JJNY : โพลชี้ ‘เพื่อไทย’ อันดับ 1│“เศรษฐา”กังขาตลาดหุ้น│ร้องก้าวไกล ถูก'บิ๊กกศน.'สั่งทำโพลลับ│“เซเลนสกี” ร้องผู้นำจีน

โพลชี้ ‘เพื่อไทย’ อันดับ 1 พรรคการเมืองที่คนไทยนิยม ทิ้งห่าง ‘ก้าวไกล ภูมิใจไทย’ ที่ 2 และ 3
https://www.dailynews.co.th/news/2272929/

"สวนดุสิตโพล” เผยผลสำรวจ “คนไทยนิยมพรรคการเมืองใด (ก่อนเลือกตั้ง) พบ เพื่อไทย มาอันดับ 1 รองลงมาคือ ก้าวไกล และภูมิใจไทย ตามลำดับ
 
 
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศต่อกรณี “คนไทยนิยมพรรคการเมืองใด (ก่อนเลือกตั้ง)” ระหว่างวันที่ 10-20 เมษายน 2566 เก็บข้อมูลทางภาคสนาม จำนวน 162,454 คน เป็นเพศชาย จำนวน 74,073 คน ร้อยละ 45.60 เพศหญิง จำนวน 88,381 คน ร้อยละ 54.40 โดยมีอายุระหว่าง 18 – 30 ปี จำนวน 31,627 คน ร้อยละ 19.47 อายุ 31 – 50 ปี จำนวน 72,808 คน ร้อยละ 44.82 และอายุ 51 ปีขึ้นไป จำนวน 58,019 คน ร้อยละ 35.71 โดยสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 13,368 คน ร้อยละ 8.23 ภาคกลาง จำนวน 43,023 คน ร้อยละ 26.48 ภาคเหนือ จำนวน 27,664 ร้อยละ 17.03 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 53,865 ร้อยละ 33.16 และภาคใต้ จำนวน 24,534 คน ร้อยละ 15.10

พรรคการเมืองที่นิยมมากที่สุดในช่วงก่อนเลือกตั้ง คือ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 41.37 รองลงมาคือ พรรคก้าวไกล ร้อยละ 19.32 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 9.55 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 8.48 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 7.49 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 7.30 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 2.41 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 1.74 พรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 1.25 และพรรค อื่น ๆ ร้อยละ 1.09
เมื่อพิจารณาจำแนกตามอายุ พบว่า กลุ่มอายุ 18-30 ปี นิยมพรรคก้าวไกลมากที่สุด ร้อยละ 50.20 กลุ่มอายุ 31-50 ปี และกลุ่มอายุ 51 ปีขึ้นไป นิยมพรรคเพื่อไทยมากที่สุด ร้อยละ 44.59 และ ร้อยละ 44.92 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาจำแนกตามภูมิภาค พบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมพรรคเพื่อไทยมากที่สุด ร้อยละ 41.99, ร้อยละ 42.11, ร้อยละ 49.24 และร้อยละ 48.92 ตามลำดับ ส่วนภาคใต้นิยมพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด ร้อยละ 24.20
จากผลการสำรวจครั้งนี้ ภาพรวมกระแสความนิยมของพรรคเพื่อไทยแม้จะลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลช่วงก่อนยุบสภา แต่ก็ยังคงเป็นที่นิยมในทุกภูมิภาคแม้แต่ในภาคใต้ก็ถือได้ว่าได้รับผลตอบรับที่ไม่แย่นัก ส่วนพรรคก้าวไกลกระแสความนิยมเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคก็ต้องมาติดตามกันต่อว่าจะเปลี่ยนกระแสเป็นคะแนนในวันเลือกตั้งจริงได้เท่าใด ส่วนพรรคอื่น ๆ กระแสความนิยมไม่ต่างจากเดิมมากนัก

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์สรศักดิ์ มั่นศิลป์ รองคณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ให้ความเห็นว่า จากผลโพลเรื่องคนไทยนิยมพรรคการเมืองใด (ก่อนเลือกตั้ง) อันดับ 1 คือ เพื่อไทย สอดคล้องกับนโยบายประชานิยมต่าง ๆ โดยเฉพาะการให้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ค่อนข้างได้รับการตอบรับอย่างมาก อันดับ 2 ก้าวไกล บุคลิกที่โดดเด่นของหัวหน้าพรรคและผู้สมัครของพรรคในการออกสื่อหาเสียงตามรายการทีวีและสื่อออนไลน์ต่างๆ ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันดับ 3 ภูมิใจไทย นโยบายต่างๆ เช่น การพักหนี้ 3 ปี ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในเรื่องการลดค่าครองชีพ อันดับ 4 รวมไทยสร้างชาติ จุดขายยังคงเป็นเรื่องความซื่อสัตย์และนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนทั่วไป อันดับ 5 พลังประชารัฐ เน้นเรื่องการลดความขัดแย้งและนโยบายสวัสดิการที่ประชาชนเห็นว่าพอจับต้องได้ อันดับ 6 ประชาธิปัตย์ นโยบายเรื่องธนาคารหมู่บ้านแห่งละ 2 ล้าน ถือว่าเป็นจุดขายของพรรค ในส่วนไทยสร้างไทย เสรีรวมไทยและชาติไทยพัฒนายังได้รับความสนใจจากประชาชนในระดับหนึ่งตามลำดับ.
 

 
“เศรษฐา” กังขาตลาดหุ้นผันผวนบ่อย-ทำขาดเชื่อมั่นต่างชาติ
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_541184/

“เศรษฐา”ทวีตกังขาตลาดหุ้นผันผวนบ่อย ทำตลาดทุนไทยขาดความเชื่อมั่นต่างชาติ ชี้ รัฐบาลเพื่อไทย พร้อมสร้างธรรมาภิบาล ดันไทยกลับมาเป็นฮับเศรษฐกิจของภูมิภาค
 
นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ทวีตข้อความมีเนื้อหาโดยสรุปว่า มีความเป็นห่วงกรณีที่หุ้นบริษัทหนึ่ง มูลค่าในตลาดหลักทรัพย์ 1 ล้านล้านบาท มีราคาผันผวนมากกว่า 15% ภายในวันเดียว ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในหุ้นขนาดใหญ่อย่างตลาดหลักทรัพย์ไทยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน

พร้อมแสดงความกังวลเกี่ยวกับการปั่นหุ้นในไทยที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการกำหนดจำนวนขั้นต่ำของผู้ถือหุ้นรายย่อย ทำให้มีจำนวนหุ้นในตลาดเหลือน้อย เมื่อมีจำนวนน้อย ราคาหุ้นจึงสูงกว่าความเป็นจริง แต่บทลงโทษการปั่นหุ้นในไทยไม่ร้ายแรง ใช้เวลานานในการดำเนินคดี ทำให้บางบริษัทมีผู้ถือหุ้นรายย่อยต่ำกว่าเกณฑ์มาก จนนักลงทุนบางกลุ่มสามารถปั่นหุ้น หรือต้อนหุ้นเข้ามุม ทำกำไรมหาศาลจากมูลค่าหุ้นที่พุ่งขึ้นเกินความเป็นจริงในระยะเวลาอันสั้นได้
 
ปัจจุบันมีบางกรณีที่เป็นบริษัทขนาดกลาง มีมูลค่าตลาดเทียบเท่ากับบริษัทขนาดใหญ่ เช่น บริษัทขนาด 1 ใน 6 ของ ปตท.มีมูลค่าตลาดมากกว่า ปตท. ซึ่งสร้างความเสียหายทางการเงินให้กับนักลงทุนรายย่อย และทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความมั่นใจในตลาดทุนไทยได้
 
และหากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะเข้ามาส่งเสริมตลาดทุนไทย เพื่อปราบปรามพฤติกรรมการกระทำผิด เพิ่มความเข้มงวดกับบริษัทที่มีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยต่ำกว่าเกณฑ์ สนับสนุนหุ้นที่มีธรรมาภิบาลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การออกใบรับรองจากตลาดหลักทรัพย์ มั่นใจว่าตลาดทุนของไทยจะมีความน่าเชื่อถือและเสถียรภาพมากขึ้น เมื่อรวมกับนโยบายทางเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย เช่น นโยบายออกไปเจรจาการค้ากับต่างประเทศ นโยบายสร้างศูนย์กลางฟินเทค (Fintech) นโยบายเขตธุรกิจใหม่ มั่นใจว่าจะทำให้ประเทศไทยผงาดขึ้นมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคได้อย่างภาคภูมิอีกครั้ง
 
https://twitter.com/Thavisin/status/1651942022184566785
 


ร้องก้าวไกล ถูก 'บิ๊กกศน.' สั่งทำโพลลับในชุมชน สงสัยส่อเอื้อบางพรรคหรือไม่
https://www.matichon.co.th/politics/news_3950174
 
ข้าราชการ ร้องก้าวไกล ถูก ‘บิ๊กกศน.’ สั่งทำโพลลับในชุมชน สงสัยส่อเอื้อบางพรรคหรือไม่ 
 
เมื่อวันที่ 19 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์เอกสารร้องเรียนจาก ข้าราชการ กศน. ว่า ถูกสั่งให้ทำโพลในชุมชน โดยมิใช่ภารกิจหลักของหน่วยงานในสำนักงาน กศน. และผลโพลมิได้เปิดเผยต่อสาธารณชนแต่ประการใด ทำให้ข้าราชการตั้งข้อสังเกตว่า อาจทำเพื่อเอื้อกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือไม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
เปิดเอกสารที่มีข้าราชการร้องเรียนมายังพรรคก้าวไกล ว่าผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อภารกิจ กศน. ไม่เป็นกลางทางการเมือง นำเอาทรัพยากรของหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ และงบประมาณในการจัดทำโพลการเลือกตั้งส่อเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมือง
 
ในเอกสารร้องเรียน ระบุว่าวันที่ 22 มีนาคม 2566 เวลา 9.00-14.00 น. ห้องประชุมสำนักงานหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล สำนักงาน กศน. ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้บริหารระดับสูงดังกล่าว ได้เชิญผู้อำนวยการ กศน.จังหวัด และ ผอ.สถานศึกษา ที่ขึ้นตรงเข้าประชุม มีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 120 คน และได้มีการเชิญรองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาบรรยายเรื่อง “การขับเคลื่อนการส่งเสริมประชาธิปไตยในสถานศึกษา กศน.
 
หลังจากที่รองเลขาธิการ กกต. ได้บรรยายจบแล้ว ผู้บริหารระดับสูงของ กศน. กลับมอบหมายให้ผู้บริหาร กศน.จังหวัด และ ผอ.สถานศึกษา กศน. ทั่วประเทศ จัดทำโพลโดยให้ลิงก์แบบสำรวจสำหรับครู กศน. ตำบล หรือบุคลากรที่ ผอ.กศน. มอบหมายให้กรอกข้อมูล แล้วนำเข้าข้อมูลสู่ระบบ 4 ระยะ ระยะที่ 1 ภายใน 31 มีนาคม 66, ระยะที่ 2 ภายใน 10 เมษายน 66, ระยะที่ 3 ภายใน 24 เมษายน 66, ระยะที่ 4 ภายใน 1 พฤษภาคม 66
และต่อมา ในวันที่ 2 เมษายน 66 ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน กศน. ได้มีการประชุมอย่างเร่งด่วนในเวลา 14.00 น. ผ่านระบบออนไลน์ และได้มีการตั้งกลุ่ม Line ชื่อ ผอ.กศน.จังหวัด ๖๖ เพื่อสั่งการเกี่ยวกับการทำโพลโดยเฉพาะ
 
ทั้งนี้ ข้าราชการ กศน. ที่ส่งจดหมายร้องเรียนมายังพรรคก้าวไกล กล่าวว่าการกระทำของผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน กศน. ได้สร้างความอึดอัดใจแก่ผู้บริหาร กศน.ระดับจังหวัด อำเภอ รวมถึงครู กศน.ตำบล ที่ต้องออกพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล ซึ่งอาจไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทำให้ครูผู้สอนขาดความน่าเชื่อถือต่อชุมชนที่ต้องทำโพลการเลือกตั้งในครั้งนี้
 
การกระทำดังกล่าวไม่เป็นกลางทางการเมือง ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตามเพราะเกรงว่า หากไม่ทำตามคำสั่งอาจจะโดนกลั่นแกล้ง โยกย้ายไม่เป็นธรรม และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำให้ครูเสียเวลาจัดการเรียนการสอน
 
อนึ่ง การจัดทำโพลครั้งนี้มิใช่ภารกิจหลักของหน่วยงานในสำนักงาน กศน. และผลโพลมิได้เปิดเผยต่อสาธารณชนแต่ประการใด ทำให้ข้าราชการที่ส่งหนังสือร้องเรียนมายังพรรคก้าวไกลตั้งข้อสังเกตว่าการทำโพลครั้งนี้ อาจทำเพื่อเอื้อกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งโดยเฉพาะ
 
พรรคก้าวไกลขอใช้พื้นที่ตรงนี้ สื่อสารไปถึงสำนักงาน กศน. และ ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วน เอกสารดังกล่าวที่มีผู้ส่งให้กับพรรคก้าวไกลนั้นเป็นเอกสารจริงหรือไม่ ถ้าจริงขอให้มีคำสั่งหยุดคำสั่งนี้ โดยเร่งด่วน เพราะพรรคก้าวไกลเห็นว่านี่ ยิ่งเป็นการเพิ่มงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน และไม่ใช่ภารกิจหลักของครู กศน. ที่จะยกระดับการศึกษาของประเทศให้ดีขึ้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่