JJNY : ‘รสนา’ถามอธิบดีกรมศุลฯ│นักวิชาการเตือนส.ว.│ฟ้อง“กขค.”ไฟเขียวรวมซีพี-โลตัส│โปรตุเกส-สเปนระงับวัคซีนแอสตราเซเนกา

ต้องริบของหรือไม่! ‘รสนา’ถามอธิบดีกรมศุลฯปมเก็บภาษีนาฬิกาหรูเพื่อน‘บิ๊กป้อม’ 20 ล.
https://www.isranews.org/article/isranews/96829-isranews-982.html
 

‘รสนา’ ทำหนังสือถาม ‘อธิบดีกรมศุลกากร’ ปมเรียกเก็บภาษีนำเข้านาฬิกาหรูกว่า 20 ล.จาก ‘ทายาท’ เพื่อนสนิท ‘บิ๊กป้อม’ 
ยก กม.ศุลกากร ม.242
ไล่บี้ต้องริบของหรือไม่ จี้ดำเนินคดีอาญา ‘พล.อ.ประวิตร’ ด้วย เหตุคำวินิจฉัย ป.ป.ช. ไม่ได้ผูกพันทุกองค์กร
 
..........................................
 
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า กรมศุลกากรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เรียกเก็บภาษีการนำเข้านาฬิกาหรู 22 เรือน กว่า 20 ล้านบาท จากทายาทของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ (เสียชีวิตแล้ว) เพื่อนสนิท พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 5 ต่อ 3 ตีตกข้อกล่าวหาดังกล่าวนั้น (อ่านประกอบ : กรมศุลกากรเก็บภาษีนำเข้านาฬิกาหรู 22 เรือนกว่า 20 ล.จาก‘ทายาท’เพื่อนสนิท‘บิ๊กป้อม’)
 
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2564 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กโดยอ้างอิงรายงานข่าวจากสำนักข่าวอิศรากรณีดังกล่าว และระบุว่า ได้ส่งหนังสือลงทะเบียนตอบรับ ถาม 4 คำถามถึงอธิบดีกรมศุลกากร เนื่องจากเคยส่งหนังสือร้องเรียนเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2563 ถึงอธิบดีกรมศุลกากร ให้ริบนาฬิกาของนายปัฐวาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากเป็นนาฬิกาที่นำเข้ามาในประเทศโดยมิได้เสียภาษีให้ถูกต้อง และได้ส่งหนังสือไปถึงปลัดกระทรวงการคลัง รมว.คลัง และนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาตามสายงานของอธิบดีกรมศุลกากรให้กำกับให้อธิบดีกรมศุลกากรดำเนินการริบนาฬิกาดังกล่าวที่ลักลอบนำเข้ามาโดยมิได้เสียภาษีให้ตกเป็นของแผ่นดินต่อไปนั้น
 
น.ส.รสนา ระบุว่า เมื่อปรากฎเป็นข่าวว่า ทายาทของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์นำเงินมาชำระภาษีเป็นจำนวนเงิน 20 ล้านบาทนั้น ยังเป็นเพียงข่าวที่ไม่อาจยืนยันข้อเท็จจริงได้ โดยที่นาฬิกาดังกล่าว ไม่มีหลักฐานการเสียภาษีนำเข้าที่ถูกต้อง ย่อมแสดงว่าเป็นการลักลอบนำเข้านาฬิกาดังกล่าว และเป็นความผิดที่สำเร็จแล้ว อธิบดีกรมศุลกากรมีหน้าที่ต้องดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 242 ที่บัญญัติไว้ ตามมาตรา 242 ผู้ใดนําเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการ ศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือ รับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน สิบปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ริบของนั้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคําพิพากษาหรือไม่
 
การนำของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้เสียภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนมีความผิดทั้งทางปกครองและความผิดทางอาญา ความผิดทางปกครองคือกรมศุลกากรมีอำนาจหน้าที่ประเมินเรียกเก็บภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนพร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามมาตรา 13 และมาตรา 19 ถึง 22 แห่งพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ความผิดทางปกครองนี้ไม่ระงับแม้ผู้นำเข้าตาย ส่วนความผิดทางอาญาตามมาตรา 242 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 นั้นระงับหากผู้นำเข้าตาย แต่ก็ระงับเฉพาะโทษจำคุกและการปรับเท่านั้น ส่วนการริบของที่นำเข้านั้น กรมศุลกากรมีหน้าที่ต้องริบ เพราะมาตรา 242 บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ริบ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่” น.ส.รสนา ระบุ
 
น.ส.รสนา ระบุด้วยว่า ฉะนั้น จึงขอสอบถามอธิบดีกรมศุลกากรดังนี้ 
1) มีการเสียภาษีตามที่เป็นข่าวหรือไม่ 
2) ถ้ามีการเสียภาษีจริง จำนวนภาษีที่เสียนั้นถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรและได้เสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ขอให้ชี้แจงรายละเอียดด้วย 
3) มีการริบนาฬิกาทั้งหมดตามมาตรา 242 แห่งพระราชศุลกากร พ.ศ.2560 หรือไม่ 
4) อนึ่ง แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะวินิจฉัยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยืมนาฬิกานายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ก็ไม่มีผลผูกพันกรมศุลกากรให้ต้องถือตามคำวินิจฉัยนั้น เพราะคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.มิใช่คำพิพากษาของศาล เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มิใช่ศาล และพระราชบัญญัติศุลกากร 
พ.ศ.2560 ก็มิได้บัญญัติให้กรมศุลกากรต้องผูกพันถือตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ดังนั้น กรมศุลกากรจึงมีหน้าที่สืบสวนสอบสวนว่า พล.อ.ประวิตรเป็นผู้นำนาฬิกาทั้งหมดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้เสียภาษีถูกต้องครบถ้วนอันเป็นความผิดตามมาตรา 242 หรือไม่ การดำเนินคดีอาญากับ พล.อ.ประวิตรไม่ระงับเนื่องจาก พล.อ.ประวิตรยังมีชีวิตอยู่ 
 
จึงใคร่ขอให้อธิบดีกรมศุลกากรได้ออกมาชี้แจงต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ
 

 
นักวิชาการเตือน ส.ว.อย่าตัดตอนประชามติ ยันโหวตผ่านวาระ 3 ทำประชามติได้
https://voicetv.co.th/read/qRH0wPmnd
 
นักวิชาการด้าน รธน.จากจุฬาฯ ชี้ผลของคำวินิจฉัยกลางศาล รธน. ย้ำไม่ได้บอกว่าต้องประชามติก่อนเสนอญัตติแก้ รธน.ต่อรัฐสภา การันตีประชามติหลังร่างแก้ รธน.ผ่านวาระ 3 ทำได้ แนะ ส.ว.โหวตรับร่าง รธน. เตือนอย่าตัดตอนประชามติ เป็นการไม่เคารพประชาชน
 
วันที่ 15 มี.ค. 2564 รศ.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุกับ 'วอยซ์' หลังศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางที่ย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเพิ่มเติมหมวด 15/1 ให้มี ส.ส.ร.มีผลยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยระบุว่า ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ สองย่อหน้าสุดท้าย อธิบายชัดว่า 1.การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ 
 
"ตรงจุดนี้ ศาลไม่ได้บอกว่า ต้องประชามติก่อนการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา หรือก่อนการพิจารณาวาระที่หนึ่ง หากเราตีความตามหลักความสมเหตุสมผล จะอธิบายได้ว่า ต้องมีวัตถุหรือเอกสารให้ประชาชนดู อ่าน ประกอบการตัดสินใจด้วยว่า ใครจะเป็นคนจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ คนจัดทำมีที่มาอย่างไร ซึ่งไม่อาจเป็นเช่นนั้นได้เลย หากยังไม่มีร่างรัฐธรรมนูญ หมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้น จึงต้องตีความว่า การประชามติดังกล่าวต้องเกิดขึ้นเมื่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านวาระที่สามแล้ว ก่อนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่"
 
รศ.ณรงค์เดช ระบุว่า 2. รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยลำพังตนเอง ดังนั้น เพื่อให้เคารพต่ออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ควรโหวตให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่สาม เพื่อให้ประชาชนเป็นคนชี้ขาด
 
รศ.ณรงค์เดช ระบุว่า หากการออกเสียงประชามติ เสียงข้างมาก เห็นว่า ไม่ควรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ก็จะจบเรื่อง ถ้าเห็นว่า ควรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ก็จะเดินหน้าต่อไปได้ การที่สมาชิกรัฐสภา โหวตไม่เห็นชอบ หรือการที่สมาชิกวุฒิสภา ไม่เข้าประชุม งดออกเสียง หรือโหวตไม่เห็นชอบ และส่งผลให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้มีหมวด 15/1 การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตกไป ในชั้นนี้ แสดงว่า ท่านกำลังตัดตอน กลไกการออกเสียงประชามติ ไม่เคารพกลไกที่ประชาชนจะได้แสดงออกซึ่งอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของตนเอง
 
"นี่ยังไม่ได้จัดทำ แค่แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจะจัดทำ ดังนั้น ไปประชามติหลังวาระสามได้เลย หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ รัฐสภาเป็นองค์กรกลุ่ม จะแสดงความต้องการออกมาได้ ต้องมีมติของรัฐสภาเสียก่อน และมตินี้ จะมีผลก็ต่อเมื่อ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนี้ผ่านวาระที่สาม" รศ.ณรงค์เดช ระบุ 
 

 
ฟ้อง “กขค.” ไฟเขียวรวมซีพี-โลตัส
https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/2050868
 
ฟ้อง “กขค.” ไฟเขียวรวมซีพี-โลตัส
 
น.ส.กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค.64 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ร่วมกับ 37 องค์กรผู้บริโภคยื่นฟ้องคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอเพิกถอนมติ กขค.ที่อนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซีพี รีเทล ดีเวอร์ลอปเม้นท์ จำกัด กับบริษัท เทสโก้ สโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด แม้จะเป็นมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 เพราะมติดังกล่าวส่งผลให้เครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ในธุรกิจค้าส่งค้าปลีก โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงขึ้นถึง 83.97% ซึ่งซีพีผลิตสินค้าอาหาร และอุปโภคบริโภคตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อาจนำไปสู่การผูกขาดทางการค้า กลไกตลาดไม่เป็นอิสระ ส่งผลเสียต่อผู้บริโภค ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงระบบเศรษฐกิจของไทย
 
นอกจากนี้ ก่อนที่ กขค.จะอนุญาตให้รวมธุรกิจ ไม่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียตามที่ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 กำหนดส่วนขั้นตอนการลงมติก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ให้กรรมการเสียงข้างน้อยได้ลงมติเพื่อกำหนดเงื่อนไขป้องกันไม่ให้ 2 บริษัทเมื่อรวมธุรกิจแล้วมีอำนาจเหนือตลาดกว่า 80% และผูกขาดตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น
 
น.ส.กชนุช กล่าวว่า มติเสียงข้างมากของ กขค.ขัดต่อเจตนารมณ์กฎหมายแข่งขันที่มุ่งป้องกันการผูกขาด การทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม และยังขัดกับประกาศ กขค.ที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีส่วนแบ่งในตลาดเกิน 50% เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ดังนั้น มติ กขค.จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
 
มติกขค.นอกจากทำให้เกิดผลเสียกับประเทศอย่างร้ายแรง ยังเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่น เช่น ธุรกิจพลังงาน โทรคมนาคม ภาพยนตร์ ขอรวมธุรกิจจนมีอำนาจเหนือตลาด และผูกขาดสินค้า บริการ จนเกิดการกินรวบประเทศ ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและเศรษฐกิจอย่างมาก
 
ด้านนายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการแข่งขันทางการค้า หนึ่งในกรรมการเสียงข้างน้อย กล่าวว่า ทราบเพียงว่ามีผู้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง แต่ยังไม่ทราบว่าศาลรับฟ้องหรือไม่ ถ้ารับศาลจะต้องแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงรายละเอียด อย่างไรก็ตาม มติของ กขค.เป็นการพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ และคำนึงถึงผลกระทบของทุกภาคส่วนแล้ว อีกทั้งยังมีเงื่อนไข 7 ข้อให้บริษัทที่ควบรวมต้องดำเนินการตามอย่างเข้มงวด โดยต้องส่งรายงานมาให้ กขค.พิจารณาเป็นระยะๆด้วย.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่