ตดเหม็น ตดบ่อย ตดดัง – ตดแบบไหน?? สุขภาพดี

ตดเหม็น ตดบ่อย ตดดัง – ตดแบบไหน?? สุขภาพดี
 
     ตด ถ้าลอยมาตามลม ถ้าใครได้ดม ก็ปาลัมปั่มปั๊ม
     จมูก มีไว้หายใจ ถ้าใครตดใส่ ก็ปาลัมปั่มปั๊ม
     ตูด มีไว้ปล่อยลม ถ้าใครก้มดม ก็ปาลัมปั่มปั๊ม
     ถั่ว กินมากไม่ดี ทั้งบุรุษ สตรี ก็ปาลัมปั่มปั๊ม 
               
     มีใครรู้จักหรือเคยฟังเพลง “ตด” 💨 ของพี่โน้ส อุดม กันบ้างมั้ยครับ พี่หมอเคยได้ยินตอนเด็กๆ แล้วก็ชอบมาก จนจำเนื้อร้องมาได้ถึงทุกวันนี้ และที่พี่หมอหยิบท่อนฮุคของเพลงนี้มาก็เพราะว่า วันนี้เราจะมาคุยเรื่อง “ตด” กันครับ 
     อย่างที่ทราบกันดีว่า ตด หรือ การผายลม เป็นกระบวนการทางชีวภาพของร่างกายที่เกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใคร สวยหล่อแค่ไหน ทุกคนก็ต้องตดเหมือนกัน โดยผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์มักจะตดประมาณ 14-23 ครั้งต่อวัน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหลังการรับประทานอาหาร 
     ซึ่งแต่ละคนก็อาจมีความถี่ กลิ่น หรือเสียง รวมถึงพฤติกรรมการตดที่แตกต่างกัน และพี่หมอก็เชื่อว่ามีอย่างหนึ่งที่หลายคนน่าจะเป็นเหมือนกัน คือรู้สึกอายเวลาที่ต้องตดในที่สาธารณะ จึงมักจะกลั้นตดเอาไว้ 😣 ซึ่งก็สามารถทำได้นะครับ เพราะการกลั้นตดไม่ได้มีอันตรายกับร่างกายของเราแต่อย่างใด  
     นอกจากนี้  ตดยังสามารถบอกปัญหาสุขภาพภายในของเราได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะตดที่ผิดปกติ เช่น มีกลิ่นรุนแรง หรือตดถี่เกินไป ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางชนิดได้ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าตดของเราผิดปกติหรือเปล่า ไปหาคำตอบกันได้เลยครับ 👇 
 
ตด เกิดจากอะไร ทำไมถึงมีทั้งกลิ่นและเสียง
     ตด เป็นกระบวนการขับลมหรือแก๊สที่สะสมอยู่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ผ่านมาทางลำไส้ใหญ่ ซึ่งแก๊สเหล่านี้เกิดจากกระบวนการย่อยอาหาร รวมถึงการกลืนอากาศขณะเคี้ยวอาหาร การสูบบุหรี่ 🚬 หรือแม้กระทั่งการหายใจ ซึ่งอากาศบางส่วนจะเข้าไปสู่ระบบย่อยอาหาร ผ่านไปยังลำไส้ ส่งผลให้อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ร่างกายจึงต้องขับออกมาเป็น “ตด” 
     คนทั่วไปมักจะตดหลังจากที่รับประทานอาหารเข้าไป โดยเฉพาะอาหารที่มีแก๊สมาก เช่น น้ำอัดลม ถั่ว หรือคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมากจนส่งผลให้ตดมากขึ้น นอกจากนี้ การเคี้ยวหมากฝรั่ง การอมลูกอม การใช้หลอดดื่มน้ำ การรับประทานอาหารที่เร็วเกินไป รวมถึงโรคบางชนิดและผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคบางประเภท ก็สามารถทำให้เกิดแก๊สในระบบย่อยอาหารได้เช่นกันนะครับ 
     ตด ประกอบไปด้วยแก๊สที่ไม่มีกลิ่น 99% ส่วนแก๊สที่มีกลิ่นมีเพียง 1% เท่านั้น ซึ่งกลิ่นที่ว่าก็มาจากประเภทของอาหารที่เรารับประทานเข้าไปนั่นเอง โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนสูง ผักที่มีกลิ่นแรงและเส้นใยสูง เช่น คะน้า กะหล่ำปลี รวมถึงอาหารที่มีสารซัลเฟอร์หรือแบคทีเรียที่สามารถสร้างแก๊สมีเทนหรือไฮโดรเจนซัลไฟด์ได้ ซึ่งหากอาหารเหล่านี้มีการหมักหมมในลำไส้ กลิ่นของตดก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น 😱
     ส่วนเสียงของตด 🔊 เกิดจากความดันในลำไส้ใหญ่และการเกร็งของกล้ามเนื้อหูรูด ถ้ากล้ามเนื้อหูรูดหย่อนยาน ไม่กระชับ แต่แรงดันภายในลำไส้ใหญ่มีน้อย ตดก็จะเบา แต่ถ้ากล้ามเนื้อหูรูดแข็งแรงและมีแรงดันภายในลำไส้ใหญ่มาก ตดก็จะดังปู้ดป้าด แบบที่เราเคยได้ยินกันนั่นแหละครับ  
              
ตด บอกโรค 
     ความถี่ กลิ่นและเสียง ของการตดไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด แม้บางครั้งอาจจะมีการกลั้นเอาไว้บ้าง แต่เมื่อใดก็ตามที่ตดเริ่มรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเรา เช่น ตดบ่อยครั้งเกินไป หรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางชนิดได้ เช่น 
    📍 โรคที่เกี่ยวกับลำไส้ เช่น ลำไส้แปรปรวน (IBS) ลำไส้อักเสบ มะเร็งลำไส้
    📍 โรคที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร เช่น แผลในกระเพาะอาหาร อาหารเป็นพิษ
    📍 โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร  เช่น โรคระบบทางเดินอาหารอักเสบ โรคกรดไหลย้อน โรคโครห์น (โรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของระบบทางเดินอาหารหรือลำไส้) 
    📍 โรคเซลิแอค หรือโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อกลูเตน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในพืชจำพวกข้าบาร์เล่ย์ ข้าวสาลี ซึ่งโปรตีนชนิดนี้จะไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำลายผนังลำไส้ จนทำให้ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้  
    📍 การแพ้อาหารที่มีส่วนประกอบของแลคโตส ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยตดบ่อย รวมถึงมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด หรือท้องเสีย 
    📍 โรคเบาหวาน ก็อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ 
    📍 โรคมะเร็งรังไข่ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสียหรือท้องผูกเรื้อรัง
วิธีป้องกันไม่ให้ตดมากเกินไป 
    📍 สังเกตและหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ตัวเองตดบ่อย หรือมีกลิ่นเหม็น 
    📍 เคี้ยวอาหารให้ละเอียดและลองแบ่งมื้ออาหารออกเป็นมื้อย่อยๆ ในแต่ละวัน 
    📍 งดอาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสจัด อาหารย่อยยาก รวมถึงการเคี้ยวหมากฝรั่งและการสูบบุหรี่ 
    📍 หลีกเลี่ยงการดื่ม น้ำอัดลม ชา และกาแฟ
    📍 ออกกำลังกายเป็นประจำ วันละประมาณ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
 
     ถ้าลองทำตามวิธีที่พี่หมอบอกแล้ว แต่รู้สึกว่า การตดยังรบกวนจิตใจและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ก็สามารถมาปรึกษาคุณหมอด้านระบบทางเดินอาหารได้นะครับ คุณหมอจะได้ช่วยวินิจฉัยและทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นตามมา
 
     ที่สำคัญ การตด ไม่ใช่เรื่องน่าอาย หรือเรื่องที่ควรเอามาล้อเลียนกัน เพราะการตด เป็นกระบวนการตามธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ และยังเป็นสัญญาณบอกสุขภาพของเราด้วย ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้ตดของเราไปรบกวนผู้อื่น ก็ต้องหมั่นดูแลเรื่องอาหารและพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยนะครับ 
 
     ด้วยความห่วงใยจากพี่หมอ 💝 💝 💝
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่