พยายามมาหลายปี ไม่ท้องสักที เป็นเพราะอะไร?

สมัยนี้คนเรากว่าจะแต่งงาน กว่าจะมีลูก ก็รอเวลา รอความพร้อม จนอายุล่วงเลยไปเกินเลขสามกันซะเป็นส่วนมาก พออายุเยอะขึ้น ประกอบกับความเครียดจากการทำงาน ก็อาจทำให้กลายเป็นคู่ที่ต้องประสบปัญหา “ภาวะมีบุตรยาก” ไปซะแล้ว 
ภาวะมีบุตรยากที่พี่หมอพูดถึงนั้น หมายถึง ภาวะที่คู่แต่งงาน ที่มีความตั้งใจจะมีลูก ทำการบ้านอย่างสม่ำเสมอ (ประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์) ไม่ได้คุมกำเนิด แต่ก็ยังไม่มีการตั้งครรภ์ภายใน 1 ปี ซึ่งโดยปกติหากมีเพศสัมพันธ์กันสม่ำเสมอ จะมีโอกาสตั้งครรภ์ 50% ภายใน 5 เดือน และ 80-90% ภายใน 1 ปี ซึ่งเราจะพบภาวะมีบุตรยากนี้ได้ประมาณ​15% ของคู่แต่งงานทั้งหมดครับ
 
การตั้งครรภ์ตามธรรมชาติจะเกิดได้เมื่อ ฝ่ายหญิงมีการผลิตไข่และไข่ตกมายังท่อนำไข่ได้ตามธรรมชาติ ขณะที่ ฝ่ายชาย เมื่อมีเพศสัมพันธ์ อวัยวะเพศต้องมีการแข็งตัวจึงจะสามารถหลั่งอสุจิเข้าไปยังช่องคลอดได้ อสุจิของฝ่ายชายต้องมีจำนวน ความแข็งแรง รูปร่างและการเคลื่อนไหวที่ปกติ สามารถว่ายผ่านท่อนำอสุจิไปยังปากมดลูก โพรงมดลูกและท่อนำไข่ เพื่อไปผสมกับไข่ของฝ่ายหญิงที่ตกมารอแล้วได้ หลังจากอสุจิผสมกับไข่จะเคลื่อนตัวไปยังโพรงมดลูก และฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูกที่พร้อมสำหรับการฝังตัว และเจริญเติบโตเป็นทารกต่อไป
 
😞สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก
เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้นะครับ
🧑จากฝ่ายชาย (ประมาณ 25%) โดยเกิดความผิดปกติกับเชื้ออสุจิ เช่น เชื้ออสุจิมีปริมาณน้อย อ่อนแอ มีรูปร่างผิดปกติ หรือไม่พบเชื้ออสุจิเลยก็มีนะครับ
👩จากฝ่ายหญิง (ประมาณ 40%) เช่น ภาวะไม่ตกไข่จากความผิดปกติของฮอร์โมน ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) ท่อรังไข่อุดตัน เนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ พังผืดในช่องเชิงกรานหรือปีกมดลูก 
 
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากปัญหาของทั้งสองฝ่ายร่วมกัน (ประมาณ 20%) หรืออาจไม่พบสาเหตุเลย (ประมาณ 15%) ก็เป็นได้ ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยและการรักษาจึงควรทำทั้งสองฝ่ายนะครับ จะได้รู้สาเหตุที่แท้จริงว่าทำไม คู่ของเราไม่ท้องซักที
              
👩‍⚕การวินิจฉัยและรักษา
อย่างที่พี่หมอบอกไปว่าต้องหาสาเหตุทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เพื่อที่จะได้แก้ไขได้อย่างถูกต้อง มาดูกันครับ ว่าคุณหมอที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้จะแนะนำอย่างไร

สาเหตุจากฝ่ายชาย🧑           
1. ความผิดปกติของอสุจิ
เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อในอัณฑะ มะเร็ง หรือการผ่าตัด การที่อัณฑะมีอุณหภูมิสูงหรือมีการบีบรัดมากเกินไปเป็นเวลานาน ความผิดปกติของท่อนำอสุจิ ภาวะฮอร์โมนผิดปกติ
การวินิจฉัย คุณหมอจะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจอสุจิ หรือตรวจอัลตร้าซาวด์หาความผิดปกติของอัณฑะและท่อนำอสุจิ
การรักษา ขึ้นกับสาเหตุ หากมีความผิดปกติของอสุจิอาจใช้เทคโนโลยีช่วยในการมีบุตรได้ หากเกิดจากสาเหตุอื่นให้หลีกเลี่ยงและแก้ไขที่สาเหตุ เช่น งดการแช่น้ำร้อน ไม่ใส่กางเกงในหรือกางเกงที่รัดแน่นมากเกินไป หรือการรักษาด้วยฮอร์โมนในรายที่ฮอร์โมนผิดปกติ
 
2. ความผิดปกติด้านการแข็งตัวของอวัยวะเพศ (Erectile dysfunction) 
ทำให้ไม่สามารถหลั่งอสุจิเข้าไปยังช่องคลอดเพื่อผสมกับไข่ได้ 
การวินิจฉัย คุณหมอจะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อหาความผิดปกติของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงอวัยวะเพศ
การรักษา ขึ้นกับสาเหตุ มีทั้งการรักษาโดยใช้ยาและไม่ใช้ยา
              
สาเหตุจากฝ่ายหญิง👩         
1. สาเหตุจากการตกไข่ เกิดจากการที่ฮอร์โมนมีความผิดปกติ เช่น 
ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (polycystic ovary syndrome – PCOS) โดยจะมีอาการหลายอย่างร่วมกัน เช่น มีอาการแสดงของฮอร์โมนเพศชายเกิน ภาวะไม่ตกไข่เรื้อรังทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ภาวะอ้วนลงพุง
การวินิจฉัย ซักประวัติและตรวจอัลตร้าซาวด์ จะพบถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (Polycystic ovaries)
การรักษา คุณหมออาจจะรักษาโดยการใช้ยาเพื่อควบคุมระดับของฮอร์โมน และการแนะนำให้ปรับพฤติกรรมเพื่อควบคุมอาการของโรค เช่น การควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย เปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน
 
ภาวะฮอร์โมนผิดปกติ เช่น ฮอร์โมนโปรแลคตินมากเกินไป (Hyperprolactinemia) ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (hypothyroidism) หรือภาวะฮอร์โมนไทรอยด์เกิน (hyperthyroidism)
การวินิจฉัย ทำได้โดยการตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบระดับฮอร์โมนในเลือด
การรักษา จะใช้ยาเพื่อปรับระดับฮอร์โมนในร่างกาย นอกจากนี้ การอดอาหารหรือการออกกำลังกายอย่างหนักเกินไปก็อาจส่งผลต่อการตกไข่ได้เช่นกันนะครับ

2. สาเหตุจากช่องคลอดหรือมดลูกผิดปกติ เช่น การมีซีสต์ ก้อนเนื้อหรือมะเร็งซึ่งขัดขวางทางเดินของเชื้ออสุจิหรือไข่ที่ได้รับการผสม หรือขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน
การวินิจฉัย คุณหมอคงต้องทำการตรวจภายใน ทำอัลตร้าซาวด์หรือทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูความผิดปกติ
การรักษา อาจต้องทำการผ่าตัดหากก้อนเนื้อหรือมะเร็งมีขนาดใหญ่มาก
 
3. สาเหตุจากท่อนำไข่ เช่น การอุดตันหรือถูกทำลายของท่อนำไข่จากการอักเสบ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หรือการมีพังผืดไปรัด
การวินิจฉัย ต้องทำการตรวจภายใน อัลตร้าซาวด์หรือการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
การรักษา ขึ้นกับสาเหตุ เช่น การรักษาภาวะติดเชื้อโดยการใช้ยาปฏิชีวนะ ไปจนถึงการผ่าตัด
 
4. สาเหตุจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
จะมีผลต่อการทำงานของรังไข่ มดลูก และท่อนำไข่ ซึ่งเกิดจากการที่เยื่อบุมีการเจริญเติบโตหนาตัวมากจนส่งผลต่อการผ่านของไข่หรืออสุจิ
การวินิจฉัย ทำการตรวจภายใน อัลตร้าซาวด์หรือการทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การตรวจส่องกล้อง ซึ่งวิธีนี้จะได้ชิ้นเนื้อออกมาเพื่อทำการตรวจทางพยาธิวิทยาเพิ่มเติมด้วย
การรักษา การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด การใช้ฮอร์โมนบำบัด หรือการผ่าตัด 
 
5. สาเหตุจากการหมดประจำเดือน
เมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้น จะทำให้มีปริมาณของไข่ลดลงและมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่กระตุ้นการตกไข่และการมีรอบเดือนตามปกติ นอกจากนี้ภาวะหมดประจำเดือนอาจเกิดจากการรักษาทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดรังไข่ทั้งสองข้าง หรือการให้ยาเคมีบำบัด เป็นต้น
การวินิจฉัย การตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบระดับฮอร์โมนในร่างกาย
การรักษา หากมีภาวะหมดประจำเดือนเกิดขึ้นแล้วจะไม่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างไข่ขึ้นใหม่ได้ ผู้หญิงที่ยังไม่ต้องการมีบุตรเมื่ออายุยังน้อยจึงอาจใช้วิธีการฝากไข่ และใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยให้มีบุตรในภายหลังได้ครับ 
 
6. สาเหตุจากพังผืดในระบบสืบพันธุ์
ซึ่งสามารถเกิดจากการอักเสบทั้งของอวัยวะภายในช่องท้องและระบบสืบพันธุ์ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ การติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ ภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ หรือการผ่าตัดช่องท้อง
การวินิจฉัย ทำได้โดยการตรวจภายใน การทำอัลตร้าซาวน์หรือการทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
การรักษา การผ่าตัดเพื่อนำพังผืดที่บีบรัดออก
 
ที่พี่หมอเล่ามาทั้งหมด เพื่อน ๆ คงจะเห็นแล้วนะครับว่า ภาวะมีบุตรยาก มีสาเหตุและการรักษาที่แตกต่างกันไป คู่ที่มีปัญหาในการมีลูก สงสัยว่าตัวเองจะเข้าข่ายมีลูกยาก ควรไปปรึกษาคุณหมอที่เชี่ยวชาญด้านการรักษาภาวะมีบุตรยาก เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุและรักษาให้ถูกต้อง จะได้มีเจ้าตัวน้อยอย่างที่ตั้งใจนะครับ สู้ ๆ ครับทุกคน 😊
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่