JJNY : 1พ.ย.หยุดรถรับขนสินค้า20%│จี้เร่งเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกข้าว│สงขลาจ่อวิกฤต! ATK ตรวจไม่แม่นยำ│ยังมีอุทกภัยใน17จว.

จี้รบ.ตรึงราคาดีเซลลิตรละ25บาท 1 พ.ย.หยุดรถรับขนสินค้า 20 %
https://www.nationtv.tv/news/378849563

รองเลขาธิการสมาคมขนส่งสินค้าอีสาน ระบุ รัฐควรเห็นแก่ประชาชนภาพรวม ตรึงราคาดีเซลอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร ขณะที่สหพันธ์การขนส่งแห่งประเทศไทย เตรียมแถลงข่าวขับเคลื่อนเรียกร้องตรึงราคา พร้อมหยุดรถรับขนสินค้า 20 % ยัน ไม่กระทบผู้ใช้ทาง

31 ตุลาคม 2564 นายธนะสันติ์ กุลเภตรานนท์ รองเลขาธิการสมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรม Truck Power ของกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกทั่วประเทศ ในนามสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่ออกมารวมตัวกันเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเคลื่อนพลพร้อมกันทั่วประเทศทั้ง 7 จุด เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ช่วยตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้เหลือลิตรละ 25 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี แต่กลับไม่เป็นผล  โดยวันที่ 20 ตุลาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ออกมายืนยันว่า จะยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกินลิตรละ 30 บาทต่อไป โดยอ้างว่า ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลก  ซึ่งทำให้กลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกทั่วประเทศผิดหวังเป็นอย่างมาก เพราะเหมือนมองไม่เห็นความเดือดร้อน  ทั้งๆ ที่รัฐบาลสามารถดึงเงินจากภาษีต่างๆ มาช่วยได้ ซึ่งสหพันธ์ฯ ขอเวลาแค่ 1 ปีในช่วงวิกฤติโควิดและเศรษฐกิจซบ แต่รัฐบาลยังยืนยันจะตรึงราคาไว้ที่ลิตรละไม่เกิน 30 บาท

ทางสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย จึงได้นัดประชุมหารือกันกับสมาคมผู้ประกอบการรถบรรทุกทั่วประเทศ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสรุปแนวทางการตรึงราคา 25 บาท โดยยืนยันข้อเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาลดฐานภาษีพลังงานทุกชนิด เพื่อช่วยคนไทยทั้งประเทศ และขอให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 25 บาท ในช่วง 1 ปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายลง เนื่องจากคนไทยทั้งประเทศต้องเจอวิกฤติโควิด19 ระบาด มาร่วม 2 ปีแล้ว ภาคประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ ต่างแย่กันไปหมด  จึงวอนขอให้รัฐช่วยลดการเก็บภาษีน้ำมัน แก๊ส ลงบ้างเพื่อช่วยประชาชน

โดยกลุ่มสมาชิกสมาคมรถบรรทุกภาคอีสาน จะเริ่มทำตามมติสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย  หยุดรถรับ-ขนส่งสินค้าลง 20 % ซึ่งจะจอดรถบรรทุกที่ตั้งของขนส่งเอง โดยไม่จอดบนถนนให้เกิดความเดือนร้อนกับผู้ใช้ทาง  ส่วนทางสหพันธ์การขนส่งแห่งประเทศไทย จะเปิดแถลงข่าวขับเคลื่อนการเรียกร้องอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (1 พฤศจิกายน 2564) เพื่อขอให้รัฐบาลได้ทบทวนและออกมาช่วยเหลือประชาชน เพราะหากน้ำมันแพง ไฟฟ้าขึ้นราคา ค่าทางด่วน-ค่ารถไฟฟ้าก็จะขึ้นราคาตามไปด้วย ซึ่งถ้ารัฐบาลยังยืนยันตามเดิม ไม่มีแนวทางที่เหมาะสมกว่านี้ ทางสหพันธ์ฯ ก็จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเอง และอาจจะต้องขึ้นราคาค่าขนส่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบตามมาต่อประชาชนทั้งประเทศ เพราะผู้ประกอบการ โรงงาน และภาคการผลิตต่างๆ ก็จะต้องปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นตามต้นทุนค่าขนส่ง  จึงขอให้รัฐบาลได้ทบทวนด้วย


 
'ยุทธพงศ์ 'จี้ รัฐเร่งเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกข้าว บรรเทาความเดือดร้อน หลังหนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้นไม่หยุด
https://www.matichon.co.th/politics/news_3018765

‘ยุทธพงศ์ ‘จี้ รัฐเร่งเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หวังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนหลังหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นไม่หยุด
 
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 31 ตุลาคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงว่า จากการที่พรรเพื่อไทย ไปประชุมใหญ่สามัญประจำปีที่จ.ขอนแก่น และส.ส.ก็ได้ลงพื้นที่พบว่าขณะนี้เกิดปัญหาสำคัญกับเกษตกรในภาคอีสานและภาคอื่นๆทั่วประเทศ คือหนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เริ่มจากสภาวะเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2563 เกิดโควิดระลอกที่หนึ่ง รัฐบาลก็ให้เงินช่วยเหลือประชาชนครอบครัวละ 5 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน ต่อมาปีนี้เกิดโควิดรอบสาม เมื่อเมษายน มีการปิดแคมป์คนงาน ปิดร้านอาหาร ปิดโรงงาน คนต่างจังหวัดที่เคยทำงานในกิจการต่างๆทยอยกลับต่างจังหวัด และก่อนเดือนกันยายน เกิดสภาวะฝนแล้ง พอปลายกันยายน – ตุลาคม เกิดอุทกภัยทั่วประเทศ จะเห็นว่าคนไทยหนี้ท่วมไปหมด เพราะเกิดจากภาวะทางเศรษฐกิจ
 
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่การระบาดของโควิด หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงโดยเพิ่มจาก 80 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ณ สิ้นปี 2562 ไปเป็น 90.5 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี ณ ไตรมาส1/2564 คาดการณ์ว่าระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอาจจะเพิ่มไปถึง 93 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในสิ้นปีนี้ โดยปริมาณหนี้ครัวเรือนของไทยต่อจีดีพี ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤตนี้เกิดจากความจำเป็นในการก่อหนี้เพิ่มเนื่องจากมีสภาพคล่องในครัวเรือนไม่เพียงพอกับรายจ่าย หลังจากที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ในช่วงล็อกดาวน์ การถูกปรับลดเงินเดือนลงบางส่วน และการถกเลิกจ้างงาน ตัวย่างเช่น ในช่วงบุญกฐิน ประชาชนไม่มีเงินจะทำบุญกองกฐิน เห็นได้ถึงภาวะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น
 
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ประชาชนที่เป็นเกษตรกรในภาคอีสาน พบปัญหาเร่งด่วนคือ ราคาข้าวใหม่ หรือข้าวหอมมะลิ ตกต่ำเหลือกิโลกรัมละ6 บาท ในขณะที่ปุ๋ยเคมี ราคาสูงถึงกระสอบละ 950 บาท ราคารถเกี่ยวข้าวไร่ละ 600 บาท เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลในต่างจังหวัดลิตรละ 32 บาท ดังนั้น สิ่งที่ตนในฐานะที่เป็นส.ส.ในภาคอีสาน อยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเยียวยาช่วยเหลือเกตรกรในฤดูกาลเพาะปลูกปี 2564/2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อนุมัติเงินเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมาจำนวน 2.7 หมื่นล้านบาทเป็นโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/2564 เป็นข้าว 5 ชนิดนั้นขอให้รัฐบาลเร่งรัดส่งเงินเยียวยาช่วยเหลือเป็นการด่วน เพราะเกตรกรหนี้สินเพิ่มขึ้น รายได้ไม่พอรายจ่าย
  

  
สงขลาจ่อวิกฤต! โควิดเพิ่ม 583 คน ไต่ขึ้นอันดับ 2 ของประเทศ เผยพบ ATK ตรวจไม่แม่นยำ
https://www.matichon.co.th/covid19/thai-covid19/news_3018620
 
สงขลาจ่อวิกฤต! โควิดเพิ่ม 583 คน ไต่ขึ้นอันดับ 2 ของประเทศ เผยพบ ATK ตรวจไม่แม่นยำ ‘นพ.สุภัทร’ ชี้ ชายแดนใต้ติดยกครอบครัวและชุมชนขยายวงกว้าง
 
วันที่ 31 ต.ค.กลุ่มภารกิจสื่อสารความเสี่ยง สำนักงานสาธารณสุข (สสจ.)สงขลาเปิดเผยสถานการณ์โควิดใน จ.สงขลาวันที่ 31 ต.ค.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 583 คน อันดับ 2 ของประเทศ และอันดับ 1 ของภาคใต้ ไม่พบผูเสียชีวิต ยอดติดเชื้อสะสม 48,369 คน เสียชีวิตตั้งแต่ 1 เม.ย.181คน รักษาตัวในโรงพยาบาล 5,650 กว่าคน
 
รายงานว่าตรวจคัดกรองพบติดเชื้อรายใหม่ยังอยู่ในกลุ่มเดิมมากที่สุดคือกลุ่มผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อวนเวียนในพื้นที่ 8 อำเภอ มี อ.จะนะ หาดใหญ่ เมือง สิงหนคร สะบ้าย้อย รัตภูมิ สะเดาและ อ. เทพา รองลงมาจากคลินิกคัดกรองโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในตลาด โรงงาน ร้านค้า บริษัทและในชุมชน กลุ่มผู้ติดเชื้อจากหน่วยงาน กลุ่มผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยันจากต่างจังหวัด
 
รายงานจากชมรมแพทย์ชนบทว่า กลุ่มต้องสงสัยติดเชื้อจากการตรวจด้วยชุด ATK ซึ่งกำลังมีปัญหาจาก ATK ที่ไม่ได้มาตรฐานคือมีคุณภาพต่ำของภาครัฐ ทำให้ผลการตรวจไม่แม่นย่ำ สร้างความสับสนเกิดขึ้นอยู่จำนวนมาก ผู้ที่รับการตรวจต้องไปตรวจในสถานพยาบาลหรือคลินิกเอกชนต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงครั้งละ 450-1,300 บาท ชมรมแพทย์ฯเคยทักท้วงมาแล้ว ผลกรรมกำลังตกอยู่กับประชาชน
 
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลากล่าวว่าหลายจังหวัดนับถอยหลังสู่การเปิดประเทศ วันที่ 1 พ.ย. 64 แต่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนนับถอยหลังสิ้นเดือน ต.ค.จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงหรือไม่ หลังจากที่ได้รับโควต้าวัคซีนไฟเซอร์ 1,000,000 โดส เพื่อฉีดอย่างเร่งด่วนให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรทั้งจังหวัด
 
“อุปสรรคคือจำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากหน้างานของทีมแพทย์นั้นไม่ได้มีเฉพาะการฉีดวัคซีน แต่มีการให้บริการอย่างอื่นด้วย ส่งผลทำให้ศักยภาพการฉีดวัคซีนในแต่ละพื้นที่นั้นแตกต่างกัน”
 
นพ.สุภัทรกล่าวว่า จ.สงขลาฉีดวัคซีนได้วันละ 30,000 โดส แต่ จ. ปัตตานี ยะลาและ จ.นราธิวาสฉีดได้ประมาณวันละ 10,000 โดส แต่ในขณะเดียวกันมีการระบาดเกิดขึ้นในวงกว้างแล้ว ยังมีข้อแตกต่างในการเข้ารับการฉีดวัคซีน
 
“พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องอาศัยความเข้าใจในการอธิบายให้กับประชาชน ทีมแพทย์ต้องเดินเท้าเข้าชุมชนเท่านั้น เพื่อให้ทันในการควบคุมสถานการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในครอบครัว หลายพื้นที่มีการติดเชื้อแบบยกบ้าน และยกชุมชน” นพ.สุภัทรกล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่