น่านฤดูควัน 3 วัน 2 คืน 19-21 มีนาคม 2564 ตอน 3 เมืองน่าน

คุ้มเมืองมินทร์


ที่จริงคราวนี้เราแยกกันพัก 2 โรงแรม หนึ่งในนั้นคือคุ้มเมืองมินทร์ซึ่งอยู่ใจกลางเมืองน่านในระยะที่เดินไปวัดภูมินทร์ และวัดพระธาตุช้างล้อมฯ ได้แบบยังไม่ทันเหนื่อย อาคารของโรงแรมเป็นแบบครึ่งตึกครึ่งไม้ สถาปัตยกรรมแบบที่เห็นทั่วไปในเมืองเหนือ (โดยเฉพาะจังหวัดแพร่) เป็นอาคารที่สร้างในช่วงที่มีการให้สัมปทานป่าไม้ช่วงรัชกาลที่ 6 โดยผู้ได้รับสัมปทานส่วนหนึ่งจะเป็นชาวตะวันตก อาคารทำจากวัสดุที่แข็งแรง และส่วนที่เป็นไม้ก็ทำจากไม้สัก จึงทำให้คงทนอยู่นานจวบจนปัจจุบัน 


วัดภูมินทร์

ค่ำวันนั้น (20 มีนาคม 2564) ที่วัดภูมินทร์มีพิธีพระราชทานเพลิงศพพระเทพนันทาจารย์ (กานต์ สุปุญโญ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดน่าน อดีตเจ้าอาวาสวัดภูมินทร์ โดยเรามาทราบภายหลังว่าพิธีสำหรับวันนี้เขาเริ่มตั้งแต่เวลา 15.30 น. โดยมีพิธีประชุมเพลิง(เผาจริง)เวลา 20.00 น.วันเดียวกัน ถือเป็นบุญที่ได้มีโอกาสกราบสรีรังคารของท่าน ถึงแม้จะแค่ห่างๆ เพราะเราไม่ทราบล่วงหน้าและไม่ได้เตรียมเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมก็ตาม


และวิหารทรงจตุรมุขของวัดภูมินทร์ยามค่ำคืน

ส่วนช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันอาทิตย์ พิธีพระราชทานเพลิงศพผ่านไปแล้ว นักท่องเที่ยวทยอยเข้าเยี่ยมชมวิหารทรงจตุรมุขของวัด และที่ทุกๆ คนทราบ การไปวัดภูมินทร์ก็ต้องไม่พลาดจิตกรรมฝาผนังด้านใน นักท่องเที่ยวมากสักหน่อย จะต่างจากเมื่อคราวก่อนที่เราเข้าไปวันธรรมดา ผู้คนจะบางตากว่ามาก


วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

จริงๆ เราก็เดินต่อจากที่ผ่านพิธีพระราชทานเพลิงศพท่านอดีตเจ้าคณะจังหวัดน่านนั่นแหล่ะ ก็ถือว่าได้ชมวัดยามค่ำคืน แต่ดูเหมือนที่วัดพราตุช้างค่ำฯ แห่งนี้ก็มีงานพิธีอะไรบางอย่างอยู่เช่นกัน มีการจัดประดับตกแต่งด้วยงานกระดาษ และมีสามเณรตั้งโต๊ะอยู่ด้านหน้าวัดเพื่อให้บริการผู้ที่เข้ามาทำบุญ และราวเกือบ 2 ทุ่มแล้ว วัดก็ยังคึกคัก


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

เดิมคือคุ้มเจ้าหลวงแต่ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่เก่าแก่และมีคุณค่ามากมาย ในภาพด้านล่างนี้จะเห็นวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทยอยู่ด้านซ้ายของภาพ อาคารใหญ่กลางภาพคือคุ้มเจ้าหลวงเดิมหรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านปัจจุบัน และซ้ายของรูปที่เป็นต้นไม้ใหญ่ นั่นคือต้นมะขามร้อยปีที่ให้ความร่มรื่นตลอดมา


สำหรับห้องจัดแสดงโบราณวัตถุด้านใน ส่วนใหญ่จะเป็นโบราณวัตถุที่มีกลิ่นอายของศิลปะทางภาคเหนือ ทั้งล้านนา และศิลปะไทลื้อ ที่แสดงถึงความเลื่อมไสในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าของประชาชนตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน


วัดพระธาตุเขาน้อยและวัดพระธาตุแช่แห้ง

ทั้งสองวัดนี้ถือว่าอยู่นอกตัวเมืองเก่า จำเป็นต้องขับรถออกไปสัก 20 นาที วัดพระธาตุเขาน้อยถือว่าเป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่บนเขาน้อยลูกเล็กๆ ที่เมื่อขึ้นไปด้านบนจะสามารถมองลงมาเห็นเมืองน่านได้ทั้งเมือง วิหารและเจดีย์ที่เก่าแก่ ในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปแบบไทลื้ออันงดงาม
ส่วนวัดพระธาตุแช่แห้งที่ถือว่าเป็นวัดของคนเกิดปีกระต่าย ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเก่าราว 20 นาทีเช่นกัน ช่วงที่เราไปองค์เจดีย์หลักของวัดระฆังคว่ำแบบล้านนาหุ้มทองจังโก กำลังถูกบูรณะอยู่ จะเห็นนั่งร้านโดยรอบ 

วัดพระธาตุเขาน้อย


วัดพระธาตุแช่แห้ง


วัดน้ำล้อม

วัดนี้ถือว่าเราแวะเข้าไปโดยบังเอิญ (แต่จริงๆถ้าจะใช้คำว่าบังเอิญเข้าวัดในน่าน คงต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะเข้าวัดได้ครบทุกวัด) แวะเข้าไปด้วยความสวยงามของงานประดับกระจกที่บริเวณด้านหน้าของพระอุโบสถครับ และก็สวยงามจริงๆ


หน้าบันเป็นงานประดับกระจกทำเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ เหนือขึ้นไปเป็นตราธรรมจักรสัญลักษณ์ของศาสนาพุทธ และสัญลักษณ์คบเพลิงที่หมายถึงแสงสว่าง คือปัญญา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของศาสนาพุทธ


ด้านในประดิษฐานพระประธานขนาดใหญ่ที่ให้นึกถึงพระในศิลปะล้านนาที่มีศิลปะสุโขทัยปน นั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย ผนังโดยรอบเขียนจิตรกรรมเกี่ยวกับพุทธประวัติเอาไว้

------------------
คุณหมูยอ
เดินทาง 19-21 มีนาคม 2564
บันทึก 28 เมษายน 2564
-----------------
อ่านตอนอื่นๆ ของน่านฤดูควัน
ตอน 1 ปัว https://ppantip.com/topic/40674945
ตอน 2 บ่อเกลือและดอกไม้ริมทาง https://ppantip.com/topic/40675104
ตอน 3 เมืองน่าน (1) https://ppantip.com/topic/40677263
ตอน 4 เมืองน่าน (2) https://ppantip.com/topic/40677294
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่