ตังโจ่ย วันไหว้ขนมบัวลอยของจีน

ขอโทษนะคะ หายไปเป็นอาทิตย์เลย นึกขึ้นได้รีบนำเรื่องนี้มาให้อ่านกันก่อน เดี๋ยวจะเลยไปหลายวันแล้วไม่สนุกค่ะ  

วันอังคารที่ 21ธันวาคม2564 ตรงกับวัน 18 (十八)เดือน 11 (十一月大)ปีฉลู (辛丑)วันไหว้ขนมบัวลอย ,ตังโจ่ย (冬至)

เวียนมาอีกปีแล้วค่ะ "ตังโจ่ยยิก" วันไหว้ขนมบัวลอยจีน (ตีอี๊) แป้งข้าวเหนียวปั้นลูกกลมๆสีชมพูสีขาวต้มใส่น้ำเชื่อม 

ปีที่แล้วอาตั่วแจ้มาที่บ้านแม่นันพอดี จึงได้อารมณ์เหมือนตอนอาอึ้ม (คุณแม่) ยังอยู่ แต่ปีนี้แม่นันต้องปั้นเองแล้วค่ะ
สมัยอาอึ้มยังอยู่ แม่นันยังได้ช่วยปั้นบ้าง ปั้นเสร็จก็โยนใส่ตั่งปั๊ว (ถาดกลมๆมีลายดอกไม้สวยๆตรงกลาง สมัยนี้ไม่ค่อยมีแล้วค่ะ) 
ปั้นแป๊บเดียวก็เต็มถาด เป็นที่สนุกสนาน พอเช้าอาอึ้มก็นำมาต้มใส่น้ำเชื่อมหวานๆ ไหว้เจ้าที่ ไหว้เสร็จก็จะตักให้กินคนละถ้วย 
หวานซ้า แม่นันไม่ค่อยชอบหรอกค่ะ แต่พออาอึ้มบอกว่า "เจียะ เหลาะ โน๊ว. เจียะ เลี่ยว ตีตี ฮอ กากี่" (กินซะลูก กินแล้วดีกับตัวเองนะ)
อาตัวแจ้เคยเล่าว่า สมัยก่อนเวลาไหว้ขนมบัวลอยที เป็นอะไรที่วุ่นวายแกมตลกมาก 
พอไหว้เจ้าเสร็จ อาป๊ะก็บอกให้พวกเราเอาเจ้าบัวลอยนี่ล่ะ ไปเสียบตรงหมึ่งซึ้ง (ที่ปักธูปข้างประตู้บ้าน) ข้างละเม็ด
เสร็จแล้วก็ให้แปะโต๊ะ แปะเก้าอี้ แปะนู่นแปะนี่ แปะเต็มไปหมด อ้อ..ตอนลาเจ้าที่ต้องเอาเม็ดบัวลอยเสียบตรงข้างๆศาล
(ตรงระเบียงด้านข้างน่ะค่ะ) ข้างละเม็ดด้วยนะ ประมาณว่าเจ้า "ตีอี๊" (ขนมบัวลอยหวานๆเหล่านี่ แทนความเป็นปึกแผ่น เหนียวแน่น
สมัครสมาน "แจ้ยังคิดในใจตอนทำตามคำสั่งเลยว่า เดี๋ยวมดก็ขึ้นเต็มบ้านหรอก หวานซะขนาดนั้น" อาแจ้เล่าไปหัวเราะไป
"แล้วมดขึ้นมั้ย" แม่นันแกล้งถาม
"ไม่เห็นแฮะ เห็นตอนพอหลายๆวันเข้า ขนมบัวลอยแข็งโป๊กเลย"
สมัยตอนอาป๊ะยังอยู่ อาป๊ะจะเป็นคนต้นงานในวันไหว้ขนมบัวลอย อาป๊ะจะไปจัดไฟจัดสถานที่ให้ที่ศาลปึงเถ่ากง 
ผู้คนมากมายก็จะมาไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันในวันนั้น ในงานก็มีการประมูลสิ่งของต่างๆ ส้มเป็นกระเช้าก็นำขึ้นมาประมูลกันด้วยนะ 
เค้าถือว่าเป็นผลไม้มงคลในวันนั้น ราคาที่ประมูลกันก็เป็นหลักพันนะสมัยนั้นน่ะ อาแจ้เล่า
แล้วสมองแม่นันก็หวนจำไปถึงวันแต่งงานของอาแจ้คนใดคนหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นแม่นันยังเด็กมาก 
จำไม่ได้จริงๆว่าวันนั้นอาแจ้คนไหนเป็นเจ้าสาว ในเช้ามืดวันนั้น อาอึ้มกำลังใช้ตะเกียบคีบอาหารแต่ละอย่างป้อนใส่ปากลูกสาวตัวเอง 
ปากก็บ่นอะไรไม่รู้งึมงัม งึมงัม
ด้วยความอยากรู้ แม่นันรีบโทรหาอาตั่วแจ้ตอนสี่ทุ่มครึ่งเมื่อคืน (ไม่ดึกไปใช่มะคะ)
"แจ้ หลับยัง.. ช่วยเล่าพิธีวันแต่งงานของแจ้ให้หนูฟังหน่อยสิ" 
"เหมือนคู่บ่าวสาวต้องกินขนมบัวลอย แล้วก็ต้องกินไข่ทั้งลูกด้วยใช่มั้ย"
"อะไรอีกล่ะ ยัยโบราณคนนี้" อาตั่วแจ้หัวเราะ
"........สมัยแจ้เหรอ สมัยนั้นบ้านเรายังอยู่ที่ท่าดินแดง ตอนเช้าวันพิธีอาอึ้มก็เตรียมกับข้าวให้ลูกสาว 
ก็จะเป็นเมนูมงคลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผัดหัวใจหมู ผัดหมี่ แล้วทุกเมนูต้องจัดเป็นคู่ๆนะ หมายถึงทำอย่างละสองจาน 
รวมทั้งหมดห้าอย่าง สิบจาน ความหมายคือให้อยู่กันเป็นคู่ไม่จากกันไปไหน อาอึ้มก็จะคีบอาหารทีละอย่างป้อนให้ 
ป้อนไปปากก็อวยพรไป ...

แล้วอาอึ้มก็จะเตรียมบัวลอยไข่หวานสองถ้วย พอฝ่ายชายมารับ อาป๊ะอาอึ้มก็จะให้คู่บ่าวสาวทาน แล้วต้องกินไข่ทั้งลูกด้วยนะ 
จะได้มีลูกชายหัวปี แต่ต้องเหลืออี๊ (ขนมบัวลอย) ไว้ในถ้วยบ้าง ห้ามกินหมด จะได้แสดงถึงความรักที่มีต่อกันอย่างเหนียวแน่น 
เหมือนขนมอี๊ที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวหนึบๆ
"แล้วแจ้กินเข้าไปได้ยังไงทั้งฟอง ไม่ติดคอเหรอ" แม่นันซักไปหัวเราะไป
"เอ้า อาอึ้มก็ต้มไข่ไก่ เลือกฟองเล็กๆหน่อย สมัยนั้นมีไข่นกกระทาด้วยนะ"
พอเล่าแล้วเครื่องก็ติดค่ะ ดูเหมือนอาแจ้จะไม่ง่วงแล้ว

ก่อนอาตั่วแจ้จะเล่าต่อ แม่นันนำวิธีนำขนมบัวลอยที่แม่นันทำเองปีนี้มาให้ดูกันค่ะ เผื่อใครอยากทำเป็น
- ใส่น้ำเปล่าผสมสีแดง 85 ก. ใส่ลงในแป้งข้าวเหนียว 100 ก. ค่อยๆใส่พร้อมกับนวดไป จนเนื้อแป้งนุ่มและสีเข้ากันดี
(สีแดงเมื่อโดนตัวแป้งสีขาวจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูค่ะ ใช้สีเพียงหยดเดียวก็พอนะคะ เดี๋ยวจะเข้มไป)
(ถ้าอยากให้มีบัวลอยสีขาวด้วยก็แบ่งแป้งออกมา 50 ก. ผสมน้ำเปล่า 42-44 ก. นวดให้เข้ากันค่ะ) 

- จากนั้นปั้นแป้งเป็นก้อนกลมๆเล็กใหญ่ตามชอบ ใส่ภาชนะไว้ 
- นำตัวแป้งที่ปั้นไว้ลงต้มในน้ำเดือดจัด เมื่อขนมลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ ก็แสดงว่าสุกแล้วค่ะ ตักใส่ภาชนะไว้

จากนั้นมาทำตัวน้ำเชื่อมกันค่ะ
- ใช้น้ำ 500 ก. เกลือเล็กน้อย ต่อน้ำตาลทรายขาว 72 ก. ค่ะ 
ก็จะได้บัวลอยถ้วยนี้
หรือจะต้มด้วยน้ำตาลอ้อย (โอวทึ้ง) ก็จะได้ถ้วยนี้ค่ะ รสชาติน้ำตาลโอวทึ้งจะหอม อร่อยกว่า

ถ้าใครอยากดูวิธีทำ แวะดูไลฟ์สดได้ที่หน้าเพจค่ะ

ทีนี้มาฟังอาแจ้เล่าต่อกันเลยค่ะ แม่นันเขียนเอง ยังอ่านเองอยู่หลายรอบเลยค่ะ มันเป็นความทรงจำที่ชวนให้คิดถึงค่ะ

"พออาเฮีย (เจ้าบ่าว) มารับตัวไปอยู่ที่บ้านได้สามวัน ก็กลับมาเยี่ยมอาอึ้มอาป๊ะที่บ้านท่าดินแดง" 
พิธีการกลับมาเยี่ยมบ้านตามธรรมเนียมสมัยนั้น คือ สามวันแรก และถัดไปอีกสิบสองวันก็จะกลับมาเยี่ยมอีกครั้ง 
พ้นจากสิบสองวันแล้วจะกลับมาเยี่ยมเมื่อไหร่ก็ได้ แต่สมัยแจ้ก็เริ่มทำพอเป็นพิธีแล้วนะ คือหลังจากไปอยู่บ้านผู้ชายสามวัน 
ก็กลับมาเยี่ยมอาป๊ะอาอึ้ม (แต่เตรียมชุดใหม่มาด้วยหนึ่งชุด) ทำทีว่าพอเยี่ยมพ่อแม่เสร็จ บ่ายก็ออกมาเปลี่ยนชุดที่ปั๊มน้ำมัน 

แล้วก็กลับเข้าไปเยี่ยมใหม่ (ประมาณว่าการเยี่ยมครั้งนี้ คือการเยี่ยมครั้งที่สอง สิบสองวันผ่านไป)
ธรรมเนียมจีนที่เข้มงวดอีกอย่างคือ ถ้าน้องสาวแต่งงานก่อน พี่สาวจะต้องไม่อยู่บ้านในวันนั้น 
จะไปเดินเล่นที่ไหนก็ได้ ต้องไม่มาอยู่ในพิธีด้วย

"อาหยู่หมวยแต่งก่อนแจ้ไง" อาตั่วแจ้พูดถึงน้องสาว คือพี่สาวคนที่สองของแม่นัน
วันนั้นแจ้ก็เลยต้องชวนอาหลั่น (เพื่อนอาตั่วแจ้) ไปดูหนังในโรงหนังเฉลิมธนทั้งวัน สมัยนั้นหนังจะฉายเวียนไปเรื่อยๆ ตั๋วใบละห้าบาท 
พระเอกนางเอกก็ต้อง มิตร ชัยบัญชา, เพชรา เชาวราษฎร์ ..โอว.แม่นันทันอยู่นะ
อาตั่วแจ้กำลังจะเล่าต่อ...
"แจ้..ไปนอนเถอะ ดึกแล้ว ไว้ 24 นี้เจอกัน " ฮาฮ่า ถ้าให้เล่าต่อถึงเช้าแน่ค่ะ



แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่