JJNY : โรงงานโอดวัตถุดิบพุ่ง│บ.มะกันเผย‘ทอ.’เล็งซื้อ“เอฟ-35”│พ่อแม่หมอกระต่ายฟ้อง”ตร.-ส.ต.ต.”│“อนุทิน”ไม่แตะ"ทักษิณ"

ตรึงดีเซลลดต้นทุนผลิตสินค้า โรงงานโอดวัตถุดิบพุ่งกัดฟันสู้ต่อ
https://www.prachachat.net/economy/news-865916
 
 
ไม่ว่าจะเป็นการ “จำกัด” ปริมาณการเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก ตลอดจนความตึงเครียดในกรณีของยูเครน ล้วนส่งผลให้ “ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก” ปรับตัวสูงขึ้นจนใกล้ที่จะแตะระดับ 100 เหรียญ/บาร์เรล
 
ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงมาถึง “ต้นทุน” การผลิตสินค้าและค่าขนส่งของโรงงานผู้ผลิตภายในประเทศสะท้อนจากการปรับขึ้นราคาขายปลีกของน้ำมันชนิดต่าง ๆ ยกเว้น น้ำมันดีเซล ที่รัฐบาลประกาศที่จะตรึงราคาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร โดยใช้การ “อุดหนุน” ราคาน้ำมันของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วย
 
ความกังวลในเรื่องของราคาน้ำมันสะท้อนให้เห็นจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมกราคม 2565 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อยู่ที่ระดับ 88.0 หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 86.8 แม้ว่าค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันแล้ว และกลับมาอยู่ระดับใกล้เคียงก่อนวิกฤตโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 แต่ “ต้นทุนประกอบการ” ยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากราคาพลังงานและค่าขนส่ง
 
จากผลสำรวจผู้ประกอบการ 70.1% ให้คำตอบต่างกังวลเรื่องของราคาน้ำมัน สอดคล้องกับผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค หอการค้าไทย ในเดือนมกราคม 2565 ปรากฏลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 44.8 จากเดือนธันวาคม 2564 ที่ระดับ 46.2 เป็นผลจากความกังวลในเรื่องราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้น นำมาสู่การปรับขึ้นค่าขนส่งอีก 20% ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนคิดเป็นสัดส่วน 15-20%
 
อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยยังยืนยันที่จะ “ไม่ปรับ” ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4% และยังมองในแง่ดีว่า ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงานจะเป็นผลกระทบชั่วคราว ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อของไทยในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 2.5-3.5% แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนหากคลี่คลายลงได้ จะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้นไม่สูงเกินกว่า 100 เหรียญ/บาร์เรล
แต่หากสถานการณ์ยังไม่สามารถคลี่คลาย ราคาน้ำมันดิบอาจจะทะลุถึง 120 เหรียญ/บาร์เรล
 
ต้นทุนน้ำมันดีเซลกระทบน้อย
 
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวถึงผลวิเคราะห์ต้นทุนน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้น 5 บาท หรือจาก 25 บาทเพิ่มเป็น 30 บาท/ลิตร (และถูกตรึงราคาไว้จากนโยบายของรัฐบาล) ต่อต้นทุนการผลิตสินค้า พบว่ากระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า “ไม่มากนัก” (ตารางประกอบ)ดังนั้น ราคาน้ำมันดีเซลที่ยังไม่เกิน 30 บาท/ลิตร จึงไม่ใช่เหตุผลที่จะใช้ขอปรับขึ้นราคาสินค้า และกรมการค้าภายในได้เชิญภาคเอกชนเข้ามาหารือ พร้อมทั้ง “ขอความร่วมมือ” ให้ตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อไป
 
อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า, น้ำอัดลม, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ซอสปรุงรส, นมและผลิตภัณฑ์จากนม, อาหารกระป๋อง, อาหารสด (ไข่ไก่-เนื้อไก่-เนื้อหมู) ในอีกด้านหนึ่ง กรมการค้าภายในได้ประสานไปยังซัพพลายเออร์ให้จัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคต้นทุนถูกให้กับ “ร้านค้าธงฟ้า” จำนวน 130,000 ราย นำไปจำหน่ายช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนด้วย
 
กรมการค้าภายในได้ติดตามดูแลสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด และมั่นใจว่ารัฐบาลดูแลราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในระดับ 30 บาท/ลิตร จะทำให้ต้นทุนสินค้าไม่ปรับเพิ่มไปมากกว่านี้ และยังประเมินว่าต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับขึ้นจะมีผลกระทบต่อสินค้ามากน้อยต่างกัน แต่โดยภาพรวมไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มแบบขั้นบันไดในเดือนเมษายน 2565 อีก 15 บาทต่อถัง จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการทำอาหารปรุงสำเร็จแค่หลักสตางค์ต่อจาน/ชามเท่านั้น” นายวัฒนศักย์กล่าว
 
วอนรัฐดูแลต้นทางผลิตสินค้า
 
ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ให้ความเห็นหลังการหารือกับกรมการค้าภายในว่า ภาคเอกชนยอมรับจะช่วยตรึงราคาจำหน่ายสินค้าต่อไป ขณะเดียวกันเสนอขอให้กรมการค้าภายในช่วยดูแล “ต้นทาง” ด้วย หากต้นทางปรับราคาสูงขึ้น ผู้ประกอบการรายย่อยอาจจะได้รับผลกระทบมาก
 
โดยการตรึงราคาสินค้าจะสามารถทำได้นานเท่าไร ขึ้นอยู่กับ “สายป่าน” ของผู้ประกอบการแต่ละราย หากต้นทางปรับขึ้นเรื่อย ๆ รายย่อยจะกระทบก่อนจากต้นทุนที่ปรับมาจากหลายด้าน
 
แต่หากคำนวณเฉพาะราคาน้ำมันแน่นอนว่าต้นทุนจะไม่เกิน 2% แต่หากรวมค่าขนส่ง-แพ็กเกจจิ้ง-น้ำ-ไฟฟ้า หรือแม้แต่ปุ๋ย และค่าแรง ต้นทุนในส่วนนี้ก็จะคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 2%
 
“การขึ้นราคาสินค้าจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้สินค้าอื่น ๆ มีราคาเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งในสินค้าอาหาร โภคภัณฑ์เชื้อเพลิง ปัญหาด้านอุปทานจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้เกิด supply shock เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวก็จะทำให้เกิดภาวะ demand มากกว่า supply
 
โดยกลุ่มสินค้าเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ในช่วงตรุษจีน 2565 ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 35-60% ผลจาการแพร่ระบาดของโรค ASF ในหมู ค่าอาหารสัตว์เลี้ยงสูงขึ้น สินค้าผักผลไม้ปรับขึ้นราคาจากเหตุการณ์อุทกภัยในปี 2564 กระทบหลายพื้นที่ ค่าปุ๋ยปรับราคาสูงขึ้น ค่าระวางเรือสูงขึ้น ปัญหาการปรับขึ้นราคาของบรรจุภัณฑ์ในทุกประเภท เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์โลหะที่ปรับขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 กระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง” นายวิศิษฐ์กล่าว
 
แม้ต้นทุนด้านวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง ของผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้น แต่การปรับขึ้นราคาขายสินค้า “เป็นเรื่องยาก” ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำต้องแบกรับต้นทุนรอบด้าน “หากใครไม่ไหวก็ต้องปิดกิจการไป” อีกด้านหนึ่งการปรับขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนก็อาจส่งผลต่อการแข่งขันในตลาดโลกด้วย
 
เรื่องนี้หากไม่ได้รับการแก้ไข ผมเชื่อว่าปี 2565 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารของผู้บริโภคจะปรับขึ้น 8-10% ดังนั้นการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าแพงจากปัญหาราคาน้ำมัน รัฐบาลควรลดภาษีสรรพสามิต เพราะถ้าราคาน้ำมันลดลง เรื่องของ supply shock ก็ลดลงได้ ซึ่งน้ำมันเป็นตัวหลักในการผลิตสินค้า” นายวิศิษฐ์กล่าว
 
ผู้ประกอบการโอดต้นทุนสินค้าพุ่ง
 
สำหรับสถานการณ์ของผู้ประกอบการที่ “ต้นทุนการผลิตสินค้า” ได้รับผลกระทบจาก “ต้นทุนวัตถุดิบ” อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์สำหรับการผลิตสินค้าเกษตรก็คือ “ปุ๋ย
 
ทางผู้ประกอบการค้าปุ๋ยกล่าวว่า ราคาน้ำมันบวกกับค่าขนส่งค่าระวางเรือมีผลทำให้แม่ปุ๋ยในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการ โดยราคายูเรียปัจจุบันราคาตันละ 862 เหรียญ หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ตันละ 600 เหรียญ,
 
ราคาโพแทสเซียมตันละ 877 เหรียญ เพิ่มขึ้นจากปีที่ก่อนตันละ 350-400 เหรียญ, แอมโมเนียมฟอสเฟตตันละ 400 เหรียญ จากปีก่อนตันละ 200 เหรียญ, โมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต ตันละ 625 เหรียญ จากราคาตันละ 260 เหรียญ “เราประเมินว่าแนวโน้มปุ๋ยยูเรียจะยังทรงตัวในระดับสูง แต่เอกชนยังให้ความร่วมมือกับรัฐในการจำหน่ายปุ๋ยราคาถูกต่อไป”
 
นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงราคาอะลูมิเนียมปรับสูงขึ้นจากผลกระทบจากต้นทุนพวกซิลิกอน แมงกานิส และแมกนีเซียมเกือบ 4 เท่าตัว
 
เฉพาะแมกนีเซียมจากตันละ 2,000 เหรียญ เป็น 10,000 เหรียญ และปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ตันละ 8,000 เหรียญ ทางผู้ผลิตอะลูมิเนียมกำลังกังวลกับเรื่องของราคาและปริมาณการผลิตสามารถเกิดการขาดแคลนเมื่อไรก็ได้
 
ขณะที่เรื่องพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนหลักได้ปรับสูงขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ ก๊าซ LNG ปรับสูงขึ้นเกิน 50% จากปีก่อนไปแล้ว
 
ดังนั้นในระยะสั้นทางกลุ่มจึงเสนอให้รัฐควรคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% อย่างน้อย 1 ปี เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้รวดเร็วเป็นพิเศษ ปรับลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา-บาดาลสำหรับโรงงานอย่างน้อย 20% ตรึงราคาแก๊สธรรมชาติอย่างน้อย 1 ปี หรือลดค่าใช้จ่ายพิธีการในการนำเข้าและส่งออกที่ท่าเรือ
เช่นเดียวกับ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าวโพดมีโอกาสขยับจาก กก.ละ 11 เป็น 12 บาท ในเดือนเมษายนนี้
 
ขณะที่ตลาดธัญพืชโลกได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดในรัสเซีย ทำให้ราคาข้าวสาลีอาจจะขยับจาก กก.ละ 8.91 บาท เป็น 12 บาท กากถั่วเหลืองจาก กก.ละ 16.51 บาท เป็น 20 บาท ส่วนกากถั่วเหลืองที่ซื้อจากโรงสกัดน้ำมันในประเทศ กก.ละ 21 บาท ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อการผลิตเนื้อสัตว์ทั้งสิ้น


 
ซื้ออีก! บริษัทมะกันเผย ‘ทัพอากาศไทย’ เล็งซื้อบินรบ “เอฟ-35”
https://www.matichon.co.th/foreign/news_3188103

ซื้ออีก! บริษัทมะกันเผย ‘ทัพอากาศไทย’ เล็งซื้อบินรบ “เอฟ-35”
 
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน ที่งานสิงคโปร์แอร์โชว์ นายทิม คาฮิลล์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการค้าระดับโลกของบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน บริษัทด้านอากาศยานของสหรัฐอเมริกา ยืนยันว่า ทางการไทยมีความสนใจที่จะซื้อเครื่องบินขับไล่ล่องหน F-35 ของล็อกฮีด มาร์ตินจริง แต่การอนุมัติการซื้อเครื่องบินขับไล่นั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐ
 
ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐระบุว่า ยังไม่สามารถยืนยันหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการซื้อขายดังกล่าวจนกว่าจะมีการแจ้งอย่างเป็นทางการต่อรัฐสภา
 
ทั้งนี้เมื่อเดือนมกราคม กองทัพอากาศขอไทยได้จัดสรรเงินประมาณ 413 ล้านดอลลาร์เพื่อจัดหาเครื่องบินขับไล่จำนวน 4 ลำ ก่อนหน้านี้ พลอากาศเอกนภาเดช ธูปะเตมีย์ กล่าวว่า ประเทศไทยจะสนใจที่จะซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35 มากถึงแปดลำ โดยเครื่องบิน F-35 เป็นหนึ่งในเครื่องบินขับไล่ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด ซึ่งจะขายให้กับประเทศที่เป็นพันธมิตรสหรัฐเท่านั้น อย่างในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกก็มีเพียงออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสิงคโปร์เท่านั้นที่ใช้เครื่องบินดังกล่าว
 
ความสนใจที่จะซื้อเครื่องบินรบของรัฐบาลไทยในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากกองทัพอากาศไทยทุ่มเงิน 4,675 ล้านบาทเพื่อซื้อเครื่องบินจู่โจมขนาดเล็ก  Beechcraft AT-6 Wolverine จำนวน 8 ลำ เมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีก่อน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่