JJNY : ปปง.พบฟอกเงินพุ่ง 22.36%/เอสเอ็มอีมีเงิบ อดใช้เงิน5หมื่นล./ส่อวุ่น!ระดมหาแรงงานพม่าหนีตรวจโควิด/ติดเชื้อเพิ่ม8

ปปง.พบฟอกเงินพุ่ง 22.36%
https://www.thansettakij.com/content/money_market/451056
 

  
9 เดือน ปปง.ได้รับรายงานธุรกรรมการเงิน เพิ่มกว่า 5.46 แสนธุรกรรมหรือ เพิ่มขึ้น 4.13% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน พบเฉพาะที่มีเหตุอันควรสงสัยเพิ่ม 22.36% และการโอนเงินหรือชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่ม 4.79% รับเทรนด์ดิจิทัล ปปง.แจงแม้โควิดระบาด แต่ไม่กระทบ
 
กรณ๊ธนาคารพาณิชย์ไทย 4 แห่งก็คือ ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือ BBL ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือ EXIM Bank เข้าไปมีชื่อในเอกสารรายงานกิจกรรมที่น่าสงสัย(SAR) ซึ่งเป็นเอกสารที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินจะต้องยื่นเรื่องต่อกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา รั่วไหลออกมาผ่านสื่อออนไลน์ของสหรัฐอเมริกา
 
โดยรายงานกิจกรรมที่น่าสงสัยจำนวนมากกว่า 2,100 ฉบับ ได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับการโอนเงินที่น่าสงสัยมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์หรือประมาณ  63 ล้านล้านบาท ในระหว่างปี 2542-2560 ซึ่งเงินเหล่านี้ได้รับอนุมัติการทำธุรกรรมโดยหน่วยงานภายในของสถาบันการเงินที่อยู่ในข่ายต้องสงสัย ซึ่งนอกจากธนาคารไทยทั้ง 4 แห่ง แล้วยังปรากฎชื่อของธนาคารใหญ่ระดับโลกหลายแห่ง เช่น เอชเอสบีซี, เจพีมอร์แกน เชส, ดอยซ์แบงก์, สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และแบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน อยู่ในเอกสารที่ว่าด้วยเช่นกัน
 
สมาคมธนาคารไทยและธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.) ต่างออกมาปฏิเสธว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่สถาบันการเงินภายใต้กฎหมายของสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมที่น่าสงสัยต่อหน่วยงานเครือข่ายปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินแห่งสหรัฐอเมริกา(US Financial Crimes Enforcement Network หรือ FinCEN) เป็นปกติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอยู่แล้ว และไม่ได้หมายความว่า ธุรกรรมที่ถูกรายงานจะเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายเสมอไป
 


เอสเอ็มอีมีเงิบ อดใช้เงิน 5 หมื่นล้าน
https://www.thairath.co.th/news/business/finance-banking/1943921
 
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สวส.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่าที่ประชุมไม่ได้มีการพูดถึงหรือหยิบยกเรื่องการใช้วงเงิน 50,000 ล้านบาท จากวงเงินในส่วนของการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำไปตั้งเป็นกองทุนเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เข้าไม่ถึงเงินกู้ ขณะที่มุมมองของตนเอง ต่อการแก้ปัญหาสนใจเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้มากกว่า เพราะสภาพคล่องในตลาดมีอยู่แล้ว จึงแปลกใจว่า ทำไมต้องมีการกองทุนเสริมสภาพคล่องให้ด้วย
 
“การประชุมครั้งนี้ได้เร่งให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.ไปจัดทำรายชื่อเอสเอ็มอีที่จะเข้าระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยเร่งให้ทำเสร็จใน 12 เดือนจากที่ สสว.เสนอมา 18 เดือน ขณะที่นายกรัฐมนตรีให้จัดแยกหมวดหมู่ประเภทเอสเอ็มอีให้ชัดเจนเพื่อฉีดยาได้ถูกที่ ได้แก่ เอสเอ็มอีกลุ่มที่เข้มแข็ง กลุ่มที่พอใช้ได้ควรปรับปรุง และกลุ่มที่ไม่สามารถเข้มแข็งขึ้นมาได้”
 
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บอร์ด สสว. ได้เห็นชอบจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม งบประมาณปี 2564 ตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงินงบประมาณ 1,113 ล้านบาท สำหรับดำเนินการ 7 กิจกรรมตามแผนการดำเนินงานของ สสว.ประกอบด้วย 
1.ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ 
2.พัฒนาวิสาหกิจรายย่อยให้ประกอบธุรกิจอย่างมืออาชีพ (Micro) 
3.พัฒนาวิสาหกิจขนาดย่อมให้ก้าวสู่ธุรกิจสมัยใหม่ (Small) 
4.สนับสนุนให้บริการคำปรึกษาองค์ความรู้และข้อมูลสำหรับการประกอบธุรกิจของ MSME 
5.จัดทำแผนพัฒนาฐานข้อมูลและสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนการส่งเสริม SME 
6.ยกระดับการพัฒนาระบบข้อมูล SME 
และ 7.พัฒนาระบบการส่งเสริม SME 
 
โดย สสว.มีเป้าหมายให้เอสเอ็มอีและผู้ประกอบการชุมชนได้รับการยกระดับเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน 216,562 ราย และมีตัวชี้วัดคือ เอสเอ็มอีและธุรกิจชุมชนที่ได้รับการพัฒนา สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 3,887 ล้านบาท.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่