JJNY : โพลชี้ 6.87% ขอความช่วยเหลือ‘ทนายมีชื่อ’│ส.โรงเรียนเอกชนแถลงคดีตากใบ│'สภาพัฒน์'ห่วงปีงบ69│ผู้นำอิหร่านให้คำมั่น

โพลชี้ ปชช.แค่ 6.87 % ไว้ใจที่จะขอความช่วยเหลือ ‘ทนายมีชื่อ’ ส่วนนักการเมือง ไว้ใจต่ำสุด 1.6%
https://www.matichon.co.th/politics/news_4879524
 
 
โพลชี้ ปชช.แค่ 6.87 % ไว้ใจที่จะขอความช่วยเหลือ ‘ทนายมีชื่อ’ ส่วนนักการเมือง ไว้ใจต่ำสุด 1.6%

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “ทนายความจิตอาสาจริง ๆ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28-30 ตุลาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อทนายความ

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการมีอยู่จริงของทนายความจิตอาสาที่ช่วยเหลือประชาชนด้วยใจ ไม่สนใจผลประโยชน์หรือการสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 52.44 ระบุว่า มีจริง แต่ไม่มากเท่าไร รองลงมา ร้อยละ 26.56 ระบุว่า ไม่มั่นใจว่ามีจริง ร้อยละ 16.88 ระบุว่า ไม่มีจริง และร้อยละ 4.12 ระบุว่า มีจริง จำนวนมาก

ด้านบุคคลหรือหน่วยงานที่ประชาชนไว้ใจในการขอความช่วยเหลือหากไม่มั่นใจในความยุติธรรมจากคดีความที่ฟ้องร้องผู้อื่นหรือถูกผู้อื่นฟ้องร้อง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 42.06 ระบุว่า ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย รองลงมา ร้อยละ 21.83 ระบุว่า ชมรม สมาคม มูลนิธิ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่เกี่ยวข้อง ร้อยละ 19.16 ระบุว่า สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด ร้อยละ 13.44 ระบุว่า ไม่ไว้ใจใครเลย ร้อยละ 11.68 ระบุว่า ทนายอาสาจากสภาทนายความ ร้อยละ 11.37 ระบุว่า ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 ร้อยละ 9.01 ระบุว่า ทนายทั่วไป ร้อยละ 8.17 ระบุว่า ทนายอาสาจากเนติบัณฑิตยสภา ร้อยละ 6.87 ระบุว่า ทนายที่มีชื่อเสียง ร้อยละ 1.60 ระบุว่า นักการเมือง และร้อยละ 4.96 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ สื่อโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความไว้วางใจของประชาชนต่อความช่วยเหลือที่จะได้รับจากการใช้บริการหรือขอคำปรึกษาจากทนายความ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 42.06 ระบุว่า ค่อนข้างไว้วางใจ รองลงมา ร้อยละ 36.11 ระบุว่า ไม่ค่อยไว้วางใจ ร้อยละ 12.52 ระบุว่า ไม่ไว้วางใจเลย ร้อยละ 8.78 ระบุว่า ไว้วางใจมาก และร้อยละ 0.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
 


สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ ออกแถลงการณ์คดีตากใบ จี้สอบข้าราชการช่วยผู้ต้องหาหนีคดี
https://prachatai.com/journal/2024/11/111257

สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้แถลงการณ์ฉบับที่ 2 กรณีคดีตากใบ เสนอ 4 ข้อเรียกร้อง หลังคดีหมดอายุความ ให้ตรวจสอบต้นสังกัดผู้ต้องหาว่ารู้เห็นการหลบหนีหรือไม่ ริบบำนาญผู้ต้องหาที่ไม่มอบตัว ตั้งกรรมการสอบ สภ.หนองจิก ปมคดีหาย 19 ปี พร้อมแก้กฎหมายอายุความคดีอาญา ป้องกันการลอยนวล
 
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2567 สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ได้เผยแพร่ 'แถลงการณ์ฉบับที่ 2 (กรณีคดีตากใบ) บทเรียนตากใบหลังหมดอายุความ:ต้องไม่ให้คนหนีคดีลอยนวลเพื่อสังคมไทยที่เป็นธรรม' ระบุว่า
 
วันที่ 25 ต.ค. 2567 นับเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นวันที่ “คดีตากใบ” หมดอายุความอย่างเป็นทางการ โดยผู้ต้องหาไม่ได้ปรากฏตัวต่อศาลและไม่มีผู้ใดได้รับโทษ เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ขอแสดงความเสียใจอย่างจริงใจต่อครอบครัวของผู้สูญเสียและชื่นชมความกล้าหาญของประชาชนที่ฟ้องคดีแม้รู้ว่าต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย การกระทำนี้เป็นบทเรียนสำคัญให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ปัญหาชายแดนใต้และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างยั่งยืน เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมต่อพลเมืองทุกคน
 
สำหรับกรณีปลัดอำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีตากใบ ที่หลบหนีคดีจนคดีขาดอายุความไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ได้กลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติแล้วสะท้อนให้เห็นถึง วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลชนิดที่ว่าการหนีหมายจับคดีร้ายแรงของข้าราชการกลายเป็นเรื่องปกติ โดยไม่มีการต้องแสดงความรับผิดชอบใด ๆ ในอีกทางหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่าการกลับมาทำงานของข้าราชการรายนี้ เป็นการตบหน้าตำรวจ และกระบวนการยุติธรรมของไทยเอง เพราะที่ผ่านมาแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่การติดตามตัวตามหมายจับ จะไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น การกลับมาเช่นนี้เป็นการยืนยันความเชื่อของชาวบ้านในข้อสงสัยว่าการหนีคดีเหล่านั้นจะมีการรู้เห็นเป็นใจของข้าราชการหรือไม่
ดังนั้นจึงขอเรียกร้องดังนี้
 
1. ให้หน่วยงานต้นสังกัดของข้าราชการที่หลบหนีคดีไป ทั้งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม ให้ตรวจสอบทางวินัยเพื่อพิจารณาว่ามีเจ้าหน้าที่คนใด รู้เห็นเป็นใจช่วยหนีคดีหรือไม่ และขอให้ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ภูมิธรรม เวชยชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งตรวจสอบเพื่อคลายข้อข้องใจของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และญาติของผู้ที่สูญเสียในเหตุการณ์ตากใบ ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีการละเลยเพิกเฉยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
 
2. เรียกร้องให้รัฐ ริบเงินบำนาญของผู้ต้องหาที่ไม่ยอมมอบตัว เเละให้นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ของสถานีตำรวจภูธรหนองจิก จ.ปัตตานี ที่ยุติการส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุด ทำให้คดีสูญหายมาเกือบ 19 ปี และมาส่งสำนวนใหม่ในปีนี้ จนอัยการสูงสุดสั่งฟ้อง เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา
 
3. กรณีนี้ยังทำให้เห็นปัญหาของระบบยุติธรรมของไทยเรื่องอายุความในคดีอาญาที่เอื้อให้กับการลอยนวลพ้นผิด เป็นข้อบ่งชี้ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องอายุความในมาตรา 95 ข้าราชการหนีคดี ดังนั้นจึงเรียกร้องไปยังรัฐสภาและรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหานี้เพื่อพิทักษ์ความยุติธรรมแก่พลเมืองไทยในอนาคต
 
4. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการจัดหลักสูตรการเรียนรู้สานเสวนาสมามิตรในประเด็นประวัติศาสตร์บาดแผลเพื่อหาทางออกร่วมกัน
 
ดร.ขดดะรี บินเซ็น
นายกสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้
1 พ.ย. 2567
 


'สภาพัฒน์'ห่วงปีงบ 69 รายจ่าย'ชำระหนี้'เพิ่มจากปีก่อน 22.6%-แนะรัฐบาลลดขนาด'การขาดดุลฯ'
https://www.isranews.org/article/isranews-news/133057-gov-NESDC-Debt-payment-expenses-budget-69-news.html

‘สศช.’ เผยปีงบ 69 รัฐบาลมีภาระต้องตั้ง ‘งบชำระหนี้’ เพิ่มขึ้นจากปีงบ 68 กว่า 22.6% แนะปรับลดขนาดการขาดดุลควบคู่จัดสรรงบชำระหนี้
 ..................................
 
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณฯ ใช้เป็นแนวทางประกอบการวางแผนการดำเนินงานและกำหนดแผนการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ
อย่างไรก็ดี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดทำความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. ในเรื่องดังกล่าว โดย สศช. มีข้อสังเกตว่า ในระยะปานกลาง แรงกดดันทางการคลังอยู่ในระดับสูงตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของภาระหนี้ภาครัฐ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2569 งบชำระหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 เทียบกับปึงบประมาณ พ.ศ.2568
 
ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับการปรับลดขนาดการขาดดุลงบประมาณควบคู่กับการจัดสรรงบชำระหนี้ของรัฐบาล ให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้ที่ครบกำหนดชำระ ทั้งในส่วนของหนี้ของรัฐบาลและหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อดำเนินโครงการของรัฐ เพื่อลดภาระหนี้ภาครัฐที่อยู่ในระดับสูง และเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้เพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
 
ทั้งนี้ ครม.รับทราบข้อสังเกตของ สศช. และมอบหมายให้สำนักงบประมาณรับข้อสังเกตของ สศช. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ในปีงบประมาณ 2568 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ สำหรับเป็นรายจ่ายเพื่อชำระหนี้ภาครัฐทั้งสิ้น 410,253.7 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 150,100 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4% ของงบประมาณ และรายจ่ายชำระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 260,153.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.9% ของงบประมาณ
 
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 ที่ ครม.เห็นชอบ ประกอบด้วย 7 ข้อ ได้แก่

1. มุ่งเน้นดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล นโยบายเร่งด่วน นโยบายระยะกลางและระยะยาว โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2566-2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่13 (พ.ศ.2566-2570) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2566-2570) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง ความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ รวมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดสรรประมาณ
 
2. จัดทำงบประมาณเพื่อสนับสนุนโอกาสในการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งที่จะแก้ไขปัญหาเร่งด่วน พร้อมกับสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและการบริการ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมการวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต พร้อมทั้งวางยุทธศาสตร์ให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิตทั้งอุตสาหกรรมและการเกษตร พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาส การดูแลคุณภาพชีวิตและความมั่นคง ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีสวัสดิการที่เหมาะสม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการภาครัฐโดยการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
 
3. จัดทำงบประมาณโดยพิจารณาลำดับความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วนและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่หมดความจำเป็น หรือมีความสำคัญในระดับต่ำ โดยคำนึงถึงการใช้จ่ายงยงประมาณอย่างคุ้มค่า (Value for Money : VFM) ประหยัด (Economy) มีประสิทธิภาพ (Efficiency) และประสิทธิผล (Effectiveness) รวมถึงศักยภาพการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณในปีที่ผ่านมา
 
4. จัดทำแผนงาน/โครงการ โดยมีการกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด ผลลัพธ์ที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ โดยมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อลดความซ้ำช้อน เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงประมาณ
 
5. จัดทำงบประมาณโดยพิจารณาให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน ทั้งเงินงบประมาณและนอกงบประมาณ โดยให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณานำเงินนอกงบประมาณ เช่น เงินรายได้ เงินสะสมคงเหลือ มาดำเนินภารกิจของหน่วยรับงบประมาณเป็นลำดับแรก รวมทั้งพิจารณาแหล่งเงินอื่นเพื่อดำเนินโครงการภาครัฐ เช่น เงินกู้ การร่วมทุนหว่างภาภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnerships-PPP) เพื่อลดภาระงบประมาณของประเทศ
 
6. ให้ความสำคัญกับการจัดทำงบประมาณมิติพื้นที่ (Area) ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพื้นที่ ระดับภูมิภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด และท้องถิ่น ตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือระหว่างราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนนโยบาย
 
7. ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 กฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีอย่างครบถ้วน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่