ภาคปศุสัตว์ไทยวันนี้ นอกจากต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาดมาครบ ๑ ปีแล้ว เกษตรกรโดยเฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงหมูยังต้องตั้งการ์ดป้องกันโรคในหมูที่สำคัญอย่างโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ที่แพร่ระบาดสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมหมูใน ๓๔ ประเทศ
เรื่องนี้อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย ให้ข้อมูลว่า จากการป้องกัน ASF ในสุกรมาตลอดระยะเวลากว่า ๒ ปี ประกอบกับสถานการณ์โควิด-๑๙ ที่เกิดขึ้นตลอดปี ๒๕๖๓ กระทั่งมีการระบาดรอบใหม่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องดำเนินมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดเพื่อป้องกันฝูงสัตว์ พร้อมทั้งยกระดับการป้องกันโรคโควิดในบุคลากรที่ทำงานภายในฟาร์ม เพื่อไม่ให้กระทบกบการเลี้ยงสุกรอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้ทุกฟาร์มมีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสูงกว่า ๓๐๐ บาทต่อตัว
ขณะเดียวกัน ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเช่นกัน ทั้งความกังวลของตลาดต่อปริมาณสต๊อกถั่วเหลืองในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่อาจจะปรับตัวลดลงต่ำกว่า ๑๗๕ ล้านบุชเชล จากการที่กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) คาดการณ์ไว้ และการเพาะปลูกถั่วเหลืองของอาร์เจนตินาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ส่งผลต่อราคาเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำสถิติสูงสุดในรอบ ๕ ปีและมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ผลิตได้ในประเทศอย่างเช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง รำ-ปลายข้าว ราคาขยับขึ้นเช่นกัน จากมาตรการประกันรายได้เกษตรกรของภาครัฐ เพื่อพยุงราคาพืชเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากภาวะอากาศแล้งและภัยพิบัติในช่วงปีที่ผ่านมา
ขณะที่การเลี้ยงสุกรในปัจจุบันต้องปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ ทั้งฟาร์มเลี้ยงสุกรขนาดใหญ่ที่ต้องทำตามมาตรฐาน GMP อย่างเคร่งครัด และฟาร์มขนาดเล็กที่ต้องมีระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM)
นอกจากนี้ เกษตรกรยังต้องลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่ม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กำหนดให้การเลี้ยงสุกรต้องควบคุมน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อม
ทั้งหมดส่งผลต่อภาพรวมต้นทุนการเลี้ยงสุกรที่ปรับตัวขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัจจุบันต้นทุนการเลี้ยงสุกร ตามข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ ๗๕ บาท ขณะที่ราคาขายสุกรหน้าฟาร์มเกษตรกรตามประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกร อยู่ที่ ๗๖-๘๐ บาทต่อกิโลกรัม และต้องจับตาประกาศต้นทุนการเลี้ยงสุกรของ สศก.ในไตรมาสที่ ๑/๒๕๖๔ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง ๗๘ บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจัยราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่น่าจะเพิ่มขึ้น ภาวะภัยแล้งในช่วงเดือนมีนาคมต่อเมษายน การป้องกันโรคทั้ง ASF และโควิด-๑๙ และยังมีความสูญเสียจากโรคในสุกรที่สำคัญอย่างโรคเพิร์ส (PRRS) ทำให้ต้นทุนสูงขึ่น ขณะเดียวกันยังมีการคาดการณ์ว่าปีนี้ภาวะอากาศแปรปรวนจะรุนแรงกว่าทุกปี ฝนจะมาเร็วและหมดเร็ว ส่งผลให้ช่วงฤดูแล้งยาวนานขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาหลายอย่างจะรุมเร้า โดยเฉพาะภาระหนักเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้นทุกขณะ แต่เกษตรกรก็ยังคงให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ในการจำหน่ายสุกรหน้าฟาร์มไม่เกิน ๘๐ บาทต่อกิโลกรัม แม้ต้นทุนจะเพิ่มเกือบเท่าราคาขายที่กิโลกรัมละ ๘๐ บาทแล้วก็ตาม และหมูไทยก็ยังคงราคาถูกที่สุดในภูมิภาคเอเชีย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบจาก ASF ทำให้ราคาสุกรมีชีวิตสูงขึ้นกว่า ๒ เท่าตัว เช่นประเทศจีนที่ราคาสูงถึง ๑๖๐ บาทต่อกิโลกรัม กัมพูชาราคา ๙๕ บาทต่อกิโลกรัม เวียดนามราคา ๙๐ บาทต่อกิโลกรัม ลาวราคา ๘๕ บาทต่อกิโลกรัม ประชาชนในประเทศเหล่านี้ต้องบริโภคเนื้อหมูที่มีราคาสูง ตามกลไกตลาดที่การบริโภคและผลผลิตที่สมดุลกัน
วันนี้สิ่งที่เกษตรกรต้องการคือ ความเข้าใจจากผู้บริโภคว่า กลไกตลาดสุกรควรทำงานอย่างมีเอกภาพตามอุปสงค์-อุปทานที่แท้จริง และสุกรถือเป็นสินค้าปศุสัตว์ในยามวิกฤตินี้ที่สามารถนำเงินตราเข้ามาพัฒนาประเทศ ขณะที่ผู้บริโภคมีอิสระในการเลือกบริโภคอาหารโปรตีนชนิดอื่นอย่างเช่น ไก่ กุ้ง ปลา สัตว์น้ำ หรือไข่ไก่ ที่ปัจจุบันราคาถูกมาก และเกษตรกรผู้ผลิตก็รอคอยผู้บริโภคคนสำคัญช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน...
ASF-โควิด ทุกข์เกษตรกรเลี้ยงหมู หวังผู้บริโภคเข้าใจ
เรื่องนี้อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย ให้ข้อมูลว่า จากการป้องกัน ASF ในสุกรมาตลอดระยะเวลากว่า ๒ ปี ประกอบกับสถานการณ์โควิด-๑๙ ที่เกิดขึ้นตลอดปี ๒๕๖๓ กระทั่งมีการระบาดรอบใหม่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องดำเนินมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดเพื่อป้องกันฝูงสัตว์ พร้อมทั้งยกระดับการป้องกันโรคโควิดในบุคลากรที่ทำงานภายในฟาร์ม เพื่อไม่ให้กระทบกบการเลี้ยงสุกรอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้ทุกฟาร์มมีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสูงกว่า ๓๐๐ บาทต่อตัว
ขณะเดียวกัน ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเช่นกัน ทั้งความกังวลของตลาดต่อปริมาณสต๊อกถั่วเหลืองในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่อาจจะปรับตัวลดลงต่ำกว่า ๑๗๕ ล้านบุชเชล จากการที่กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) คาดการณ์ไว้ และการเพาะปลูกถั่วเหลืองของอาร์เจนตินาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ส่งผลต่อราคาเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำสถิติสูงสุดในรอบ ๕ ปีและมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ผลิตได้ในประเทศอย่างเช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง รำ-ปลายข้าว ราคาขยับขึ้นเช่นกัน จากมาตรการประกันรายได้เกษตรกรของภาครัฐ เพื่อพยุงราคาพืชเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากภาวะอากาศแล้งและภัยพิบัติในช่วงปีที่ผ่านมา
ขณะที่การเลี้ยงสุกรในปัจจุบันต้องปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ ทั้งฟาร์มเลี้ยงสุกรขนาดใหญ่ที่ต้องทำตามมาตรฐาน GMP อย่างเคร่งครัด และฟาร์มขนาดเล็กที่ต้องมีระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM)
นอกจากนี้ เกษตรกรยังต้องลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่ม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กำหนดให้การเลี้ยงสุกรต้องควบคุมน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อม
ทั้งหมดส่งผลต่อภาพรวมต้นทุนการเลี้ยงสุกรที่ปรับตัวขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัจจุบันต้นทุนการเลี้ยงสุกร ตามข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ ๗๕ บาท ขณะที่ราคาขายสุกรหน้าฟาร์มเกษตรกรตามประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกร อยู่ที่ ๗๖-๘๐ บาทต่อกิโลกรัม และต้องจับตาประกาศต้นทุนการเลี้ยงสุกรของ สศก.ในไตรมาสที่ ๑/๒๕๖๔ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง ๗๘ บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจัยราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่น่าจะเพิ่มขึ้น ภาวะภัยแล้งในช่วงเดือนมีนาคมต่อเมษายน การป้องกันโรคทั้ง ASF และโควิด-๑๙ และยังมีความสูญเสียจากโรคในสุกรที่สำคัญอย่างโรคเพิร์ส (PRRS) ทำให้ต้นทุนสูงขึ่น ขณะเดียวกันยังมีการคาดการณ์ว่าปีนี้ภาวะอากาศแปรปรวนจะรุนแรงกว่าทุกปี ฝนจะมาเร็วและหมดเร็ว ส่งผลให้ช่วงฤดูแล้งยาวนานขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาหลายอย่างจะรุมเร้า โดยเฉพาะภาระหนักเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้นทุกขณะ แต่เกษตรกรก็ยังคงให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ในการจำหน่ายสุกรหน้าฟาร์มไม่เกิน ๘๐ บาทต่อกิโลกรัม แม้ต้นทุนจะเพิ่มเกือบเท่าราคาขายที่กิโลกรัมละ ๘๐ บาทแล้วก็ตาม และหมูไทยก็ยังคงราคาถูกที่สุดในภูมิภาคเอเชีย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบจาก ASF ทำให้ราคาสุกรมีชีวิตสูงขึ้นกว่า ๒ เท่าตัว เช่นประเทศจีนที่ราคาสูงถึง ๑๖๐ บาทต่อกิโลกรัม กัมพูชาราคา ๙๕ บาทต่อกิโลกรัม เวียดนามราคา ๙๐ บาทต่อกิโลกรัม ลาวราคา ๘๕ บาทต่อกิโลกรัม ประชาชนในประเทศเหล่านี้ต้องบริโภคเนื้อหมูที่มีราคาสูง ตามกลไกตลาดที่การบริโภคและผลผลิตที่สมดุลกัน
วันนี้สิ่งที่เกษตรกรต้องการคือ ความเข้าใจจากผู้บริโภคว่า กลไกตลาดสุกรควรทำงานอย่างมีเอกภาพตามอุปสงค์-อุปทานที่แท้จริง และสุกรถือเป็นสินค้าปศุสัตว์ในยามวิกฤตินี้ที่สามารถนำเงินตราเข้ามาพัฒนาประเทศ ขณะที่ผู้บริโภคมีอิสระในการเลือกบริโภคอาหารโปรตีนชนิดอื่นอย่างเช่น ไก่ กุ้ง ปลา สัตว์น้ำ หรือไข่ไก่ ที่ปัจจุบันราคาถูกมาก และเกษตรกรผู้ผลิตก็รอคอยผู้บริโภคคนสำคัญช่วยให้พวกเขาผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน...