ทำเป็นเล่น..อีกเดือนเดียวก็จะได้เวลา "ซออี๊" ปั้นขนมบัวลอยกันอีกแล้ว

"ตังโจ่ย" เทศกาลขนมบัวลอย
ทำเป็นเล่น..อีกเดือนเดียวก็จะได้เวลา "ซออี๊" ในวัน "ตังโจ่ย" เทศกาลขนมบัวลอย (22 ธค.) ของทุกปี ...จะหมดปีอีกแล้วหรือนี่ 

ใช่แล้วค่ะ คืนก่อนวันไหว้ ลูกหลานจีนแต้จิ๋วอย่างพวกเราจะมานั่งล้อมวง "ซออี๊" ปั้นแป้งข้าวเหนียวหลากสี เพื่อทำขนมบัวลอยไหว้ในเทศกาลตังโจ่ย คืน 21 ธค. เรามา LIVE "ซออี๊" พร้อมกันนะคะ

"ซออี๊" (ซอ=ปั้น/อี๊..อี่อี๊ = กลมๆ) ในวันนั้นเราจะมาปั้นขนมบัวลอยด้วยแป้งข้าวเหนียวให้เป็นเม็ดกลมๆกันค่ะ เตรียมแป้งข้าวเหนียว สีผสมอาหารสีแดง และน้ำเปล่าไว้นะคะ... พูดถึงซออี๊.. เพื่อนหลายๆคนเริ่มนึกถึงอดีตกันแล้วใช่มั้ยคะ อาม้า อาม่าจะพูดขณะนั่งล้อมวงซออี๊กับลูกๆหลานๆว่า "เจียะอี๊ตั่วแกเจ็กนี้" (กินขนมบัวลอย โตขึ้นอีกหนึ่งขวบปีแล้วนะเด็กๆ) "ไม่เล่นซนเหมือนเมื่อก่อนแล้วนะ" แล้วพวกเราก็จะช่วยกันปั้นไปบ่นไป ไม่อยากโตเลย..ไม่อยากโตเลย ไม่กินได้มั้ยอาม่า.....

แล้วแป้งบัวลอยที่อาม้า อาม่าปั้นก็จะเป็นลูกกลมๆสีขาว สีชมพูสวยเรียงเต็มตั่งปั๊ว (ถาด) พออาม่าขยับจะหันมาทางพวกเรา กำลังจะอ้าปากชมว่าเด็กๆ "ซออี๊" เก่งจัง อาม่ากลับอ้าปากค้าง เพราะแทนที่อาม่าจะเห็น "อี๊กลมๆ" กลับเห็นพวกเราปั้นไดโนเสาร์บ้าง ช้าง ม้า วัวควายบ้าง ยืนเรียงเต็มตั่งปั๊ว ถ้าเป็นสมัยนี้เด็กๆมาปั้นด้วย อาจจะได้เห็น "อีกัวน่า" เพิ่มมาอีกหนึ่งตัว ฮ่าฮ่า 

ชาวจีนให้ความสำคัญกับเทศกาล "ตังโจ่ย" ไม่แพ้วันตรุษจีนค่ะ เพราะเสมือนเป็นวันสิ้นปีเก่าและเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของธรรมชาติ อากาศหนาวเย็นเริ่มมาแล้ว ผู้คนจะปิดร้านรวงแล้วทำบุญไหว้เทพเจ้าฟ้าดิน ปึงเถ่ากง ตี่จู๋เอี๊ย เพื่อขอบคุณที่ช่วยให้สมาชิกในครอบครัวดำรงชีวิตมาอย่างราบรื่นตลอดปีที่ผ่านมาด้วยขนม "อี๊" 

คืนก่อนวันไหว้ สมาชิกในครอบครัวก็จะมานั่งล้อมวงเตรียมปั้นแป้งข้าวเหนียวทำขนมบัวลอย แสดงถึงความสามัคคีกลมเกลียวกัน ถ้าอยู่ในชุมชนชาวจีนที่บ้านติดๆกัน "ชู้ปี" (เพื่อนบ้าน) ไม่ว่าจะเป็นอาอี๊ อาซ่อ อาโกว อาแจ้ พอเห็นบ้านไหนเริ่มซออี๊ ตัวเองก็จะเข้าบ้านถือถาดแป้งของตัวเองออกมาพร้อมยกเก้าอี้ส่วนตัว (เก้าอี้ไม้ตัวเล็กๆ) มานั่งล้อมวงร่วมปั้นอี๊ด้วย ปั้นไปคุยไป พอปั้นเสร็จก็แยกย้ายบ้านใครบ้านมัน เช้ามาก็ต้มน้ำเชื่อมใส่ ไหว้เจ้ากัน

สมัยอาอึ้ม (คุณแม่) ยังอยู่ แม่นันยังได้ช่วยปั้นบ้าง ปั้นเสร็จก็โยนใส่ตั่งปั๊ว (ถาดกลมๆมีลายดอกไม้สวยๆตรงกลาง สมัยนี้ไม่ค่อยใช้กันแล้วค่ะ) ปั้นแป๊บเดียวก็เต็มถาด เป็นที่สนุกสนาน พอเช้าอาอึ้มก็นำมาต้มใส่น้ำเชื่อมหวานๆ ไหว้เจ้าที่ ไหว้เสร็จก็จะตักให้กินคนละถ้วย หวานซ้า.า แม่นันไม่ค่อยชอบหรอกค่ะ อาอึ้มจะพูดว่า "เจี้ยะเหลาะโน๊ว. เจียะตีตี ฮอ กากี่" "เจียะเลี่ยวตั่วแกเจ็กนี้" (กินซะลูก เจียะตีตี แล้วดีกับตัวเองนะ โตขึ้นอีกปีแล้วนะ) เจียะตีตี ในที่นี้หมายถึงให้กินเป็นธรรมเนียม ชีวิตจะได้ตีตีหวานๆสดชื่นไม่มีอะไรติดขัด กินแล้วโตขึ้นอีกขวบปีแล้วนะ "ไม่ได้อยากโตเลย" (แม่นันคิดในใจ) กระโดดหนังยางสนุกกว่า เป่ากบด้วย...

อาตัวแจ้เล่าว่า สมัยก่อนบ้านเราเวลาไหว้ขนมบัวลอยที เป็นอะไรที่วุ่นวายแกมตลกมาก พอไหว้เจ้าเสร็จ อาป๊ะ (คุณพ่อ) ก็จะบอกให้พวกอาแจ้เอาเจ้าบัวลอย ไปเสียบตรงหมึ่งซิ้ง (ที่ปักธูปข้างประตูบ้าน) ข้างละเม็ด เสร็จแล้วก็ให้แปะโต๊ะ แปะเก้าอี้ แปะนู่นแปะนี่ แปะเต็มไปหมด อ้อ..ตอนลาเจ้าที่ (ตี่จู้) ต้องเอาเจ้าเม็ดบัวลอยเสียบตรงหัวเสาข้างๆศาล ข้างละเม็ดด้วยนะ ประมาณว่าเจ้า "ตีอี๊" (ขนมบัวลอยหวานๆเหล่านี่) แทนความเป็นปึกแผ่น เหนียวแน่น สมัครสมาน "แจ้ยังคิดในใจตอนทำตามคำสั่งเลยว่า เดี๋ยวมดก็ขึ้นเต็มบ้านหรอก หวานซะขนาดนั้น" อาแจ้เล่าไปหัวเราะไป 

"แล้วมดขึ้นมั้ย" แม่นันแกล้งถาม

"ไม่เห็นขึ้นแฮะ มาเห็นตอนหลายๆวันผ่านไป ขนมบัวลอยแข็งโป๊กเลย" 

ใครเคยมีประสบการณ์ "ซออี" บ้าง เล่าหน่อย เล่าหน่อย

คืน 21 ธค. เรามา "ซออี๊" พร้อมกันนะคะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่