รู้จักโรคแอสเพอร์เกอร์ Asperger’s Syndrome (ออทิสติกแบบ High function) ตอนที่ 7 สังคมอันแสนปวดหัว (ทักษะสังคม)

The Asperger story By P surachet ตอนที่ 7 สังคมอันแสนปวดหัว (ทักษะสังคม)
 บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับ โรคแอสเพอร์เกอร์ (Asperger’s Syndrome) ที่มาจากประสบการณ์ตรงของผม จากที่ผมเคยเรียน จากคุยกับเพื่อนที่เป็นเหมือนกัน และจากคุณหมอครับ เนื่องจากว่าผมเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์และได้พบกับความยากลำบากหลายอย่างทั้งๆ ที่ผมเป็นน้อย และคนในสังคมไทยไม่ค่อยได้รู้จักโรคนี้ ผมจึงคิดที่จะทำสื่อเพื่อให้คนไทยรู้จักมากขึ้น โดยได้เขียนบทความที่ชื่อว่า “The Asperger story By P surachet” โดยจะแบ่งเป็น 15 ตอน อันนี้จะเป็นตอนที่ 7 ครับ หากว่าใครชอบดูในรูปแบบของคลิปวิดีโอมากกว่า สามารถรับชมคลิปได้เลยครับ แต่ถ้าใครชอบอ่านก็เลื่อนลงไปอ่านบทความได้เลยครับ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

 สังคมในประเทศไทยนั้นมีรายละเอียดเยอะ มีความซับซ้อนเยอะ เอาจริงๆ ถ้าเราเทียบกับสังคมตะวันตกเราถือว่ายุ่งยากกว่าเยอะ พวกเราเองก็มีปัญหาเรื่องนี้ เราจะมีปัญหากับคำว่า มารยาท กาลเทศะ สามัญสำนึก (common sense) การตัดสินใจเฉพาะหน้า การอยู่ในสังคมไทยมีหลายอย่างที่ชวนให้ปวดหัว อันที่จริงผมได้คุยกับเพื่อนหลายๆ คนที่เป็นโรคนี้เราพบว่าปัญหาที่เราเจอคล้ายๆ กันแต่ผมขอยกตัวอย่างเฉพาะเรื่องของผมครับ
.
.
 เรื่องแรกเลยก็คือเรื่องมารยาท ในตอนเด็กๆ นั้นผมไม่ชอบการทักทาย การพูดขอโทษ อะไรพวกนี้ทั้งสิ้น ผมรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่ต้องพูดมันไม่ใช่แก่น มาเจอกันก็คุยกันไปเลยซิ แค่นี้ก็จบแล้ว ยังไม่ใช่แค่นั้นมันยังมีระบบคำพูดที่เรียงตามอายุอาวุโสอีกเช่น คำพูดแบบนี้พูดกับคนอายุเยอะว่าไม่ได้ ผมไม่สนใจ ผมจะพูด ทุกคนคือคนเหมือนกัน ทำไมจะพูดไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะจบด้วยการโดนด่าไม่ก็โดนตี พอโตขึ้นมาผมก็เข้าใจพวกนี้มากขึ้น อันที่จริงแล้วผมไม่ได้เข้าใจมันจริงๆ หรอก ผมรู้แค่ว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำแล้วมันถูกสืบทอดต่อๆ กันมา หลายๆ ครั้งผมรู้สึกเหมือนกับว่าทำไมคนต้องทำตามในสิ่งที่ถูกสอนกันมาทั้งๆ ที่มันไม่มีเหตุผลก็นั้นแระเมื่อโตขึ้นเราจะรู้เองว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่ว่าคนทั่วๆ ไปหลายคนทำโดยไม่มีคำถาม บางคนเข้าใจถึงความเป็นวัฒนธรรม แต่ผมไม่เข้าใจหรอก ซึ่งถ้าจะเอากันจริง หลายๆ อย่างผมว่ามันไม่ถูกด้วยซ้ำ ประเทศเรามีหลายวัฒนธรรมที่ในความเห็นของผมนั้นมันไม่ถูกเพราะบางเรื่องมันเป็นเรื่องของความเท่าเทียม สิทธิส่วนบุคคล แต่เราก็ยังเลือกทำอยู่ พอเราโตขึ้นผมก็คิดว่าก็ทำๆ ไปก็ได้ทั้งๆ ที่ไม่ได้เข้าใจมัน มันจะได้จบถ้าเรื่องนั้นมันก็ไม่ได้ส่งผลเสียอะไรมากมาย เพราะถ้าเอาแต่ขวางโลกมันก็จะทะเลาะกันเปล่าๆ โดยเฉพาะกับผู้ใหญ่ที่คุยยาก ผู้ใหญ่บางคนเขาเห็นเป็นเด็กเขาก็ไม่ฟังแล้ว นี้คือสิ่งที่จะทำให้เราเอาตัวรอดได้ง่ายขึ้นซึ่งเราจะต้องเรียนรู้
.
.
 ผมเป็นคนพูดตรงๆ เอาจริงๆ คนที่เป็นโรคนี้เยอะๆ โกหกไม่เป็นด้วยซ้ำ แต่ผมโกหกเป็นแต่ไม่เนียน และทำยังไงก็ไม่เนียน จริงๆ ตอนเด็กๆ ผมไม่ชอบการโกหกด้วยซ้ำ ไม่ไม่รู้เล่ห์เหลี่ยมของคน ผมเห็นอะไรก็พูดอย่างนั้น ในตอนเด็กๆ ผมเห็นเพื่อนลอกข้อสอบ หรืออย่างเมื่อไม่นานมานี้ผมพบว่ามีการทุจริตสอบ เมื่อมีคนถามจังหวะแรกที่ตอบผมก็บอกตรงๆ ไปว่ามี หลังจากนั้นจึงตอบว่าไม่รู้ จากเหตุการณ์นี้มันมี 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือสิ่งที่เป็นตัวผมซึ่งมันเป็นการตอบโต้จากสัญชาตญาณอัตโนมัติ ขั้นตอนที่ 2 คือสิ่งสังคมสอนเรา ถ้าเป็นตอนเด็กๆ ผมจะตอบตามสิ่งที่ตัวเองเห็นอย่างเดียวด้วยความซื่อ หากมีคนมาเถียงว่าไม่มีการลอกข้อสอบผมก็จะเถียงสุดใจเพราะมันเห็นกันชัดๆ ว่ามีการลอกข้อสอบ แต่พอโตขึ้นมาเราก็ต้องเรียนรู้ในการตอบเพื่อเอาตัวรอดด้วย ถ้าพูดตรงๆ แบบนั้นมันจะทำให้เราซวย ทุกครั้งที่ผมโกหกผมเสียใจเสมอมันเหมือนกับเราทำผิดอะไรบางอย่าง แต่เพื่อการเอาตัวรอดบางครั้งเราก็ต้องโกหกบ้าง (แต่นี้ก็เป็นไปตามอาการของโรค พอเป็นโรคน้อยก็พอจะแถๆ ได้บ้าง)
.
.
 อีกสิ่งหนึ่งที่ผมมีปัญหาก็คือ พูดตามมารยาท พูดไม่ตรงกับใจ พูดไม่หมดที่เหลือให้ไปคิดเอง เอาจริงๆ นะ คุณพูดอะไรผมก็ทำแบบนั้นแระ คุณอธิบายแค่ไหนผมก็รู้แค่นั้น ผมว่าคนเราหลอกใครก็หลอกได้แต่หลอกตัวเองไม่ได้ ถ้าหากคุณต้องการในสิ่งที่คุณไม่ได้พูดแต่ผมทำให้ไม่ได้ ผมก็ถือว่าไม่ผิด บางครั้งผมด่ากลับด้วยซ้ำ อย่างไปกลัวครับ เราไม่ได้ผิดอะไร เคยมีบางครั้งผมจะเอาของให้คนๆ หนึ่ง เขาจะปฏิเสธซึ่งก็คงเป็นไปตามมรายาทของเขา พอเขาพูดแบบนั้นผมก็ไม่ให้เขาจริงๆ เพราะคุณพูดเองว่าไม่เอา หรืออย่างเวลารับของถ้าเขาให้ผมไม่ต้องการก็จะพูดไปเลยว่าไม่เอา แต่ถ้าจะเอาก็จะไม่ลีลาก็จะรับเลย เคยมีผู้ใหญ่หรือเพื่อนหลายๆ คนสอนว่าเวลารับขอจะไปรับตรงๆ แบบนั้นไม่ได้มันเสียมารยาท ผมว่ามันไร้สาระมาก คุณจะลีลาเพื่ออะไร สร้างภาพมายาเพื่อหลอกตัวเอง จนถึงทุกวันนี้ผมไม่เถียงใครนะเวลาเขาบอกแต่ผมไม่ทำ ผมเชื่อในความจริงของตัวเอง ถ้าเราจะเอาคือเอา ไม่เอาคือไม่เอา จบ ผมไม่ได้บอกนะครับว่าผมคิดแบบนี้คือถูกแต่นี้คิดวิธีคิดของผมและคนเป็นโรคนี้อีกหลายคนก็คิดแบบนี้
.
.
 อีกสิ่งหนึ่งที่ผมมักจะเจอจากคนอื่นก็คือ พูดจาไม่เข้าหู มันก็สืบเนื่องมาจากเราไม่เข้าใจมารยาท เป็นคนพูดตรง และการตัดสินใจเฉพาะหน้าไม่ดี ทำให้การประเมินผิดพลาด ไม่รู้ว่าเรื่องไหนควรพูดหรือไม่ควรพูด บางครั้งคนก็จะมองว่าเป็นคนกวนตีน คือประมาณว่าพูดจาแต่ละอย่างก็ทำให้เขารู้สึกว่ากวนเขาประมาณนี้ครับ ตัวอย่างเช่น มีเพื่อนมาถามว่าวันนี้เขาแต่งตัวเป็นอย่างไร ผมก็ตอบไปว่า “แล้วแต่คนจะคิด” คือเขาก็มองว่าผมไปกวนตีนเขา แต่จริงๆ ผมไม่ได้กวนแต่ผมคิดอย่างนั้นจริงๆ คุณจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้ซึ่งแต่ละคนที่มองมันก็คิดไม่เหมือนกัน และคุณจะให้ผมตอบแทนทุกคนได้อย่างไร แล้วก็นั้นแระคนไทยเป็นคนที่ไม่ยอมพูดความจริง ใจอยู่อย่างปากอีกอย่าง เขาก็ไม่ยอมบอกเรา จะมีก็เพื่อนผู้ชายบางคนที่สนิทกันเขาก็มาบอกผม อันที่จริงผมก็ตกใจเหมือนกันเพราะมันดูเหมือนกับว่าผมจะกวนตีนคนอื่นเยอะมาก แต่เป็นผมยุคเก่าตอนเด็กก็คงไม่สนใจอะไร แต่ถ้าเป็นตอนนี้ก็สนใจเหมือนกันแต่ถึงเขามาบอกผมผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน หมอบอกว่าอันที่จริงมันต้องเข้ากิจกรรมบำบัดแต่เนื่องจากตอนที่ผมไปคุยกับหมอเป็นการไปรอบ 2 ตอนอายุ19 มันโตเกิน ในไทยไม่มีกลุ่มแบบนี้แล้ว ก็ต้องฝึกกับสังคมจริงเอา สุดท้ายก็เลยตามเลยครับ ผมว่าสุดท้ายเพื่อนจะรู้เองว่าตั้งใจกวนหรือเปล่า อีกอย่างถ้าจะมีเพื่อนที่เขารับเราได้สุดท้ายเขาก็รับเราได้เองครับ ต่อให้เราเตรียมตัวเพื่อจะดักไม่ให้เกิดความผิดพลาดล่วงหน้าแต่ถึงเวลาจริงๆ มันก็ทำไม่ได้หรอกครับ เพราะเรามีปัญหาเรื่องต่างๆ ที่เฉพาะหน้า
.
.
 อีกหนึ่งเรื่องที่ผมมักจะมีปัญหาก็คือ “ความลับ” อันที่จริงไม่มีใครอยากคุยเรื่องที่เป็นความลับกับผมเพราะเขามองว่าเก็บไม่อยู่ ประมาณว่า “เรารู้โลกรู้” ผมเข้าใจคนที่เป็นโรคนี้นะ เราอยู่บนพื้นฐานของความจริงที่ตรงไม่ยึดหยุ่น เพราะฉะนั้นสำหรับเราอะไรที่เป็นความจริงคือความจริง ซึ่งเมื่ออยู่บนชุดความคิดอัตโนมัตินี้แล้วมันก็ตามนั้น “ความลับไม่มีอยู่จริง” ดังนั้นคนเป็นโรคเยอะๆ ก็มีส่วนจริงที่ว่าเก็บความลับไม่เป็น แต่ผมเป็นน้อย ผมเข้าใจโลกของสังคมอยู่บ้างผมเก็บความลับเป็นแต่ปัญหาของผมคือบางครั้งผมไม่รู้ว่าเรื่องไหนเป็นความลับ บางทีคนนี้เล่าเรื่องเราก็ไม่รู้หรอก ว่าเป็นความลับแต่ถ้าเกิดว่าคุณพูดตรงๆ ไปเลยว่าเรื่องนี้เป็นความลับ ผมก็จะรู้ ดังนั้นผมว่าคนที่เป็นโรคน้อยก็คงเก็บความลับเป็นแต่คุณต้องบอกเข้าทุกครั้งว่า เรื่องไหนลับหรือไม่ลับ อย่าให้เขาเดาเองเพราะเขาเดาไม่ออก
.
.
 ผมแถมท้ายบทให้อีกเรื่องครับ บางครั้งเพื่อนๆ อาจจะมีการจัดกิจกรรมย่อยๆ เช่น งานวันเกิด ถ้าพูดถึงกิจกรรมวันเกิดสั้นๆ จะนึกถึงอะไรกันครับ ก็แน่นอนแระก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งมีเค้กและมีการตบมือร้องเพลงกัน อันที่จริงไม่ชอบอะไรแบบนี้เท่าไหร่แต่ในเมื่อเพื่อนจัดให้เพื่อนเราจะหนีไปก็คงจะไม่ดีแต่จะให้ผมตบมือร้องเพลงผมก็ไม่ชอบ สิ่งที่ผมทำส่วนใหญ่ก็คือยืนดูเฉยๆ ห่างๆ เอาจริงๆมันก็คงไม่ดีหรอกมันก็คงจะดูแปลกๆ ไปอีกอย่างเพื่อนอาจรู้สึกเสียใจก็ได้ ทำไมเราไม่สนุกกับเขา สิ่งที่ผมทำในตอนโตทุกครั้งที่มีแบบนี้ผมก็เลยอาสาเป็นคนถ่ายวิดีโอให้ ให้เพื่อนคนอื่นๆ ไปสนุกกันแทนที่เราจะยืนดูเฉยๆ ก็ไปเป็นคนถ่ายรูปซะ ผมว่ามันดูดีกว่ายืนเฉยๆ เอาละครับแต่ว่าอันนี้คือเป็นแค่การฉลอง 10 นาทีอะไรแบบนี้นะ ถ้าเป็นงานปาร์ตี้เป็นชั่วโมงอันนี้ช่วยไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นก็ไม่ต้องไปก็ได้ครับ

ผม P สุรเชษฐ์ ฆังนิมิตร 
สามารถติดตามและพูดคุยกับผมได้ที่เพจ : P สุรเชษฐ์ ฆังนิมิตร
หรือลิงค์ : https://www.facebook.com/psurachet95/?show_switched_toast=0&show_invite_to_follow=0&show_switched_tooltip=0&show_podcast_settings=0&show_community_transition=0&show_community_review_changes=0
ช่อง Youtube : P สุรเชษฐ์ ฆังนิมิตร 
หรือลิงค์ :  https://www.youtube.com/channel/UCcaotwQy4XufCWfUdJGmFtw
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่