ร้านกาแฟบ้านไทลื้อ
ชาวลื้อหรือไทลื้อเดิมมีถิ่นฐานอยู่ทางภาคใต้ของจีน ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานมาแถวสิบสองปันนาและลุ่มแม่น้ำโขง โดยปัจจุบันชาวลื้อหรือไทลื้อได้กระจายตั้งถิ่นฐานในหลายประเทศ เช่นเชียงตุงของเมียนมา หลวงพระบางของลาว เชียงราย แพร่ น่าน ของประเทศไทย โดยมีศิลปวัฒนธรรมของตนเอง และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างสูง
จากวัดภูเก็ตราว 6 โมงเช้าถึง 7 โมง ไปวัดพระธาตุเบ็งสกัด แล้วแวะกลับเข้าไปทานอาหารเช้าที่โรงแรมพร้อมเช็คเอ้าท์ จุดหมายถัดไปคือบ่อเกลือและระหว่างทางก็คงไม่พลาดร้านกาแฟบ้านไทลื้อ ที่เหมือนวิชาบังคับสำหรับคนที่ไปน่าน
มีการปรับปรุงร้านขายผ้าด้านหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าพื้นเมืองจำพวกหม้อฮ่อม จากเดิมเป็นอาคารกึ่งถาวรชั้นเดียว ช่วงที่เราไปกำลังสร้างใหม่เป็นแบบก่ออิฐถือปูนสองชั้น และร้านขายผ้ายังไม่เปิดบริการ จะเปิดแต่ร้านกาแฟแต่อย่างไรเขาก็ยังยินดีให้เราเข้าไปเดินเล่นและถ่ายรูปครับ (ถึงแม้จะไม่ได้อุดหนุนกาแฟของเขาก็ตาม แต่เขาห้ามเอาเครื่องดื่มจากร้านด้านนอกเข้าไปเท่านั้นเอง)
บรรยากาศก็จะแห้งๆ แล้งๆ หน่อย ต่างจากคราวก่อนที่เราไปในฤดูฝนและเป็นวันฝนตก ... ฤดูต่าง บรรยากาศก็ต่าง ถึงแม้จะเป็นสถานที่เดิมก็ตาม
ชมพูภูคา
เขาบอกว่า ถ้ามาน่านในช่วงฤดูดอกไม้ คือประมาณกลางเดือนมีนาคมของทุกปี ให้จัดโปรแกรมตามหาดอกชมพูภูคาไว้ด้วย ที่ต้องตามหาเพราะมันไม่ได้หาง่ายแบบที่เราคาดหวังไว้ จริงๆ ทางอุทยานฯ เขามีแนะนำไว้นะครับว่าควรไปจุดไหน แต่เราอาศัยถามเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่สำนักงานอุทยานแห่งชาติดอกภูคาเอา ท่านแนะนำให้ไปที่บริเวณตำหนักเจ้าหลวงภูคาซึ่งอยู่ระหว่างทางที่เรากำลังมุ่งหน้าไปบ่อเกลือ มันอยู่บนเส้นทางที่ผ่าเข้าไปในป่าเขาเขตอุทยานแห่งชาติฯ นั่นแหล่ะ และสามารถค้นหาและปักหมุดได้ใน google map
แต่จริงๆ จุดนี้ก็นับเป็นจุดฮอตฮิตของนักท่องเที่ยวพอสมควร
มีป้ายบอกชัดเจน แต่ดอกมีไม่มากเพราะเริ่มร่วงไปจนเกือบหมดแล้ว ตอนที่เราขึ้นไปถึงบริเวณตำหนักเจ้าหลวงฯ ก็มีรถตู้นักท่องเที่ยวหลายคณะแวะมาถ่ายรูปกับต้นไม้พิเศษต้นนี้อย่างไม่ขาดสาย ร่มรื่นและจุดนี้สามารถพักรถได้
บ่อเกลือ สปัน และดอกไม้ริมทาง
ด้วยที่เป็นทริปสั้นๆ บางจุดเลยกลายเป็นการเช็คอินไป จริงๆ ระหว่างทางหลังจากที่เราแวะร้านกาแฟบ้านไทลื้อแล้ว ได้มีโอกาสแวะฟาร์มเห็ดบ้านหัวน้ำที่เขามีทั้งอาหาร และการเรียนรู้เรื่องการเพาะเห็ดชนิดต่างๆ วิวอยู่บนเนิน สามารถสั่งเครื่องดื่มและนั่งพักผ่อนได้ อากาศไม่ร้อนมาก ต้นไม้เยอะ แวะชมดอกชมพูภูคา หลังจากนั้นจึงมุ่งหน้าสู่บ่อเกลือ
ไปบ่อเกลือฤดูนี้จะได้เห็นกิจกรรมการต้มเกลือของชาวบ้าน และวางขายผลิตภัณฑ์จากเกลือกันเกือบทุกร้าน คราวก่อนที่เราไปช่วงฤดูฝนเดือนสิงหาคม จะไม่เห็นการต้มเกลือเนื่องจากเป็นช่วงพักบ่อ (คุณป้าที่ร้านขายเกลือแกว่าแบบนั้น) คราวก่อนฤดูฝน ที่บ่อเกลือก็ชุ่มฉ่ำฝน คราวนี้ฤดูแล้ง ไม่มีฝนแล้วแต่ก็ร้อนน่าดู
ส่วนที่สปัน น้ำในแม่น้ำลำธารน้อยและใสแล้ว ผิดกับช่วงฤดูฝนที่มาก แรง จนขุ่นน่ากลัว และบางพื้นที่ที่สปันแห่งนี้ เดิมเป็นทุ่งนาเขียวๆ ปัจจุบันก็เริ่มกลายเป็นโครงการก่อสร้างรีสอร์ทและบ้านพักอยู่หลายจุด
เราขึ้นไปที่วัดสปัน ซึ่งเชิงเขาก่อนขึ้นไปบนวัดจะมีร้านเครื่องดื่มที่ได้ใจตรงวิวดีอยู่ร้านหนึ่ง "หยุดเวลาคาเฟ่" ลองแวะขึ้นไปครับ เครื่องดื่มทั่วๆ ไป ทั้งแบบมีคาเฟอีนและปรอดคาเฟอีน
เส้นทางในจังหวัดน่านที่เชื่อมต่อระหว่างอำเภอ ส่วนใหญ่จะคดเคี้ยวและขึ้นลงเขา อาจไม่ชันมาก และต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่สูง และด้วยเป็นทางที่ลัดเลาะไปตามสันเขา มันจึงมีหลายจุดที่สามารถแวะถ่ายรูปทิวทัศน์โดยรอบได้อย่างงดงาม และแต่ละจุดก็จะมีลักษณะพิเศษของตัวเองทั้งสิ้น
เราถึงเมืองน่านบ่ายแก่ๆ ของวันนั้น (วันที่ 20 มีนาคม 2564)
จุดชมวิว 1715
ดอกไม้ริมทางและวิวระหว่างทาง
ดอยกว่าง และถนนลอยฟ้า
ดอกไม้ริมทางก่อนเข้าเมืองน่าน
จริงๆ ที่ดอยกว่าง ซึ่งเป็นเนินสูงอยู่ริมถนนสายมุ่งหน้าเข้าเมืองน่าน เราได้คุยกับน้าผู้หญิงซึ่งให้บริการอยู่ ณ เวลานั้น และเราสังเกตุเห็นถ้วยรางวัลหลายใบวางเรียงรายในตู้โชว์ ก็ถามว่าเป็นถ้วยรางวัลเกี่ยวกับอะไร (เผื่อเป็นคอเดียวกัน) แกบอกว่าเป็นถ้วยรางวัลจากการประกวดกว่าง หรือด้วงกว่างนั่นแหล่ะ เราก็เลยถามต่อไปว่ามันเป็นอย่างไร และเขาประกวดกันอย่างไร เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ที่เราไม่ค่อยคุ้นเคย และเรารู้สึกว่าด้วงกว่างก็น่าจะเป็นแมลงที่มีอายุไม่ยืนนัก มันก็คงไม่เหมือนการเลี้ยงไก่ หรือนกพิราบสื่อสาร (ซึ่งเพิ่งเคยได้ยินการแข่งขันนกพิราบสื่อสารเมื่อไม่นานมานี่ ที่เขาไปปล่อยที่บุรีรัมย์แล้วให้บินกลับมาสมุทรปราการ)
แกเล่าว่าจะมีฤดูที่มีด้วงกว่างจำนวนมากที่ออกมาอาศัยในธรรมชาติ ในช่วงนั้นก็จะไปหาจับด้วงกว่างและเลือกตัวที่สวยๆ และจะมีงานประกวดจัดขึ้นเป็นประจำโดยปกติคือทุกปี (อาจเว้นปีโควิดแบบนี้) ด้วงกว่างที่สมบูรณ์ แข็งแรง และลักษณะดีก็จะได้รางวัล หลังจากนั้นตามวงจรชีวิตของเขา เขาก็จะตายไปตามธรรมชาติ เมื่อตายแล้วก็จะนำมาสตาฟท์ไว้ (เรานึกไปถึงผีเสื้อสำหรับคนเล่นผีเสื้อ ที่จะเก็บเป็นคอลเล็กชั่นที่ไม่เหมือนกันเลยในแต่ละตัว)
"ดอยกว่าง และถ้วยรางวัลของเขา"
---------------
คุณหมูยอ
เดินทาง 19-21 มีนาคม 2564
บันทึก 28 เมษายน 2564
--------------
อ่านตอนอื่นๆ ของน่านฤดูควัน
น่านฤดูควัน 3 วัน 2 คืน 19-21 มีนาคม 2564 ตอน 2