รู้จักโรคแอสเพอร์เกอร์ Asperger’s Syndrome (ออทิสติกแบบ High function) ตอนที่ 4 ทำสิ่งนั้นซ้ำๆ ไม่ยึดหยุ่น 2

The Asperger story By P surachet ตอนที่ 4 ทำสิ่งนั้นซ้ำๆ ไม่ยึดหยุ่น 4
 บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับ โรคแอสเพอร์เกอร์ (Asperger’s Syndrome) ที่มาจากประสบการณ์ตรงของผม จากที่ผมเคยเรียน จากคุยกับเพื่อนที่เป็นเหมือนกัน และจากคุณหมอครับ เนื่องจากว่าผมเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์และได้พบกับความยากลำบากหลายอย่างทั้งๆ ที่ผมเป็นน้อย และคนในสังคมไทยไม่ค่อยได้รู้จักโรคนี้ ผมจึงคิดที่จะทำสื่อเพื่อให้คนไทยรู้จักมากขึ้น โดยได้เขียนบทความที่ชื่อว่า “The Asperger story By P surachet” โดยจะแบ่งเป็น 15 ตอน อันนี้จะเป็นตอนที่ 4 ครับ หากว่าใครชอบดูในรูปแบบของคลิปวิดีโอมากกว่า สามารถรับชมคลิปได้เลยครับ แต่ถ้าใครชอบอ่านก็เลื่อนลงไปอ่านบทความได้เลยครับ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

 ขอพูดเรื่องนี้ก่อนครับ มันก็มีกรณีที่ผมเคยคุยเรื่องโรคให้คนอื่นฟัง บางคนไม่เข้าใจบอกว่าในเมื่อรู้แล้วว่าอาการของโรคเป็นยังไงทำไมเราไม่ควบคุมให้มันเป็นปกติ ผมก็จะบอกว่าในสถาการณ์จริงๆ ควบคุมไม่ได้หรอกครับ บางครั้งเรารู้ด้วยคำนิยามแต่ในสถากาณณ์จริงๆ เราไม่รู้หรอกกว่าสิ่งนี้คืออะไร และเราก็ไม่ได้รู้ตัวตลอดเวลาทุกอย่าง สุดท้ายจะฝากให้คิดว่าถ้ามันคุมได้จริงเขาก็ไม่เรียกว่าเป็นโรคหรอกครับ
.
.
เข้าเรื่องต่อกัน ในตอนเด็กๆ ตั้งแต่จำความได้น่าจะ 4 ขวบ ผมชอบศึกษาแผนที่โดยเฉพาะแผนที่ทางหลวง เอาจริงๆ ผมก็ไม่ได้ถึงขั้นที่ว่าอยู่กับมันตลอดเวลาแต่เวลาส่วนใหญ่ที่คนอื่นเอาไปทำอย่างอื่นซึ่งเด็กส่วนใหญ่จะเปลี่ยนกิจกรรมแต่ผมไม่เปลี่ยน สิ่งที่ผมทำนั้นก็คือดูแต่แผนที่ ดูจนกระทั้งจำได้ว่าเส้นทางไหนไปไหน อาจไม่ได้ถึงขั้นจำได้หมดทั้งประเทศ แต่จำเส้นทางหลักๆ ได้ จนกระทั้งใครไปไหนกับผมไม่ต้องกลัวหลง ถ้าจะหลงก็เพราะคุยไม่รู้เรื่องมากกว่า...... และหลังจากนั้นเราก็ได้ลงลึกไปมากขึ้นเรื่อยๆ จนอ่านแผนที่เล่มไหนก็เข้าใจหมด บางครั้งไม่ต้องดูคู่มือเลยด้วยซ้ำว่าวิธีการดูแผนที่ต้องดูอย่างไรเราเข้าใจหมด ถ้าถามว่าจำได้อย่างไรคำตอบง่ายๆ ก็คือจำเป็นภาพ เมื่อเราดูหลายๆ รอบเราก็จำภาพนั้นได้ขึ้นมาเอง เมื่อเราลงลึกไปมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็ทำในสิ่งที่หลายๆ คนในตอนนั้นคาดเดาไม่ถูกนั้นก็คือสร้างถนนขึ้นมาใหม่ โดยเราวาดเอง เราสร้างถนนในหัวของเราตามที่อยากจะให้เป็น ถ้าเกิดว่ามีกระดาษสิ่งที่ทำในตอนนั้นก็คือวาดรูปถนนอยู่เรื่อยๆ และแทบจะไม่เคยว่ารูปอย่างอื่นเลยนอกจากถนน ใครให้วาดรูปอื่นๆ ก็ไม่ยอม นอกจากถนนแล้วยังมีความสนใจเสาไฟฟ้าอีกด้วย คือถ้าขับไปทางไหนจะจำเส้นทางได้อีกอย่างหนึ่งก็เพราะเสาไฟฟ้า อย่างที่ทุกๆ ท่านเห็นถนนแต่ละถนนจะมีเสาไฟฟ้า สายไฟ ที่ไม่เหมือนกันเมื่อรวมกับภาพพื้นหลัง รูปจะเป็นดังที่ท่านได้เห็นในภาพ และสิ่งนี้ค่อยๆ หายไป
.
.
 ประมาณอายุ 10 ขวบ และกลายเป็นว่ามาทำซ้ำเรื่องอื่นแทนก็คือการฟังเพลง จากเดิมไม่ได้สนใจการฟังเพลงมากนักแต่ดันไปเจอแผ่น CD คาราบาว เมื่อได้ฟังแล้วรู้สึกชอบ ชอบที่มีดนตรีหลากหลายและเนี้อหาไม่ได้พูดแต่เรื่องความรัก ผมจึงฟังแต่เพลงคาราบาวตั้งแต่อายุ 11 ตั้งแต่นั้นมาฟังจนหมดทุกเพลงและฟังแต่เพลงวงนี้ ซึ่งการชอบสิ่งนี้ทำให้ผมสนใจดนตรีและทำให้อยากเล่นดนตรีไปด้วย จึงเป็นการเปิดโลกดนตรี (รายละเอียดจะอยู่ในตอนดนตรี) จนผมว่าผมสามารถเล่นรายการแฟนพันธุ์แท้คาราบาวได้ด้วยซ้ำ และเมื่อโตขึ้นตั้งแต่ ม.5 การยึดติดที่จะฟังแต่วงเดิมอย่างเดียวก็น้อยลงก็เลยฟังเพลงวงอื่นมากขึ้น แต่ก็จะเป็นแนวเดียวกัน คือฟังแต่เพื่อชีวิต ร็อก จนมาถึงปัจจุบันก็ฟังแต่แนวนี้ ซึ่งมันส่งผลไปในหลายๆ เรื่องทั้งประโยชน์ของดนตรี การปล่อยอารมณ์ การมีเรื่องพูดคุยกันคนอื่น และอันที่จริงแล้วผมก็มีการทำอะไรซ้ำๆ ไม่ยึดหยุ่นอีกหลายอย่างซึ่งมันฝังไปเป็นนิสัยเช่น การใช้ของยี่ห้อเดิม การอ่านหนังสือแนวเดิมๆ หรือการดูหนังเรื่องเดิมๆ หลายครั้งมาก ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่ ซึ่งทุกอย่างมันก็คือสิ่งที่เราเลือกทำแล้วสบายใจสุด
.
.
 จากทั้งหมดที่ผมเล่ามาจะเห็นได้ว่าการทำซ้ำในสิ่งที่ชอบ ถ้าทำได้อย่างถูกต้องมันก็มีข้อดีขึ้นมันเหมือนกัน มันทำให้เราเก่งในเรื่องนั้นๆ มากขึ้น ทำให้เรารู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นและถนัดเกี่ยวกับเรื่องนั้นมากขึ้น อย่างที่ผมได้บอกไปว่าถ้ามันไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับใครก็ทำไปเหอะครับ แถมมันยังเป็นการสร้างความมั่นใจและคุณค่าให้ตัวเองด้วย
.
.
 แต่การทำซ้ำบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ดีในที่นี้คือคนอื่นนิยามว่าไม่ดี เช่น การซ้ำกับการสนทนากับผู้อื่น หลายๆ ครั้งที่คนอื่นไม่ชอบคุยกับผมเพราะว่าจะใช้แต่คำเดิมๆ หัวข้อเดิมๆ โดยปกติแล้วคนปกติถ้าคุยเรื่องอะไรแล้วเขาจะคุยกันต่อไปเรื่อยๆ มันก็จะไหลลื่น แต่พวกเรานั้นจะคุยแต่เรื่องที่สนใจ เพราะฉะนั้นถ้าคุยนอกเรื่องที่สนใจก็จะชวนคุยกลับมาที่เดิมซึ่งเพื่อนหลายๆ คน เขาก็ไม่ชอบ นอกจากการที่คุยเรื่องเดิมๆ แล้วยังคุยเรื่องต่างๆ ลงรายละเอียดเรื่องนั้นเยอะอีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่เรารู้ ซึ่งหลายๆ คนที่คุยด้วยเขาก็ไม่ได้อยากรู้ โลกเราก็แปลกเราไม่อยากคุย ไม่อยากรู้ก็พูดออกมาซิ แต่หลายๆ คนก็ติดกับคำว่ามารยาทเขาจึงไม่บอกเรา แต่ก็แสดงออกด้วยการไม่อยากคุย ทำหน้าเบื่อบ้าง บางครั้งก็พูดว่า “พอ...ไม่คุยละ” เอาจริงๆ หลายๆ ครั้งที่คนบอกกับผม ผมถึงจะหยุดพูดเพราะการที่เขาไม่บอกตรงๆ ผมก็ไม่รู้ เขาคิดว่าเรารู้แต่เราไม่รู้ ในส่วนนี้ท่านที่เป็นเหมือนกันก็ต้องไปปรึกษาหมอและอาจต้องใช้ยาช่วย อีกอย่างคือพวกเราจะรู้สึกว่าไม่พอใจเวลาที่จะพูดเรื่องนี้แล้วคนไม่ฟังแล้วเขาขอให้หยุดพูด บางครั้งก็หัวร้อนด่ามันกลับไปก็มี ซึ่งยาจะช่วยในส่วนนี้ได้
.
.
 การแก้ไขปัญหาส่วนตัวผมจึงใช้วิธีแบบนี้ ผมจะแบ่งขึ้นมา 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือส่วนที่จำเป็นร่วมกัน อีกส่วนคือไม่จำเป็น ส่วนที่จำเป็นการคือถ้าหากว่าเขาต้องการให้เราพูดเรื่องอะไร ลงรายละเอียดแค่ไหน ให้หยุดพูดเมื่อไหร่ เราเอาเท่านั้นพอ เท่าที่เขาต้องการ วิธีจะช่วยให้การพูดคุยไปได้ดีขึ้น วิธีนี้อาจใช้กับอะไรที่จำเป็นต้องพูดคุยเช่น คุยเรื่องงาน เป็นต้น แต่วิธีนี้อาการของโรคก็ต้องน้อยด้วย ถ้าอาการเยอะก็คงจะไม่ยอมให้วิธีนี้เกิดขึ้น ส่วนที่ 2 คือส่วนที่ไม่จำเป็น ผมจะพูดในสิ่งที่อยากพูด ลงรายละเอียดที่จะเราเพราะเรารู้สึกว่าเรารู้แค่ไหนต้องถ่ายทอดไปให้หมด ซึ่งใครจะฟังก็ฟัง ไม่ฟังหรือไม่พอใจก็ช่างยิ้ม แล้วสุดท้ายจะมีคนยอมรับเราเอง ในส่วนนี้นั้นจะทำให้เพื่อนเราน้อยลงแต่ก็จะเป็นการคัดเพื่อนที่ยอมรับเราไปในตัว แต่เชื่อเหอะสุดท้ายถ้าเขาไม่ฟังเราหรือเขาฟังเราพอแค่ไหนเขาจะมีวิธีตัดเอง แต่สุดท้ายถ้าเขาไม่ฟังเราจริงๆ ก็ไม่ต้องพูดเก็บไปพูดคนเดียวจบ
.
.
 สำหรับหลายๆ ท่านอาจทราบอีกอย่างหนึ่งว่าคนเป็นโรคนี้บางคนชอบกินอาหารเดิมๆ กลับบ้านเส้นทางเดิม สำหรับผมนั้นก็มีบ้างที่กินอาหารเดิมๆ ในสิ่งที่ชอบ เราสามารถกินสิ่งเหล่านั้นได้โดยไม่เบื่อแต่ถ้าถึงเวลาต้องเปลี่ยนจริงๆ ก็สามารถเปลี่ยนได้ ในส่วนนี้ผมอาจไม่ได้มีปัญหามากเท่าไหร่นัก ส่วนการกลับบ้านเส้นทางเดิมสำหรับผมเนื่องจากว่าเป็นคนที่ชอบศึกษาแผนที่ตั้งแต่เด็กมันเลยทำให้เราชอบศึกษาเส้นทางต่างๆ บางครั้งเรารู้แค่ในแผนที่แต่เราไม่รู้ในสถานที่จริง การที่ได้ไปในหลายๆ เส้นทางทำให้เราได้ศึกษาเส้นทางต่างๆ มากขึ้นดังนั้นในส่วนนี้ผมอาจไม่เป็น แต่สิ่งที่ผมเป็นก็คือจะกลับบ้านตรงเวลา เช่นเวลาหลังเลิกเรียนก็จะฟิตไว้เลยว่าต้องกลับบ้านเวลานี้ สายไปกว่านี้ไม่ได้ บางครั้งถ้ารถติดทำให้กลับบ้านช้าลงผมจะรู้สึกหงุดหงิดหัวร้อนพอสมควร และจะเป็นแบบนี้เป็นเหมือนกับตารางประจำวันจะต้องเดินเวลาไปแบบนี้.
.
ภาพที่ท่านได้เห็นคือภาพที่วาดรูปถนนมอเตอร์เวย์ครับ



ผม P สุรเชษฐ์ ฆังนิมิตร 
สามารถติดตามและพูดคุยกับผมได้ที่เพจ : P สุรเชษฐ์ ฆังนิมิตร
หรือลิงค์ : https://www.facebook.com/psurachet95/?show_switched_toast=0&show_invite_to_follow=0&show_switched_tooltip=0&show_podcast_settings=0&show_community_transition=0&show_community_review_changes=0
ช่อง Youtube : P สุรเชษฐ์ ฆังนิมิตร 
หรือลิงค์ :  https://www.youtube.com/channel/UCcaotwQy4XufCWfUdJGmFtw
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่