สุดยอดการค้นพบทางโบราณคดีแห่งปี 2019

ตลอดช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มีเรื่องราวการค้นพบทางโบราณคดีที่น่าตื่นตาตื่นใจเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งช่วยไขปริศนาในอดีตและชี้แนะเส้นทางสู่อนาคตแก่มนุษยชาติ โดยได้มีการรวบรวมการค้นพบที่น่าทึ่งเหล่านี้ ได้แก่

อุโมงค์ลับแอซเท็ก


(INAH  ซากของอุโมงค์ระบายน้ำโบราณ มีอายุเก่าแก่ราว 600 ปี)



(GETTY IMAGES  ทลาล็อก (Tlaloc) เทพแห่งฝน สายฟ้า และความอุดมสมบูรณ์ของชาวแอซเท็ก)

ในบรรดาสิ่งก่อสร้างที่โลกลืมซึ่งเพิ่งมาค้นพบกันใหม่อีกครั้งในปีนี้ ที่โดดเด่นน่าทึ่งมากที่สุดแห่งหนึ่ง คงหนีไม่พ้นอุโมงค์ลับในยุคอารยธรรมแอซเท็กที่เก่าแก่ถึง 600 ปี โดยคนงานในเมืองเอกาเตเป็กซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองหลวงของเม็กซิโกเป็นผู้ขุดพบ ขณะเตรียมพื้นถนนเพื่อก่อสร้างป้ายจอดรถประจำทาง

การตรวจสอบของนักโบราณคดีพบว่า อุโมงค์นี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุโมงค์ระบายน้ำที่สร้างขึ้นโดยมีสัญลักษณ์ของเทพ "ทลาล็อก" (Tlaloc) เทพแห่งฝน สายฟ้า และความอุดมสมบูรณ์ ปรากฏอยู่ในรูปสลักหินและภาพวาดบนฝาผนังอุโมงค์ด้วย

ชาวแอซเท็กนั้นขึ้นชื่อในเรื่องความสามารถทางวิศวกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการชลประทาน การบริหารจัดการน้ำ และการสร้างเมืองที่เป็นเกาะลอยขนาดใหญ่กลางทะเลสาบ เชื่อว่าอุโมงค์ระบายน้ำที่ค้นพบล่าสุดนี้ สร้างขึ้นในสมัยของจักรพรรดิมอนเตซูมาที่หนึ่งช่วงกลางศตวรรษที่ 15 ซึ่งเป็นยุคที่จักรวรรดิแอซเท็กมีการปฏิรูปในหลายด้าน จนมีความมั่งคั่งและเข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม

น้ำเขื่อนแห้ง วังโบราณผุดที่อิรัก


(UNIVERSITY OF TUBINGEN  วังโบราณที่เคยจมอยู่ใต้เขื่อนโมซูลของอิรัก)

ความแห้งแล้งผิดปกติในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปีนี้ ทำให้ระดับน้ำในเขื่อนโมซูลทางตอนเหนือของอิรักลดลงอย่างมาก จนเผยให้เห็นซากของวังโบราณแห่งหนึ่งที่จมอยู่ใต้น้ำมานานหลายสิบปี

ทีมนักโบราณคดีของอิรักและเยอรมนีจึงใช้โอกาสนี้เข้าขุดค้นสำรวจ จนพบว่าอาจเป็นซากของเมืองโบราณซาคิคู (Zakhiku) ส่วนหนึ่งของอาณาจักรมิตานนี (Mitanni) ของชาวฮิตไทต์ ซึ่งแผ่อิทธิพลตั้งแต่ตุรกีไปจนจรดซีเรียและอิรักตอนเหนือ ในช่วง 1,500 - 1,300 ปีก่อนคริสตกาล ตำราการเลี้ยงและฝึกม้าที่เก่าแก่ที่สุดในโลกก็มาจากอาณาจักรแห่งนี้

นครที่สาบสูญ "มเหนทรบรรพต"


(CALI  ซากของวัดหรือเทวสถานในเขตเมืองมเหนทรบรรพต)

เทคโนโลยีการสแกนด้วยเลเซอร์ทางอากาศ (LIDAR) เผยให้เห็นซากเมืองโบราณ "มเหนทรบรรพต" นครหลวงของจักรวรรดิเขมรโบราณสมัยศตวรรษที่ 9 ซึ่งเป็นช่วงก่อนยุคเมืองพระนคร โดยพบใต้ผืนป่าทึบบริเวณที่ราบสูงพนมกุเลน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของซากโบราณสถานเมืองพระนคร ในจังหวัดเสียมเรียบของกัมพูชา

แม้เมืองดังกล่าวจะมีชื่อปรากฏในจารึกให้นักโบราณคดีได้ทราบกันมาก่อนหน้านี้ แต่ซากของเมืองและหลักฐานอื่น ๆ หายสาบสูญไปทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การสแกนด้วยเลเซอร์ทางอากาศครั้งล่าสุดได้เผยให้เห็นการปรับแต่งพื้นที่กว้างใหญ่ของเมืองมเหนทรบรรพตเป็นถนน ลำคลอง อ่างเก็บน้ำ วัด และนาข้าวจำนวนมาก
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า มเหนทรบรรพตกลายเป็นเมืองร้าง เพราะมีการอพยพโยกย้ายไปยังนครหลวงแห่งใหม่ด้วยเหตุผลทางการเพาะปลูกผลิตอาหาร เช่นเดียวกับการย้ายนครหลวงจากเมืองเกาะแกร์ในช่วงศตวรรษเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่สามารถจัดการกับปัญหาน้ำท่วมได้

งานศิลปะบนผนังถ้ำฝีมือมนุษย์ยุคใหม่ชิ้นแรกของโลก


ในปี 2019 ยังมีการค้นพบวัตถุโบราณเก่าแก่ที่สุดในโลกหลายชิ้น เช่นภาพวาดบนผนังถ้ำแห่งหนึ่งในจังหวัดสุลาเวสีใต้ของอินโดนีเซีย ถูกพบว่ามีอายุเก่าแก่ถึง 44,000 ปี นับว่าเป็นภาพวาดฝีมือมนุษย์ยุคใหม่หรือโฮโม เซเปียนส์ ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เท่าที่เคยมีการค้นพบมา โดยเป็นภาพของกลุ่มนายพรานที่มีร่างกายครึ่งมนุษย์ครึ่งสัตว์ กำลังไล่ล่าหมูป่าและควายป่าที่วิ่งหนี สันนิษฐานว่าอาจเป็นภาพที่มีนัยสื่อถึงพิธีกรรมและความเชื่อทางจิตวิญญาณ

ตัวหมากรุกเก่าแก่ที่สุดในโลก


(JOHN OLESON  ตัวหมากรุกที่ทำจากหินทราย พบในโบราณสถานฮูเมมาของจอร์แดน)

พบตัวหมากรุกที่แกะสลักจากหินทรายในโบราณสถานแห่งหนึ่งของจอร์แดน โดยตัวหมากรุกที่หน้าตาผิดแผกไปจากที่ใช้เล่นกันในปัจจุบันนี้ มีอายุเก่าแก่ถึง 1,300 ปี ปะปนอยู่กับของโบราณอื่น ๆ ในย่านการค้าเก่าแก่ ซึ่งช่วยยืนยันข้อสันนิษฐานที่ว่า การเล่นหมากรุกมีกำเนิดจากอินเดีย และเผยแพร่มาสู่โลกตะวันตกผ่านเส้นทางการค้าและการทูต

ไข่มุกเป็นสินค้าตั้งแต่ยุคหินใหม่


(AFP/GETTY IMAGES  ไข่มุกสีชมพูอายุ 8,000 ปี)

ส่วนวงการโบราณคดีของอาบูดาบีก็ไม่น้อยหน้า โดยทางการของรัฐแห่งนี้ได้นำไข่มุกเก่าแก่ที่สุดในโลก เท่าที่เคยมีการค้นพบมาออกแสดง เป็นไข่มุกสีชมพูอายุ 8,000 ปี พบบนเกาะนอกชายฝั่งของรัฐ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่า การค้าหรือแลกเปลี่ยนไข่มุกกับสินค้าอื่น ๆ มีมาตั้งแต่ยุคหินใหม่ หรือราว 12,000 - 3,500 ปีก่อนคริสตกาล

มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์รู้จักสร้างหลุมดักช้างแมมมอธ


(AFP/INAH  ภายในหลุมยังมีชิ้นส่วนกระดูกของช้างแมมมอธ 14 ตัวหลงเหลืออยู่)

ในปีนี้นักโบราณคดีค้นพบความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีอาหารแห่งยุคบรรพกาลมากมายหลายเรื่อง ทั้งเทคนิคการเสาะแสวงหาและเก็บถนอมอาหารของคนโบราณ โดยที่น่าตื่นเต้นที่สุดเห็นจะได้แก่การค้นพบหลุมดักช้างแมมมอธ ซึ่งสร้างขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อันเป็นหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นแรกของโลกที่ยืนยันว่า มนุษย์รู้จักวางแผนล่าแมมมอธมาเป็นอาหาร โดยใช้กับดักที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ

หลุมที่ขุดขึ้นเพื่อดักแมมมอธนี้ อยู่ที่เมืองตุลตีเป็กทางตอนเหนือของกรุงเม็กซิโกซิตี มีอายุเก่าแก่ราว 15,000 ปี มีความลึก 1.7 เมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างเกือบ 25 เมตร ทั้งยังมีชิ้นส่วนกระดูกของแมมมอธ 14 ตัวหลงเหลืออยู่ ทีมนักโบราณคดีของเม็กซิโกคาดว่า มนุษย์โบราณใช้คบไฟ ท่อนไม้ และอาวุธทำให้แมมมอธหวาดกลัว ก่อนจะไล่ต้อนมันให้วิ่งเตลิดจนตกลงไปในหลุมที่ขุดดักไว้

ไขกระดูกแสนอร่อยคือซุปกระป๋องของคนโบราณ


(PA MEDIA  นักโบราณคดีทดลองตัดกระดูกสัตว์ด้วยเครื่องมือที่คล้ายกับของยุคหิน)

ทีมนักโบราณคดีอิสราเอล พบฟอสซิลกระดูกสัตว์ที่มีรอยตัดด้วยเครื่องมือยุคหินในถ้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งชี้ว่ามนุษย์ในยุคดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตอยู่ราว 2 แสนถึง 4 แสนปีก่อน รู้จักเก็บชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ไว้กินไขกระดูกที่อุดมด้วยไขมันและสารอาหารภายหลัง ทำให้ได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นจากการกินอาหารที่เก็บถนอมไว้และพกพาติดตัวไปได้ง่าย เหมือนกับคนในยุคปัจจุบันกินอาหารกระป๋องขณะไปตั้งแคมป์

แม่เลี้ยงลูกด้วยนมขวดมีมาแต่บรรพกาล


(PA MEDIA  นมขวดยุคโบราณอาจเป็นนมแพะหรือนมวัว ใส่ภาชนะมีหูข้างเดียวให้ผู้ใหญ่จับเพื่อป้อนเด็ก)

การให้เด็กเล็กดื่มนมจากขวด ไม่ใช่พฤติกรรมของคนสมัยใหม่เท่านั้น เพราะมีการค้นพบภาชนะเซรามิกขนาดเล็ก ในหลุมศพเด็กสองขวบที่เยอรมนี โดยมีอายุเก่าแก่ 1,200 ปีก่อนคริสตกาล และมีร่องรอย DNA ของนมแพะติดค้างอยู่

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า สังคมช่วงปลายยุคหินใหม่เริ่มให้เด็กหย่านมแม่เร็วขึ้น ทำให้แม่สามารถตั้งท้องและมีลูกคนถัดไปได้เร็วกว่าเดิม เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรมนุษย์เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกับการมาถึงของสังคมเกษตรกรรม

พบเส้นนาซกาใหม่เพิ่มอีกกว่าร้อยภาพ


(YAMAGATA UNIVERSITY  หนึ่งในภาพลายเส้นที่ค้นพบใหม่มีโครงสร้างคล้ายรูปคนเต้นรำ)

ปี 2019 นี้ถือว่าเป็นปีทองของวงการโบราณคดีเปรู โดยมีการค้นพบสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานชื่อดังและมรดกโลกอยู่มากมาย เริ่มด้วยการค้นพบเส้นนาซกา ภาพลายเส้นปริศนาในทะเลทรายอันเลื่องชื่อเพิ่มอีก 143 ภาพ โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ช่วยมองหาร่องรอยของแบบแผนลวดลายที่เลือนรางไปตามกาลเวลา จนสายตาของมนุษย์ไม่อาจมองเห็นได้

ในบรรดาลายเส้นที่ค้นพบใหม่ในครั้งนี้ มีทั้งรูปคนและสัตว์ชนิดต่าง ๆ ในธรรมชาติ เช่นนก หนู แมว ลามา รวมทั้งสัตว์ที่ถือเป็นเทพเจ้าในตำนานอย่างงูสองหัวในวัฒนธรรมแอซเท็กด้วย สันนิษฐานว่าภาพลายเส้นขนาดเล็กทำหน้าที่เป็นเหมือนป้ายหรือสัญลักษณ์บอกทิศและตำแหน่ง เพื่อนำทางชนเผ่าโบราณไปยังภาพลายเส้นที่มีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม

มาชูปิกชูสร้างขึ้นบนแนวรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลก


(GETTY IMAGES  นักโบราณคดีต่างสงสัยว่า เหตุใดชาวอินคาจึงเลือกก่อสร้างมาชูปิกชูบนหุบเขาสูงชันและลึกลับแห่งนี้)

ผลการศึกษาทางธรณีวิทยาชี้ว่า ชาวอินคาเลือกบริเวณหุบเขาศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ตั้งเมืองป้อมปราการบนที่สูง "มาชูปิกชู" เพราะมีรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลกและรอยแยกของพื้นหินตัดกันเป็นเครื่องหมายรูปกากบาท (X) อยู่เต็มไปหมด

นักธรณีวิทยาผู้ทำการศึกษาชี้ว่า ชาวอินคาน่าจะจงใจสร้างเมืองตามแนวรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งมีเทือกเขาสูงและมีแหล่งหินเก่าแก่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งจะสามารถใช้ในการก่อสร้างได้อย่างสะดวกและเหลือเฟือ โดยไม่ต้องเจาะสกัดและเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น

พิธีบูชายัญเด็กครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก


(AFP   พบโครงกระดูกของเด็กเผ่าชิมูที่ถูกฆ่าบูชายัญถึง 227 ศพ)

เรื่องราวสะเทือนขวัญในอดีตได้รับการเปิดเผย เมื่อมีผู้พบหลุมศพเด็กเผ่าชิมู (Chimu) ที่ถูกฆ่าบูชายัญ โดยมีร่างโครงกระดูกของเหยื่อเด็กอายุตั้งแต่ 4-14 ปี รวมกันอยู่มากที่สุดในหลุมเดียวถึง 227 ศพ ที่เมืองฮวนชาโกใกล้กรุงลิมาของเปรู

จากการตรวจสอบพบร่องรอยการใช้อาวุธมีคมกระแทกกระดูกซี่โครงตรงหน้าอกให้แตก เพื่อควักหัวใจออกมา คาดว่าเป็นการบูชายัญเพื่ออ้อนวอนเทพให้บรรเทาความแห้งแล้ง ซึ่งน่าจะเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญในยุคศตวรรษที่ 14
นักโบราณคดีตั้งข้อสังเกตว่า ยิ่งสังคมโบราณสิ้นหวังและใกล้ล่มสลายมากขึ้นเท่าใด พิธีกรรมนองเลือดก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

เหล่ามัมมี่สัตว์แห่งอียิปต์เผยโฉม


(REUTERS   นกช้อนหอยป่านับล้านตัวถูกต้อนจับมาเลี้ยงในฟาร์ม เพื่ออุตสาหกรรมทำมัมมี่นกบูชาเทพ)

สำหรับประเทศอียิปต์ เจ้าแห่งกรุสมบัติทางโบราณคดี ปีนี้เป็นปีแห่งการค้นพบมัมมี่สัตว์ ไม่ว่าจะเป็นมัมมี่แมวจำนวนมาก หรือมัมมี่ลูกสิงโตสองตัว ซึ่งถูกค้นพบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการศึกษาด้านอียิปต์วิทยาเป็นต้นมา
การขุดค้นครั้งใหม่ล่าสุด ที่สุสานเมืองซักคารา (Saqqara) ทางตอนใต้ของกรุงไคโร ยังได้พบมัมมี่นก จระเข้ งูเห่า ด้วงดำหรือสคารับจำนวนมาก ทั้งได้พบร่องรอยการต้อนจับนกช้อนหอย (Ibis) จากป่านับล้านตัวมาเลี้ยงในฟาร์ม เพื่ออุตสาหกรรมการทำมัมมี่นกขาย ให้ผู้คนนำไปเป็นเครื่องบูชาแก่เทพเจ้าโดยเฉพาะ
ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า สัตว์ที่นำมาทำเป็นมัมมี่นั้นมีสถานะประดุจเทพเจ้าที่ต้องเคารพบูชา รวมทั้งนิยมนำสัตว์มาทำเป็นมัมมี่เพื่อถวายเป็นเครื่องสักการะแก่เทพเจ้าอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก BBC / NEWS ไทย
Cr.https://www.bbc.com/thai/features-50905766
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1
สโตนเฮนจ์ ศูนย์กลางพิธีกรรมหรือที่จัดงานเลี้ยงสนุกสุดเหวี่ยง ?



(ENGLISH HERITAGE / PA  สโตนเฮนจ์อาจไม่ใช่สถานที่ซึ่งมีไว้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพียงอย่างเดียว)

พิธีกรรมโบราณบางอย่าง แม้ภายนอกจะดูเคร่งขรึมศักดิ์สิทธิ์ แต่กลับแฝงไว้ด้วยความบันเทิงอย่างรื่นเริงสุดเหวี่ยง เช่นที่สโตนเฮนจ์ โบราณสถานยุคก่อนประวัติศาสตร์ในอังกฤษ มีการค้นพบว่าเคยเป็นศูนย์กลางงานเลี้ยงฉลองใหญ่ในช่วงปลายยุคหินใหม่มาก่อน

นักโบราณคดีขุดพบชิ้นส่วนกระดูกหมูกว่า 130 ตัว โดยผลตรวจดีเอ็นเอบ่งบอกว่าเป็นสายพันธุ์ที่มาจากหลายภูมิภาคของประเทศ ซึ่งแสดงว่าผู้คนเมื่อหลายพันปีก่อนเดินทางมาจากทุกสารทิศ เพื่อนำสัตว์ที่เลี้ยงเองเช่นหมูหรือแกะมาบูชายัญ ก่อนจะร่วมกินเลี้ยงสนุกสนานด้วยกัน



กัญชาในพิธีศพ



(REUTERS   กระถางเผาเครื่องหอมซึ่งพบในสุสานที่เขตปกครองตนเองซินเจียงของจีน)

ทีมนักโบราณคดีนานาชาติ ค้นพบหลักฐานการใช้กัญชาเพื่อให้ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอายุเก่าแก่ที่สุดของโลก ในกระถางเผาเครื่องหอมซึ่งพบที่สุสานใกล้เส้นทางสายไหม ในเขตปกครองตนเองซินเจียงทางภาคตะวันตกของจีน

กระถางดังกล่าวซึ่งบรรจุหินที่ถูกเผาไหม้เกรียม มีร่องรอยของสาร THC ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในกัญชาตกค้างอยู่ในปริมาณสูง โดยกระถางเผาเครื่องหอมนี้มักใช้ในพิธีศพของชุมชนแถบเทือกเขาทางตะวันตกของจีน เมื่อราว 500 ปีก่อนคริสตกาล เพื่อให้เกิดควันคลุ้งหลอนประสาท จนผู้เข้าร่วมพิธีที่ได้สูดควันเข้าไปมีความรู้สึกว่า ตนเองสามารถสื่อสารกับผู้ตายหรือเหล่าทวยเทพได้

สุสานที่พบกระถางเผากัญชาตั้งอยู่ใกล้กับเส้นทางสายไหม ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างจีนและตะวันออกกลาง ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเส้นทางการค้าเก่าแก่นี้ น่าจะช่วยทำให้การเสพกัญชาเพื่อนันทนาการแพร่หลายออกไปทั่วโลก


ขอบคุณข้อมูลจาก BBC / NEWS ไทย
Cr.https://www.bbc.com/thai/features-50905766
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่