วงการแพทย์เปลี่ยนมาตรฐานโรคความดันเลือดสูงครั้งใหญ่อีกแล้ว (2020)

ขณะที่แพทย์จำนวนมากยังไม่ทันรู้ด้วยซ้ำไปว่าคำนิยามโรคนี้เปลี่ยนไปแล้วเมื่อสามปีก่อน (2017) แต่มาถึงวันนี้ถือว่าไม่มีใครตกข่าวนั้นแล้วเพราะมาตรฐานเปลี่ยนอีกละ คราวนี้ออกมาในนามของสมาคมโรคความดันเลือดสูงนานาชาติ (ISH 2020) โดยที่หัวเรี่ยวหัวแรงตัวจริงเสียงจริงก็ยังเป็นสมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) เจ้าเก่านั่นเอง เพื่อให้ท่านผู้อ่านตามความผลุบๆโผล่ๆของวงการแพทย์ในระดับโลกได้ทัน ผมขอสรุปมาตรฐานใหม่เฉพาะในส่วนที่ท่านผู้อ่านจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนี้ 
 
     นิยามโรคความดันเลือดสูง ตามคำแนะนำใหม่ 2020 
 
     ความดันเลือดปกติ (Normal BP) = ไม่เกิน 130/85 มม.
 
     ความดันเลือดปกติค่อนไปทางสูง (High-normal BP) = 130–139 / 85–89 มม.
 
    โรคความดันเลือดสูงเกรด1 = 140–159/90–99 มม. (มาตรฐานเดิมก่อนหน้านี้คือ 130-139/80-89)
 
     โรคความดันเลือดสูงเกรด2 =  160 /100 มม.ขึ้นไป (มาตรฐานเดิมก่อนหน้านี้คือ 140/90 ขึ้นไป)
 
     การรักษาความดันเลือดสูงโดยไม่ใช้ยาตามคำแนะนำใหม่ 2020
 
     1. ลดเกลือ (โซเดียม) ลง โดย
     1.1 เลิกเติมเครื่องปรุงที่มีเกลือ (เช่นน้ำปลาพริก) ลงในอาหารที่นำมาเสริฟ
     1.2 ลดการกินอาหารฟาสต์ฟูดและอาหารบรรจุเสร็จซึ่งใช้เกลือเป็นปริมาณมาก
     1.3 ลดขนมปังและซีเรียลที่ปรุงโดยมีส่วนของเกลือมาก
 
     2. เปลี่ยนอาหาร
     2.1 กินอาหารพืชเป็นหลักที่อุดมด้วยธัญพืชไม่ขัดสี ผลไม้ ผักต่างๆที่มีไนเตรทมาก (เช่นบีทรูทและผักใบเขียว) และมีแมกนีเซียม โปตัสเซียม แคลเซียม มาก (เช่นอะโวกาโด นัท เมล็ดพืช ถั่วต่างๆ และเต้าหู้) 
หรือกินตามสูตรอาหารเพื่อการลดความดัน (DASH diet)
     2.2 ลดน้ำตาล
     2.3 ลดไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์
 
     3. เลือกดื่มเครื่องดื่มอย่างฉลาด
     3.1 ดื่มกาแฟ ชาเขียว ชาดำ ชาขาว (ไม่ใส่ครีมไม่ใส่น้ำตาล) ในปริมาณพอควร เพราะคนดื่มชากาแฟเป็นความดันสูงน้อยกว่าคนไม่ดื่มเลย
     3.2 ดื่มน้ำพืชสมุนไพรที่ลดความดันได้ เช่น น้ำทับทิม น้ำบีทรูท โกโก้ ชาฮิบิสคัส เป็นต้น
     3.3 ลดการดื่มแอลกอฮอล์ลงเหลือระดับพอดี (ไม่เกิน 2 ดริ๊งค์ในผู้ชาย ไม่เกิน 1.5 ดริ๊งค์ในผู้หญิง) เพราะหลักฐานมีอยู่ว่าหากคนเป็นความดันสูงที่ดื่มมากลดการดื่มลงได้ ความดันก็จะลดลง
 
     4. ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน ให้ดัชนีมวลกายปกติ หรือให้เส้นรอบพุงไม่เกิน 50% ของส่วนสูง
 
     5. เลิกบุหรี่
 
     6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยควบรวมการออกกำลังกายหลายแบบ
     6.1 ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (เล่นกล้าม) สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง     
     6.2 ออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้ถึงระดับหนักพอควร (เช่น เดินเร็ว จ๊อกกิ้ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ) ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 ครั้ง หรือ
     6.3 ออกกำลังกายแบบเร่งให้หนักสลับเบาเป็นช่วงๆ (HIIT - high intensity interval training) 
 
     7. ลดความเครียด เพราะความเครียดทำให้ความดันสูง
 
     8. ฝึกสติสมาธิ (meditation/mindfulness) ให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เพราะหลักฐานวิจัยบ่งชี้ว่าลดความดันได้
     
     9. หลีกเลี่ยงภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เพราะหลักฐานวิจัยบ่งชี้ว่าทำให้เกิดความดันเลือดสูงได้
 
     โปรดสังเกตว่าการรักษาความดันเลือดสูงโดยไม่ใช้ยาตามคำแนะนำใหม่ 2020 นี้เข้าท่ากว่าคำแนะนำเก่าตั้งแยะ เพราะมีการนำหลักฐานมาออกคำแนะนำอย่างครอบคลุมกว่า รวมทั้งหลักฐานเรื่องมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เรื่องความเครียดและการฝึกสติสมาธิ โดยออกคำแนะชัดๆโต้งๆเลยว่าให้ฝึกสติสมาธิทุกวัน  ในแง่ของการออกกำลังกายก็เจาะลึกลงไปว่าทั้งการออกกำลังกายแบบแอโรบิกและเล่นกล้ามต่างก็ลดความดันได้ทั้งคู่ ดังนั้นแฟนบล็อกหมอสันต์อ่านแล้วอย่าอ่านเลยนะครับ เชื่อไม่เชื่อก็กรุณาทดลองลงมือทำดูก่อน เพราะตัวหมอสันต์สนับสนุนคำแนะใหม่นี้สุดลิ่ม หิ หิ
 
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่