JJNY : 5in1 เจ๊งเพิ่ม–ขาดทุนยับ│พรุ่งนี้เบนซิน-โซฮอล์ขึ้น│หมูขึ้นอีก4บ.│กสิกรไทยหั่นจีดีพีปี’65│จาตุรนต์สับเละ10มาตรการ

เจ๊งเพิ่ม – ขาดทุนยับ วิกฤตน้ำมันแพง
https://www.innnews.co.th/video/general-news-clips/news_312025/
 

 
เจ๊งเพิ่ม – ขาดทุนยับ วิกฤตน้ำมันแพง
 
น้ำมันแพง สินค้าขึ้นราคา คือ ปัญหาใหญ่ของประชาชน ที่รัฐบาลกำลังเผชิญ นั่นเพราะเชื่อมโยงกับคะแนนนิยมที่อาจมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอนว่าการคุมสถานการณ์ด้วยการออก 10 มาตรการช่วยเหลือประชาชน ทั้งในเรื่องของก๊าซหุงต้ม ค่าไฟ ตรึงราคาน้ำมัน จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลเร่งดำเนินการแต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงาน ก็ยังส่งผลต่อระบบขนส่งธารณะด้วยเช่นกัน ซึ่งในฝั่งของรถร่วมเอกชน ที่ใช้ทั้งน้ำมันและใช้ก๊าซ NGV  เป็นเชื้อเพลิงหลักก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
  
โดยนายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน รถโดยสารร่วมบริการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ( รถร่วม ขสมก.) บอกกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ปัจจุบันรถร่วมเอกชนที่ให้บริการ ในเส้นทางกรุงเทพ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หยุดวิ่งไปหลายเส้นทาง ประกอบกับการที่กรมการขนส่งทางบก และ ขสมก.ได้ปฏิรูปเส้นทางเดินรถใหม่ ส่งผลต่อจำนวนรถที่บริการลดลง ซ้ำเติมด้วย ราคาน้ำมันแพง ที่เป็นต้นทุนหลักของผู้ประกอบต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น
  
ในขณะที่รายได้ลดลง เพราะประชาชนเดินทางน้อย ตัวเลือกในการใช้ระบบขนสาธารณะมีมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไม่ไหวหยุดให้บริการกว่า 50% แม้จะปรับขึ้นค่าโดยสารแต่ปัจจุบันสินค้ามีราคาแพง ค่าครองชีพสูง ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งไม่รู้ว่าจะต้องทำเช่นไรถึงจะสามารถประคับประคองให้ผ่านไปได้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่
  
เช่นเดียวกับเรือโดยสารคลองแสนแสบ ก็ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นเช่นกัน โดย นายเชาวลิต เมธยะประภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัทครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด ผู้ให้บริการเดินเรือโดยสารคลองแสนแสบ บอกกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. เช่นกันว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นเกินกว่าลิตรละ 25 บาท จำนวนผู้โดยสารลดลงจากวันละ 50,000คน เหลือวันละ 9,000-10,000คน ส่งผลทำให้การให้บริการขาดทุนทุกเดือนเดือนละ 3-5 ล้านบาท แม้จะปรับขึ้นค่าโดยสาร แต่ต้นทุนก็ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งถือว่าปรับตัวสูงขึ้นมาก เทียบกับรายได้
  
ขณะที่ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยกับ ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า จาก สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้นั้น ได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่าหารือกับผู้ประกอบการเรือโดยสารขอความร่วมมือในการชะลอการปรับขึ้นค่าโดยสาร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน
  
ด้านผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสามารถเสนอมาตรการที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเข้ามาได้เพื่อหาทางช่วยเหลือ โดยกรมเจ้าท่าและกระทรวงคมนาคมจะพิจารณามาตรการการช่วยเหลือตามความเหมาะสมและให้ผู้ประกอบการนั้นได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
  
นับว่าเรื่องของราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบรอบด้านไม่เว้นแม้แต่ภาคการขนส่งสาธารณะที่ต้องใช้น้ำมันเป็นหลัก แม้จะปรับอัตราค่าโดยสาร แต่ราคาต้นทุนแพงแซงหน้าไปแล้ว จากนี้ต่อไปคงต้องติดตามทั้งท่าทีของฝั่งผู้ประกอบการและรัฐบาลด้วยว่าจะร่วมกันแก้ไขปัญหาราคาพลังงานแพงเหล่านี้อย่างไร เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงกับค่าครองชีพของประชาชนนั่นเอง
 
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

 
โอ๊ยตายแล้ว! พรุ่งนี้เบนซิน-โซฮอล์ขึ้น 60 สต.รีบแวะปั๊มเลย ดีเซลคงเดิม
https://www.dailynews.co.th/news/893946/

ขึ้นไม่มีพัก หาปั๊มเติมด่วน น้ำมันเบนซิน-โซฮอล์ขึ้นอีก 60 สต. มีผลพรุ่งนี้ (26 มี.ค.) ตี 5 ขณะที่ดีเซลคงเดิม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พีทีที สเตชั่น และบางจากคอร์ปอเรชั่น ได้ประกาศปรับราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดขึ้น 0.60 บาทต่อลิตร ส่วนกลุ่มดีเซลทุกชนิด คงเดิม มีผล 26 มี.ค.65 เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป โดยราคาขายปลีกจะเป็นดังนี้ เบนซิน  = 47.96, แก๊สโซฮอล์ 95 = 40.55, อี 20 = 39.44, แก๊สโซฮอล์ 91 = 40.28, E85 = 32.74, ดีเซล-B7= 29.94, ดีเซล-B10 = 29.94, ดีเซล-B20=29.94, ดีเซลพรีเมียม B7 = 35.96 บาทต่อลิตร โดยราคาขายปลีกข้างต้นยังไม่รวมภาษีบำรุงกรุงเทพมหานคร


 
หมูขึ้นราคาอีก กก.ละ 4 บาท มีผลทันที เหตุอาหารสัตว์แพง - อากาศร้อน
https://www.khaosod.co.th/economics/news_6961485
 
สมาคมผู้เลี้ยงสุกกรแห่งชาติ ปรับราคาลูกสุกรขุนหน้าฟาร์ม ภาคใต้ เพิ่มขึ้น 2 บาท ต่อกก. ส่งผลให้หมูแพงขึ้นอีก กก.ละ 4 บาท เหตุต้นทุนอาหารสัตว์ และอากาศร้อน
  
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2565 รายงานข่าวจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกกรแห่งชาติ แจ้งว่าสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม (สัปดาห์ที่ 10/2565) ประจำวันพระที่ 25 มีนาคม 65 ว่าสมาคมได้ปรับขึ้นราคาลูกสุกรขุนหน้าฟาร์ม ในพื้นที่ภาคใต้ เพิ่มขึ้น 2 บาท ต่อกิโลกรัม
 
ส่งผลให้สุกรขุนหน้าฟาร์ม ปรับราคาจาก 88 บาท ต่อกิโลกรัม เป็น 90 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาขายส่งห้างสรรพสินค้า ปรับเพิ่มขึ้น 4 บาท ต่อกิโลกรัม คือปรับจาก 140 บาท ต่อกิโลกรัม เป็น 144 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนราคาขายปลีกทั่วไป ปรับเพิ่มขึ้น 4 บาท ต่อกิโลกรัม เช่นกัน คือ ปรับจาก 174-176 บาท ต่อกิโลกรัม เป็น 178-180 บาท ต่อกิโลกรัม
 
เนื่องจากต้นทุนอาหารสัตว์ยังคงเป็นปัญหาหลัก ที่สาธารณะยังคงไม่ตระหนักถึงภาระด้านต้นทุนการผลิตที่ก้าวกระโดดขึ้นของวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง แม้ภาวะวิกฤติระหว่างรัสเซีย-ยูเครน กระทบทุกคนอย่างชัดเจนกับต้นทุนด้านพลังงานน้ำมัน ที่กระทบค่าใช้จ่ายรายวันของผู้บริโภค
 
“ที่ประชุมคณะอนุกรรมการต้นทุนเมื่อ 18 มีนาคม 65 ประเมินต้นทุนการผลิตสุกรขุนไตรมาส 2/2565 กระโดดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 98.81 บาท ต่อกิโลกรัม สำหรับเกษตรกรที่ซื้อลูกสุกรเข้าขุน ที่เป็นภาระของเกษตรกรรายย่อย”
 
นอกจากนี้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรยังคงแปรผันตามความกังวลกับจำนวนผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ที่ยังสูงมาก เฉลี่ยทั้งประเทศ 25,000 รายต่อวัน ทุกภูมิภาคจึงทรงราคากันต่อเนื่อง โดยการเข้าสู่ฤดูร้อนจะเป็นปัจจัยให้สุกรโตช้า ซึ่งจะทำให้ปริมาณผลผลิตสุกรขุนจะออกสู่ตลาดลดลงในช่วงต่อไป


 
‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ หั่นจีดีพี ปี’65 เหลือ 2.5% ผลรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาน้ำมัน-อาหารพุ่ง
https://www.matichon.co.th/economy/news_3252383
 
‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ หั่นจีดีพี ปี’65 เหลือ 2.5% จากผลกระทบรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาน้ำมัน-อาหารพุ่ง
 
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีฐาน ที่การปะทะสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จำกัดอยู่ในบางพื้นที่ของประเทศยูเครน แต่ข้อตกลงร่วมกันคงยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้ และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกและสหรัฐฯ ต่อรัสเซียจะคงอยู่ไปตลอดทั้งปี 2565 นั้น คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบมีค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ปี 2565 จะขยายตัวที่ 2.5% ส่วนในกรณีดีนั้น คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีจะเติบโตอยู่ที่ 2.9% ซึ่งเกิดขึ้นบนสมมติฐานที่รัสเซีย-ยูเครนหาทางออกร่วมกันได้เร็วกว่าที่กำหนด หรือภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบอาจย่อตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง และทำให้ค่าเฉลี่ยน้ำมันทั้งปี 2565 อยู่ที่ 90 เหรียญสหรัฐ
 
ทั้งนี้ ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นข้างต้น จะส่งผ่านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยมองว่ามีโอกาสเร่งตัวสูงขึ้นแตะ 4.5% ในกรณีฐาน ท่ามกลางการที่ภาครัฐมีมาตรการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเม.ย. 65 ส่งผลให้ในบางช่วงของปีหลังจากนั้นราคาน้ำมันดีเซลอาจจะขยับขึ้นเกิน 30 บาทต่อลิตร หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ ความเสี่ยงเงินเฟ้อดังกล่าว ทำให้มีโอกาสที่ธนาคารโลก (เฟด) จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ส่งสัญญาณสู่ระดับ 1.75-2% ณ สิ้นปี 2565 รวมถึงเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเช่นกัน
 
นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ส่วนปัจจัยรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นมูลค่าราว 8 หมื่นล้านบาท โดยผลกระทบส่วนใหญ่ตกอยู่กับภาคธุรกิจ ซึ่งจะถูกกระทบแตกต่างกันตามสัดส่วนการใช้วัตถุดิบและความสามารถในการปรับตัว ขณะที่ผลกระทบบางส่วนตกอยู่กับผู้บริโภค ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบผ่านการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรป ซึ่งแม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยรวมในปี 2565 อาจแตะ 4 ล้านคน แต่การใช้จ่ายจะลดลงประมาณ 5 หมื่นล้านบาทจากกรณีที่ไม่มีสงคราม นอกจากนี้ ภาคการบริการอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่เพียงแต่ต้นทุนที่ขยับขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้นของผู้บริโภค ยังวนกลับมากดดันยอดขายภาคธุรกิจอีกด้วย ทำให้ในภาพรวมแล้วประเมินตัวเลขการขยายตัวของธุรกิจในกลุ่มรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีก และร้านอาหาร น้อยลงจากรณีไม่มีสงคราม
 
ด้าน นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า แม้การคว่ำบาตรทางการเงินของประเทศมหาอำนาจในโลกต่อรัสเซีย จะมีผลกระทบทางตรงที่จำกัดตามปริมาณการค้าระหว่างรัสเซีย-ยูเครนกับไทย แต่จุดติดตามจะอยู่ที่สถานการณ์ที่ยังไม่นิ่ง ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนไหวของตลาดการเงินผันผวนต่อเนื่อง และต้นทุนการระดมทุนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากความไม่แน่นอนที่ยังอยู่และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยภายในปี 2565 จะมีตราสารหนี้ภาคเอกชนที่รอครบกำหนดอีกกว่า 7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก คงต้องได้รับการดูแลเพิ่มเติมในแง่ของวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนเพิ่มเติมในรายที่ยังประคองคำสั่งซื้อไว้ได้ รวมถึงประเด็นปรับโครงสร้างหนี้และคุณภาพหนี้ ซึ่งรวมแล้ว สินเชื่อธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากต้นทุนน้ำมันและวัตถุดิบอาหารที่เพิ่มขึ้น จะมีสัดส่วนประมาณ 4-5% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ขณะที่ ประเมินภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งปีนี้ที่ 4.5% ในกรณีฐาน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่