พบมัมมี่นกแก้วในบริเวณทะเลทราย Atacama

ในอดีต นักวิจัยเผยว่าอารยธรรมโบราณมักนิยมส่งซากนกที่แปลกประหลาดหายากไปทำการเก็บรักษาให้เป็นมัมมี่โดยเปิดปากของนกไว้ โดยเส้นทางที่คนโบราณใช้คือเส้นทางที่พาดผ่านเทือกเขาแอนดีส (เทือกเขาแอนดีสพาดผ่าน ๗ ประเทศตั้งแต่ เวเนซุเอลา,โคลอมเบีย, เอกวาดอร์, เปรู,โบลิเวีย,ชิลี และอาร์เจนตินา)

ซึ่งในบริเวณที่ราบสูงลาดชันไปกับแนวเทือกเขาแอนดีส มีทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดของโลกอย่างทะเลทราย Atacama ในที่นี้เอง นักโบราณคดีจาก Penn State University พบว่ามีขน และมัมมี่ของนกแก้ว และนกมาคอว์มากมาย ในขณะที่ทั้งคู่ไม่ใช่นกท้องถิ่นในทะเลทรายเลย

นกที่เจอมีบางส่วนที่ปากเปิดอยู่และลิ้นแลบออกมา บางส่วนก็สยายปีกเหมือนกำลังบินอยู่ Jose M. Capriles นักโบราณคดี ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยเผยกับ CNN ว่า “มันยากที่จะตีความ แต่คาดว่านี่น่าจะเป็นเชื่อมโยงกับความสามารถของนกที่สามารถเลียนแบบการพูดของมนุษย์ได้”
.
หลังจากการสันนิษฐานต่าง ๆ พวกเขาศึกษา DNA และอายุคาร์บอนกัมมันตรังสีของนกทั้ง ๖ สปีชีส์ที่พบจนอนุมานออกมาได้ว่านกน่าจะมีชีวิตอยู่ในช่วงปี พ.ศ. ๑๖๕๓ ถึง ๑๙๙๓ และถูกนำมาที่ทะเลทราย Atacama จากป่าแอมะซอน บ้านเกิดของมัน ซึ่ง Atacama ห่างจากแอมะซอน ๒,๔๕๙ กิโลเมตร นกเหล่านี้ต้องถูกขนส่งแบบเป็น ๆ ผ่านความสูง ความหนาว และความชันของเทือกเขาแอนดีส และทะเลทราย Atacama

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ลองคิดดูซิ การขนส่งลำเลียงนกมาจะลำบากแค่ไหน ยิ่งในสมัยนั้นไม่มีการสร้างถนน ไม่มีเครื่องบิน ไม่มีรถอีกด้วย ผู้คนคาดว่าสมัยนั้นอาจจะใช้ลามา สัตว์ประจำเทือกเขาแอนดีสในการขนส่งนกเหล่านี้ มัดนกไว้ตัวที่ตัวลามาแทน และไม่น่าใช่ม้าด้วย เพราะการขนส่งของด้วยม้ามาหลังจากที่ชาวสเปนมาถึงทวีปอเมริกาแล้ว

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

พอนกมาถึงแล้ว มันต้องถูกเลี้ยงอย่างดีก่อนเหมือนสัตว์เลี้ยง แต่จะถูกถอนขนไปทีละนิด ๆ เพราะขนของมันสามารถใช้มาทำเป็นเครื่องประดับสำหรับคนรวยได้ และนกเหมือนตัวแสดงถึงสถานะและความร่ำรวยของเจ้าของ
ด้วยเหตุผลทั้งปวงทั้งเรื่องที่มาที่ไปของซากนก การนำไปใช้ และการขนส่งล้วนเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก การขุดพบครั้งนี้จึงแสดงทั้งอารยธรรมโบราณ ความเชื่อ และบอกเล่าเรื่องราวมากมาย ถึงนักโบราณคดีจะไม่ทราบถึงสาเหตุว่าทำไมนกเหล่านี้ต้องถูกมัมมี่ในลักษณะนี้ และมันใช้ทำอะไรจริง ๆ กันแน่ แต่พวกเขาคาดเดาว่านกน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญกับผู้คนในบริเวณนั้น

"เป็นที่ชัดเจนว่าผู้คนให้ความสำคัญกับนกเหล่านี้อย่างมหาศาล รวมถึงพวกเรานักโบราณคดีด้วย เพราะซากศพของพวกมันช่วยให้เรามองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและสัตว์ในอดีตได้” Capriles เผย ซึ่งเขาก็หวังที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ที่ซับซ้อนที่เกิดขึ้นในทะเลทราบ Atacama และภูมิภาคอื่น ๆ ของอเมริกาใต้ต่อไป

นอกจากนี้ นักโบราณคดีคาดว่านกแก้วเหล่านี้อาจเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน ค้าขาย เพื่อแสดงถึงความเป็นมิตรของอารยธรรมจากอเมริกาใต้กับแถบทะเลทราย Atacama จนมันกลายเป็นที่ชื่นชอบในทันทีก็ได้ เพราะนักโบราณคดีพบว่าขนนกมากมายถูกเก็บรักษาไว้ราวกับเครื่องเพชร
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

- https://www.iflscience.com/plants-and-animals/mummified-parrots-found-in-the-atacama-desert-transported-hundreds-of-miles-while-alive/

- https://www.pnas.org/content/118/15/e2020020118
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่