พอพระอาจารย์สมบัติ นันทิโก พูดถึง ตีรณปริญญา ในบทที่ 23 ผมก็นึกไม่ออกจึงต้องค้นคว้าเพิ่มเติม

กระทู้สนทนา
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑
ขุททกนิกาย มหานิทเทส
 
[๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
                          มุนีกำหนดรู้สัญญาแล้ว ไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย พึงข้าม
                          โอฆะได้ เป็นผู้ถอนลูกศรเสียแล้ว ไม่ประมาทประพฤติอยู่ ย่อม
                          ไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า.
                          มุนีกำหนดรู้สัญญาแล้ว ไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย พึงข้าม
                          โอฆะได้ เป็นผู้ถอนลูกศรเสียแล้ว ไม่ประมาทประพฤติอยู่ ย่อม
                          ไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า.
 [๖๖] คำว่า กำหนดรู้สัญญาแล้ว ... พึงข้ามโอฆะได้ มีความว่าสัญญา ได้แก่ กาม-
*สัญญา พยาปาทสัญญา วิหิงสาสัญญา เนกขัมมสัญญา อัพยาปาทสัญญา อวิหิงสาสัญญา
รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา สัญญาใดเห็น
ปานนี้ คือ ความรู้พร้อม ความเป็นคืออันรู้พร้อม นี้เรียกว่า สัญญา. คำว่า กำหนดรู้สัญญา
แล้ว มีความว่า กำหนดรู้สัญญาด้วยปริญญา ๓ คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา.
             ญาตปริญญาเป็นไฉน? มุนีย่อมรู้สัญญา คือ ย่อมรู้ ย่อมเห็นว่า นี้กามสัญญา
นี้พยาปาทสัญญา นี้วิหิงสาสัญญา นี้เนกขัมมสัญญา นี้อัพยาปาทสัญญา นี้อวิหิงสาสัญญา
นี้รูปสัญญา นี้สัททสัญญา นี้คันธสัญญา นี้รสสัญญา นี้โผฏฐัพพสัญญา นี้ธัมมสัญญา
นี้เรียกว่า ญาตปริญญา.
             ตีรณปริญญาเป็นไฉน? มุนีทำความรู้อย่างนี้แล้ว ย่อมพิจารณาสัญญาโดยความเป็น
ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นของลำบาก เป็นอาพาธ
เป็นของอื่น (เป็นของไม่มีอำนาจ) เป็นของชำรุด เป็นเสนียด เป็นอุบาทว์ เป็นภัย เป็น
อุปสรรค เป็นของหวั่นไหว เป็นของแตกพัง ฯลฯ เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ เป็นของดับไป เป็น
ของชวนให้แช่มชื่น เป็นอาทีนพ เป็นนิสสรณะ นี้เรียกว่า ตีรณปริญญา.
             ปหานปริญญาเป็นไฉน? มุนีพิจารณาอย่างนี้แล้ว ย่อมละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีในภายหลัง ซึ่งฉันทราคะในสัญญา. สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ฉันทราคะ ในสัญญาใด ท่านทั้งหลายจงละฉันทราคะนั้นเสีย ฉันทราคะนั้นจักเป็นของ
อันท่านทั้งหลายละแล้ว มีมูลรากอันตัดขาดแล้ว ทำให้ไม่มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี
ในภายหลัง มีความไม่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นธรรมดา ด้วยประการอย่างนี้. นี้เรียกว่า ปหาน-
*ปริญญา.
             คำว่า กำหนดรู้สัญญาแล้ว คือ กำหนดรู้สัญญาด้วยปริญญา ๓ นี้. คำว่า พึงข้าม
โอฆะได้ คือพึงข้าม ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ล่วงเลย ก้าวล่วงกามโอฆะ ภวโอฆะ ทิฏฐิโอฆะ
อวิชชาโอฆะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กำหนดรู้สัญญาแล้วพึงข้ามโอฆะได้.
--------------------------------
ที่มา https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/item.php?book=29&item=65&items=1&preline=3&pagebreak=1&mode=bracket
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่