“โรคชอบสะสมสิ่งของ” ส่งผลนานอาจต้องรักษา

หลายๆ คน อาจจะมีความชอบสะสมของไว้กับตัวเป็นจำนวนมาก อาจจะด้วยเพราะเหตุผลอะไรก็ตามที ก็อยู่ที่ความพอใจของแต่ละคนกันไป แต่ทราบหรือไม่ว่า พฤติกรรมที่ว่ามานั้น ก็เป็นโรคภัยชนิดหนึ่งได้เหมือนกัน นั่นก็คือ ‘โรคชอบสะสมสิ่งของ’ นั่นเอง

โรคชอบสะสมสิ่งของ หรือ Hoarding Disorder เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะรู้สึกอยากเก็บของทุกอย่างเอาไว้ ไม่สามารถตัดใจทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงได้เลย ซึ่งอาจจะมีแรงจูงใจที่ว่า ยังคิดว่าของเหล่านั้นจะยังมีประโยชน์ และสามารถเก็บใช้งานในอนาคตได้ ซึ่งในบางครั้ง ผู้ป่วยอาจจะมีปัญหาในการเก็บปะปนแบบไม่มีหมวดหมู่ จนรกพื้นที่บ้าน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบในชีวิตประจำวันต่างๆ ได้

โดยสาเหตุของการเกิดโรคนี้นั้น ปัจจุบันนี้ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับโรคนี้น้อยมาก แต่ก็ยังมีการพบปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคในบางประการ ได้แก่ โรคทางพันธุกรรม เนื่องจากร้อยละ 50 ของคนที่เป็นโรคนี้ พบว่า คนในครอบครัวก็เป็นโรคนี้ด้วย และอีกปัจจัยหนึ่ง คือ ความบกพร่องทางสมองบางส่วน ซึ่งก็อยู่ในขั้นตอนของงานวิจัยด้วยเหมือนกัน โดยสิ่งของที่เก็บนั้น มักจะเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าอะไร เช่น หนังสือ นิตยสาร เสื้อผ้า ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก เป็นต้น
ซึ่งโดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคนี้ จะเริ่มเป็นมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น แต่อาการจะแสดงชัดเจน เมื่ออายุประมาณ 30 ปี เพราะมีของสะสมเยอะขึ้น และไม่ยอมทิ้งอะไรเลย ตรงกันข้ามกับคนทั่วไป ที่มีการแยกแยะของเพื่อทิ้ง และเพื่อเก็บ และผลกระทบของโรคนี้ จะส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง เพราะการเก็บหมักหมมสิ่งของเอาไว้ อาจก่อให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคได้ หรือส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุภายในบ้านได้ง่ายอีกด้วย อาจเกิดร่วมกับอาการทางจิตอื่นๆ ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล หรือโรคกลัวการเข้าสังคม เป็นต้น

สำหรับการรักษาของโรคนี้นั้น สามารถรักษาด้วยยาได้ โดยเป็นยาที่จะช่วยปรับสารเคมีในสมองเกี่ยวกับวิธีคิด อีกทั้งสามารถรักษาไดดด้วยการบำบัดพฤติกรรมและความคิด ฉะนั้น ก็ต้องมีการปรับความคิดใหม่เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ป่วย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ป่วยที่จะตัดใจทิ้งสิ่งของที่ไม่จำเป็นออกไปได้ ขณะเดียวกัน คนรอบข้างหรือครอบครัวก็ต้องทำความเข้าใจกับผู้ป่วยในกรณีดังกล่าวนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

ข่าวจาก : MGR Online
https://mgronline.com/goodhealth/detail/9630000095784
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่