ส่วนหนึ่งของสุดยอดการค้นพบทางโบราณคดีที่น่าทึ่งแห่งปี 2021




(นักโบราณคดีชาวโปแลนด์อธิบายว่า การค้นพบมัมมี่ตั้งครรภ์นี้ "พิเศษจริงๆ")


แม้ว่าผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงทำให้วงการโบราณคดีทั่วโลกในปี 2021 อยู่ในภาวะเงียบเหงาซบเซาต่อเป็นปีที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางการศึกษาโบราณคดีหลายแห่งในอังกฤษ ต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนงบประมาณและผู้สมัครเข้าเรียน จนต้องยุบเลิกคณะหรือสาขาวิชาในด้านนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

แต่มุมมองใหม่ๆ ต้องขอบคุณความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ช่วยให้การขุดค้นใหม่ๆ ทางโบราณคดีที่สร้างประวัติศาสตร์ ไม่เพียงให้ความกระจ่างแก่อดีตของมนุษยชาติ ยังสามารถค้นพบสมบัติล้ำค่าที่สุดของโลกในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาด้วย จากปิรามิดแห่งมายาที่เป็นความลับและฟอสซิลที่น่าสนใจ ไปจนถึงสมบัติที่ถูกฝังและเมืองที่ซ่อนอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง " การค้นพบมัมมี่ " ที่น่าสนใจหลายร่างในปีนี้ เป็นการค้นพบที่โดดเด่นที่สุด 

นอกจากนั้น ความพยายามที่จะฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของอียิปต์ รวมถึงการเฉลิมฉลองมัมมี่ฟาโรห์และราชินีในอดีตอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการจัด "ขบวนเสด็จทองคำ" อันตระการตาเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ปีนี้กลายเป็น "ปีทองของการค้นพบมัมมี่" หนึ่งในสุดยอดการค้นพบทางโบราณคดี2021 อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบันยังมีการค้นพบทางโบราณคดีที่น่าตื่นเต้นที่สุดอีกมากมาย โดยที่นำเสนอนี้เป็นส่วนหนึ่งในอีกหลายการค้นพบที่น่าทึ่งของปีนี้ 


การค้นพบมัมมี่สุดแปลกใหม่ๆ จากทั่วโลก


ในปีนี้มีผลการศึกษาใหม่ ๆ ของมัมมี่ นักบวชและขุนนางอียิปต์จำนวนมากที่ขุดพบในสุสานซักคารา (Saqqara) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับหุบเขากษัตริย์อันโด่งดัง ทำให้เรารู้ถึงความเป็นมาและรายละเอียดของยุคสมัยที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ได้กระจ่างและลึกซึ้งยิ่งขึ้น 

เริ่มจากการขุดพบมัมมี่อายุ 2,000 ปี จากสมัยราชวงศ์ทอเลมี ใกล้เมืองอเล็กซานเดรีย ทางตอนเหนือของอียิปต์ ซึ่งมีความพิเศษไม่เหมือนใครเพราะมีเครื่องรางเป็นแผ่นทองคำใส่เอาไว้ในปาก คาดว่าเครื่องรางนี้เป็นสิ่งแทนอวัยวะจริงซึ่งก็คือลิ้นนั่นเอง ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นมัมมี่ "ลิ้นทอง" ซึ่งมีการค้นพบเป็นครั้งแรกในวงการอียิปต์วิทยา ซึ่งนักโบราณคดียังไม่ทราบแน่ชัดว่า การประดิษฐ์เครื่องรางลิ้นทองคำให้กับมัมมี่นั้น ชาวอียิปต์โบราณทำไปด้วยสาเหตุใดกันแน่ แต่สันนิษฐานว่าผู้ตายอาจมีความพิการหรือความผิดปกติด้านการพูด จึงจำเป็นต้องมีลิ้นใหม่เพื่อใช้เจรจากับเทพโอไซริส ผู้พิพากษาตัดสินวิญญาณของคนตายในปรโลก

มัมมี่อียิปต์ที่น่าสนใจอีกร่างหนึ่งในปีนี้ เคยถูกเข้าใจผิดว่าเป็นนักบวชชายที่เสียชีวิตลงเมื่อ 2,100 ปีที่แล้ว แต่เมื่อนักโบราณคดีนำมาตรวจสอบใหม่อีกครั้งด้วยเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (CT scan) กลับพบว่าร่างที่อยู่ในห่อผ้านั้นเป็นหญิง ทั้งกำลังตั้งครรภ์แก่ได้ราว 7 เดือน สร้างความตื่นเต้นให้กับบรรดานักวิจัยอย่างมาก เพราะเป็นการค้นพบมัมมี่ที่มีทารกในครรภ์ครั้งแรกของโลก


Cr.ภาพ dw.com


แต่ยังคงเป็นปริศนาอยู่ว่า เหตุใดผู้ทำมัมมี่ไม่นำทารกออกจากมดลูก เพื่ออาบน้ำยาและห่อเช่นเดียวกับอวัยวะอื่น ๆ ของผู้ตายตามกระบวนการทำมัมมี่ตามปกติ ซึ่งอาจเป็นได้ว่าการผ่าตัดเอาเด็กออกทำได้ยากเกินไป หรืออาจเป็นความเชื่อทางจิตวิญญาณอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าแม่และลูกในท้องนั้นมีความเป็นหนึ่งเดียวโดยไม่อาจแยกจากกัน

เทคโนโลยีล้ำสมัยยังทำให้เราได้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวาระสุดท้ายของ "นักรบผู้กล้า" ฟาโรห์ Seqenenre Taa II ซึ่งสิ้นพระชนม์ระหว่างทำสงครามต่อต้านผู้รุกรานเมื่อ 3,600 ปีก่อน โดยผลสแกนล่าสุดเผยว่า บาดแผลร้ายแรงหลายแห่งบนพระวรกาย ซึ่งผู้ทำมัมมี่ได้พยายามปกปิดซุกซ่อนไว้นั้น แสดงถึงการสำเร็จโทษในพิธีประหารชีวิตกลางสนามรบ จากร่องรอยบาดแผล มาจากอาวุธหลายชนิดที่โจมตีเข้ามาจากด้านบนเหนือศีรษะผู้ตาย รวมทั้งการงอตัวของแขนและขามัมมี่ที่ผิดปกติ บ่งชี้ว่า ฟาโรห์นักรบผู้นี้อยู่ในท่านั่งคุกเข่าและถูกมัดมือไพล่หลังก่อนตาย ซึ่งเป็นไปได้อย่างมากว่า ศัตรูได้ประหารพระองค์หลังจากพ่ายแพ้และถูกจับเป็นเชลย 

ยังมีการค้นพบศพคนโบราณใน "พรุ" หรือที่ลุ่มดินโคลนชุ่มน้ำเป็นจำนวนมาก เช่น Tollund Man ชายวัยกลางคนจากยุคเหล็ก ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อกว่า 2,400 ปีก่อนในประเทศเดนมาร์ก มัมมี่ร่างนี้มีชื่อเสียงมานานเพราะอยู่ในสภาพสมบูรณ์อย่างเหลือเชื่อ ล่าสุดผลการผ่าชันสูตรอวัยวะภายในยังพบว่า เศษอาหารในลำไส้ที่เขากินเข้าไปราว 12 - 24 ชม.ก่อนตาย มีพืชและวัสดุต่าง ๆ ที่กินไม่ได้ปะปนอยู่ในปริมาณมาก ซึ่งคนยุคเหล็กเชื่อว่าของเหล่านี้เป็นสิ่งมงคลและมีความเชื่อมโยงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลักฐานที่ค้นพบใหม่ดังกล่าวจึงแสดงถึงการเตรียมประกอบพิธีบูชายัญมนุษย์ เพื่อเซ่นสรวงแด่เทพแห่งความอุดมสมบูรณ์


Cr.ภาพ ancient-origins.net


ส่วนปริศนาของมัมมี่ชาวคอเคเซียนจากยุคสัมฤทธิ์ ที่ไม่มีใครรู้ว่าพลัดหลงเข้าไปอยู่ในทะเลทราย Taklamakan ทางตะวันตกของจีนได้อย่างไรนั้น ล่าสุดนักโบราณคดีได้รับความกระจ่างในเรื่องนี้ไปบางส่วนแล้ว โดยเทคนิคการวิเคราะห์ดีเอ็นเอช่วยชี้ว่า " Franks " เหล่านี้ไม่ใช่ผู้อพยพที่เพิ่งเดินทางมาถึงเอเชียเมื่อ 4,000 ปีก่อน แต่เป็นลูกหลานสายตรงของชาวยูเรเชียตอนเหนือยุคโบราณ (Ancient North Eurasian - ANE) ที่ปักหลักอยู่อาศัยในโอเอซิสบริเวณแอ่ง Tarim อันแห้งแล้งของจีน มาตั้งแต่ยุคน้ำแข็งเมื่อกว่าหมื่นปีก่อน

ปิดท้ายด้วยมัมมี่ที่น่าสนใจของปีนี้ ด้วยการค้นพบล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ประเทศเปรู นักโบราณคดีพบร่างที่น่าจะเป็นชายหนุ่มวัย 25-30 ปี
ในสุสานโบราณใต้ดินตรงด้านล่างของจัตุรัสใจกลางเมืองแห่งหนึ่งใกล้กรุงลิมา คาดว่ามัมมี่ที่เอามือปิดหน้าและถูกมัดไว้ด้วยเชือกตามประเพณีโบราณของภาคใต้นี้ มีอายุเก่าแก่ราว 800-1,200 ปี ซึ่งเป็นยุคพรีโคลัมเบียนหรือช่วงก่อนการมาถึงทวีปอเมริกาของชาวยุโรป ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามัมมี่ร่างนี้น่าจะเป็นบุคคลสถานะสูงที่ได้รับการเคารพนับถือจากชาวเมือง เพราะถูกฝังในสถานที่สำคัญและมีเครื่องบูชาจากหลายยุคหลายสมัยถูกทิ้งเอาไว้โดยรอบด้วย



เมืองที่สาบสูญแห่งลุ่มน้ำไนล์ของอียิปต์


การค้นพบทางโบราณคดีครั้งยิ่งใหญ่ของอียิปต์อีกเรื่องในปีนี้ คือการขุดเจอซากปรักหักพังของเมือง Aten (ในจารึกโบราณเรียกว่า นครทองคำ) อายุเก่าแก่กว่า 3,000 ปี ที่เมืองลักซอร์ ที่ได้รับการอธิบายว่าเป็น "เมืองสีทองที่สาบสูญ" ในรัชสมัยของอาเมนโฮเทปที่ 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์อียิปต์ โดยเมืองได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี มีห้องต่างๆ มากมายที่เต็มไปด้วยสิ่งของต่างๆ เช่น หม้อดิน เครื่องมือสำหรับการปั่นด้ายและทอผ้า แหวน และแมลงปีกแข็ง ต้องขอบคุณอิฐโคลนที่มีตราประทับ Cartouche ของกษัตริย์อาเมนโฮเทปที่ 3 นักโบราณคดีจึงสามารถระบุวันที่ที่ตั้งถิ่นฐานได้จนถึงช่วงเวลานี้ 

ก่อนหน้านี้ทีมนักโบราณคดีจากต่างชาติหลายคณะ พยายามค้นหานครทองคำมาหลายปีแต่ก็ไม่พบ จนกระทั่งทีมนักโบราณคดีของอียิปต์ได้ลงมือขุดค้นตรงบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ ซึ่งการค้นพบนี้จะช่วยให้เราได้มีโอกาสเห็นวิถีชีวิตของชาวอียิปต์โบราณ ในยุคที่อาณาจักรกำลังรุ่งเรืองมั่งคั่งขีดสุด

ในปีนี้ยังมีการค้นพบซากของโรงเบียร์เก่าแก่ที่สุดในโลกราว 5,000 ปี ที่เมืองโบราณ Abydos บริเวณต้นสายของแม่น้ำไนล์ ในสถานที่พบห้องผลิตเบียร์ที่กว้างขวางจำนวน 8 ห้อง ในแต่ละห้องมีเตาและหม้อดินเผาสำหรับต้มเบียร์ขนาดใหญ่ 40 ใบ ซึ่งชาวอียิปต์โบราณใช้ต้มธัญพืชกับน้ำก่อนจะหมักให้เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีพระศพของกษัตริย์ราชวงศ์แรก คาดว่าโรงเบียร์นี้ผลิตได้ถึงครั้งละกว่า 22,400 ลิตร


Cr.ภาพ bbc.com



ศิลปะถ้ำสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดในบันทึก
ภาพพาโนรามาที่ปรับปรุงแบบดิจิทัลของ warty pig ที่ถ้ำ Leang Tedongnge ในเมืองสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย
Cr.ภาพ livescience.com/


การเล่าเรื่องด้วยภาพและการใช้สัญลักษณ์สื่อความหมาย เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการก่อกำเนิดอารยธรรมมนุษย์ เมื่อช่วงต้นปีนี้มีการค้นพบภาพสัตว์บนผนังถ้ำที่เก่าแก่ที่สุดในโลกบนเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย โดยนักโบราณคดีใช้ไอโซโทปของยูเรเนียม ตรวจวัดอายุแร่แคลไซต์ที่เกาะตัวสะสมอยู่บนภาพสัตว์ดูแล้ว พบว่ามีอายุถึง 45,500 ปี

ภาพสัตว์ดังกล่าวเป็นหมูป่า ซึ่งคนโบราณใช้แปรงจุ่มสีที่ทำจากดินแดงวาดขึ้น นอกจากนี้ยังมีภาพพิมพ์มือ ภาพกลุ่มคนออกล่าสัตว์มีเขา ที่แสดงถึงจินตนาการอันล้ำลึกและซับซ้อน ทั้งยังเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า การพัฒนาทางสติปัญญาของมนุษย์มีขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันทั่วโลก โดยไม่ได้เริ่มต้นที่ภูมิภาคยุโรปเป็นแห่งแรก ตามที่เคยเชื่อกันมา

อีกหนึ่งการค้นพบใหม่ในปีนี้คือ แผ่นหินแกะสลักแสดงอาณาเขตในรูปแบบสามมิติอายุ 4,000 ปี ซึ่งนักโบราณคดีเพิ่งยืนยันได้ว่าเป็นแผนที่แสดงลักษณะภูมิประเทศที่เก่าแก่ที่สุดของยุโรป แผนที่สามมิตินี้คือ "แผ่นหินซองต์-เบเหล็ก" (Saint-Bélec Slab) พบที่ชั้นใต้ดินของปราสาทแห่งหนึ่งในฝรั่งเศสเมื่อราว 120 ปีก่อน
โดยแผ่นหินความกว้าง 2 เมตร ถูกสลักพื้นผิวเป็นรูปทรงเนินเขาและแม่น้ำลำธารหลายสาย ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นการจำลองภูมิประเทศในแถบหุบเขาแม่น้ำ Odet ทางตะวันตกของแคว้นบริตตานีในปัจจุบัน แผ่นหินดังกล่าวแสดงรายละเอียดได้เหมือนสถานที่จริงถึง 80% แสดงถึงความรู้ความสามารถทางภูมิศาสตร์ของคนยุคสัมฤทธิ์ ซึ่งสูงกว่าที่นักโบราณคดีเคยคาดกันไว้มาก 

 Cr.ภาพ stone-ideas.com/



(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่