JJNY : 4in1 ผักจีนส่งด้วยรถไฟความเร็วสูง│แนะรับมือstagflation│ก้าวหน้าเปิด 8 นโยบายสร้างเมืองพัทยา│แฉทหารรัสเซียสุดโหด

ถึงไทยแล้ว! ผักจีนล็อตแรก ส่งตรงด้วยรถไฟความเร็วสูง ลดค่าขนส่งได้ 20-30%
https://ch3plus.com/news/economy/ruangden/285821

เกษตรกรไทยเริ่มหนาว ผักสดจากจีนทะลักเข้าตีตลาดไทย ล่าสุด ล็อตแรกขึ้นรถไฟความเร็วสูงจากจีน ส่งตรงถึงตลาดไทยแล้ว 60 ตัน
 
โดยผักถูกขนส่งใส่ตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกผักสด ลำเลียงต่อมาจากรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว มีต้นทางจากคุณหมิง ส่งตรงถึงตลาดในไทย โดยในเที่ยวปฐมฤกษ์นี้ มีจำนวนมากถึง 60 ตัน นำเข้ามาโดยบริษัท วี คาร์โก้
 
ผักที่นำเข้ามา เช่น ผักกาดขาว บร็อคโคลี่ และกระหล่ำปลีรูปหัวใจ เป็นต้น ซึ่งการขนส่งโดยรถไฟนอกจากจะสะดวก รวดเร็วแล้ว ต้นทุนการขนส่งยังลดลง 20% ถึง 30% ด้วย
 
อีกมุม ในช่วงปลายเดือนหน้า ซึ่งจะเป็นฤดูผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียน ก็จะเป็นโอกาสให้เกษตรกรไทยได้ส่งออกผลไม้ไปยังจีน ผ่านเส้นทางรถไฟ โดยล่าสุด วี คาร์โก้ ได้ทำสัญญารวบรวมผลผลิตจากล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก รวบรวมทุเรียน เพื่อส่งไปจีน ได้ราว 1,000 ตันต่อวัน ซึ่งจะช่วยรองรับผลผลิตทุเรียนในฤดูกาลนี้ ที่คาดจะมีผลผลิตราว 700,000 ตัน รวมไปถึงผลไม้อื่น เช่น มังคุด ต่อเนื่องไปอีก 6-8 เดือน ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางการกระจายผลผลิตออกสู่ตลาด
 


แนะรัฐรับมือ stagflation ชี้มีสัญญาณเสี่ยงข้างหน้า
https://www.thansettakij.com/money_market/520346
 
กูรูประสานเสียง เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะ stagflation แต่มีสัญญาณเสี่ยงในระยะข้างหน้า ห่วงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง ฉุดกำลังซื้อในประเทศ ลามเศรษฐกิจชะลอตัว ด้านสศค.ยัน ยังไม่เห็นสัญญาณ มั่นใจเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง
 
stagflation กำลังถูกพูดถึงในระบบเศรษฐกิจไทยจากสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาฝืดเคืองท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
 
ภาวะ stagflation ถือเป็นฝันร้ายในทางเศรษฐกิจ เพราะการที่คนมีรายได้โตช้ากว่าค่าครองชีพ จะทำให้เกิดการรัดเข็มขัดไม่อยากบริโภค ผู้ประกอบการจะขายสินค้าได้ลดลง ทำให้ไม่เกิดการจ้างงานหรือลงทุนขยายกิจการ และในท้ายที่สุดอาจต้องปลดคนงานออก
  
ล่าสุดรองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจให้เตรียมรับมือกับ stagflation ที่กำลังจะมา
  
“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่า ไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิด stagflation มากกว่าที่จะบอกว่า เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะ stagflation แต่เสนอรัฐบาลประคองสถานการณ์ราคาน้ำมัน ค่าครองชีพ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางผ่านพ้นไปได้อย่างน้อย 3 เดือน  ขณะที่สศค.ชี้ว่า ยังไม่เห็นสัญญาณ ที่ไทยจะเข้าสู่ภาวะ stagflation     
  
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ภาวะ stagflation ซึ่งเป็นนิยามที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้เรียก ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วง 1970s ที่เกิดภาวะเศรษฐกิจหดตัวติดต่อกันถึง 5 ไตรมาส เงินเฟ้ออยู่ในระดับ 2 หลัก ขณะที่อัตราการว่างงานสูงถึง 9% ในช่วงปี 1975
 
เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดจากการที่สมาชิกกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันหรือ OPEC รวมกลุ่มกันลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบ สินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น จนกระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานอย่างรุนแรง
 
หากพิจารณาบริบทของเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน แม้จะมีแรงกดดันของพลังงาน การปรับเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง แต่ระดับความรุนแรงยังน้อยกว่าในช่วง 1970s ค่อนข้างมาก ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจ แม้จะชะลอลง แต่ยังคงอยู่ใกล้กับระดับศักยภาพการเติบโต ส่วนตลาดแรงงานหลายๆ ประเทศก็อยู่ในระดับที่ค่อนข้างตึงตัวจากปัญหาโควิด-19
  
“การพูดถึง stagflation ในปัจจุบัน น่าจะเป็นการพูดถึง ความเสี่ยงหรือความกังวลที่จะเกิด stagflation มากกว่าที่จะบอกว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะ stagflation จริงๆ” นายอมรเทพกล่าว
 
ทั้งนี้ หากแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ยังมีทิศทางปรับสูงขึ้น ธนาคารกลางต่างๆ ในภูมิภาคปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างพร้อมเพรียงมีโอกาสที่ธปท. จะเริ่มพิจารณาถึงความเหมาะสมของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่อาจเกิดขึ้นในการประชุมรอบท้ายๆ ของปีนี้
 
ด้านนายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยกรุงไทยระบุว่า หากมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยมีภาวะเสี่ยงชะลอตัวและเงินเฟ้อสูง จึงมีความเสี่ยงสู่ภาวะ stagflation ซึ่งรัฐบาลพยายามรับมือเบื้องต้น ลดผลกระทบประชาชน เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจชะงักงัน ซึ่งภาครัฐอาจต้องคุมต้นทุนให้ค่าโดยสาร ค่าครองชีพผ่านไปให้ได้ 3 เดือน เพราะภาวะ stagflation อยู่นอกเหนือการควบคุม
 
ขณะที่นโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังคงให้น้ำหนักเรื่องเศรษฐกิจโดยคาดว่ายังไม่ปรับดอกเบี้ยนโยบาย แม้เงินเฟ้อจะสูงกว่ากรอบเป้าหมายเพื่อช่วยภาคครัวเรือนและต้นทุนภาคธุรกิจ  หากดูต่างประเทศที่เจอเงินเฟ้อสูงเริ่มเห็นสัญญาณดัชนีความเชื่อมั่นลดลงต่อไปการใช้จ่ายจะชะลอตัว ซึ่งเมืองไทยดัชนีความเชื่อมั่นเริ่มแกว่งซึ่งรัฐบาลอาจช่วยคุมได้ เพราะหากปล่อยให้ไปถึงจุดนั้นเศรษฐกิจจะชะลอตัว
 
ขณะที่นายพรชัย ฐีระเวชผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณ stagflation ขึ้นในไทย ซึ่งคำว่า stagflation มาจากคำ 2 รวมกัน ได้แก่ stagnation คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือเศรษฐกิจซบเซา รวมกับคำว่า inflation หรือ ระดับราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพ ดังนั้นการเกิดภาวะ stagflation จะต้องดูองค์ประกอบของ stagnation และ inflation ว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่
 
หากดู stagnation จะต้องเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาสเป็นอย่างน้อย แต่จากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/64 เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ 1.9% ขณะที่ไตรมาส 1/65 ยังมั่นใจว่า เศรษฐกิจจะยังขยายตัวได้ ส่วนตัวเลขการว่างงานในไตรมาส 4/64 ก็ดีขึ้นอยู่ที่ 1.64% ปรับตัวดีขึ้นจาก 2.25% ในไตรมาส 3/64 ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้ไม่เข้าเงื่อนไข stagflation
 
ส่วนภาวะเงินเฟ้อ หมวดราคาสำคัญคือ ราคาพลังงานและอาหารสด ก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการปรับราคาสินค้าและบริการในวงกว้าง แต่ราคาพลังงานที่ปรับขึ้นสูง ล่าสุดกระทรวงพลังงานก็ได้เสนอ 10 มาตรการดูแลค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงยังมีมาตรการในการกำกับดูแลราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว
 


คณะก้าวหน้าเปิด 8 นโยบายสร้างเมืองพัทยา ชูนายกนักขาย ฟื้นท่องเที่ยว หยุดเมกะโปรเจ็กผลาญงบ
https://voicetv.co.th/read/2uqdvs-72

คณะก้าวหน้า เปิดตัว 8 นโยบายเมืองพัทยา 'บ๊อบ กิตติศักดิ์' มั่นใจชุดนโยบายตอบโจทย์ สร้างพัทยาที่เป็นของทุกคน ไร้เมกะโปรเจกต์ผลาญงบ เน้นนโยบายเพื่อคนพัทยาทุกกลุ่ม นายกต้องเป็นนักขาย สร้างรายได้ให้เมือง ด้าน 'ธนาธร' ย้ำเลือกตั้งกำหนดอนาคตของเมืองและชีวิตของทุกคน ชวนชาวพัทยา 22 พ.ค. ใช้เสียงสร้างการเปลี่ยนแปลง

เวทีเปิดตัวนโยบายของคณะก้าวหน้าที่โรงแรม แมนดาริน อีสต์วิลล์ ในวันนี้ มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังการแถลงนโยบายเป็นจำนวนมากจนล้นห้องประชุมที่จัดงาน โดยมีกิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย หรือบ๊อบ เบอร์ 3 ผู้สมัครนายกเมืองพัทยาในนามคณะก้าวหน้า พร้อมด้วยผู้สมัครสมาชิกสภาเมืองพัทยา (สม.) และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมแสดงวิสัยทัศน์

ภัคคมณฐ์ สุวรรณจิรทีปต์ ในฐานะคนพัทยาและผู้สนับสนุนของคณะก้าวหน้า ขึ้นกล่าวสะท้อนความรู้สึกในนามของคนพัทยาคนหนึ่ง โดยระบุว่าชาวพัทยาไม่ได้เลือกผู้แทนมา 10 ปีแล้ว ที่ผ่านมาชาวพัทยาได้รับแต่ความเพิกเฉย ไร้ที่พึ่ง ทั้งที่พัทยาเป็นเมืองอันดับต้นๆ รองจากกรุงเทพ ยามปกติมีรายได้ 2.5 แสนล้านบาทต่อปี มีงบประมาณมากกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี ที่สามารถเอามาพัฒนาฟื้นฟูบ้านเมืองให้ดีกว่านี้ได้ แต่การใช้งบประมาณที่ผ่านมากลับเต็มไปด้วยการขุดเจาะถนน รื้อถอนฟุตบาทวางท่อเล็กใหญ่ไม่จบสิ้น และยังละเลยให้เกิดน้ำท่วมทุกปีตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ปีที่แล้วสองครั้งติดกัน โดยเมืองทำได้เพียงปล่อยให้ประชาชนต้องรับผิดชอบชีวิตกันเอง
 
“ลูกอายุ 4 ขวบ ตลอดชีวิตของเขาเจอน้ำท่วมทุกปี เวลาบอกใครว่า อยู่พัทยาทุกคนจะมองว่าดูดี แต่นี่คือชีวิตที่เขาต้องเจอ สิ่งแวดล้อมความเป็นอยู่ของลูกหลานเราจะเป็นอย่างไรในอนาคตไม่มีใครรู้ แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ เราจะไปใช้สิทธิและเสียงของเรา เพื่อเปลี่ยนอนาคตให้ลูก” ภัคคมณฐ์กล่าว
 
ด้านชัยรัตน์ ผูกพัน ผู้สมัคร สม. เขต 3 ขึ้นกล่าวถึงที่มาของนโยบายทั้ง 8 ด้านของคณะก้าวหน้า โดยระบุว่าที่ผ่านมาผู้บริหารเมืองพัทยาทำนโยบายในแบบคิดเองทำเองตลอด ผ่านงบประมาณในสภาโดยที่ประชาชนไม่ได้แสดงความเห็น ผู้รับเหมาได้ประโยชน์กลุ่มเดียว จะกี่โครงการผ่านไป สิ่งที่ไม่เคยพัฒนาคือคุณภาพชีวิตของประชาชน น้ำท่วมเหมือนเดิม ถนนขุดเจาะเหมือนเดิม ทางเท้าใช้ไม่ได้เหมือนเดิม นักท่องเที่ยวไม่ปลอดภัยเหมือนเดิม นี่คือผลลัพธ์ของนโยบายแบบมัดมือชก
 
แต่สำหรับคณะก้าวหน้า มีทีมนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ร่วมเขียนนโยบายขึ้นโดยอาศัยการฟังความคิดเห็นจากประชาชนจริงๆ โดยผู้สมัครทุกคน ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้เรามั่นใจที่จะพูดได้ว่านี่คือนโยบายของประชาชนอย่างแท้จริง
 
“เรามีเจตจำนงมุ่งมั่น ที่ต้องการพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ดีกว่านี้ ให้คุณภาพชีวิตของประชากรดีกว่านี้ นอกจากการออกแบบผ่านการศึกษาอย่างเข้มข้นและการรับฟังความเห็นอย่างทั่วถึงแล้ว เรายังใส่เจตจำนงลงไปในนโยบายทุกข้อ ให้ผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดคือคนเมืองพัทยา ที่ทำให้เราเชื่อมั่นว่าพัทยาดีขึ้นกว่านี้ได้ หากเราได้รับความไว้วางใจจากชาวพัทยา” ชัยรัตน์กล่าว
 
ด้านธนาธร ระบุว่าการพัฒนาไม่ว่าจะในระดับตำบล อำเภอ เมือง และประเทศ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดขึ้นเพราะความมุ่งมั่นทางการเมือง และการตัดสินด้วยบัตรเลือกตั้ง เมืองจะพัฒนาไปในทิศทางใดหนีเรื่องการเมืองไม่พ้น อย่างเช่นในต่างประเทศหลายเมือง เมื่อได้ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และเอาใจใส่ประชาชนมาบริหาร เมืองจะรองรับการสร้างรายได้ให้เมืองและประชากร มีศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ มีนโยบายที่สนับสนุนการเติบโตของผู้คน ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมของชาวเมือง
 
และนี่คือสิ่งที่คณะก้าวหน้าพยายามทำตลอดเวลาที่ได้บริหารเทศบาล และ อบต. ทั้งหมดในสังกัดของคณะก้าวหน้า เจตจำนงทางการเมืองนำไปสู่การทำน้ำประปาดื่มได้ การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนผ่านการท่องเที่ยว การจัดการขยะ การพัฒนาการศึกษาในโรงเรียนสังกัดเทศบาล เป็นต้น
 
ธนาธรกล่าวต่อ ว่านี่จึงเป็นความสำคัญของบัตรเลือกตั้ง ที่จะกำหนดว่าเมืองของเราจะพัฒนาไปในทิศทางไหน ซึ่งไม่ได้เกิดโดยบังเอิญทั้งสิ้น แต่จะต้องมีคนผลักดันอย่างมีทิศทาง วิสัยทัศน์การพัฒนาอย่างที่เห็นในเมืองต่างประเทศ ไม่มีเหตุผลที่ท้องถิ่นไทยจะเป็นแบบนั้นไม่ได้ ถ้ามีความมุ่งมั่นทางการเมืองที่แน่วแน่พอ ถ้านายกเมืองมีวิสัยทัศน์และความแน่วแน่ เราจะสามารถผลักดันวาระต่างๆ ได้จริง
 
ด้านกิตติศักดิ์ ยืนยันว่านายกเมืองพัทยา จะต้องไม่เป็นแค่ผู้บริหารเมือง แต่ต้องเป็นนักขาย นำพัทยาไปขายกับต่างชาติเพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ เช้ามาสร้างรายได้ พลิกฟื้นเศรษฐกิจที่พังทลายจากโควิด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่