JJNY : 4in1 เปิดรายงาน ป.ป.ท.!│ตลาดสมาร์ทโฟนซึม│สภาเตรียมถกร่างกม.เลือกตั้ง10ฉบับ│‘ชลน่าน’ชี้กม.เขียนกำกวม

เปิดรายงาน ป.ป.ท.! รับ ‘นักธุรกิจ-ต่างชาติ’ ยังไม่เชื่อมั่นการปราบปราม‘ทุจริต’ของไทย
https://www.isranews.org/article/isranews-news/106714-gov-TI-Corruption-Perceptions-Index-2564-news.html
 
 
เปิดรายงาน ป.ป.ท. ยอมรับ ‘นักธุรกิจ-ต่างชาติ’ ยังไม่เชื่อมั่นการป้องกันและปราบปราม ‘ทุจริต’ ของไทย สะท้อนคะแนน CPI ที่ลดลง ขณะที่ ‘นักธุรกิจทั่วโลก’ 4,300 คน ให้คะแนนเรื่องการให้ ‘สินบน’ ในไทย ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่ ครม.รับทราบมาตรการยกระดับมาตรการ
ขับเคลื่อน ‘ยกระดับคะแนน CPI’ คุมเข้มจัดซื้อจัดจ้างโครงการที่ใช้งบตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป
................................
 
จากกรณีที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) เผยแพร่ผลสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2564 โดยประเทศไทยได้คะแนน 35 คะแนนอยู่ในอันดับ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ลดลง 6 อันดับ เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ประเทศไทยได้คะแนน 36 คะแนน อยู่ในอันดับ 104 (อ่านประกอบ : เบื้องหลังไทยร่วง 6 อันดับ CPI ปี 64 ปัญหาจัดซื้อช่วงโควิด-ห่วงแก้การเมืองมากกว่าทุจริต) 

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้รายงานผลการวิเคราะห์ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2564 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ
 
โดยรายงาน ป.ป.ท. ระบุตอนหนึ่งว่า ภาพรวมคะแนนของไทยที่ลดต่ำลง โดยเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตการทุจริตของประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่สำคัญ เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่คะแนนเพิ่มขึ้น เป็นเครื่องสะท้อนว่า นักธุรกิจ นักลงทุน ชาวต่างชาติ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญที่ประเมินประเทศไทย ยังไม่เชื่อมั่นในการบริหารจัดการเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันชองประเทศไทยเท่าที่ควร
 
รายงาน ป.ป.ท. ยังเปรียบเทียบผลคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2564 เทียบกับ 4 ปีย้อนหลัง ผลปรากฏว่า นักธุรกิจต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ให้คะแนนในเรื่อง The Political and Economic Risk Consultancy (PERC) หรือคะแนนการคอร์รัปชันในประเทศไทยที่ระดับ 36 คะแนน ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่ในปี 2560 ประเทศไทยได้คะแนน PERC ที่ระดับ 40 คะแนน
 
เช่นเดียวกับเรื่อง World Justice Project Rule of Law Index Expert Survey (WJP) หรือคะแนนการใช้อำนาจรัฐเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวของข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายทหารและตำรวจ ซึ่งพบว่าผู้เชี่ยวชาญให้คะแนนประเทศไทยที่ระดับ 35 คะแนน ต่ำสุดในรอบ 5 ปี เมื่อ เทียบกับปี 2560 และปี 2561 ที่ประเทศไทยได้คะแนน WJP ที่ระดับ 40 คะแนน

นอกจากนี้ นักธุรกิจทั่วโลก 4,300 คน ยังให้คะแนนเรื่อง IMD World Competitiveness Center World Competitiveness Yearbook Executive
Opinion Survey (IMD) หรือคะแนนการให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชัน ต่ำสุดในรอบ 5 ปีเช่นกัน โดยในปี 2564 ประเทศไทยได้คะแนน 39 คะแนน เทียบกับปี 2560 ที่ประเทศไทยได้คะแนน 43 คะแนน
 
รายงาน ป.ป.ท. ระบุด้วยว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้มีข้อเสนอแนะสำคัญต่อประเทศไทย 4 ประเด็น ได้แก่
 
1. ส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ เพื่อเป็นพลังในการตรวจสอบการทุจริต รัฐบาลควรที่จะจัดการในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน และส่งเสริมการต่อสู้ประเด็นสิทธิมุนษยชนในกระบวนการยุติธรรม ให้เป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วน

2. สร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานตรวจสอบการทุจริต โดยขยายโครงสร้างหน่วยงานต่อต้านการทุจริต และหน่วยงานตรวจสอบอื่นๆ ให้มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล เพื่อระงับยับยั้งการกระทำการทุจริต โดยรัฐสภาและศาล ควรที่จะเฝ้าระวัง ป้องกันเพื่อมิให้ เจ้าหน้าที่กระทำการเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่

3. การปราบปรามการทุจริตข้ามชาติ รัฐบาลควรปรับปรุงจุดอ่อนของระบบที่เป็นช่องทางของการทุจริตข้ามชาติ อาชญากรรมทางการเงิน โดยลดช่องว่างทางกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่กระทำการทุจริตต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

4. สนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส (Covid 19) ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติวาระพิเศษว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UNGASS ) เมื่อเดือนมิ.ย.2021 กำหนดให้ภาครัฐต้องให้สัตยาบรรณว่าต้องมีการป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งการมีความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณที่ดียิ่งจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
 

 
ตลาดสมาร์ทโฟนซึม‘เจมาร์ท’งัดกลยุทธ์เดินเคาะประตูบ้านขาย
https://www.thansettakij.com/tech/514599

ตลาดสมาร์ทโฟนไตรมาสแรกซึมกำลังซื้อหาย คนเดินห้างหด “เจมาร์ท โมบาย” งัดกลยุทธ์ส่งพนักงานหน้าร้านเดินเคาะประตูบ้านเสนอ “สินค้า-สินเชื่อ” ผู้บริโภคโดยตรง พร้อมเพิ่มจุดขายนอกห้างวางขายสมาร์ทโฟน อุปกรณ์เสริม ผ่านเครือข่ายร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า“เจ ดี กรุ๊ป”
 
นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ทโมบาย จำกัด (JAYMART MOBILE) เชนสโตร์จำหน่ายมือถือและอุปกรณ์เสริม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าตลาดสมาร์ทโฟนช่วงไตรมาสแรกเติบโตขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามกำลังซื้อในตลาดมีปัญหา เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดโควิด ทำให้คนจับจ่ายใช้สอยลดลง ขณะที่ปริมาณคนเดินห้างสรรพสินค้าก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าภาครัฐจะมีโครงการ “ช้อปดีมีคืน” แต่ก็ช่วยกระตุ้นการเติบโตของตลาดไม่มากนัก
     
ทั้งนี้มองว่าสินค้าไอที และสมาร์โฟนยังเป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็น และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยนอกจากการมุ่งพัฒนาช่องทางจำหน่ายออนไลน์ JaymartStore.com ที่ถูกพัฒนาด้านการส่งสินค้า Online to Offline และการสั่งสินค้าหน้าร้านพร้อมบริการส่งสินค้าถึงที่บ้าน โดยเจมาร์ทเป็นพาร์ทเนอร์กับ Kerry ในการให้ร้านเจมาร์ทกว่า 160 สาขา เป็น Kerry Drop Point เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับส่งสินค้า
 
เจมาร์ทโมบาย ยังมุ่งแก้โจทย์ในเรื่องของกำลังซื้อ โดยพยายามหาวิธีกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งรถโมบาย และพนักงานหน้าร้าน ส่วนหนึ่งออกไปเดินเคาะประตูบ้านตามชุมชนต่างๆ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการสินเชื่อ ตรงถึงผู้บริโภค เพื่อแก้ปัญหาคนเดินห้างสรรพสินค้าลดลง ขณะเดียวกันก็มุ่งขยายช่องทางจำหน่ายนอกห้าง
 
โดยล่าสุดได้ตั้ง บริษัท เจ ดี กรุ๊ป จำกัด (Jaydee Group) ผู้ประกอบการดีลเลอร์ ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วประเทศมาร่วมเสริมอีโคซิสเต็มของกลุ่มเจมาร์ทซึ่งต่อไปเจมาร์ทโมบาย สามารถนำสมาร์ทโฟน อุปกรณ์ไอที และอุปกรณ์เสริมต่างๆ เข้าไปวางขายหน้าร้าน เจ ดี กรุ๊ป ที่เป็นจุดขายนอกห้างสรรพสินค้าได้ และยังมีบริการสินเชื่อผ่อนชำระครบวงจร
 
เจมาร์ทโมบาย ถือเป็นร้านค้าปลีกสินค้าเทคโนโลยีรายแรกที่สามารถนำเหรียญ คริปโตเคอร์เรนซีนำมาใช้ได้ โดยเริ่มทำกิจกรรมร่วมกับ JFIN ในฐานะที่เป็นโทเคนดิจิทัลในกลุ่มเจมาร์ท โดยการทำ JFIN Adoption ทั้งการทำกิจกรรมการลด แลก แจก ที่จะรุกตลาดคริปโตเคอร์เรนซี สามารถนำเหรียญ JFIN มาร่วมกิจกรรมการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการแลกโทรศัพท์มือถือ และแก็ดเจ็ตต่างๆ รวมถึงกิจกรรมการแจกเหรียญ JFIN ได้ที่ร้าน Jaymart และ Digital Cafe ทั้ง 3 สาขาได้แก่ แฟชั่นไอส์แลนด์ เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ ท่าพระ และ สยามสแควร์ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ควบ คู่สนับสนุน การเรียนรู้เรื่องคริปโต เคอเรนซี่ ให้กับลูกค้าของกลุ่มเจมาร์ทอีกด้วย
 
นายนราธิปกล่าวต่อไปว่า เจมาร์ทโมบายตั้งเป้าหมายยอดขายออนไลน์ปีนี้จะเติบโต 130% จากปีที่ผ่านมาที่ยอดขายออนไลน์ 343 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวม ธุรกิจในปีนี้มองว่าเป็นปีแห่งยุคเทคโนโลยี และการทำ Synergy ในกลุ่มบริษัท จะสนับสนุนให้เจมาร์ทโมบาย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ารายได้ 12,500 ล้านบาท เติบโต 50% และมีกำไรเติบโตเท่าตัว
 
นายธีริทธิ์ เปาวัลย์ นักวิเคราะห์ตลาด ไอดีซี ประเทศไทย บริษัทวิจัยตลาดไอซีที กล่าวว่า ตลาดสมาร์ทโฟนภาพรวมช่วงต้นปีชะลอตัวลงตามฤดูกาล แม้ว่าช่วงนี้จะการเปิดตัวสมาร์ทโฟนไฮเอ็นด์ ของค่ายซัมซุง และค่ายจีน แต่ความต้องการสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จะเป็นสมาร์ทโฟน 4G ราคาตํ่ากว่า 5,000 บาท ซึ่งขณะนี้ประสบปัญหาของขาดตลาด อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสถานการณ์ช่วงไตรมาส 2 จะดีขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตชิปเซ็ตเริ่มกลับมาผลิตชิปเซ็ต 4G ป้อนให้กับผู้ผลิตสมาร์ทโฟน


 
รัฐสภา เตรียมถก ร่างกม.เลือกตั้ง 10 ฉบับ 24-25 ก.พ.รวม 24 ชม.
https://www.matichon.co.th/politics/news_3193192

รัฐสภา เตรียมถก ร่างกม.เลือกตั้ง 10 ฉบับ 24-25 ก.พ.รวม 24 ชม. ขณะที่ส.ว.เตรียมจัดสัมมนา 23 ก.พ. พิจารณารายละเอียด 10 ร่าง พร้อมข้อสังเกต หวั่นซุกประโยชน์-เอื้อพรรคการเมือง ส่วนการโหวตให้เป็นเอกสิทธิ์
 
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ฐานะประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ใช้ในการเลือกตั้ง ซึ่งมีส.ส.เข้าชื่อเสนอรวม 10 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการรเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… จำนวน 4 ฉบับ แบ่งเป็นของคณะรัฐมนตรี เสนอ, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทยฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล และคณะเสนอ และ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ… จำนวน 6 ฉบับ แบ่งเป็น เสนอโดย ครม., นพ.ชลน่าน, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ, ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล, นายพิธา และนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ และคณะ เป็นผู้เสนอ โดยจะพิจารณา ในวันที่ 24 – 25 กุมภาพันธ์ โดยจะเร่ิมเวลา 09.00 – 21.00 น.ของทั้ง2 วัน
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีการหารือร่วมกันระหว่าง 3 ฝ่าย คือ คณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา, ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล และ ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อจัดสรรเวลาในการประชุม และมีข้อสรุปคือ ผู้เสนอร่างฯ จำนวน 5 ชั่วโมง, ส.ว. 6 ชั่วโมง, พรรคร่วมรัฐบาล 6 ชั่วโมง, พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 ชั่วโมง และ ประธานในที่ประชุม 1 ชั่วโมง รวมเวลา 24 ชั่วโมง และมีแนวทางการพิจารณา คือ รับหลักการ และตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน จำนวน 49 คน แบ่งเป็นครม. 8 คน,ส.ว. 14 คน และ ส.ส. 27 คน.

ในส่วนของส.ว. นั้น มีประเด็นที่ต้องหารือถึงเนื้อหาและสาระที่ส.ส.เสนอโดย นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. เปิดเผยว่าในวันที่ 23 ก.พ.นี้ ส.ว.จะจัดสัมมนาเพื่อดูรายละเอียด โดยมีวิทยากร ได้แก่ ตน,นายสมชาย แสวงการ, นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย, นายวันชัย สอนศิริ และ นายกล้านรงค์ จันทิก ส.ว. โดยแนวทางที่จะพิจารณา คือรายละเอียดประเด็นที่เสนอ ว่ามีประเด็นใดที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ส่วนการลงมติว่าจะรับหรือไม่รับนั้น เป็นเอกสิทธิของส.ว.
 
การเสนอร่างกฎหมายยลูกนั้น จะพิจารณารายละเอียดว่ามีบางอย่างซุกซ่อนไว้ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่ หรือเพื่อเป็นประโยชน์กับพรรคหนึ่งพรรคใด หรือช่วยเหลือดูแลหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ทำลายหลักการ หรือไม่ใช่เรื่องเพื่อส่วนรวมหรือไม่ โดยก่อนการสัมมนานั้นวิทยากรจะนัดหารือกัน ในวันที่ 22 ก.พ.ด้วย” นายจเด็จ กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่