มาทำความรู้จัก GSG 9 สุดยอดหน่วยต่อต้านการก่อการสากลและชิงตัวประกันของตำรวจสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีแบบง่ายๆคร่าวๆกันเต๊อะ

กระทู้สนทนา
หากใครที่เคยเล่นเกมยิงระดับตำนานอย่าง Counter-Strike 1.6 เชื่อว่าหลายๆคนคงจะผ่านตาชื่อหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายสากลที่เขียนว่า GSG 9 เป็นแน่แท้ ในขณะเดียวกันก็มีหลายๆคนที่คุ้นกับชื่อแต่อาจไม่รู้ที่ไปที่มาของหน่วยยุทธวิธีนี้ ในทวีปยุโรปนั้นมีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายของทางตำรวจ (ย้ำว่าของตำรวจ) ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอันดับต้นๆที่มีความเก่งกาจจนเป็นที่ยอมรับในหลายๆหน่วยงานทั่วโลก

เมื่อเอ่ยถึงหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายสากลและชิงตัวประกันระดับเทียร์วันของตำรวจของหลายๆประเทศในทวีปยุโรปที่ขึ้นชื่อและได้รับการยอมรับนั้นไม่ว่าจะเป็น
-CTSFO ของสหราชอาณาจักร
-RAID ของฝรั่งเศส
-NOCS ของอิตาลี
-ERU ของไอร์แลนด์
-Wega ของออสเตรีย
-DSU ของเบลเยียม
-Viking Squad ของไอซ์แลนด์
-Delta ของนอร์เวย์
-GEO ของสเปน
-NTF ของสวีเดน
-PÖH ของตุรกี
-Task Force TIGRIS ของสวิตเซอร์แลนด์
-GOE ของโปรตุเกส
-SPAP ของโปแลนด์
หน่วยที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นหน่วยตำรวจต่อต้านการก่อการร้ายสากลและชิงตัวประกันชั้นแนวหน้าระดับท็อปฟอร์มของฝั่งยุโรป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะขาดอีกหน่วยระดับเทียร์วันที่เป็นที่เลื่องลือของทางตำรวจเยอรมันไม่ได้เลย ซึ่งหน่วยนี้ไม่ใช่ใครอื่นนอกเสียจาก GSG 9

1.GSG 9 คืออะไร?
GSG 9 เป็นคำย่อที่มาจากชื่อเต็มว่า Grenzschutzgruppe 9 หากแปลเป็นภาษาอังกฤษจะได้ว่า Border Protection Group 9 แล้วถ้าแปลเป็นภาษาไทยจะได้ว่า กองรักษาชายแดน 9 ซึ่งหน่วยนี้มีขนาดเทียบเท่าระดับกรม สังกัดในสำนักงานผู้อำนวยการตำรวจสหพันธ์สาธารณรัฐ 11 (Federal Police Directorate 11 หรือชื่อภาษาเยอรมันคือ Bundespolizeidirektion 11 : BPOLD 11) แต่ก่อนสังกัดในหน่วยรักษาชายแดนสหพันธ์สาธารณรัฐ (Federal Border Guard หรือชื่อภาษาเยอรมันคือ Bundesgrenzschutz : BGS) ซึ่งตัวของ GSG 9 จัดได้ว่าเป็นหน่วยตำรวจแบบกองกำลังกึ่งทหาร (Paramilitary police) ในตอนแรกไม่มีใครคาดคิดว่าเจ้าหน่วยโนเนมที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างลับๆนี้ต่อมาจะมีชื่อเสียงก้องโลก เลื่องลือและเป็นที่ยอมรับของหลายๆหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านยุทธวิธีภาคสนามต่อต้านการก่อการร้ายสากลและชิงตัวประกัน

2.เหตุผลที่ก่อตั้งหน่วยขึ้นมา?
ในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) ที่เมืองมิวนิก ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) ได้เกิดเหตุการณ์องค์กรก่อการร้ายกันยายนทมิฬ (Black September Organization : BSO) ที่มีสมาชิกเป็นชาวปาเลสไตน์จำนวน 8 นาย อาวุธสงครามครบมือ ได้ทำการแทรกซึมบุกเข้าสู่อาคารบริเวณที่พักนักกีฬาที่มาแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน โดยมีเป้าหมายคือนักกีฬาชาวอิสราเอล เมื่อเข้าถึงบริเวณที่พักของเป้าหมายก็ได้ทำการสังหารนักกีฬาอิสราเอลไป 2 นาย เพราะมีท่าทีต่อต้านและหลบหนี ส่วนอีก 9 คนที่เหลือถูกไปเป็นตัวประกัน ซึ่งการจับตัวประกันในครั้งนี้มีข้อเรียกร้องในประเด็นการเมืองคือให้ปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ในประเทศอิสราเอลจำนวน 234 คน แน่นอนว่ารัฐบาลเยอรมนีตะวันตกก็ตกใจเป็นอย่างมากเพราะไม่เคยเจอวิกฤตการณ์เฉกเช่นนี้มาก่อน ทำให้ทางรัฐบาลเยอรมนีตะวันตกพยายามคิดหาทางช่วยเหลือนักกีฬาอิสราเอล 9 คน ที่โดนจับเป็นตัวประกัน โดยมีแผนไว้ว่าจะทำการเคลื่อนย้ายผู้ก่อการร้ายไปยังฐานทัพอากาศเฟือร์สเทินเฟ็ลท์บรุค (Fürstenfeldbruck Air Base) และให้ตำรวจที่ซุ่มอยู่อาศัยจังหวะที่ผู้ก่อการร้ายทั้ง 8 นาย กำลังขึ้นเฮลิคอปเตอร์ยูเอช-1 ไอระควอย (Bell UH-1 Iroquois) หรือที่รู้จักในชื่อฮิวอี้ ทำการจู่โจมชิงตัวประกัน ทว่าการจู่โจมในครั้งนี้นำมาซึ่งการสูญเสียครั้งใหญ่ ตัวประกันทั้งหมดถูกสังหารโดยสมาชิก BSO, ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย, สมาชิก BSO ถูกสังหาร 5 นาย และยอมแพ้มอบตัว 3 นาย เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือว่าเป็นบทเรียนให้กับทางเยอรมนีตะวันตก และอีกหลายๆประเทศ ที่ต้องนำมาศึกษา เรียนรู้ ปรับปรุงแก้ไข พัฒนาระบบงานและยุทธวิธี เพื่อที่จะได้ไม่ต้องซ้ำรอยเดิม กรณีที่มิวนิกนับได้ว่าส่งผลให้หลายๆประเทศทั่วโลกตื่นตัวภัยคุกคามการก่อการร้ายสากลและมีการจับตัวประกันมากขึ้น

หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มิวนิก (Munich massacre) ทางรัฐบาลเยอรมนีตะวันตกเร่งการปรับปรุงระบบต่างๆในด้านความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นในด้านข่าวกรอง, การวางมาตรการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินต่อต้านการก่อการร้าย, การจัดตั้งหน่วยพิเศษเพื่อรับมือกับภัยคุกคามต่อต้านการก่อการร้ายและชิงตัวประกันโดยเฉพาะ เป็นต้น ซึ่งในเรื่องของการจัดตั้งหน่วยพิเศษเพื่อรับมือกับภัยคุกคามนี้นั้นทางรัฐบาลเยอรมนีตะวันตกก็โยนงานให้กับทางตำรวจสหพันธ์สาธารณรัฐ (Federal Police หรือชื่อภาษาเยอรมันคือ Bundespolizei : BPOL) เป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากในช่วงเวลานั้นเยอรมนีตะวันตกติดกฎหมายที่ว่าไม่อนุญาตให้กองทัพปฏิบัติการภายในประเทศได้เว้นเสียแต่ในกรณีถูกรุกราน จึงทำให้งานนี้ตกเป็นของทางตำรวจโดยปริยาย

ทางตำรวจพยายามคิดว่าต้องทำยังไงถึงจะสามารถรับมือกับผู้ก่อการร้ายที่ได้รับการฝึกเยี่ยงทหารมา จึงเกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่าในหน่วยงานของตัวเองนั้นยังมีกองงานที่เป็นตำรวจแบบประเภทกองกำลังกึ่งทหารอยู่ โดยกองงานนี้มีชื่อว่าหน่วยรักษาชายแดนสหพันธ์สาธารณรัฐหรือเรียกสั้นๆว่า BGS (BGS มีบทบาทอย่างมากในช่วงเวลานั้น ตัวของมันคือจุดเริ่มต้นการที่ทำให้เยอรมันตะวันตกมีกองทัพได้) หากใช้ BGS เข้าทำการปฏิบัติการก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมายใดๆเพราะพวกเขาไม่ใช่ทหารแต่เป็นตำรวจกึ่งทหาร แล้วในช่วงเวลานั้น BGS มีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 8 หน่วย ได้แก่
-กองรักษาชายแดน 1 (Grenzschutzgruppe 1 : GSG 1)
-กองรักษาชายแดน 2 (Grenzschutzgruppe 2 : GSG 2)
-กองรักษาชายแดน 3 (Grenzschutzgruppe 3 : GSG 3)
-กองรักษาชายแดน 4 (Grenzschutzgruppe 4 : GSG 4)
-กองรักษาชายแดน 5 (Grenzschutzgruppe 5 : GSG 5)
-กองรักษาชายแดน 6 (Grenzschutzgruppe 6 : GSG 6)
-กองรักษาชายแดน 7 (Grenzschutzgruppe 7 : GSG 7)
-กองรักษาชายแดน 8 (Grenzschutzgruppe 8 : GSG 8)
ทางตำรวจจึงจัดตั้งหน่วยใหม่ขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบภารกิจต่อต้านก่อการร้ายสากลและชิงตัวประกันขึ้นมา ซึ่งหน่วยนั้นมีชื่อว่ากองรักษาชายแดน 9 (Grenzschutzgruppe 9 : GSG 9) 

ในวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ.1972 ได้มีการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยกับทางคณะรัฐมนตรีให้มีการอนุมัติว่าหากเกิดเหตุก่อการร้าย ใครจะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบภารกิจของ GSG 9 ซึ่งก็ได้ผลสรุปออกมาว่าให้อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย (ในกรณีนี้คล้ายคลึงกับของ GIGN ที่ตัวหน่วยขึ้นตรงต่อ National Gendarmerie แต่เมื่อเกิดเรื่องขึ้นให้อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย...ป.ล.GIGN เป็นทหารไม่ใช่ตำรวจ ถ้าใครบอกว่า GIGN เป็นตำรวจคือเข้าใจผิดมากๆเลยนะ) รายละเอียดต่างๆของภารกิจนี้จะต้องได้รับการกำหนดและรับผิดชอบโดยตรงจากรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น

3.การคัดเลือกเข้าหน่วย?
ผู้ที่จะมีสิทธิ์สมัครเข้ารับการฝึกเพื่อไปเป็นสมาชิก GSG 9 นั้น ต้องมีอายุไม่เกิน 34 ปี และต้องทำงานอยู่ในหน่วยงานตำรวจ (แต่เดิมเปิดให้แค่บุคคลากรที่อยู่ใน BGS เท่านั้น) มาไม่ต่ำกว่า 2 ปี เมื่อสมัครเข้ามาคัดเลือกแล้วจะใช้เวลาทั้งหมด 5 วันในค่ายฝึกในเมืองเซนท์ ออกัสติน (Sankt Augustin) เพื่อทดสอบสมรรถภาพร่างกายและจิตใจแบบเข้มข้นประกอบไปด้วย
-การทดสอบสภาพจิตใจและอารมณ์ เช่น ไอคิว, อีคิว, สมาธิ, บุคลิกภาพ, การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า)
-การยิงปืนและความทรหดในบททดสอบงานภาคสนามที่สมมติขึ้นมา
-การตอบสนองต่อการใช้ร่างกายความสามารถเชิงกีฬา
-ทดสอบความรู้ทั่วไปทางเชิงวิชาการทางทหารและด้านกฏหมาย
-ตรวจร่างกายโดยแพทย์
ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้เข้ารับการสมัครปีละ 150 คน ต่อรุ่น และตกในช่วงเข้ารับการทดสอบเบื้องต้นตามที่กล่าวไปคิดเป็น 60-70% ส่วนมาก 60% ที่ไม่ผ่านคือเรื่องของการทดสอบด้านสภาพจิตใจและอารมณ์ สำหรับผู้ที่ผ่านก็เข้าสู่การฝึกขั้นพื้นฐานอีก 5 เดือน และอีก 4 เดือนเต็มสำหรับการฝึกหลักสูตรต่อต้านการก่อการร้ายและชิงตัวประกัน+สงครามกองโจร (Guerrilla warfare) ซึ่งเดิมทีตัวหลักสูตรได้ถูกออกแบบให้ฝึกแค่ 3 เดือน (เป็น 3 เดือนที่อัดแน่นไปด้วยความโหดหิน แต่ทางรัฐมนตรีมหาดไทยและคณะพิจารณาไม่เห็นด้วยที่จะให้ฝึกแค่ 3 เดือน จึงให้ขยายไปเป็น 9 เดือนเพื่อเสริมทักษะ+วิชาการต่างๆที่จำเป็นต่อภัยคุกคามรูปแบบใหม่) ในห้วงเวลา 9 เดือนนี้จะประกอบไปด้วยการฝึกรูปแบบต่างๆมากมายไม่ว่าจะเป็น
-การออกกำลังกายบริหาร
-การต่อสู้มือเปล่า
-การยิงปืนพกในระยะ 30 เมตร มีเป้าฝึกยิงแบบต่างๆ (แบบเคลื่อนไหวช้าและรวดเร็ว เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกฝึกในเรื่องของการตอบสนองต่อเป้าหมาย)
-การยิงปืนฉับพลันทางยุทธวิธี
-การใช้อาวุธต่อสู้ในระยะประชิด
-ยิงเป้าหมายระยะไกลให้มีทักษะ Marksmanship
-ต่อต้านสงครามกองโจร
-การสงครามป่า ภูเขา หิมะ เมือง 
-การรบด้วยยุทธวิธีนอกแบบ
-การรบระยะประชิด/การต่อสู้ระยะประชิด
-ลาดตระเวนระยะไกล
-การปฏิบัติการจิตวิทยา
-การฝึกปฏิบัติในเชิงสอบสวน สืบสวนหาสาเหตุอย่างจริงจังโดยใช้ข้อกฎหมาย
-การวิเคราะห์เจาะลึกถึงก้นบึ้งรูปแบบการก่อการร้าย
-ต่อต้านการปล้นยึดอากาศยาน (Anti-hijack)
-อารักขาบุคคลสำคัญ
-ขับรถทางยุทธวิธี (รวมไปถึงวิธีการขับเมื่อได้รับบาดเจ็บ)
-การใช้วัตถุระเบิดทำลายประตูและสิ่งกีดขวาง
-การปฏิบัติการร่วมกับอากาศยานและยานพาหนะ
-การเอาชีวิตรอด, การหลบหลีก, ต่อต้าน และการหลบหนี (Survival, Evasion, Resistance and Escape : SERE)
-เทคนิคการบุกเข้าชาร์จจับกุมรูปแบบต่างๆ
-ลาดตระเวนในเวลากลางวันและกลางคืน
-การแทรกซึมเข้าพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ
-การปฐมพยาบาลฉุกเฉินทางยุทธวิธี
-ผู้ควบคุมอากาศยาน
-ชิงตัวประกันในรูปแบบต่างๆ
-ยิงปืนในสภาพแสงสว่างและแสงต่ำ รวมถึงยิงตอนกลางคืน
-ยิงปืนในพื้นที่ลาดชัน
-การใช้รหัสสื่อสาร
-การสื่อสารด้วยสัญญาณมือ
-การใช้แผนที่และเข็มทิศ
-การฆ่าเงียบ (Silent Killing)
-ยุทธวิธีหน่วยขนาดเล็ก
-โดดร่มทางยุทธวิธี
-รื้อถอนทำลายสิ่งกีดขวาง
-รื้อถอนทำลายวัตถุระเบิด
-เรียนภาษาต่างประเทศ
-การดำรงชีพในพื้นที่หลากหลายสภาพแวดล้อม
-การแกะรอย
-ฝึกปีนไต่อาคารรูปแบบต่างๆ
-ดำน้ำทางยุทธวิธีเบื้องต้น
-การป้องกันเคมี ชีวะ รังสี นิวเคลียร์
หากผู้เข้ารับการฝึกผ่านทั้งหมดนี้ก็จะได้สวมหมวกเบเร่ต์เขียวที่ด้านหมวกติดเข็มรูปพญาอินทรียืนสงบนิ่งอันเป็นสัญลักษณ์ของ GSG 9 และได้รับการบรรจุเข้าหน่วย แต่การฝึกก็ยังไม่จบเพียงเท่านี้ สมาชิกหน่วยยังคงต้องได้รับการฝึกขั้นสูงเพิ่มเติมอีก ซึ่งในเรื่องนี้ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เข้ารับการฝึกครบทุกหลักสูตร แต่ต้องมีสกิลติดตัวไปให้ได้มากที่สุด

4.การจัดโครงสร้างหน่วย
-1st Operational Unit รับผิดชอบด้านต่อต้านการก่อการร้ายโดยตรง
-2nd Operational Unit รับผิดชอบด้านปฏิบัติการทางน้ำ, สงครามพิเศษทางเรือ, ต่อต้านการก่อการร้ายและชิงตัวประกันทางทะเล (เป็นหน่วยที่เข้ารับการฝึกหนักที่สุดในบรรดาทุกหน่วยปฏิบัติการใน GSG 9 ช่วงแรกฝึกตามหลักสูตรของทาง GSG 9 แล้วไปฝึกเพิ่มอีก 30 เดือน สำหรับการปฏิบัติการทางน้ำในรูปแบบต่างๆ โดยมีหน่วย KSM เป็นผู้ทำการฝึกเพิ่มให้)
-3rd Operational Unit รับผิดชอบส่งทางอากาศทางยุทธวิธีทุกรูปแบบ 
-4th Operational Unit รับผิดชอบต่อต้านการก่อการร้ายและชิงตัวประกันในเมือง
-Operative Einsatz Medizin (OEM) รับผิดชอบปฐมพยาบาลฉุกเฉินขั้นสูงทางยุทธวิธี
-Central services รับผิดชอบอาวุธยุทโธปกรณ์
-Documentation unit รับผิดชอบด้านการสื่อสาร
-Operations staff รับผิดชอบการจัดการบริหารภายในหน่วยงาน
-Technical unit รับผิดชอบสนับสนุนงานด้านทางเทคนิค
-Training unit รับผิดชอบด้านการคัดเลือกและฝึก

หากใครที่ยังสับสนหรือกำลังศึกษาเกี่ยวกับ GSG 9 เราหวังว่าการสรุปข้อมูลแบบคร่าวๆไม่ลงรายละเอียดเจาะลึกมากนี้จะทำให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น และสุดท้ายนี้หากผิดพลาดข้อมูลประการใดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่