JJNY : ค้าไทยยุค“ไบเดน”ไม่รื่น/ส่องทิศทางสภาถกแก้รธน.7ญัตติ/ศูนย์นโยบายฯเพื่อไทยแถลงข้อเสนอ3ด้าน/ทนายอานนท์โต้จุลเจิม

ค้าไทยยุค “ไบเดน” ไม่รื่น บาทจ่อแข็งค่าขึ้นกระทบแข่งขัน
https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/456858
 

  
พาณิชย์วิเคราะห์ละเอียดยิบ ค้าไทยยุค “ไบเดน” มีได้-เสีย จับตาทุ่มเงินกระตุ้นศก.ดันเงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก กระทบส่งออก เทรดวอร์ผ่อนคลายโอกาสไทยส่งออกสหรัฐฯและจีนเพิ่ม เอกชนลุ้นระทึกต่อสิทธิจีเอสพีไทยหรือไม่ หลังสิ้นสุดโครงการ 31 ธ.ค.นี้
  
จากหลายนโยบายของโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 46 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังรับตำแหน่ง เช่น Buy America กำหนดให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในประเทศเพิ่มขึ้น 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, Innovate in America เพิ่มการลงทุนด้านวิจัยพัฒนา รวมถึงการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ วงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ลงทุน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯใน 4 ปีข้างหน้าเพื่อพลังงานสะอาด, การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อชั่วโมง (เดิม 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง)
  
ด้านความสัมพันธ์ทางการค้า ยังคงนโยบายโดดเดี่ยวจีน แต่มีแนวโน้มประนีประนอมมากขึ้น ไม่เพิ่มความรุนแรงหรือลดการใช้มาตรการทางภาษีกับจีน มีแนวโน้มสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศและให้ความสำคัญกับเวทีพหุภาคี โดยยึดหลักกติกาสากลเช่น ความร่วมมือเพื่อปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) และมีความเป็นไปได้ที่จะพิจารณากลับเข้าร่วมความตกลง TPP (CPTPP ในปัจจุบัน) เป็นต้น
  
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนในยุคไบเดนน่าจะผ่อนคลายลง แต่ยังคงมาตรการภาษีที่มีอยู่เดิม ทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐฯ นอกจากจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและภูมิภาคเอเชียเป็นประโยชน์ทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยไปยังภูมิภาคเอเชียรวมถึงจีนที่กำลังฟื้นตัว โดยสินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานจีนสูงที่อาจได้รับผลบวก ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ พลาสติก และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้
  

 
ส่องทิศทางสภาถกแก้รธน.7ญัตติ
https://www.khaosod.co.th/politics/hot-topics/news_5318253

รายงานพิเศษ
 
ส่องทิศทางสภาถกแก้รธน.7ญัตติ - วันที่ 17-18 พ.ย. รัฐสภาจะพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งของรัฐบาล ฝ่ายค้าน และภาคประชาชน รวม 7 ฉบับ
 
ซึ่งเป็นเงื่อนไข 1 ใน 3 ของผู้ชุมนุม
 
การพิจารณาร่วมของ 2 สภา จะมีร่างฉบับใดผ่านบ้าง หรือตกไปทั้งหมด และผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร
 
มีมุมมองจากนักวิชาการ และตัวแทนของรัฐบาล ฝ่ายค้าน
 
สุทิน คลังแสง
 
รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน
 
คาดเดายากว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ท่าทีของส.ว.ก็ยังไม่ตกผลึกเท่าที่ควร ยังมีหลายปัจจัยที่ทำให้ส.ว.ยังโลเล เช่น สถานการณ์บ้านเมือง รวมทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการเคลื่อนไหวชุมนุมกดดันมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจน เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ส.ว.ยังโลเล
 
ส่วนตัวมองว่าญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลมีโอกาสผ่านเป็นลำดับแรก จากนั้นจะเป็นญัตติที่นำเสนอโดยฝ่ายค้านในส่วนของการแก้ไข มาตรา 256 ที่เรามั่นใจเพราะมีหลักการเดียวกันกับญัตติของรัฐบาล จึงไม่มีเหตุผลหากที่ประชุมรับร่างของรัฐบาลแล้วจะไม่รับร่างของฝ่ายค้าน และยากจะหาเหตุผลมาอธิบาย
 
ต่อมาคือญัตติที่เสนอโดยไอลอว์ ซึ่งมีทั้งปัจจัยบวกและลบ ปัจจัยบวกร่างนี้เสนอโดยภาคประชาชน ซึ่งนักการเมืองต้องให้ความเคารพไม่มากก็น้อย ถ้าจะไม่ให้ผ่านก็ต้องหาคำอธิบายที่ดีพอสมควรเช่นกัน ปัจจัยลบคือหลักการของร่างขัดกับร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้าน จึงขึ้นกับสถานการณ์ รวมถึงการส่งสัญญาณจากพล.อ.ประยุทธ์
 
ส่วนอีก 4 ญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอแก้เป็นรายมาตรา ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.ให้ความสนใจน้อย โอกาสจะผ่านจึงยาก
 
แต่หากร่างไม่ผ่านทุกฉบับ ยุ่งแน่ น่าเป็นห่วงมาก จะทำให้ความหวังของคนในประเทศดับวูบลง มองไม่เห็นทางออก ประเทศเดินหน้าต่อไม่ได้ จะกลายเป็นปัญหาหนัก แต่ถ้าญัตติผ่านบ้าง ไม่ผ่านบ้าง ตามที่ปรากฏเป็นข่าว คือถ้าญัตติแก้ไข มาตรา 256 ของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านผ่าน ญัตติของไอลอว์ไม่ผ่าน เชื่อว่า สถานการณ์จะเบาลง ไม่มีเหตุรุนแรง เพราะทุกคนยังมีความหวังว่า อย่างน้อยสองญัตติสามารถนำไปสู่การตั้งส.ส.ร.ได้
 
มีช่องทางที่จะนำสาระและหลักการของร่างฉบับ ไอลอว์ที่ตกไป กลับเข้าไปพิจารณาในชั้นส.ส.ร.ได้ แต่ถ้าไม่มี ส.ส.ร.เลยก็จะถึงทางตันแน่นอน
 
ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีทั้งทำให้สถานการณ์การเมืองคลี่คลาย ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แต่ถ้าเกิดผลอีกทางหนึ่ง สถานการณ์ประเทศจะเข้าสู่ภาวะตีบตัน จึงเป็นไปได้ทั้งสองทาง
 
ส่วนที่ ส.ส.พลังประชารัฐบางส่วนผนึกส.ว.ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างรัฐธรรมนูญกรณีตั้งส.ส.ร.ขัดรัฐธรรมนูญนั้น ทำให้เราสงสัยในเจตนารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์พูดในสภา ประกาศชัดเจนว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเสร็จภายใน ธ.ค. แต่อีกด้านให้ ส.ส.และ ส.ว.กระทำสวนทางกัน
 
ไม่มีใครเชื่อหรอกว่า พล.อ.ประยุทธ์จะสั่งหรือห้าม ส.ส.และส.ว.ไม่ได้ ปัญหาจึงอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพูดออกมาให้ชัดว่าจะเอาอย่างไร 
 
ยุทธพร อิสรชัย
 
ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มสธ.
 
เนื่องจากก่อนหน้านี้เดือนก.ย.ก็มีความพยายามตั้งกมธ.ศึกษา ทำให้สังคมมองว่าเป็นเรื่องของการยื้อเวลาแก้ไข กระทั่งวันนี้ก็ไม่มีผลออกมาสู่สาธารณะอย่างชัดเจนว่าตกลงแล้วผลการพิจารณาเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันมี 72 ส.ส. ส.ว. เข้าชื่อผลักดันยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องการตั้งส.ส.ร.
 
เมื่อเห็นลักษณะเกมการเมืองอย่างนี้แล้ว โอกาสที่จะผ่านหรือไม่ผ่านมีเท่าๆ กัน 50:50
 
ที่จริงสังคมตกผลึกแล้วว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ควรแก้ไข แต่การแก้ไขเกิดยากมากเพราะเงื่อนไขมาตรา 256 กำหนดให้มีทั้งส.ส. ส.ว. เห็นชอบทั้งวาระที่ 1 และวาระ 3 หมายความว่าฝ่ายรัฐบาลซึ่งถือเสียงข้างมากในสภาต้องสนับสนุน ประกอบกับ ส.ว.
 
ส.ว.ชุดแรกมาจากบทเฉพาะกาลที่แต่งตั้งโดยคสช. สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสที่เสียงของรัฐบาล และแกนหลักคือพรรค พลังประชารัฐ กับ ส.ว. จะเห็นสอดคล้องต้องกันมีความเป็นไปได้สูง
 
ดังนั้น ถ้ารัฐบาลแสดงออกถึงความจริงจัง ตั้งใจ ในการแก้ไขก็จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการชุมนุมนอกสภา แต่เมื่อเกิดการพยายามดึงเรื่องเป็นคำรบที่สอง หลังจากเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 24 มิ.ย. ทำให้การเมืองเป็นเงื่อนปมที่ถูกสะสมเพิ่มขึ้น เป็นประเด็นให้การแก้ความขัดแย้งต่างๆ ยากและซับซ้อนมากขึ้น
 
ยิ่งถ้าร่างแก้ไม่ผ่านสภาเลยก็มีโอกาสทำให้สถานการณ์ยิ่งประทุ อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญเป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม และตรงนี้จะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเปิดเวทีการมีส่วนร่วม
 
แต่ถ้าร่างแก้ไขไม่ผ่าน การเปิดเวทีไม่เกิด โอกาสจะเห็นสถานการณ์ไปในทิศทางลบมากขึ้นก็เป็นไปได้ เพราะวันนี้แม้แต่การเปิดเวทีพูดคุยก็ยังไม่มี แล้วถ้ารัฐธรรมนูญซึ่งควรจะเป็นเวทีของการมีส่วนร่วมไม่เกิดขึ้นอีก ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการนำไปสู่การเมืองโดยมวลชน ซึ่งผมเรียกว่า มวลชนาธิปไตย ก็จะเกิดขึ้น และมีโอกาสเผชิญหน้าของมวลชนแต่ละกลุ่ม
 
ฉะนั้นวันนี้เวทีรัฐธรรมนูญ คือเวทีของการมีส่วนร่วมที่ต้องเปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามาได้อย่างกว้างขวาง
 
ร่างแก้ไขในญัตติของรัฐบาลและฝ่ายค้าน ในญัตติ 1 และ 2 เป็นญัตติที่จะนำไปแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 และนำไปสู่การตั้งส.ส.ร. คิดว่าโอกาสที่รัฐสภาจะผ่านคือ 2 ร่างนี้
 
ส่วนญัตติที่ 3-6 เป็นญัตติที่ว่าเรื่องการแก้มาตรา 272 ปิดสวิตช์ส.ว. การใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ การห้ามคสช.จัดให้มีประกาศ-คำสั่งที่ถูกรับรอง การผ่านคงเป็นไปได้ยาก
 
เช่นเดียวกับญัตติที่ 7 ของไอลอว์ที่เพิ่มเข้ามา คิดว่ายากมากเพราะญัตตินี้เสนอแก้ในหลายประเด็น
 
ทั้ง 7 ญัตติ ญัตติที่ 1 และ 2 เป็นจุดร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน แต่ต่างกันอยู่ในเรื่องเทคนิคและวิธีการได้มาซึ่งส.ส.ร. ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกญัตติยังให้น้ำหนักอยู่ที่ 50-50 แต่ญัตติที่ 1,2 น่าจะมีโอกาสมากกว่าญัตติอื่น
 
ถ้าไม่มีร่างไหนผ่านเลย พรรคประชาธิปัตย์ที่ใช้เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขร่วมรัฐบาลควรทบทวนการร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น พรรคประชาธิปัตย์มีภารกิจสองอย่างคือการร่วมรัฐบาลและสร้างผลงาน โดยนำไปสู่การฟื้นฟูเรื่องความนิยม ความเชื่อมั่นของพรรค
 
ภารกิจทั้งสองอย่างนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเล่นบทหรือมีท่าทีทางการเมืองในลักษณะทั้งดึงและผลัก จึงเห็นบทบาทของแกนนำพรรคสนับสนุนรัฐบาล ขณะที่บุคคลในพรรคหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ เป็นต้น
 
แต่อย่าลืมว่าหนึ่งในเงื่อนไขที่เข้าร่วมรัฐบาลก็คือการแก้ไขธรรมนูญด้วย ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ต้องมีจุดยืนเรื่องนี้
 
องอาจ คล้ามไพบูลย์
 
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
 
การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ร่างที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะออกมาอย่างไร คงประเมินไม่ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละพรรคและส.ว.จะลงคะแนนอย่างไร แต่ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะนัดประชุม ส.ส.วันที่ 16 พ.ย. เพื่อปรึกษาหารือว่าส.ส.คิดเห็นอย่างไรในร่างที่เสนอแก้ไขแต่ละร่าง และเสียงส่วนใหญ่จะสนับสนุนร่างไหน
 
พรรคจะฟังเสียงส่วนใหญ่ของส.ส.เป็นหลัก เห็นว่าควรไปทางไหนก็ไปทางนั้น แต่คงไม่ถึงขั้นลงมติ ยกเว้นเสียงก้ำกึ่งกัน ขณะเดียวกันก็ต้องฟังเสียงจากวิปรัฐบาลด้วยว่าเห็นอย่างไร ในฐานะที่เราเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
 
ส่วนแนวโน้มทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านจะเห็นชอบเฉพาะ2ร่างที่เสนอโดยฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่เกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 256 และจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น เนื่องจาก 2 ร่าง ดังกล่าว มีมานานหลายเดือน และผ่านการพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภามาแล้ว ตรงนั้นในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์มีมติให้ลงมติเห็นชอบใน 2 ร่างไปแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มีร่างของไอลอว์เข้ามาจึงยังไม่มีเนื้อหา ดังนั้นในวันที่ 16 พ.ย.ที่ประชุมส.ส.พรรค จะพิจารณาร่างไอลอว์ด้วยว่าเป็นอย่างไร และจะสนับสนุนหรือไม่ เพราะตอนนี้เรายังไม่เห็นเนื้อหาของร่างดังกล่าว ซึ่งต้องฟังเสียงจากส.ส.เป็นหลัก และฟังจากวิปรัฐบาลด้วย
 
ร่างแก้ไขทั้งหมดจะผ่านกี่ร่างขึ้นอยู่กับเหตุผล ต้องชี้แจงต่อสาธารณชนให้ได้ เชื่อว่าทุกฝ่ายต้องมีเหตุผล และมั่นใจส.ว.แต่ละคนมีเอกสิทธิ์ที่จะพิจารณา และหากส.ว.ไม่ให้ผ่านก็ต้องตอบคำถามสาธารณชนให้ได้ว่าเพราะอะไร ต้องไม่ลืมว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นที่สนใจของสาธารณชน
 
เชื่อว่า ส.ว.จำนวนไม่น้อยน่าจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ เห็นประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก โดยเฉพาะสถานการณ์ในปัจจุบันควรพิจารณาให้รอบคอบเป็นพิเศษ หากพิจารณาโดยคำนึงถึงเหตุผลเพียงด้านใดด้านหนึ่งอาจไม่เพียงพอ ต้องมีหลายด้านมาประกอบการตัดสินใจ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวมอย่างถ่องแท้
 
ส่วนท่าทีของพรรคพลังประชารัฐที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่จริงใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนหน้านี้ก็เสนอตั้งกมธ.ขึ้นมาพิจารณาก่อนรับหลักการ มาวันนี้ร่วมกับส.ว.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างที่ตัวเองลงชื่อเสนออีก ก็เป็นเอกสิทธิ์ของส.ส., สว. ที่จะยื่นตีความ
 
แต่ต้องไม่ลืมสถานการณ์การเมือง ปัจจุบันการสร้างความไว้วางใจจะมีส่วนแก้ความขัดแย้ง ประเทศเดินหน้าได้ ในขณะที่การยื่นให้ตีความครั้งนี้ก่อให้เกิดความไม่ใว้วางใจเพิ่มขึ้น
 
เพราะการพิจารณา 6 ร่างแรกจะลงมติกันอยู่แล้ว อยู่ดีๆ ก็ให้ตั้งกมธ.พิจารณาก่อนรับหลักการ ทำให้เกิดความไม่วางใจขึ้นมาทันที่ว่าแกนนำรัฐบาลกำลังเล่นเกมอะไรอยู่ ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น และเป็นเงื่อนไขเข้าร่วมรัฐบาล
 
ส่วนการทบทวนท่าทีของพรรคนั้นเราจะรอดูความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นก่อนดีกว่าว่าจะออกมาเป็นอย่างไร 
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่