JJNY : ติดเชื้อ7,982 เสียชีวิต68│น้ำมันโลกลดต่ำสุดในรอบ 4สัปดาห์│โหวตไฟเขียวงานบอล│เตือนสัปดาห์หน้าลด4องศา ใต้เสี่ยงท่วม

โควิดติดเชื้อเพิ่ม7,982ราย หายป่วย8,029ราย เสียชีวิต68
https://www.dailynews.co.th/news/440890/

ยอด 'โควิด-19' วันนี้ พบเสียชีวิตเพิ่มอีก 68 ราย ขณะที่พบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มอีก 7,982 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,914,561 ราย 
 
สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ล่าสุด วันที่ 4 พ.ย. 64 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อีก 7,982 ราย เป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 7,838 ราย และผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 144 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 มีจำนวน 1,914,561 ราย หายป่วยกลับบ้าน 8,029 ราย หายป่วยสะสม 1,799,066 ราย กำลังรักษา 97,470 ราย
 
โดยวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 68 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 มียอดสะสมสูงถึง 19,462 ราย
 

 
น้ำมันโลกปรับลดต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ - ชงรัฐลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง 1-2 บาท/ลิตร
https://ch3plus.com/news/program/264553

ราคาน้ำมันโลกยังปรับลดต่อเนื่อง ต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ เป็นผลจากการที่สำนักงานข้อมูลพลังงานสหรัฐฯ เผยว่าน้ำมันในสต็อกของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่า 3.3 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิชาการคาดการณ์ไว้
 
โดยราคาที่ตลาดไนเม็กซ์ นิวยอร์ก ลดลง 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล หรือ 3.6% ปิดที่ 80.86 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
ส่วนตลาดเบรนท์ ลอนดอน ลดลง 2.73 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล หรือ 3.2% ปิดที่ 81.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
แต่ราคาน้ำมันในไทยอิงราคาตลาดสิงคโปร์ ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง ราคาอยู่ที่ 93.85 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
  
นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก ยังคงมีแนวโน้มตึงตัวอยู่ในระดับสูง จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังสถานการณ์โควิด , กำลังการผลิตน้ำมันดิบ , การเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว , หรือการเปิดประเทศให้มีการเดินทางท่องเที่ยว

ประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จนถึงไตรมาส 1 ปี 2565 จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 80-90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และมีสิทธิจะมีการขยับขึ้นไปถึง 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ได้กรณีปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นมีแนวโน้มที่ขยับไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการตึงตัวทางด้านการผลิตที่มีน้อยกว่าความต้องการใช้
 
ที่ต้องจับตามากที่สุด คือ การประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปกพลัส) 23 ประเทศ จะมีทิศทางในเรื่องกำลังการผลิตอย่างไร โดยปัจจุบันกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปก นั้นผลิตรวมกันที่ 27.2 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิดเป็น 30% ของการผลิตของโลก
 
ซึ่งก่อนหน้านี้มีการระบุว่า ทางกลุ่มมีแนวโน้มคงมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ธ.ค. เพียง 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ตามข้อตกลงเดิม แต่ทางสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) ประเมินว่า ความต้องการที่แท้จริงนั้น จะต้องมีการผลิตเพิ่มอีกกว่า 1.6 ล้านบาร์เรล/ต่อวัน หากไม่มีการปรับตัวเลขการผลิตที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกแน่นอน
 
ด้าน ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น กระทบกับผู้บริโภคค่อนข้างมาก โดยในช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 20-30% กระทบต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น 10-15%
 
โดยเห็นว่า การลดภาษีสรรพสามิตจะเห็นได้ชัดเจน โดยหากลดลงลิตรละ 5 บาท ซึ่งปัจจุบันใช้น้ำมันดีเซลวันละ 60 ล้านลิตร เงินภาษีของรัฐจะหายไปเดือนละ 10,000 ล้านบาท หรือ ปีละ 120,000 ล้านบาท คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้สรรพสามิตจากน้ำมัน ซึ่งมากไป แต่หากลดลิตรละ 1-2 บาท น่าจะสมควรมากกว่า
 

 
เผยผลสำรวจล่าสุด โหวตไฟเขียวงานบอล "จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์" ควรไปต่อ!
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_6713429
 
องค์การนักศึกษาฯ ธรรมศาสตร์ (อมธ.) เผยผลสำรวจล่าสุด 78.60% โหวตงานบอลประเพณี จุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ควรไปต่อ ชี้ ต้องเป็นพื้นที่แสดงออกอย่างอิสระ
 
จากกรณีสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ใน งานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนระบอบอำนาจนิยม และเป็นธรรมเนียมสะท้อนความไม่เป็นธรรม ซึ่งส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณในหลากหลายมุมมองนั้น ต่อมา องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ได้เปิดสำรวจให้ร่วมลงความเห็นว่า งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ และ จุฬาลงกรณ์นั้น ยังควรจัดต่อไปหรือไม่
 
ล่าสุด อมธ. ได้เผยแพร่ สรุปผลการสำรวจล่าสุด “งานฟุตบอลประเพณีควรมีต่อหรือพอแค่นี้” จากประชาคมธรรมศาสตร์ทั้งศิษย์เก่าและนักศึกษาปัจจุบันจากจำนวนกว่า 4,000 คน ส่วนใหญ่ 78.60% โหวตไปในทิศทางเดียวกันว่า “งานฟุตบอลประเพณีควรมีต่อไป”
 
เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสามัคคีสะท้อนภาพสังคมได้อย่างสร้างสรรค์ เป็นการแสดงออกทางการเมืองถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของความเป็นธรรมศาสตร์ แต่หากต้องมีการเปลี่ยน ประชาคมส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงโดยเราขอนำเสนอ 5 อันดับแรกที่มีการโหวตมากที่สุด ดังนี้
 
1. กว่า 88.10% โหวตให้งานฟุตบอลประเพณีฯ เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกอย่างอิสระ
2. กว่า 83.10% โหวตให้ควรใช้วิธีอื่นแทนการใช้คนแบกเสลี่ยงในขบวนตรามหาวิทยาลัย
3. กว่า 80.20% โหวตให้นักศึกษาปัจจุบันต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการจัดงานฟุตบอลประเพณีฯ
4. กว่า 79.40% โหวตให้เพิ่มพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองในขบวนพาเหรดและการแปรอักษร
5. กว่า 79.30% โหวตให้ทบทวนประเด็น Beauty Privillege และ Beauty Standard อย่างจริงจัง
และอื่น ๆ
 
โดยมีการโหวตกว่า 19.30% ที่โหวตให้ไม่จัดงานฟุตบอลประเพณีฯ โดยให้ความเห็นว่า สิ้นเปลืองงบประมาณ เกิดความเหลื่อมล้ำสูง และไม่มีประโยชน์  ทั้งนี้ประชาคมธรรมศาสตร์สามารถร่วมใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นได้ผ่าน https://bit.ly/2Zi0ABI โดยเราจะเปิดรับความคิดเห็นจนถึงวันที่ 6 พ.ย. 2564
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่