JJNY : นิวไฮทะลุ7.2หมื่น│เชื่อมั่นผู้บริโภค-ธุรกิจ ร่วงยกแผง│ขึ้นรายวัน‘น้ำมันปาล์ม-ถั่วเหลือง’│รัสเซียถล่มรพ.เด็กเจ็บ17

โควิดนิวไฮ ทั้งตาย-ติดเชื้อใหม่ ทะลุ 7.2 หมื่นราย
https://www.matichon.co.th/covid19/thai-covid19/news_3224776
 
 
โควิดนิวไฮ ทั้งตาย-ติดเชื้อใหม่ ทะลุ 7.2 หมื่นราย

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวัน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวม 22,984 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 22,937 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 47 ราย

ผู้ป่วยสะสม 888,422 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 24,161 ราย หายป่วยสะสม 699,517 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 220,334 ราย เสียชีวิต 74 ราย
 
ขณะที่ ผู้ติดเชื้อเข้าข่ายจากผลแอนติเจน เทสต์ คิท (เอทีเค) อีก 49,494 ราย อาการหนักใช้ท่อช่วยหายใจ 420 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,238 ราย โดยจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพฯ นครศรีธรรมราช ชลบุรี สมุทรปราการ  นนทบุรี สมุทรสาคร อยุธยา ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี และบุรีรัมย์



เชื่อมั่นผู้บริโภค-ธุรกิจ ร่วงยกแผง ต่ำรอบ 5 เดือน 3 ปัจจัยกดดันหนัก “โอมิครอนพุ่ง-น้ำมันแพง-ค่าครองชีพสูง”
https://www.matichon.co.th/economy/news_3223338
 
 เชื่อมั่นผู้บริโภค-ธุรกิจ ร่วงยกแผง ต่ำรอบ 5 เดือน 3 ปัจจัยกดดันหนัก “โอมิครอนพุ่ง-น้ำมันแพง-ค่าครองชีพสูง”
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย(ภาคเอกชน) เดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบว่า ดัชนีทุกรายการลดลง โดยค่าดัชนีลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จากความกังวลใน 3 ปัจจัยหลัก คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นและกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต รวมถึงการที่ระดับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและปัญหาราคาสินค้าแพง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
 
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า โดยส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม ( CCI) ลดลงจากระดับ 44.8 เดือนมกราคม เป็น 43.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ลดลงจาก 28.5 มาอยู่ที่ 27.5 ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตลดลงจากระดับ 52.5 มาอยู่ 50.8 ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 37.2 40.1 และ 52.6 ตามลำดับ ลดลงจาก 38.7 41.4 และ 54.4 ตามลำดับ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยโดยรวมอยู่ที่ 36.1 จากระดับ 37.2 ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในปัจจุบัน อยู่ที่ 36.7 จาก 38.1 ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในอนาคต อยู่ระดับ 35.5 จาก 36.2
 
“ทุกดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก ล้วนมาจากความกังวลในวิกฤตโควิดในไทยและทั่วโลก จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซ้ำเติมด้วยปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต หลายประเทศมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัสเซียมากขึ้น และอาจมีภาวะสงครามยืดเยื้อและบานปลาย อาจส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดน้อยถดลงและระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาวะสงคราม ซึ่งต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงไรและยาวนานเพียงใด โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง คาดว่าเดือนถัดจากนี้ความเชื่อมั่นมีโอกาสลลดลงต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 3.5-4.5%” นายธนวรรธน์ กล่าว
 
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ข้อเสนอที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ คือ หาแนวทางป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากสงครามรัสเซียกับยูเครน ออกมาตรการแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 รายใหม่ในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาราคาน้ำมัน ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ออกมาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ครอบคลุมทุกมิติ อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศและเพิ่มรายได้ให้ประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่ ประชาชนอย่างทั่วถึงและเสมอภาค รวมถึงออกมาตรการการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยควรจะเร่งรัดการลงทุนโครงการขนาด ใหญ่ของรัฐ ให้มีเม็ดเงินกระจายลงไปในพื้นที่ทั้งโครงการ EEC และโครงสร้างพื้นฐานสร้างความเชื่อมโยง
  

 
ขึ้นราคารายวัน ‘น้ำมันปาล์ม-ถั่วเหลือง’ ทะลุ 60 บาท ‘บะหมี่-เกลือแร่-โซดา’ เริ่มปรับขึ้นแล้ว
https://www.matichon.co.th/economy/news_3223190
 
ขึ้นราคารายวัน ‘น้ำมันปาล์ม-ถั่วเหลือง’ ทะลุ 60 บาท ‘บะหมี่-เกลือแร่-โซดา’ เริ่มปรับขึ้นแล้ว
 
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ผู้สื่อข่าวสำรวจสถานการณ์ราคา น้ำมันพืชเพื่อการบริโภค ในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง พบว่าชั้นวางสินค้าของ น้ำมันปาล์ม และ น้ำมันถั่วเหลือง บรรจุขวดขนาด 1 ลิตร ยังขาดแคลน ไม่มีวางจำหน่ายบนชั้นสินค้า และจำกัดจำนวนการซื้อ โดยน้ำมันถั่วเหลืองครอบครัวละไม่เกิน 2 ขวด/ 1 ใบเสร็จ ส่วนน้ำมันปาล์มครอบครัวละไม่เกิน 3 ขวด/ 1 ใบเสร็จ
 
ขณะที่ราคาขายได้มีการปรับขึ้นเช่นกัน จากเดิมน้ำมันถั่วเหลืองเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 55 บาท/ขวด ปรับเป็น 60 บาท/ขวด ส่วนน้ำมันปาล์มจากเดิม 58 บาท/ขวด เป็น 62 บาท/ขวด สาเหตุเป็นผลพวงจากปาล์มมีการปรับราคาสูงขึ้น จึงทำให้คนหันมาซื้อน้ำมันถั่วเหลืองแทน ทำให้มีความต้องการสูงและการสต๊อกสินค้าเริ่มตึงตัว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนของ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จากการสำรวจพบว่ามีซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งเริ่มเปลี่ยนราคาขายใหม่ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีบะหมี่ยี่ห้อดังปรับราคาขายจากเดิม 53-55 บาท เป็น 60 บาท (10 ซอง) หรือขึ้นมาซองละ 50 สตางค์ แต่ยังมีบางซูเปอร์มาร์เก็ตยังไม่เปลี่ยนราคายังขายราคาแพคละ 53 บาท
 
ผู้สื่อข่าวสอบถามผู้ที่มาซื้อสินค้ารายหนึ่งระบุว่า น้ำมันถั่วเหลืองแพงขึ้น แต่ยังถูกกว่าน้ำมันปาล์ม และเริ่มซื้อตุนไว้ เพราะกลัวของจะปรับราคาขายขึ้นอีก หลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพราะเป็นของจำเป็นต้องใช้ ตอนนี้ราคาสินค้าแพงขึ้นทุกอย่าง
 
สำหรับความเคลื่อนไหวสินค้าอื่นๆ แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกค้าส่ง กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้รับแจ้งจากผู้ผลิต เครื่องดื่มเกลือแร่เจ้าดัง จะปรับราคาขายเพิ่มอีกขวดละ 2 บาท จากเดิม 10 บาท เป็น 12 บาท ในเดือนเมษายนนี้ นอกจากนี้ ผู้ผลิตน้ำโซดารายใหญ่ ได้ปรับราคาขายขึ้นอีกขวดละ 1 บาท เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่