JJNY : “อิ๊งค์”แจงยิบปมค่าแรง| อาจารย์แห่หนุนค่าแรง| ‘ธนาธร’ฝากก.ก.สานต่อ| ‘สภาล่มอีกแล้ว’ | ม็อบค้านสร้างกำแพงจี้ตู่

“อิ๊งค์” นำทัพ แจงยิบ ปมนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ลั่นถ้าพท.เป็นรบ.จะแก้ทั้งระบบ โตไปด้วยกัน
https://www.matichon.co.th/politics/news_3713809
  
 
‘อิ๊ง’ นำทัพ แจงยิบ ปมนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 รับเดือดร้อนแน่ หากคิดช่วง ศก.แย่ ลั่น ‘เพื่อไทย’ เป็น รบ.จะแก้ทั้งระบบ ‘นายจ้าง-ลูกจ้าง’ โตไปด้วยกัน
 
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 7 ธันวาคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ​น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย พร้อมด้วย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบาย และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค ร่วมแถลงข่าวชี้แจงนโยบายพรรค พท. ในประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 70 หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม
 
โดย น.ส.แพทองธารกล่าวว่า วิสัยทัศน์ปี 70 ที่แถลงไปเมื่อวานนี้ (6 ธันวาคม) ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าถ้าพรรค พท. เป็นรัฐบาลจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ซึ่งประเด็นขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทเป็นหนึ่งในนั้น ตนเข้าใจดีว่าทำไมถึงมีการถกเถียงเรื่องนี้ เพราะตอนนี้เศรษฐกิจประเทศมันไม่ดี คงคิดภาพให้ความหวังว่า หากค่าแรงเพิ่มเป็น 600 บาท หมายความว่าต้นทุนผู้ประกอบการต้องเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าหากคิดในวันนี้เดือดร้อนแน่ แต่เราพูดถึงเศรษฐกิจภาพรวมทั้งประเทศที่จะเติบโตพร้อมๆ กันทั้งระบบ ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทที่เคยขึ้นสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านมากว่า 10 ปีค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นประมาณ 10 บาทเท่านั้น ฉะนั้น พรรค พท. ต้องคิดใหญ่เพื่อให้เศรษฐกิจทั้งประเทศมูฟตัวไปด้วยกัน แต่ไม่ใช่นำงบประมาณมาใช้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำรวยกระจุกจนกระจาย ส่วนจีดีพีประเทศจะเติบขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% นั้น ไม่ใช่จะตายตัว 5% ทุกปี ซึ่งปีแรกอาจจะสูงกว่า 5% ก็ได้ ปีต่อมาอาจจะลดน้อยลงตามเลขเฉลี่ยแต่ละปีที่จะเติบโตได้ และดูเศรษฐกิจโลกบวกด้วย
 
วันนี้ไม่แปลกเลยที่คนจะคิดว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้น วันนี้ยังคิดไม่ได้ ค่าแรงขึ้นเป็น 600 บาทยังคิดไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี เมื่อเศรษฐกิจดีทั้งระบบแล้วจะไปโดยธรรมชาติของเศรษฐกิจ การเติบโตเศรษฐกิจเราต้องการเติบโตทั้งระบบทั้งประเทศ คนทุกชนชั้น คนทุกฐานะได้รับประโยชน์ ได้มีโอกาส ได้มีศักดิ์ศรี มีเกียรติที่จะสามารถออกมาใช้ชีวิตจับจ่ายใช้สอย ลดหนี้สิน ดูแลครอบครัวได้ นั่นคือคอนเซ็ปต์ที่เราเปลี่ยนตั้งแต่แคมเปญพรรคว่า เราต้องคิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน ปัญหามีนานแล้ว คิดเล็กปัญหาไม่จบ ต้องคิดใหญ่แก้ปัญหาทั้งระบบ” น.ส.แพทองธารกล่าว
 
นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า เราตระหนักดีว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเราต้องสร้างรายได้ใหม่ ดังนั้นรัฐบาลจึงจะมีภาษีให้เก็บ วันนี้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อย เราจึงต้องไปกู้มาและขยายเพดานกู้ กลายเป็นเราแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการกู้ ซึ่งเราไม่ได้เชื่อเช่นนั้น และเราเน้นเรื่องสร้างเศรษฐกิจ สำหรับภาคเอกชนที่มีความเห็นขอให้ชัดเจนว่าเราในฐานะรัฐบาล เราเก็บภาษีจากกำไรของท่าน 20% หมายความว่า เราถือหุ้น 20% ของท่านเช่นกัน เราจะต้องทำให้ภาคเศรษฐกิจและภาคธุรกิจโตไปด้วยกัน การขึ้นค่าแรงจะดำเนินการเป็นขั้นตอน เราตระหนักดีว่ามีหลายท่านวิจารณ์ว่าเราทำลายโครงสร้าง จึงขอเรียนว่าไม่จริง ตระหนักดีว่าการปรับขึ้นค่าแรงเป็นเรื่องของนายจ้างกับลูกจ้าง และมีรัฐในฐานะดูภาพรวมเพื่อให้ประเทศเดินต่อได้ โดยเราจะต้องขยับไปด้วยกันเป็นขั้นตอน สิ่งสำคัญคือเราต้องทำให้เกิดรายได้ก่อน ซึ่งสิ่งที่เราเคยแถลงมาแล้วเป็นไปได้แน่นอน เนื่องจากเราเคยทำมาแล้วในอดีต และขอให้มั่นใจว่าเราจะต้องเติบโตไปด้วยกัน

ด้านนายเผ่าภูมิกล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท คิดจากองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ 1.การเจริญเติบโตทางจีดีพี 2.ผลิตภาพของแรงงานที่สามารถสร้างเงินได้เท่าไหร่ และ 3.เงินเฟ้อ ต่อจากนี้เราตั้งเป้าจีดีพีของเราพุ่งเป้าปีละอย่างน้อย 5% หากไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำ หมายความว่าช่องว่างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างจะถูกถ่างขึ้น ซึ่งการปรับค่าแรงขั้นต่ำต้องคู่ขนานไปกับการดูแลผู้ประกอบการ และจะมีแพคเกจดูแลผู้ประกอบการตามมา เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือลดภาษีนิติบุคคล ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจำเป็นต้องเพิ่มความเร็วของการหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจ ที่เคยทำมาแล้วในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้นมีการหมุนเร็วกว่าในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 40% คิดเป็นเกือบ 2 เท่า
 
เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถามว่านโยบายนี้จะเอาเงินมาจากไหน น.ส.แพทองธารกล่าวว่า เป็นสิ่งติดตัวของพรรค พท. ว่านโยบายที่ออกไปเราทำให้มันเกิดขึ้นจริง ซึ่งระยะเวลา 8 ปีหลังรัฐประหารทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว และไม่สามารถเติบโตขึ้นได้ รวมทั้งแรงงานดีๆ ถูกดองไว้ ไม่มีการพัฒนาศักยภาพแรงงานไทย ถึงมีคนพูดว่าอยากย้ายประเทศ
 
ถามต่อว่า แนวคิดขึ้นค่าแรงจะเป็นแบบขั้นบันไดจนถึงปี 70 ใช่หรือไม่ นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า เราจะทำให้เศรษฐกิจโตก่อน วันนี้เราเริ่มวางแผนแล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง เมื่อเศรษฐกิจโตจึงจะสามารถปรับค่าแรงขั้นต่ำได้ เราเป็นคนมีเหตุผลไม่ทำร้ายกลไกเศรษฐกิจพังทลายด้วยคำหวานๆ ที่ไปหาเสียงแบบคนอื่นทำ
 
เมื่อถามว่า กรณีที่ภาคธุรกิจและสภาองค์การนายจ้างฯ แสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า ข่าวที่ออกมาไปมีข้อเดียว แต่ความจริงเราจะขยับเศรษฐกิจทั้งระบบให้โตเฉลี่ยปีละ 5%
 

 
อาจารย์แห่หนุน ค่าแรง 600 ย้อนนายทุน อ้างธุรกิจเล็กๆเจ๊ง แล้วแบงก์ SME มีไว้ทำไม ?
https://www.matichon.co.th/politics/news_3713550
 
อาจารย์แห่หนุน ค่าแรง 600 ย้อนนายทุน อ้างธุรกิจเล็กๆเจ๊ง แล้วแบงก์ SME มีไว้ทำไม ? 
 
จากกรณีที่ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย  เปิด 10 นโยบายหาเสียง ภายในปี 2570 ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย หากได้โอกาสบริหารประเทศ 4 ปี จะทำให้ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทนั้น

ล่าสุด ( 7 ธ.ค.) ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟสบุ๊กแสดงความคิดเห็นเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า
 
ผมสนับสนุนค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน หรือประมาณ 13,000 บาทต่อเดือนของพรรคเพื่อไทย (600*22 หรือ 24 สำหรับ พนง.รายวัน) และสนับสนุนแนวคิดสวัสดิการถ้วนหน้าของพรรคก้าวไกลเช่นกัน
 
สองอย่างนี้ทำพร้อมกันได้ และคนได้ประโยชน์คือประชาชน คน 99%
 
ไม่ต้องตีกัน ไม่ต้องเดือดร้อนแทนนายทุน เจ้าสัว ไม่ต้องคิดแทนประชาชน เรื่องนี้ดีทั้งคู่และไม่มีใครตายจากนโยบายทั้งหมดนี้แน่นอน
เก็บแรงไว้ตีนโยบายสังคมสงเคราะห์ของพลังประชารัฐ และค่าแรงแบบพอเพียงของพวกอนุรักษ์นิยมดีกว่า

ขณะที่ ดร.กานดา นาคน้อย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอนเน็ตทิคัต ได้ทวิตแสดงความคิดเห็นเสียงวิพาษณ์วิจารณ์ของนโยบายพรรคเพื่อไทยว่า

นายทุนชอบอ้างว่าแรงงานไม่มีประสิทธิภาพ ขึ้นค่าแรงไม่ได้ แต่ไม่เคยพูดถึงส่วนต่างดอกเบี้ย และมาร์จินกำไรซึ่งสูงมาก ถ้าไม่สูงมาก เจ้าสัวไทยจะรวยติดอันดับโลกไม่ได้ และทุกจังหวัดในไทยมีเศรษฐีภูธร! ขอปรบมือให้นโยบายค่าแรงวันละ 600 บาทของพรรคเพื่อไทยค่ะ
 
ส่วนกรณีที่มีข้อโต้แย้งนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท จะทำให้ SME หรือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก จะปรับตัวไม่ได้นั้น ดร.กานดา ทวิตแสดงความคิดเห็นว่า
 
วาทกรรมหนึ่งที่คัดค้านการขึ้นค่าแรงคือ “SME จะปรับตัวไม่ได้” เอ่อ มีธนาคาร SME ไว้ทำไมล่ะ มีธนาคารรัฐแห่งอื่นไว้ทำไม? มีธนาคารรัฐไว้แจกตำแหน่งและผลตอบแทนกับพรรคพวกแค่นั้นเหรอ? จัดนโยบายช่วย SME สิ สมาพันธ์ SME มีไว้จัดงานสัมมนาเสพงบประมาณแค่นั้นเหรอ?
 

 
‘ธนาธร’ ฝาก ก.ก.สานต่อปลดล็อกท้องถิ่น หลังสภาปัดตก ยันไม่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง
https://www.matichon.co.th/politics/news_3713577
 
‘ธนาธร’ ย้ำปลดล็อกท้องถิ่นไม่ใช่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ย้อนอนุรักษ์นิยมสุดโต่งกักขังประเทศไม่ยอมกระจายอำนาจ ฝาก ‘ก้าวไกล’ สานต่อภารกิจ ด้าน ‘อ.รัฐศาสตร์ จุฬาฯ’ ซัดคนลงมติมองเรื่องการเมืองมากกว่าคุณภาพชีวิต ปชช.
 
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 7 ธันวาคม ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรค ก.ก. พร้อมสมาชิกพรรค ก.ก. ร่วมกันแถลงหลังสภาคว่ำร่างกฎหมายปลดล็อกท้องถิ่น
 
นายธนาธรกล่าวว่า ขอใช้โอกาสนี้ชี้แจงถึงข้อที่เราคิดว่าไม่สมเหตุสมผลคือ แนวคิดที่ว่าพวกเราสุดโต่งเกินไป เร็วเกินไป แรงเกินไป หลายคนกลัวว่าแนวคิดของเราจะนำไปสู่การแบ่งแยกประเทศมันแรงเกินไปหรือไม่ ตนถามกลับว่าแล้วท่านไม่กลัวหรือว่าถ้าไม่ทำประเทศจะช้า และประชาชนจะเดือดร้อนไปอีกนานเท่าไร ตนคิดว่าความกลัวของท่านเป็นความกลัวที่ไม่สมเหตุสมผล ความกลัวของท่านกำลังกักขังอนาคตของประเทศนี้ และอนาคตของคนรุ่นต่อไปอยู่
 
สุดโต่งเกินไปหรือไม่ ผมถามกลับว่าการปล่อยให้ปัญหาของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไขมาเป็นสิบๆ ปี เป็นการอนุรักษ์นิยมสุดโต่งเกินไปหรือไม่ คำถามคือสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ปัจจุบันนี้ต่างหากที่สุดโต่งเกินไปหรือไม่ ยืนยันว่าสิ่งที่เราทำและเสนอไม่ได้สุดโต่งเกินไป คนที่กักขังประเทศไว้อย่างนี้ต่างหากที่สุดโต่ง” นายธนาธรระบุ
 
นายธนาธรกล่าวต่อว่า คำชี้แจงต่อไปที่คิดว่าไม่เป็นธรรมคือเรื่อง การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน ยืนยันว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้านแต่อย่างใด เขียนไว้ว่าให้จัดทำแผนการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และมาทำประชามติว่าจะรับแผนยกเลิกส่วนภูมิภาคนี้หรือไม่ภายใน 5 ปี โดยให้สังคมไทยได้แลกเปลี่ยนกันว่าราชการส่วนภูมิภาคควรจะมีบทบาทอย่างไร
 
นายธนาธรกล่าวว่า สุดท้ายคือ เรื่องการทุจริต คิดว่าทุกรายงานยืนยันตรงกันหมดว่าส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีการทุจริตมากกว่าท้องถิ่น โดยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาส่วนกลางและภูมิภาคมีมูลค่าการทุจริตรวมประมาณ 4 แสนล้านบาท ขณะที่ท้องถิ่นมี 4 หมื่นล้านบาท และในช่วงปีที่ผ่านมาท้องถิ่น 7,850 แห่ง มีเรื่องร้องเรียนทุจริต 600 กว่าเรื่อง ขณะที่กระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียวมีข้อร้องเรียน 500 กว่าเรื่อง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่