JJNY : ติดเชื้อ7,006 ดับ29│ดุสิตโพลเผยการเลี้ยงเด็กยุคโควิด│'นิด้าโพล'ชี้เปิดปท.แล้วศก.ยังเหมือนเดิม│ปชช.เสียดายหัวลำโพง

โควิดวันนี้ 21 พ.ย. 64 ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,006 ราย ดับเพิ่ม 29 ศพ
https://www.thairath.co.th/news/local/2246992
  
 
 
อัปเดตสถานการณ์ "โควิด-19" วันนี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,595 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 2,035,718 ราย หายป่วยกลับบ้าน7,591 ราย เสียชีวิต 29 ศพ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถานการณ์ "โควิด-19" ประจำวันเบื้องต้น โดยข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 7,006 ราย แยกเป็นทั่วไป 6,235 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 771 ราย หายป่วยกลับบ้าน 7,591 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม (ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2564) จำนวน 2,035,718 ราย กำลังรักษา 87,271 ราย และมีผู้เสียชีวิต 29 ศพ.


 
สวนดุสิตโพลเผยการเลี้ยงเด็กยุคโควิด กังวลเรื่องติดเชื้อรองลงมาเรื่องเรียน
https://www.dailynews.co.th/news/497734/
 
สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจ "การเลี้ยงดูเด็กในยุคโควิด-19" ยากขึ้นกว่าสมัยก่อน หนักใจสุดเรื่องการติดเชื้อโควิด รองลงมาเรื่องการเรียน อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสทางสังคม

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีบุตรหลานอายุ 0-15 ปี ต่อกรณี “การเลี้ยงดูเด็กในยุคโควิด-19” จำนวนทั้งสิ้น 1,154 คน ระหว่างวันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2564 พบว่า ปัจจุบันคนในครอบครัว ปู่ย่า ตายาย เป็นคนเลี้ยงดูเด็ก ร้อยละ 49.14 รองลงมาคือเลี้ยงเอง ร้อยละ 45.45 เมื่อเปรียบเทียบยุคสมัยก่อนกับยุคสมัยนี้การเลี้ยงดูบุตรหลานยากขึ้น ร้อยละ 77.64 วิธีดูแลบุตรหลานในยุคโควิด-19 คือ ใช้เวลาร่วมกัน หากิจกรรมทำร่วมกัน ร้อยละ 83.75 รองลงมาคือ เน้นดูแลสุขอนามัย ร้อยละ 69.23
 
สิ่งที่หนักใจคือกังวลการติดเชื้อโควิด-19 ร้อยละ 74.57 รองลงมาคือเรื่องการเรียน ร้อยละ 62.90 ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรหลานเฉลี่ยประมาณ 7,974.60 บาทต่อเดือน โดยมองว่าบุตรหลานค่อนข้างสามารถดูแลรับผิดชอบตัวเองได้ ร้อยละ 56.10
 
สิ่งที่อยากให้ภาครัฐดำเนินการเกี่ยวกับการดูแลเด็ก คือ ช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสทางสังคม เด็กเร่ร่อน เด็กกำพร้า ร้อยละ 80.87
ผู้ปกครองมองว่า “เด็ก” ในปัจจุบันเลี้ยงดูยากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเฉลี่ยเกือบแปดพันบาทต่อเดือน เมื่อพิจารณาข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า รายได้ของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งปีแรก (2564) เฉลี่ยประมาณ 28,454 บาท ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กจึงคิดเป็น 1 ใน 3 ของรายได้ ดังนั้นสิ่งที่จะส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กให้สามารถเติบโตและพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพก็คือนโยบายของรัฐที่เน้นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สนับสนุนการศึกษาเด็กทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อให้เด็กมีความพร้อมในการเป็นพลเมืองในศตวรรษที่ 21 บนพื้นฐานการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของเด็กเป็นสำคัญ
 
การเลี้ยงดูให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาอย่างสมบูรณ์ เป็นความฝันสูงสุดของคนเป็นพ่อเป็นแม่ แต่ด้วยปัจจัยบางอย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้รูปแบบการเลี้ยงดูเด็กต้องเปลี่ยนแปลงไป พ่อแม่บางส่วนที่สามารถทำงานอยู่ที่บ้านได้ ก็จะมีเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกันกับลูกมากขึ้น แต่ก็มีพ่อแม่บางส่วนที่ให้เด็กต้องอยู่กับผู้เลี้ยงดูที่เป็น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือบุคคลอื่นแทน ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กสูญเสียโอกาสในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับพ่อและแม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นคือยังมีพ่อแม่ที่ต้องพาเด็กออกไปทำงานด้วย ซึ่งบางครั้งสถานที่ทำงานก็ไม่เหมาะสม และพ่อแม่เองก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ ที่หนักสุดก็คือต้องปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของรูปแบบการเลี้ยงดูเด็กในช่วงยุคโควิด-19 นี้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูเด็กในรูปแบบใด พ่อแม่และบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องวางแผนและออกแบบเพื่อให้เด็กสามารถใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ให้ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย


 
'นิด้าโพล'ชี้เปิดประเทศแล้วเศรษฐกิจยังเหมือนเดิม กังวลมาตรการป้องโควิด
https://www.dailynews.co.th/news/497711/

"นิด้าโพล" เผยผลสำรวจ “เปิดประเทศ 2 อาทิตย์แล้ว เป็นอย่างไรบ้าง” ร้อยละ 48.11 ระบุ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเหมือนเดิม ร้อยละ 43.11 ค่อนข้างกังวล มาตรการป้องกันยังไม่เข้มงวด
 
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เปิดประเทศ 2 อาทิตย์แล้ว เป็นอย่างไรบ้าง” ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,320 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ของประเทศเป็นอย่างไร ตั้งแต่รัฐบาลเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
 
การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0
 
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่รัฐบาลเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.11 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 29.85 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีขึ้น ร้อยละ 9.62 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจค่อนข้างแย่ลง ร้อยละ 8.94 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แย่ลงมาก และร้อยละ 3.48 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้นมาก
 
สำหรับความพึงพอใจต่อมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่รัฐบาลเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.88 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ รองลงมา ร้อยละ 29.09 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ ร้อยละ 17.04 ระบุว่า ไม่พอใจเลย ร้อยละ 8.64 ระบุว่า พอใจมาก และร้อยละ 2.35 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
 
ด้านความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่าจะรุนแรงขึ้นใน 1-2 เดือนข้างหน้า จากการที่รัฐบาลเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.11 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล เพราะ มาตรการป้องกันยังไม่เข้มงวด จำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ภายในประเทศยังคงสูง และประชาชนบางส่วนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 รองลงมา ร้อยละ 32.50 ระบุว่า กังวลมาก เพราะ เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาภายในประเทศ อาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ และประชาชนบางส่วนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ร้อยละ 15.23 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล เพราะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี ประชาชนมีการป้องกันตัวเองเป็นอย่างดี และได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องปรับตัวเพื่ออาศัยอยู่ร่วมกับเชื้อโรคโควิด-19 ให้ได้ ร้อยละ 8.86 ระบุว่า ไม่กังวลเลย เพราะรัฐบาลมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี และประชาชนมีการป้องกันตัวเองเป็นอย่างดี ขณะที่บางส่วนระบุว่า ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว และร้อยละ 0.30 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
 
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการให้ความสำคัญของประชาชนระหว่างความอยู่รอดทางเศรษฐกิจกับความปลอดภัยของสุขภาพ (เช่น ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.94 ระบุว่า เลือกความปลอดภัยของสุขภาพ แม้ว่าจะต้องอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก รองลงมา ร้อยละ 27.58 ระบุว่า เลือกความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับความปลอดภัยของสุขภาพ และร้อยละ 13.48 ระบุว่า อะไรก็ได้แล้วแต่รัฐบาลจะเห็นสมควร เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจครั้งนี้กับเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า เลือกความปลอดภัยของสุขภาพ แม้ว่าจะต้องอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า เลือกความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับความปลอดภัยของสุขภาพ และอะไรก็ได้แล้วแต่รัฐบาลจะเห็นสมควร มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่