบที่สะท้อนความเป็นธรรมกลไกราคาต้นทุน ราคาขายที่เหมาะสมกับภาคประชาชน ผู้ประกอบการ รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า สร้าง ส่งเสริม สนับสนุนเอสเอ็มอีผลิตสินค้าและบริการทดแทนนำเข้า โดยออกแบบมาตรการส่งเสริมการลงทุน SME ที่เป็นประโยชน์และเข้าถึงได้อย่างแท้จริง
ทั้งการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ลดต้นทุนไฟฟ้า การเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ปรับปรุงเครื่องจักรสมัยใหม่ ในกลุ่มธุรกิจภาคอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ เป็นต้น และสนับสนุน Solar cell ที่ผลิตในประเทศไทย โดยภาครัฐจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อความต้องการ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าฟอสซิลโดยรวมของประเทศ และหากส่งเสริมในภาคประชาชนเพิ่มเติมขึ้นจะทำให้การใช้พลังงานสีเขียวขยายตัวอย่างรวดเร็ว
 
4. การยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและภาคแรงงาน เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานและเศรษฐกิจ ให้สะท้อนการยกระดับค่าจ้างที่เป็นธรรมตามผลิตภาพทั้งแรงงานและผู้ประกอบการ โดยเสนอให้ทำ Digital Workforce Credit Scoring Platform เพื่อให้นักศึกษา บัณฑิต แรงงานในและนอกระบบ เชื่อมโยงผู้ประกอบการที่ต้องหาแรงงาน และเชื่อมโยงหน่วยบ่มเพาะ เพิ่มทักษะ สมรรถนะ ขีดความสามารถของภาครัฐ และภาคส่วนต่างๆที่จะเป็นประโยชน์กับการพัฒนากำลังคน Upskill – Reskill ในรูปแบบ Lifelong learning เป็นต้น
 
5. การแก้ไขปัญหากฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายโอกาสให้เอสเอ็มอี และลดปัญหาการทุจริตคอร์รับชั่น อาทิ การสร้างความตระหนักรู้ เข้าใจใช้ประโยชน์ เข้าถึง Carbon credit Market ภาคประชาชน และเอสเอ็มอีที่ต้องเร่งปรับตัว ปรับธุรกิจให้ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มาอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทำให้โอกาสกลายเป็นอุปสรรค หรือ มาตรการกีดกันทางการค้าไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่