SOCIETY: อย่าเพิ่งโยน 'เครื่องครัวพลาสติกสีดำ' ทิ้งเพราะกลัวสารก่อมะเร็งตามที่เป็นข่าว
ล่าสุด นักวิจัยยอมรับแล้วว่า 'คำนวณผิด' และตก 0 ไปตัว
ถ้าใครตามสื่อต่างประเทศช่วงปลายปี 2024 จะเห็น 'ข่าว' หนึ่งปรากฏอยู่บ่อยๆ เนื้อหามีอยู่ว่า มีงานวิจัยเครื่องครัวที่ใช้พลาสติกสีดำ เมื่อเวลาโดนความร้อนจะปล่อย 'สารก่อมะเร็ง' ออกมา และ 'คอนเทนต์' ทั้งหลายก็จะบอกให้คนโยนเครื่องครัวสีดำทิ้งไปเดี๋ยวนี้
คอนเทนต์แบบนี้น่าจะโผล่ในสื่อตะวันตกครั้งแรกในต้นเดือนตุลาคม 2024 ก่อนจะค่อยๆ แพร่กระจายเป็น 'มีม' และบน TikTok ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ส่วนสื่อกระแสหลักไทย ดูจะเพิ่งลงข่าวกันเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2024
จริงๆ เรื่องนี้ควรจะ 'เงียบ' ไปเพราะในโลกตะวันตกเป็นที่รู้กันแล้วว่าเป็นข้อมูลที่ 'ผิด' (ซึ่งเป็นคำที่เบาของ ‘เฟคนิวส์’) แต่ในเมื่อสื่อไทยลงข่าวผิดๆ ไป เราก็น่าจะแก้ไขสักหน่อย
งานวิจัยที่ว่านี้มีจริงๆ ลงในวารสารวิชาการชื่อ Chemosphere ในช่วงเดือนตุลาคม 2024 โดยงานชื่อ ‘From e-waste to living space: Flame retardants contaminating household items add to concern about plastic recycling’
อย่างไรก็ดี หลังจากงานวิจัยนี้สื่อสนใจกันใหญ่โต เป็นกระแสไปทั่ว นักวิจัยก็กลับมาดูงานตัวเอง และพบว่ามีการคำนวณผิดโดยใส่ 0 เกินไปหนึ่งตัว และนั่นส่งผลต่อ 'ความร้ายแรง' ที่เคลมกันมาก จึงออกแถลงการณ์แก้ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2024 และทำให้เรื่องทั้งหมดเงียบไปในโลกตะวันตก แต่ในไทยดูจะยังไม่มีใครแก้ไขข้อมูล
ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ สารที่เป็นตัวปัญหา เป็นสารต้านทานความร้อนตัวหนึ่งที่นิยมใช้ในเครื่องครัวพลาสติกสีดำ โดยสารนี้มีชื่อว่า Decabromodiphenyl Ether (decaBDE) สารตัวนี้จะถือว่าสะสมแล้วอาจทำให้เกิดมะเร็งได้ถ้าสะสมในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าในทางพิษวิทยาเวลาเราจะบอกว่าสารอะไร 'เป็นอันตราย' มันต้องมีปริมาณที่ร่างกายรับไปต่อช่วงเวลากำกับเสมอ เพราะหลักพิษวิทยาพื้นฐานคือ สารใดๆ ในโลกรับมากไปก็เป็นอันตรายหมด แม้แต่สารที่ไม่มีพิษภัยแบบน้ำเปล่า ดังนั้นถ้าเราจะบอกว่าอะไรที่ร่างกายรับไปแล้วเกิดอันตราย เราต้องมี 'ปริมาณ' ที่ร่างกายรับเข้าไปกำกับเสมอ
ตรงนี้นักวิจัยก็คำนวณว่าถ้าคิดเป็นการสะสมต่อวันทางไกด์ไลน์ของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา เขาจะบอกว่าห้ามเกิน 42,000 นาโนกรัมต่อวัน และเขาก็ลองมาคำนวณว่าถ้าใช้เครื่องครัวพลาสติกสีดำพวกนี้ทำอาหาร ร่างกายน่าจะรับ 34,เข้าไป 7,000 นาโนกรัมต่อวัน จะเห็นว่าปริมาณใกล้ 'ขีดอันตราย' มาก และทำให้สังคมตื่นตระหนกอย่างที่ว่า
แต่พอนักวิจัยไปเช็กอีกรอบ เขาออกมาแถลงเลยว่าเขาคำนวณผิด เพราะปริมาณที่หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมอเมริกากำหนดว่ารับไปแล้วจะเป็นอันตรายนั้นสูงถึง 420,000 นาโนกรัมต่อวัน หรือพูดง่ายๆ คือการคำนวณเดิม 'ตก 0 ไปหนึ่งตัว' ก็ว่าได้
ตรงนี้จะเห็นได้ว่า 'ขีดอันตราย' มันสูงกว่าที่นักวิจัยคำนวณว่าเป็นปริมาณการบริโภคต่อวันมาก และพูดง่ายๆ คือมัน 'น่ากลัว' น้อยกว่างานวิจัยตอนแรก 10 เท่าตัว เพราะสารที่ร่างกายรับไปต่อวันนั้นไม่ได้คำนวณผิด แต่ 'ขีดอันตราย' ตอนแรกคำนวณต่ำกว่าความเป็นจริงไป 10 เท่าตัว โดยนักวิจัยก็แถลงขอโทษขอโพยเป็นการใหญ่ แม้จะพยายามยืนยันว่า 'สะสมไปนานๆ' ก็เป็นอันตรายอยู่ดี
เอาเป็นว่า จบ แยกย้าย เครื่องครัวพลาสติกสีดำมันไม่ได้ 'อันตรายอย่างที่คิด' เพราะ 'นักวิจัยคำนวณเลขผิด' โดยถ้าใครกังวลว่ามันมี 'สารก่อมะเร็ง' ก็อาจไม่ผิด ประเด็นคือ จริงๆ แล้วรอบตัวเราในสารเคมีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือกระทั่งพวกสารเคมีในพืชผัก ถ้าเราไปเช็กจริงๆ เราก็น่าจะเจอ 'สารก่อมะเร็ง' หลากชนิด แค่มันมีปริมาณที่น้อยแบบที่ทั่วๆ ไปเขาคำนวณแล้วว่าไม่น่าจะทำให้เราเป็นมะเร็งได้ในช่วงอายุขัยของมนุษย์ ซึ่งอะไรพวกนี้ปกติหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมก็จะเป็นคนกำหนดมา โดยพวกสินค้าอุตสาหกรรมที่กว่าจะผลิตมาขายได้ มันต้องผ่านมาตรฐานอยู่แล้ว
และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมสินค้า้เล่านี้ยังมีขายอยู่ กล่าวคือหลายคนเห็น 'ผลวิจัย' ในตอนแรกแล้วงงว่าถ้าผลิตภัณฑ์มี 'สารก่อมะเร็ง' แล้วมันอยู่ในท้องตลาดได้ยังไง? คำตอบคือปกติเขาคิดคำนวณมาหมดแล้ว และการทดลองแบบที่นักวิจัยทดลองเขาก็ทำแล้ว (ไม่ว่าจะทางตรงหรืออ้อม) คือมันน่าจะมีการประเมินแล้วว่าสิ่งเหล่านี้ปลอดภัย ไม่ส่งสารปนเปื้อนต่อร่างกายมนุษย์มากในระดับที่จะทำให้เจ็บป่วยได้แม้ว่าจะใช้เป็นเวลานาน และนี่น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดก่อนที่นักวิจัยจะมาคำนวณผิดและสร้างความตื่นตระหนักในสังคม และน่าจะทำให้ยอดขายเครื่องครัวพลาสติกดำตกฮวบส่งท้ายปี
ที่มา : BrandThink
อย่าเพิ่งโยน 'เครื่องครัวพลาสติกสีดำ' ทิ้งเพราะกลัวสารก่อมะเร็งตามที่เป็นข่าว