กินผักเพิ่มขึ้นช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ 🥰

📚 งานนี้เป็นการศึกษาเพื่อดูว่าการทานผักเพิ่มขึ้นนั้น มีผลยังไงกับระดับน้ำตาลในเลือด ในกลุ่มผู้เป็นเบาหวานประเภท 2 บ้างนะครับ กินผักเพิ่มขึ้นนะครับ แต่ไม่ได้หมายถึงให้ไปทาน Vegan จะว่าไปก็คล้ายแนว Plant forward แต่อาจจะไม่ถึง Plant based


👩🏼‍🔧 โดยกลุ่มที่เขาคัดมาร่วมงานวิจัยเนี่ย เป็นคนที่เป็นเบาหวาน อายุระหว่าง 18-55 ปี เป็นพนักงานบริษัทสื่อสารแห่งหนึ่งในอินโดเนเซีย ทั้งผู้ชายผู้หญิงนะครับ ทั้งหมดเป็นพนักงานในบริษัทเดียวกัน แต่ว่ามีหลายสาขา ได้ข้อมูลมาจาก 84 คน เป็นกลุ่มทานผักเพิ่ม 41 และกลุ่มควบคุม 40 หายไป 3 เพราะเปลี่ยนงานระหว่างทาง

📝 เป็นการศึกษาแบบ Cluster randomize clinical trial ดังนั้นการจัดการสุ่มจะสุ่มเป็นกลุ่มๆ ตามสาขา มีสาขาที่มีพนักงานเข้าร่วมอยู่ 6 สาขา แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 3 และควบคุม 3 ส่วนแต่ละคนนั้นเป็นแบบ non-blined ไม่ปกปิดนะครับว่าตัวเองถูกกำหนดให้ใช้ intervention แบบไหน เขาก็เลยให้ทำเหมือนกันทั้งสาขาไปเลย ซึ่งก็จะโยงไปที่การอบรมหลังจากนี้ด้วย

🥬 เพราะว่าในกลุ่มที่ให้ทานผักเพิ่มขึ้น จะมีการอบรมแบบ Empowerment Model บิ้วให้มีการทานผักเพิ่มขึ้น เฮ ทานผักเพิ่มขึ้น เฮ ต้องกินอะไร กินผัก ต้องกินอะไร กินผัก !! ๕๕ จริงๆอาจจะไม่ใช่แบบนี้หรอก ผมก็จำลองจากที่เคยเห็นการอบรมบางอันมา ๕๕๕ ส่วนกลุ่มควบคุม ก็ให้ความรู้ในการโภชนาการเพื่อการลดน้ำหนักแบบดีๆนี่แหละ แต่ไม่ได้เน้นว่าให้กินผักมากขึ้น

📝 การเก็บข้อมูลอาหารที่ทาน ก็ใช้แบบสอบฟอร์ม Semi-quantitative food-frequency questionnaire และ 24-h dietary recall แล้วก็เก็บผลเลือดมาวิเคราะห์ดูระดับน้ำตาล fasting , HbA1C และค่า lipid ต่างๆ มีการเก็บข้อมูลรูปร่าง (Anthropometry) ก็วัดสัดส่วนมาตรฐานแหละครับ 

🔎 ผลที่ได้หลังจากผ่านไป 12 สัปดาห์นะครับ อันดับแรกก็พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอาหารที่แต่ละกลุ่มทานจริงๆ แสดงว่าการอบรม การโค้ชชิ่งของเขานั้นก็ได้ผลอยู่ กลุ่มที่ทานผักเพิ่ม ทานผักเพิ่มได้ค่ากลางวันละ 787g เยอะอยู่นะเนี่ย อีกกลุ่มก็ทานเพิ่มได้ค่ากลาง 103g เพิ่มมากขึ้น แต่ก็น้อยกว่า

🔥 ด้านพลังงานอาหาร กลุ่มที่ทานผักเพิ่มขึ้นเนี่ย ทานพลังงานลดลงค่อนข้างจะทุกคนเลย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ เพราะผักนั้นพลังงานต่อปริมาตรต่ำ อีกกลุ่มนึงก็ทานพลังงานลดลงเช่นกัน แต่ก็ลดลงไม่ได้เยอะเท่า ในส่วนของสารอาหาร กลุ่มทานผักเพิ่มขึ้นนั้นทานคาร์บลดลงมากเลย ก็น่าจะเป็นอีกจุดนึงที่ทำให้น้ำหนักลด

🩸 ทั้งสองกลุ่มลดน้ำหนักได้ ค่าเลือดดีขึ้น แต่กลุ่มที่เน้นให้ทานผักเพิ่มขึ้นนั้น ลดน้ำหนักได้มากกว่า (3.1kg กับ 1.1kg) ลดรอบเอวได้มากกว่า (3.1cm กับ 0.9cm) พวกค่าเลือดมีผลดีกว่าอยู่ในภาพรวมนะครับ รายละเอียดลองดูในตาราง หรือดูในงานได้เลย

📌 เขาก็สรุปว่าไอ้การทานผักเพิ่มขึ้นนั้น เป็นวิธีที่ดีที่ช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ลดน้ำหนักได้ แล้วก็ทำให้ค่าต่างๆ ที่เกี่ยวกับ Metabolic นั้นดีขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ได้มีการตรวจระดับการรับพิษจากยาฆ่าแมลงนะครับ หยอกๆ 55

🤔 เท่าที่ดู สาเหตุหลักๆก็เป็นเรื่องว่าผักเนี่ย มันลด Energy density ทำให้พลังงานอาหารที่ได้รับมันลดลง เพิ่มความอิ่ม ลดความหิว แล้วก็ไฟเบอร์ในเนี่ยก็มีผลดีต่อพวก lipid อยู่ด้วยนะครับ ทานผักก็มีประโยชน์แหละครับ แต่ก็อย่างที่ว่า ระวังเรื่องสารตกค้าง ใครไม่ค่อยทานผัก ตอนแรกๆ ก็ค่อยๆเพิ่มนะครับ ไม่ใช่แค่เราฝึกกินผัก แต่ท้องไส้ รวมถึงจุลินทรีย์ต่างๆ เราก็ต้องค่อยๆฝึกรับมือกับผักด้วยเช่นกัน

ที่มาและแหล่งอ้างอิง
https://www.fatfighting.net/article-2022-07-21-increased-vegetable-intake-improves-glycaemic-control-in-adults-with-type-2-diabetes-mellitus/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่